เงินช็อตครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ถึงตาย

EP. 1/6

เงินช็อตครั้งหนึ่ง…ที่ไม่ถึงตาย [Money Series]


Money Series : เรื่องเงินนี่…ซีเรียส

เนื้อเรื่อง โดย : นายคนนั้น
การ์ตูน โดย : ลาเบย หัวใจติ่ง

” 

เมย์

 

สวัสดีค่ะ ชาวชูใจ เราชื่อ เมย์

เราก็เป็นคริสเตียนธรรมดาคนหนึ่ง เช้าวันอาทิตย์ไปโบสถ์ วันธรรมดาก็ทำหน้าที่ของตัวเอง เวลาหิวๆ ก็ชวนกันไปกินหมูกระทะ ต้นเดือนกินหรูอย่างราชาส่วนปลายเดือนนั้นหนากินมาม่าวนไปจ้า พักหลังไม่รู้สันหลังยาวขึ้นหรือยังไง ชักหน้าแล้วไม่ค่อยจะถึงหลังเลยค่ะ ใครเป็นแบบนี้อยากบอกเราหัวอกเดียวกัน …“ป่วยด้วยอาการทรัพย์จาง”

 

พี่แบงค์พี่เลี้ยงของเมย์บอกว่า

 

“ถ้าเราไม่จัดการเงิน … เงินก็จะจัดการเรา”

 

 

เห้ยยย มันจริง!!! เราคิดมาตลอดว่าคริสเตียนไม่ควรใส่ใจกับเรื่องเงินให้มาก เพราะถ้าเรายุ่งมากแสดงว่าเราฝักใฝ่เรื่องเงินและเป็นทาสของเงิน แต่เราไม่เคยคิดอีกด้านเลยว่าการไม่จัดการเลยต่างหากที่กำลังทำให้เราเป็นทาสของมัน เพราะถ้าเราคุมเงินเราก็เป็นเจ้านาย ถ้าเงินคุมเราเราก็เป็นทาส

 

หวังว่าเรื่องของเราที่กำลังจะเล่า จะสามารถเป็นแนวทางให้เพื่อนๆ ได้รับประโยชน์ในการจัดการเรื่องได้ ไม่ต้องห่วงนะมันไม่ได้ยากเกินไปหรอก …ภาพมาค่ะ!!!

 

 

 

เรื่องราวความ Fail ของฉันในการใช้เงิน
ตอนที่
1 : ช็อตครั้งหนึ่งที่ไม่ถึงตาย

  

 

เชื่อสิ! ไม่มีใครอยากทำแบบนี้หรอก แต่ว่าบางครั้ง “มันก็จำเป็น”

 

(ทุกอย่างมันเริ้มขึ้นจากวันนั้นที่ยัยออม กับ บอส มาเป่าหูเราเรื่อง บุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น )

 

(คนที่คิดแบบนี้…ก็ลงเอยคล้ายๆ กันหมดนั่นแหละ =_=)

 

 

(การ์ตูนยังไม่จบ…พบกับ ช่วงต่อไปก่อนค่าาาาา)

 

 


ช่วง Money Tips : ทำไงให้ไม่ช็อต
(วิธีป้องกันการเงินลัดวงจร)

 

การจัดการเงิน

 

วิธีป้องกันการเงินลัดวงจร

  1. เพิ่มรายรับ

ในเมื่อรายรับไม่พอก็ถึงเวลาต้องออกแรงเสริม การที่จะมีรายได้มากขึ้น ก็คือทำงาน นั่นเอง แต่งานที่เราทำนั้น จะต้องเป็นงานที่ทำแล้วการันตีว่าเราจะได้เงินด้วยนะ ถ้าเรากำลังอยู่ในสภาพการเงินฝืดเคืองจนต้องหารายได้เสริม ควรหลีกเลี่ยงอะไรก็ตามที่ต้องลงทุนและเอาเงินไปจมหรือค่าตอบแทนไม่แน่นอน  โดยเฉพาะพวกงานเสริมประเภท ลงทุนน้อยกำไรมหาศาล เพราะนอกจากจะต้องควักเงินแล้ว อาจไม่ได้ผลลัพธ์ตามการโฆษณา (หาเงินเพิ่มไม่ใช่เสียเงินเพิ่มโอเคนะ!)

 

  1. ลดรายจ่าย

ถ้าเรามีความสุ่มเสี่ยงที่จะช็อตหรือกำลังช็อต การตัดค่าใช้จ่ายเป็นวิธีที่ดีที่สุดและทำได้ทันที ถึงเวลาพิจารณาตัวเองแล้วว่า อะไรที่จำเป็นต้องตัด เช่น ลดค่ากินต่อวันลงให้พออยู่รอด หรือ การงดกินกาแฟหรูเปลี่ยนมาชงกินเองถูกๆ หรือ งดซื้อเสื้อผ้าใหม่ ลดการสังสรรค์นอกบ้าน และหันมาใช้พลังงานสำรองอันได้แก่ไขมันโดยการเดินแทนการใช้น้ำมันรถ กำหนดเวลาเปิดแอร์ และอะไรก็ตามที่ต้องประหยัด การลดรายจ่ายเป็นวิธีการเฉพาะหน้าเท่านั้น และไม่ควรหักดิบ เช่น งดข้าวบางมื้อ เพราะ จะส่งเสียต่อร่างกายและอาจนำไปสู่อาการโยโย่ นอกจากจะลดรายจ่ายไม่ได้แล้วยังตบะแตกจนใช้เงินมากกกว่าเดิม แถมอ้วนขึ้นอีกเพราะทนหิวไม่ไหว

 

  1. ทำบัญชีรับจ่าย

จะช่วยให้เรา เห็นการภาพใช้จ่ายของตัวเองชัดเจนมากขึ้น เราจะได้เห็นว่ามีอะไรที่สามารถเพิ่มรายได้หรือลดรายจ่ายด้านไหนได้บ้าง การทำบัญชีง่ายๆ แค่จดรายการ รับ จ่าย คงเหลือ หรือ จะใช้ Applications ในมือถือก็มีอยู่หลายตัว และฟรีๆ อย่างเช่น Money lover

 

  1. การจัดสรรงบประมาณส่วนตัว

เพราะเงินทองเป็นของมีจำกัด การกำหนดงบประมาณจะช่วยให้เรา ไม่ใช้เงินตามอำเภอใจการทำตามงบจะช่วยให้เรามีวินัยเข้มแข็ง ใช้เงินอย่างฉลาดและมีเหตุผล อาจเริ่มจากการกำหนดงบด้านต่างๆ ให้ตัวเอง อาทิ

 

การงบค่าใช้จ่าย

 

– ค่ากิน : ส่วนนี้ควรกะให้เพียงพอต่อความจำเป็นของชีวิตจริงๆ เรากินข้าวให้อิ่มวันละประมาณเท่าไหร่ แล้วค่อยบวกมื้อพิเศษเข้าไป

– ค่าเดินทาง : บางคนเบิกได้ บางคนเบิกไม่ได้ หากไม่มีภาระส่วนนี้ก็สามารถโยกย้ายไปเพิ่มในส่วนอื่นๆ ได้ แต่สำหรับคนที่มีรถส่วนตัวควรหักเก็บเงินบางส่วนเอาไว้เผื่อซ่อมบำรุงรถด้วยนะ

– ค่าใช้จ่ายจิปาถะ : สบู่ ยาสีฟัน ครีมโกนหนวด ของใช้แล้วหมดไปทั้งหลายก็ต้องจัดงบไว้ อย่าให้ต้องถึงขั้นไปยืมของคนอื่นใช้หรือถึงขั้นไม่ได้สระผมเป็นอาทิตย์เพราะไม่มีงบล่ะ

– ค่าใช้จ่าย FIX รายเดือน : พวกค่าสาธารณูปโภคและรายจ่ายตายตัว เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ-ไฟ ค่าหอ ค่าสมาชิกฟิตเนส ค่าให้พ่อแม่ โทรศัพท์  รวมถึงค่าผ่อน และชำระหนี้ สำหรับชาวชูใจวัยเรียน อาจมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้น้อยหรือเบิกจากพ่อแม่ หรือที่ทำงานได้ ก็ลองจัดสรรเงินส่วนนี้ไปเพิ่มเติมในส่วนอื่นดูนะ

– ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง สังสรรค์ และฟุ่มเฟือย : เพื่อความสุขเล็กๆ น้อยๆ ควรจัดงบอย่างพอดี

– เงินออม และเงินออมเผื่อฉุกเฉิน : ชีวิตไม่แน่นอนแน่นอน รอบคอบเอาไว้ก่อน และวางแผนเพื่ออนาคตสำหรับมือใหม่หัดออมสามารถใช้หลัก 10% ในการออมหรือออมแบบกำหนดจำนวนออมเงินที่ตายตัวต่อเดือนจะดีมาก

– เงินถวาย  และบริจาค : ฝึกที่จะให้อย่างจริงใจและเต็มใจ ส่วนนี้เป็นความสุขใจล้วนๆ ถ้าเราสามารถมีส่วนนี้ก็เป็นการฝึกจิตใจให้จะนึกถึงคนอื่นอยู่เสมอด้วยแหละ

 

  1. เริ่มเก็บเงินออมเผื่อฉุกเฉินวันนี้ เพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดีของพวกเรา

เงินออมเผื่อฉุกเฉิน (Emergency Fund)  คือ เงินที่เราเก็บไว้ใช้จ่ายหากเกิดเรื่องไม่คาดคิด เช่น ตกงาน ล้มป่วย หัวหน้าครบครัวเสียชีวิต วิกฤตเศรษฐกิจ บ้านเมืองเกิดภัยธรรมชาติ เพราะชีวิตมีความไม่แน่ไม่นอน ปลอดภัยไว้ก่อนคือเรื่องจำเป็น แนะนำว่าควรมีให้ครอบคลุมรายจ่ายของเรา  3-6 เดือน เช่น ถ้าปกติเราใช้เงินต่อเดือน 8,000 บาท เราก็ควรมีเงินก้อนนี้อย่างน้อย 8000 x 3 = 24,000 บาท หรือ ประมาณ 48,000 บาท สำหรับความชัวร์ที่ระดับ  6 เดือน

 

ก่อนที่เราจะเริ่มออมเงินเพื่อเป้าหมายอื่นๆ เราควรเริ่มจากการออมเงินส่วนนี้ก่อน เงินก้อนนี้ควรเก็บไว้ในธนาคารหรือสินทรัพย์ที่แปรสภาพเป็นเงินได้เร็วเมื่อเกิดความจำเป็น เช่น หุ้น หรือ ทองคำ  หลายคนอาจสงสัยว่าว่าการเก็บเงินเผื่อฉุกเฉินสำหรับคริสเตียนจำเป็นไหม และการที่เราวางใจในเงินก้อนนี้จะเท่ากับว่าเราไม่วางใจพระเจ้ารึเปล่า?

 

____________________________________

.

สำหรับคริสเตียนพระคัมภีร์บอกให้เก็บหรือไม่ให้เก็บเผื่อฉุกเฉิน?

 

“คนเกียจคร้านเอ๋ย ไปหามดไป๊ พิเคราะห์ดูทางของมัน และจงมีปัญญา มันเตรียมอาหารของมันในฤดูแล้ง และสะสมเสบียงของมันในฤดูเกี่ยว” (สุภาษิต 6:6,8)

 

มัทธิว 6:26-27 บอกเราว่า

“จงดูนกในอากาศ มันไม่ได้หว่านหรือเก็บเกี่ยวหรือสะสมไว้ในยุ้งฉาง แต่พระบิดาของท่านในสวรรค์ทรงเลี้ยงดูหมู่นก ท่านไม่ล้ำค่ายิ่งกว่านกเหล่านั้นหรือ?  ใครบ้างในพวกท่านที่กังวลแล้วต่ออายุตัวเองให้ยืนยาวออกไปอีกสักชั่วโมงหนึ่งได้?”

แน่นอนว่าพระเยซูไม่ได้บอกเราว่าไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องเก็บข้าวไว้ในยุ้ง(เก็บเงินในธนาคาร) แต่บอกให้ละทิ้งความกระวนกระวาย

ความกระวนกระวายอาจเป็นคนละเรื่องกับการเตรียมพร้อม การเลี้ยงดูอวยพรเป็นส่วนพระเจ้าแต่การดูแลจัดการเป็นส่วนของเรา แม้ในสมัยของโยเซฟ พระเจ้าก็ทรงใช้โยเซฟให้เตรียมพร้อม 7 ปีสำหรับการกันดารอาหารที่จะมาถึงในอีก 7 ปี (อ่านเพิ่มเติมได้ใน ปฐมกาล บทที่ 41)

“โยเซฟรวบรวมอาหารทั้งเจ็ดปีซึ่งมีอยู่ในประเทศอียิปต์ไว้หมด สะสมอาหารไว้ในเมืองต่างๆ ผลที่เกิดขึ้นในนารอบเมืองใดๆก็เก็บไว้ในเมืองนั้นๆ” (ปฐมกาล 41:47)

 

การที่คริสเตียนเก็บสะสมเอาไว้นั้นไม่ใช่แค่เพื่อให้เรามีเพียงพอในวันที่ขาดแคลนแต่มีส่วนที่จะช่วยเหลือผู้อื่นด้วย  เราเองก็เตรียมพร้อมได้เช่นกัน เพียงแต่เราต้องไม่หลุดโฟกัสว่า

 

“ความวางใจของเราอยู่ที่พระเจ้าไม่ใช่เงินทอง”

 

คริสเตียนก็ต้องหาเงิน เก็บเงิน แต่ไม่ควรกระวนกระวายเกินเหตุ นั่นเอง!!!
จะได้ไม่เป็นภาระของลูกหลาน แบบเมย์ … (ต่อไปกันเงินไว้เผื่อช็อตด้วยนะเมย์ ^^)

 

หมูจ๋าฉันคิดถึงเธอ …

(เรื่องราวการออมของเมย์จะเป็นยังไงต่อไป ติดตามตอนหน้านะคะ)

 


ติดตาม Money Series : เรื่องเงินนี่…ซีเรียส! Ep. ต่อไปได้ในวันพฤหัสหน้า แล้วเรามาร่วมลุ้นกันว่าหนูเมย์จะทำยังไงต่อไป พร้อมกับ Money Tips ที่จะช่วยให้เราจัดการการเงินได้ดีขึ้นจ้าาาาาา ^^

#ด้วยรักและชูใจ


Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
  • Illustrator:
  • ลาเบย (Labiere)
  • จับงานวาดมาตั้งแต่มัธยม จบออกแบบมาก็ยังวาดไม่ยั้ง ยังอยู่ร่วมกันในแวดวงงานรับใช้ไม่เคยหาย พร้อมๆกับความฝันในงานมิชชั่นนารี
  • Editor:
  • Emma C.
  • เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน