ศ.บ. ข้าเป็นยากูซ่ามาก่อน

EP. 47

ศ.บ.ข้าเป็นยากูซ่ามาก่อน!


ผู้เขียน Will Ripley, CNN
ผู้แปล ธนบูรณ์ ธรรมศรี
ผู้เรียบเรียง Wanee

 

คาวากุจิที่มา : https://pixabay.com

ยามเช้าวันอาทิตย์ที่มีฝนตกในคาวากุจิ พื้นที่แถบชานเมืองโตเกียวที่มีผู้อยู่อาศัยราว ๆ ห้าแสนคน ชายหญิงที่มาพร้อมกับร่มพลาสติกใสที่เห็นได้ทั่วไปในญี่ปุ่นต่างเดินเรียงรายกันเข้าไปในบาร์ที่ดูไม่ค่อยน่าสนใจนัก!

 

ด้านบนประตูทางเข้ามีป้ายเขียนไว้ว่า June Bride ที่นี่เคยเป็นผับอันแสนคึกคักในย่านชุมชนที่พักอาศัยอันเงียบสงบในจังหวัดไซตามะนี้มาเป็นเวลากว่า 25 ปี …

แม้ว่าบริเวณด้านนอกของ June Bride ซึ่งหลบอยู่ที่มุมถนนอาจค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่บริเวณด้านในกลับมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โต๊ะบาร์กับเวทีร้องเพลงคาราโอเกะเก่า ๆ ถูกเข้ามาแทนที่ด้วยธรรมาสน์ที่มีไม้กางเขนขนาดใหญ่ประดับอยู่ ถึงเก้าอี้หลายแถวที่จัดวางอย่างเป็นระเบียบนั้นอาจมีคนที่ดูหดหู่ทยอยเข้ามานั่ง แต่ส่วนใหญ่ก็เต็มไปด้วยผู้คนที่ใบหน้ายิ้มแย้ม มีการพูดคุยกันเงียบ ๆ ในหมู่พวกเขา

แม้ว่าบางคนในกลุ่มนี้เคยเป็นเหล่าขาประจำของบาร์มาก่อน แต่พวกเขาก็ไม่ได้มาที่นี่เพื่อนั่งดริ๊งก์อีกต่อไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ที่นี่เป็นสถานนมัสการ

และคนสุดท้ายที่เข้ามาในห้องก็คือ “เซนเซย์ ทัตซึยะ ชินโด” ชายที่ทุกคนต่างเรียกเขาว่าอาจารย์ (เซนเซย์หรือ Sensei ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่าครูหรืออาจารย์)

ในทันทีที่เขาก้าวเข้ามาในห้อง บรรยากาศของสมาชิกในห้องก็เปลี่ยนจากความเศร้าซึมเป็นความตื่นเต้น ชินโดขึ้นไปบนธรรมาสน์ ชูมือของเขาขึ้น ก้มหัวลงเล็กน้อย และเทศนาอย่างเอาจริงเอาจังราวกับว่ากำลังเต็มไปด้วย “ฤทธิ์อำนาจจากเบื้องบน”

 

ผู้รับใช้ยากูซ๋า

 

อดีตนักเลง 

แม้ชินโดจะอายุ 44 แล้ว แต่ก็ยังดูอ่อนกว่าวัย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาไว้ผมยาว แล้วก็รอยยิ้มที่ตราตรึงของเขา เขาเป็นคนหัวเราะง่าย แม้ในยามที่เขาแบ่งปันเรื่องราวแย่ ๆ ในอดีตของตัวเองกับสมาชิกในกลุ่มที่มีอยู่ประมาณ 100 คน

“ก่อนหน้านี้ เราอยู่กันคนละแก๊งค์ หันปากกระบอกปืนยิงถล่มใส่กัน” เขากล่าวเสียงดังอย่างตื่นเต้นจากธรรมาสน์ “แต่ตอนนี้เราต่างก็นมัสการพระเจ้าองค์เดียวกัน”

ทั้งศิษยาภิบาลและสมาชิกบางส่วนต่างก็เคยเป็นอดีตนักเลงมาก่อน ตอนที่พวกเขายังเป็นวัยรุ่น ต่างก็ไปเข้าร่วมกลุ่มกับมาเฟียญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันว่ายากูซ่า ตอนนั้นชินโดมีอายุเพียง 17 ปี

“ตอนนั้นผมยังเด็ก ไม่ได้คิดอะไรมากนัก” เขากล่าว “และสิ่งที่ผมเห็นจากภายนอก ก็ทำให้ผมรู้สึกหลงใหลในตัวยากูซ่ามาก พวกเขามีเงินมากมายให้ใช้สอยอย่างฟุ่มเฟือย และสนุกกับการใช้ชีวิตอย่างน่าอิจฉา ในสายตาของผม คนไม่ดีเหล่านี้ดูเจ๋งสุด ๆ ไปเลย”

 

ราคาที่ต้องจ่ายด้วยชีวิต

ภาพลวงตาของชีวิตอาชญากรอันแสนสบายที่ชวนให้หลงใหลได้ดึงดูดเหล่าโจ๋ชาวญี่ปุ่นนับหมื่นคนให้เข้ามาร่วมกับกลุ่มยากูซ่า ชินโดเล่าว่าเพื่อนร่วมแก๊งค์ของเขาส่วนใหญ่นั้นต่างก็มาจากครอบครัวที่มีปัญหา ยากูซ่าดูแลกันและกันโดยยึดหลักความจงรักภักดีและความสัมพันธ์แบบพี่น้อง แต่เมื่อชินโดถลำลึกลงไปสู่โลกที่อยู่เบื้องหลังของญี่ปุ่นนี้ เขาก็ได้เรียนรู้ว่าราคาของความสัมพันธ์นี้มักจะต้องจ่ายด้วยชีวิต

“หัวหน้าของผมถูกฆ่าตาย ผู้คนล้มตายในระหว่างการแย่งชิงอำนาจระหว่างแก๊งค์ คนที่เคยเล่นยากับผมก็ตายเพราะติดยา บางคนถูกยิงที่ขา บางคนฆ่าตัวตาย บางคนจู่ ๆ ก็ตายอย่างกระทันหัน ผมเห็นความตายมามากมาย” ชินโดกล่าว “ผมเห็นเพื่อนถูกแทงตายต่อหน้าต่อตา”

บนตัวของชินโดเต็มไปด้วยร่องรอยของการใช้ชีวิตในอดีต รอยสักที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของมาเฟียในญี่ปุ่นมีอยู่เต็มหน้าอกและแขนของเขา รอยสักที่ปรากฏให้เห็นภายนอกนั้นถือเป็นของต้องห้ามในที่สาธารณะเพื่อเป็นการแยกเหล่าสมาชิกแก๊งค์ยากูซ่าออกจากสังคม และเขาเองก็มักจะถอดเสื้อเพื่อให้บัพติศมากับอดีตนักเลงคนอื่นที่มีรอยสักอยู่เสมอ

เขาเคยติดยาไอซ์ แล้วก็เมายาจนขับรถไปชนกับรถของหัวหน้าเข้า เขาโชว์ให้ดูมือที่นิ้วก้อยถูกตัดออกไป เพื่อเป็นการชดใช้ความผิดในแบบของยากูซ่า

ชินโดผ่านการถูกจับมาแล้วเจ็ดครั้ง และมีสามครั้งที่ต้องติดคุก ครั้งแรกเมื่อเขาอายุได้ 22 ปี และเมื่อเขาอายุได้ 32 ปี ก็ถูกขับออกจากแก๊งค์ยากูซ่า หลังจากนั้นเขาใช้เวลา 8 จาก 10 ปีไปกับการเป็นนักโทษ เขาเล่าให้ฟังว่าเขาได้สัมผัสกับพระเจ้าในตอนที่อ่านพระคัมภีร์อยู่ในห้องขังเดี่ยว เขาศึกษา และหลังจากได้รับการปล่อยตัวมาเมื่อสิบกว่าปีก่อน เขาก็ได้กลายมาเป็นนักเทศน์

 

ยากูซ่ากลับใจ

 

บังเกิดใหม่ในร่างกายเดิมที่เต็มไปด้วยรอยสัก

ในปัจจุบันชินโดเลี้ยงดูกลุ่มสมาชิกซึ่งมาจากทุกชนชั้น และยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ผู้คนที่มีความหลังแตกต่างกันได้เข้ามาที่นี่ อาจมีทั้งคนที่หย่าร้าง ล้มละลาย หรือถูกทอดทิ้ง และก็ยังมีพ่อแม่ที่สูญเสียลูก ลูกชายติดคุก หรือถูกทอดทิ้งหลังจากที่ออกมาจากคุก นี่เป็นที่ที่คุณจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่” เขากล่าว “ยากูซ่าที่กลับเข้าสู่สังคมนั้นจะแตกต่างจากคนทั่วไปเป็นอย่างมาก”

สมาชิกรายล่าสุดของกลุ่มก็เป็นอดีตสมาชิกแก๊งค์ยากูซ่าชื่อว่าฮิโระ ซึ่งแยกตัวออกมาจากแก๊งค์ยามากุชิกุมิกลุ่มอาชญากรที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นที่เขาเคยอยู่มาเป็นเวลาห้าปี

“การกลับเข้ามาอยู่ในสังคมปกติเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ” เขากล่าว

ปัจจุบันเขาอายุ 37 ปี ครอบครัวหลีกเลี่ยงที่จะพบกับเขา เขาจึงต้องมาอาศัยคริสตจักรเป็นที่นอนพร้อมกับเสื่อบาง ๆ เพียงผืนเดียว เพื่อน ๆ สมาชิกจ้างเขาไปทำงานในฐานะช่างทาสี

“ในอดีตที่ผ่านมา ผมไม่เคยตื่นเช้าแบบตอนนี้เลย ผมเคยใช้ชีวิตเพื่อหาเงินเพียงอย่างเดียว ในส่วนของวิธีการหาเงินนั้น ผมทำเรื่องแย่ ๆ มามากมาย แม้กระทั่งการขายยา แต่ชีวิตใหม่ที่ผมได้รับมานี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผมจะได้กลายเป็นคนที่ดีกว่าที่ผ่านมา ผมเปลี่ยนแปลงไปมากหลังจากมาที่คริสตจักรแห่งนี้” เขาเสริม

ฮิโระเชื่อว่าหากเขาไม่ได้มาพบกับคริสตจักรแห่งนี้ ตอนนี้เขาก็คงใช้ชีวิตอยู่ในคุกแล้ว เขาบอกว่านี่เป็นโอกาสที่มีอยู่น้อยนิดในการเปลี่ยนชีวิตของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ไม่ให้โอกาสกับคนแบบเขาอีกครั้งง่าย ๆ

 

ศบ ยากูยาซ่า

 

ยากูซ่ากับสังคมที่เล็กลง

ในญี่ปุ่น คนที่เคยเป็นอาชญากรนั้นมีทางเลือกให้ไม่มากนัก โลกเบื้องหลังที่ต้องอยู่กันแบบหลบซ่อนนี้กำลังเล็กลงเรื่อย ๆ และเงินที่ได้มาก็ค่อย ๆ หดหาย ซึ่งเป็นผลมาจากการปราบปรามอย่างรุนแรงของภาครัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในปัจจุบัน ตำรวจประมาณการว่ามียากูซ่าอยู่ประมาณ 50,000 คน ซึ่งลดลงอย่างมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

เจค อเดลสไตน์ นักเขียนและผู้สื่อข่าวในญี่ปุ่น ผู้มีงานเขียนมากมายเกี่ยวกับเรื่องยากูซ่า กล่าวว่ามาเฟียญี่ปุ่นเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนในการควบคุมดูแลเหล่าอาชญากร เขามองว่าถ้าอิทธิพลของยากูซ่าหมดไป เมืองที่ปลอดภัยที่สุดในโลกอย่างโตเกียวจะมีอาชญากรรมตามท้องถนนเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน

“พวกเขาจะต้องคอยหาวิธีใช้งานคนเหล่านี้ และก็ต้องหาวิธีลบล้างความอัปยศในฐานะที่เคยเป็นยากูซ่า” เขากล่าว “เมื่อคนเหล่านี้ถอนตัว พวกเขามักจะไปก่ออาชญากรรมเล็ก ๆ ติดคุก หรือฆ่าตัวตาย คนส่วนใหญ่จบลงด้วยการฆ่าตัวตาย เพราะว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่ค่อยจะต้อนรับคนนิ้วกุดและมีรอยสักเต็มตัวมากนัก รวมทั้งคนที่ตลอดชีวิตไม่เคยผ่านการทำงานอย่างสุจริตมาก่อน”

ในฐานะอาจารย์ ชินโดผ่านการให้บัพติศมามาแล้วราวๆ 100 คน ซึ่งรวมไปถึงแม่ของเขา โยชิมิ ชินโด ผู้ที่มองดูลูกชายของเขาอย่างภาคภูมิใจ ทุกครั้งที่เขาขึ้นเทศนาในวันอาทิตย์

“ตอนที่เขากลับออกมา [จากคุก] เขาขอโทษและพูดกับฉันว่า ‘ผมจะมีชีวิตอยู่เพื่อแม่’ พอฉันได้ยินเขาพูดอย่างนั้น ฉันก็ตัดสินใจที่จะลืมทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาในอดีตทั้งหมด และตอนนี้ฉันก็มีความสุขมาก” เธอกล่าว

เมื่อลูกชายของเธอมองหาสถานที่สำหรับนมัสการในวันอาทิตย์ เธอก็ยินดีมอบ June Bride บาร์ที่เธอเป็นเจ้าของและดำเนินการกิจการมานับ 25 ปีให้ทันที ในช่วงแรก ๆ นั้น มีคนมาร่วมนมัสการในวันอาทิตย์ไม่ถึง 10 คน แต่ในปัจจุบันมีคนนับสิบๆ คนมาร่วมนมัสการเป็นประจำทุกสัปดาห์

“ฉันเชื่อว่าที่นี่เป็นหมายสำคัญที่แสดงถึงการจัดเตรียมของพระเจ้า และเชื่ออีกว่าการจัดเตรียมนี้เป็นน้ำพระทัยของพระองค์” เธอเสริม

เมื่อเธอคิดถึงเส้นทางชีวิตอันแสนวุ่นวายของลูกชาย เธอก็อดหัวเราะเรื่องที่มีคนเรียกลูกชายของเธอว่าอาจารย์ไม่ได้เลย
June Bride ไม่ได้เป็นสถานที่เต็มไปด้วยค็อกเทลและเพลงคาราโอเกะอีกต่อไป แต่ทุกวันสุดสัปดาห์ที่แห่งนี้กลายเป็นสถานนมัสการที่เต็มไปด้วยเสียงเพลงสรรเสริญจากคนหลายสิบคนที่ร่วมกันร้องอย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง

“ฉันเชื่อเหลือเกินว่าชีวิตของลูกฉันแสดงให้เห็นถึงบทสรุปของเรื่องราวอันแสนอัศจรรย์ของพระเจ้าได้เป็นอย่างดี” เธอกล่าวปิดท้าย

 

“ไม่สำคัญว่าคุณจะเป็นใคร…สำคัญว่าคุณยอมให้พระเจ้าใช้รึเปล่า?”

#ด้วยรักและกลับใจใหม่

 

.


ที่มาของข่าว : http://edition.cnn.com/2016/02/22/asia/japan-yakuza-preacher/index.html

 


Previous Next

  • Translator:
  • Jonah
  • นักแปลในชีวิตจริง และในทีมชูใจ รักพระเจ้า รักเมีย รักหมาแต่ไม่รักเด็ก เฟสบุ้คมีไว้อัพแค่เรื่องบอล หมา และเมีย อ้อ! และของกินที่เมียทำ
  • Illustrator:
  • Jostar
  • พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
  • Editor:
  • W. Wanee
  • นักแปลสาวสวยเสียงทอง ผู้ซึ่งอยากรับใช้พระเจ้าด้วยความสามารถด้านภาษาของเธอ งานใดที่ให้เธอรับผิดชอบ ไม่มีพลาดแน่นอน!