ทำไมชีวิตของคนเจน Y จึงวุ่นวาย?

EP. 4/8

ทำไมชีวิตของคนเจน Y จึงวุ่นวาย? [Church & Gen ตอนที่ 4]


บทความนี้ใช้เวลาในการอ่านประมาณ 7 นาที


 

Gen Y – หรือ มิลเลเนี่ยม
[
คือคนที่เกิดระหว่างปี พ..  2523-2540  อายุประมาณ 21 – 38 ปี]

________________

 

กำเนิดของเจน Y

เจน Y คือวัยของคนที่เป็น First Jobber หรือคนที่อยู่ในช่วงต้นของการทำงาน เป็นรุ่นที่เกิดมาในยุคที่อินเตอร์เน็ตเริ่มมีอิทธิพลแพร่หลาย มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง พวกเขาอยู่ในยุคที่การเปลี่ยนผ่านระหว่างโลกอนาล็อกสู่ดิจิตอลเสร็จสิ้นสมบูรณ์ คนกลุ่มนี้จึงเติบโตท่ามกลางความแตกต่างระหว่างความคิด ทัศนคติของคนในครอบครัวและสังคม เพราะทั้งเจนเบบี้บูมเมอร์และเจน X มีความคิดเห็นที่มักขัดแย้งกัน  เช่นคนเบบี้บูมเมอร์นั้นเชื่อว่ารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี แต่ในขณะที่เจน X สนับสนุนเรื่องสิทธิเด็กและต่อต้านการใช้ไม้เรียว

 

เค้าว่ากันว่าเจน Y ไม่ยอมโต (Peterpan Generation)

 

ปีเตอร์แพนนั้นอยู่อาศัยในดินแดนเนเวอร์แลนด์และไม่ยอมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ส่วนเจน Y ก็มีแนวโน้มที่จะอยู่ภายใต้การดูแลของครอบครัวยาวนานกว่าเจน X ที่ถูกปลูกฝังให้พึ่งพาตัวเอง นักวิชาการบางกลุ่มจึงเรียกคนเจนYว่า “เจนปีเตอร์แพน”

 

เพราะพวกเขาเกิดในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย (Great Recession) ผลก็คือพวกเขามักจะเลื่อนระยะเวลาในหลายๆ เรื่องออกไปก่อน (ถ้าสถานการณ์ทางการเงินไม่บีบบังคับ) เช่น เรียนจบช้าลง เริ่มหางานช้า หรือแม้กระทั่งเลื่อนชีวิตวัยเรียนออกไปด้วยการเรียนต่อปริญญาโทไปก่อน เพราะรีบไปก็ไม่แน่ว่าจะได้งานไหม และส่งผลไปถึงการเลื่อนการลงหลักปักฐาน หรือการแต่งงานมีลูกออกไปอีกด้วย

 

 

เจน Y เติบโตขึ้นมาด้วยความใกล้ชิดจากพ่อแม่ เพราะเป็นยุคที่พ่อแม่เริ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีและใส่ใจกับศาสตร์แห่งการเลี้ยงลูกมากขึ้น เด็กเจนY จึงมักได้รับการสนับสนุนด้วยการศึกษา และ การพัฒนาศักยภาพหลากหลายด้าน พ่อแม่เจน X มีแนวทางการเลี้ยงลูกที่แตกต่างออกไปจากที่พวกเขาถูกเลี้ยงดูมา พวกเขามักให้อิสระกับลูกในการค้นหาสิ่งที่ชอบแทนการตีกรอบ หรือพ่อแม่ที่เป็นคนปลายเจนเบบี้บูมเมอร์นั้นก็เริ่มมีความคิดที่ผ่อนปรนมากขึ้น

 

ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นก็คือ พวกเขาก้าวออกจากการเป็นเด็กสู่ความเป็นผู้ใหญ่ช้ากว่าเจนอื่นๆ เจน Y จำนวนมากอาศัยอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของผู้ปกครองนานกว่าคนรุ่นก่อน เมื่อช่วงวัยแห่งการพึ่งพาจึงยาวนานขึ้น พวกเขาจึงตั้งตัวได้ช้านั่นเอง

 

ชีวิตเต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน

 

นิยามของสิ่งต่างๆ ในยุคนี้ค่อนข้างวุ่นวาย ซึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodern) ทุกอย่างล้วนเบลอๆ ไม่ชัดเจน ไม่เว้นแม้แต่ นิยามเรื่องตัวตน การแสดงออกทางเพศ และความสัมพันธ์

 

 

ชุดของความสัมพันธ์ในโลกยุคโพสโมเดิร์นนั้นแปลกประหลาดเกินกว่าที่คนรุ่นก่อนจะสามารถจินตนาการได้ มากกว่าการเป็น สามีภรรยา คนรัก หรือมือที่สาม แต่เป็นอะไรที่ซับซ้อนตีความยากเย็น เช่น เพื่อนรักที่รักเพื่อน มากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน เฟรนวิทเบเนฟิต (Friend with benefit) ความสัมพันธ์แบบพี่น้องกัน คนคุยๆ หรือความสัมพันธ์ที่ไม่มีชื่อเรียก ในทำนองไม่ต้องรู้ว่าเราคบกันแบบไหน ไม่ต้องหาคำๆ ไหนเพื่อมาอธิบายยยยย

 

 

ลักษณะของคริสเตียนเจน Y

 

  • ยอมรับในความแตกต่างและเชื่อในความเท่าเทียมเพราะพวกเขาเปิดรับสื่อต่างๆ มาก และอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ที่ไร้เส้นแบ่งทางพรมแดนและวัฒนธรรม คนเจน Y เติบโตท่ามกลางการตื่นตัวในการยอมรับความหลากหลาย ทั้งเรื่อง เชื้อชาติ เพศ ศาสนา วัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ ต่างกับคนรุ่นก่อนที่มักแบ่งแยกสิ่งต่างๆ ออกเป็นกลุ่มๆ ก้อนๆ คนเจน Y จึงสามารถทำงานกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย หรือผู้เชื่อต่างคณะนิกาย ได้โดยไม่เก้อเขิน
  • ชอบการรวมตัวเฉพาะกลุ่ม มากกว่าการรวมตัวเฉพาะกิจเจน Y เป็นกลุ่มคนที่แสวงหาความรู้ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ พวกเขาชอบรวมตัวระหว่างคนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกันอย่างต่อเนื่อง มากกว่าการมารวมกันของคนเยอะๆ แบบเฉพาะกิจ อย่างการจัดงานฟื้นฟูใหญ่ๆ ที่มีหัวข้อนามธรรมอาจไม่ตอบโจทย์และดึงดูดคนเจนนี้เท่าไหร่นัก แต่การรวมกลุ่มเล็กๆ (Niche) ที่เปี่ยมไปด้วยภาระใจเดียวกัน หรือความสนใจร่วมกันมีความน่าค้นหามากกว่าสำหรับคนเจนนี้

 

  • ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายเพราะโลกยุคนี้ทุกอย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น ข่าวสารและข้อมูลจำนวนมากที่คนเจน Y ได้รับในแต่ละวันนั้นเยอะมากเกินกว่าคนในยุคไหนๆ พวกเขาอ่านหนังสือเกิน 7 บรรทัดถ้าเขาสนใจ และเปิดรับข้อมูลหลากหลายช่องทางพร้อมๆ กัน คนเจน Y จึงมีความสามารถในการสรุปความ เชื่อมโยง และเรียบเรียงทุกอย่างออกมาในรูปแบบสั้นๆ ได้ดีให้จบใน #แฮชแท๊กเดียว นอกจากนี้พวกเขาเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งมากๆ อีกด้วย

 

 

รับใช้ร่วมกับคนเจน Y ยังไง?

  • เจน Y ต้องการรู้ว่าทำทำไมไหนลองอธิบายความแตกต่างระหว่างคืนอธิษฐานวันศุกร์ การประชุมกลุ่มย่อยตามบ้าน กับกลุ่มตามวัยตอนบ่ายวันอาทิตย์หน่อย ถ้าหากรูปแบบทั้งสามรายการนี้เหมือนกัน คือเริ่มต้นด้วยการนมัสการ มีคนแบ่งปัน และอธิษฐานปิด ก็ช่วยอธิบายความต่างและเหตุผลของการมีอยู่ของการประชุมทั้งหลายให้เจน Y ฟังนิด ไม่ใช่พวกเขาไม่เชื่อฟังคำสั่งหรือไม่มีภาระใจหรอกนะ แต่เจน Y จะทำงานได้ดีขึ้นหากพวกเขาได้รู้ว่า พวกเขากำลังทำอะไร เพื่ออะไร ถ้ามีใครบอกพวกเขาว่า “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด” พวกเขาจะยังไม่เชื่อทันที แต่เขาจะถามว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น

 

  • เจน Y ต้องการอิสระและความยืดหยุ่นพวกเขารักที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาใหม่ และไม่ชินกับการถูกกรอบและกดดันมากนัก ปัจจุบันองค์กรต่างๆ มากมายปรับตัวด้วยการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีและผ่อนคลาย ยืดหยุ่นเวลาทำงาน หรือแม้กระทั่งให้มีมุมสำหรับพักผ่อนในสถานที่ทำงาน ผลก็คือประสิทธิภาพการทำงานที่มากขึ้น การวัดที่ปริมานและคุณภาพผลงานอาจดีสำหรับพวกเขามากกว่ากว่าการวัดผลที่เวลาการทำงาน

 

  • ผูกมัดด้วยหัวใจ ไม่ใช่ผูกมัดด้วยเงื่อนไข

    คนเจน Y ไม่ได้ต้องการผลตอบแทนที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับคนเจน X และไม่ได้ใส่ใจเรื่องความมั่นคงเท่ากับคนเบบี้บูมเมอร์ ด้วยอายุที่ยังน้อยกว่าพวกเขามองหาประสบการณ์ และโอกาสในการได้แสดงฝีมือ การจะเอาชนะใจคนเจน Y ได้นั้น จึงต้องทำให้เขารับรู้ว่า เสียงของพวกเขามีความหมาย และเปิดโอกาสให้ได้ทำงานโดยใส่ความเป็นตัวเองลงไปบ้าง พวกเขาจำเป็นต้องรู้ว่า อะไรบ้างที่พวกเขาทำได้ และอะไรที่เป็นข้อต้องห้าม และอะไรที่สามารถต่อรองกันได้

 

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปบริบทของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงตาม การพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกันและสื่อสารกันด้วยการเปิดใจ ก็จะทำให้คนเจน Y และเจนอื่นๆ อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

 

“แค่เปิดใจ ต่างเจนยังไง ก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”

 

ในตอนหน้า Church & Gen “คนละรุ่นเดียวกัน” จะมาพูดถึงเจน Z กันต่อ รอติดตามด้วยการกด See first บนหน้าเพจชูใจนะและสำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านตอนแรก ครับ สามารถอ่านตอนอื่นๆในซีรีส์นี้ ได้ทาง >>> https://www.choojaiproject.org/category/articles/featured/churchgen/

*บทความนี้เขียนและรวบรวมขึ้นมาเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีสำหรับคนหลายวัย โดยชี้ให้เห็นถึงบริบททางสังคมที่มีอิทธิพลต่อผู้คนในแต่ละยุคอย่างกว้างๆ เพื่อให้เข้าใจถึงอิทธิพลของสังคมที่มีผลต่อมุมมองของคนแต่ละวัยเพื่อสร้างความเข้าใจแก่กันและกัน ทั้งนี้บริบททางสังคมเป็นเพียงส่วนประกอบเดียวในการรับรู้ของบุคคลซึ่งไม่ได้เป็นตัวกำหนดความคิด แบบแผนพฤติกรรมทั้งหมด ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ทำให้แต่ละคนมีความแตกต่างกันด้วย

 


อ่านเพิ่มเติมได้ที่ >>> https://en.wikipedia.org/wiki/Millennials

 


Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
  • Illustrator:
  • Jostar
  • พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
  • Editor:
  • Jick
  • บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง