รุ่นใหญ่ VS รุ่นใหม่ ถอดบทเรียนการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขจากพระคัมภีร์

EP. 8/8

รุ่นใหญ่ VS รุ่นใหม่ ถอดบทเรียนการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขจากพระคัมภีร์ [Church & Gen]


ผู้เขียน เดวิด เมธิส จากเว็บไซต์ https://www.desiringgod.org/

ผู้แปล Paula Kun


 

จากบทความที่ชูใจรวบรวมข้อมูล เขียน และแปลขึ้นมาในหัวข้อ เจนเนอเรชั่นต่างๆ ในโบสถ์ ก็เพื่ออยากให้คนที่หลากหลายวัยในโบสถ์/องค์กรได้เข้าใจที่มาที่ไป เบื้องหลังความคิดที่เกิดขึ้นมาจากบริบทที่ไม่เหมือนกันของคนแต่ละยุค เพื่อเราจะสื่อสารและปรับตัวเข้าหากันอย่างเข้าใจมากขึ้น ชาวชูใจที่ยังไม่ได้อ่านบทความก่อนหน้านี้ว่าแต่ละเจนเป็นอย่างไร อ่านได้ในลิงค์นี้เลย >>> Church & Generation

และวันนี้เป็นบทความสุดท้ายที่ทีมชูใจได้แปลมาเพื่อให้เห็นว่า พระคัมภีร์สอนยังไงให้เราปรับตัวเข้าหากันระหว่างรุ่นใหญ่ และ รุ่นใหม่!

__________________________

เขียนโดย เดวิด เมธิส

ในพระคัมภีร์ได้มีเขียนไว้เกี่ยวกับคนแต่ละรุ่น แต่ที่เห็นชัดๆ ก็คือใน 1-2 ทิโมธี และ ทิตัส เป็นช่วงที่ อ.เปาโลซึ่งเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหญ่ รู้ตัวว่าจะอยู่ต่อได้อีกไม่นาน จึงกำลังพยายามส่งต่อไม้ผลัดแห่งความเชื่อไปยังลูกฝ่ายวิญญาณซึ่งก็คือ ทิโมธี และ ทิตัส หรือคนรุ่นใหม่นั่นเอง ผมจึงมีข้อสังเกตุเกี่ยวกับความต่างระหว่างวัยที่ได้จากพระคัมภีร์ดังกล่าวที่อยากจะมาแบ่งปันให้ฟังครับ

 

  • เด็กรุ่นใหม่จะเรียนรู้จากคนรุ่นก่อนที่เดินติดตามพระเจ้าและใช้ชีวิตอย่างสัตย์ซื่อต่อข่าวประเสริฐ   “บัดนี้ ท่านก็ประจักษ์ชัดแล้วซึ่งคำสอน พฤติกรรม ความมุ่งหมายในชีวิต ความเชื่อ ความอดทน ความรัก ความหนักแน่นมั่นคง” (2 ทิโมธี 3:10)

 

  • คนที่โตกว่าควรใช้ชีวิตที่เป็นแบบอย่างและสะท้อนคำสอนจากพระคัมภีร์เพื่อจะให้คนรุ่นใหม่ได้ทำตาม ไม่ใช่เพราะความอาวุโส หรืออำนาจบารมีมาบังคับให้ทำ  “แต่ฝ่ายท่านจงดำเนินต่อไปในสิ่งที่ท่านเรียนรู้แล้วและได้เชื่ออย่างมั่นคง ท่านก็รู้ว่าท่านได้เรียนมาจากผู้ใด และตั้งแต่เด็กมาแล้ว ที่ท่านได้รู้พระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสามารถสอนท่านให้ถึงความรอดได้โดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์” (2 ทิโมธี 3:14-15)

 

 

  • ความเชื่อสามารถถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้ แต่จะเกิดขึ้นแบบเฉพาะเจาะจงกับคนบางคู่ หรือบางกลุ่มเท่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแบบทั่วๆ ไป  “ข้าพเจ้าระลึกถึงความเชื่ออย่างจริงใจของท่าน อันเป็นความเชื่อซึ่งเมื่อก่อนได้มีอยู่ในโลอิสยายของท่าน และในยูนีสมารดาของท่าน” (2 ทิโมธี 1:5)

 

  • ความสัมพันธ์ระหว่างวัยที่เรามีร่วมกันในพระเยซู สามารถเป็นความผูกพันที่ลึกซึ้งและมีความหมาย ซึ่งอาจแน่นแฟ้นยิ่งกว่าความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกซะอีก  “ถึง ทิตัส ผู้เป็นบุตรแท้ของข้าพเจ้าในความเชื่อเดียวกัน ขอพระคุณและสันติสุขจากพระบิดาเจ้า และพระเยซูคริสต์พระผู้ช่วยให้รอดของเรา จงดำรงอยู่กับท่านเถิด” (ทิตัส 1:4)

 

  • ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่จะมีโอกาสได้ดูแลคนรุ่นใหม่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่วันหนึ่งเราจะได้สลับบทบาทในการดูแลกันด้วย และในวันนั้นคนที่เด็กกว่าก็ควรจะแสดงความกตัญญูต่อผู้ที่สูงวัยด้วยเช่นกัน  “ถ้าแม่ม่ายคนใดมีลูกหลาน ก็ให้ลูกหลานนั้นหัดปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนา โดยปฏิบัติกับครอบครัวของตนก่อน และให้ตอบแทนคุณบิดามารดา เพราะว่าการกระทำเช่นนี้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า” (1 ทิโมธี 5:4)

 

  • ตอนนี้เราไม่ได้มีความสัมพันธ์เฉพาะแค่กับคนในรุ่นเดียวกันเท่านั้นนะ แต่ยังได้อยู่ในขบวนรถไฟของพระเจ้าที่มีหลายชั่วอายุคนสืบต่อกันมา ลองคิดดูสิว่ามันสวยงามแค่ไหน แม้ว่าเปาโลได้เป็นคริสเตียนรุ่นแรกในยุคแห่งการไถ่ของพระเจ้าซึ่งเป็นยุคใหม่ แต่ตัวท่านเองก็ยังชื่นชมยินดีที่ได้ร่วมในสิ่งที่ดำเนินต่อมาจากบรรพบุรุษแห่งความเชื่อในยุคสมัยก่อนหน้าเขา“เมื่อข้าพเจ้าระลึกถึงท่านในการอธิษฐานอยู่เสมอนั้น ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระเจ้าซึ่งข้าพเจ้าได้รับใช้ด้วยจิตสำนึกอันบริสุทธิ์เช่นบรรพบุรุษของข้าพเจ้า” (2 ทิโมธี 1:3)

 

  • เราไม่ควรคิดแค่จะรับข่าวประเสริฐจากคนรุ่นก่อนหน้าเราเท่านั้น แต่เราต้องส่งต่อเรื่องนี้ให้กับคนรุ่นหลังเราไปด้วย เพื่อที่พวกเขาจะได้รับการเตรียมตัวให้สามารถส่งต่อให้กับคนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งจะส่งต่อให้อีกรุ่นหนึ่งไปเรื่อยๆ วิธีนี้จะช่วยให้คนรุ่นก่อนได้จดจำว่า สมัยที่พวกเขาอายุน้อยนั้นเป็นอย่างไร และคนรุ่นใหม่ก็จะตระหนักได้ว่าสักวันหนึ่งพวกเขาเองก็จะกลายเป็นผู้อาวุโสแบบไหนได้ด้วยเช่นกัน“จงมอบคำสอนเหล่านั้น ซึ่งท่านได้ยินจากข้าพเจ้าต่อหน้าพยานหลายคน ไว้กับคนที่ซื่อสัตย์ที่สามารถสอนคนอื่นได้ด้วย” (2 ทิโมธี 2:2)

 

ความหวังเดียวกัน

ถึงแม้เรื่องของเจนเนอเรชั่นต่างๆ อาจทำให้ความคิดเราเต็มไปด้วยแง่ลบ แต่ในฐานะที่เป็นคริสตจักรเราควรมีความหวังในเรื่องนี้ เพราะไม่มีสถาบันหรือกลุ่มคนไหนในโลก ที่จะมีเหตุผลดีมากเท่ากับคริสตจักรในการเปลี่ยนความแตกต่างระหว่างรุ่นซึ่งเปรียบเสมือนยาขม ให้กลายเป็นยาดีที่เสริมสร้างคริสตจักรให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะพระเยซูเป็นผู้สร้างคริสตจักรขึ้น และพระองค์เป็นผู้ไถ่และผู้ทำให้เกิดการคืนดี และไม้กางเขนเป็นที่เดียวที่เบบี้บูมเมอร์ เจน X Y Z สามารถอยู่ร่วมกันได้ ถึงแม้การตลาดจะบอกว่าเราแตกต่างกัน แต่เรารู้ว่าพลังของการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง และการสร้างคริสตจักรนั้นอยู่ในพระเยซู ดังนั้น เราจึงเรียนรู้ที่จะตายต่อความเย่อหยิ่งของตัวเอง ตายต่อตัวตนและบริบทที่เราเติบโตขึ้นมา และก้าวออกไปเพื่อนำคนรุ่นอื่นๆ ให้มาถึงความรัก ความเมตตา และจิตใจที่รับฟังซึ่งกันและกัน

 


 


Previous Next

  • Translator:
  • Por Paula
  • พอลล่า รักเด็กและหน้าก็เด็ก บุคลิกร่าเริงสดใสวัยรุ่นชอบ จึงคร่ำหวอดในงานพันธกิจวัยรุ่น ชอบเดินทางเน้นกินและถ่ายรูป มีความสามารถทั้งการเขียน การแปล เห็นงานชูใจเลยคันไม้คันมืออยากมาร่วมแจมกัน!
  • Illustrator:
  • Jostar
  • พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
  • Editor:
  • W. Wanee
  • นักแปลสาวสวยเสียงทอง ผู้ซึ่งอยากรับใช้พระเจ้าด้วยความสามารถด้านภาษาของเธอ งานใดที่ให้เธอรับผิดชอบ ไม่มีพลาดแน่นอน!
  • Editor:
  • Jick
  • บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง