เด็ก 61 กับปัญหาการศึกษา

EP. 60

เด็ก 61 กับปัญหาการศึกษาซึ่งคุณก็รู้ว่าอะไร?


 

เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด (ปัญหาเรื่องการสอบเข้ามหาลัยระบบใหม่)

 

 

ชีวิตเด็ก ม.6 ปี 61 นั้นมีอันต้องโอดครวญอย่างต่อเนื่อง จากความหวังดีของผู้ใหญ่บ้านผู้ใหญ่เมืองที่รังสรรค์วิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่อย่างการสอบ TCAS มาให้แทนการสอบ Admission ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นี้สร้างความเจ็บปวดตั้งแต่ปัญหาระบบสมัครสอบล่ม จวบจนปัญหาการเฟ้อของคะแนน และการกั๊กที่นั่งจากช่องโหว่ของระบบ

 

ผลสรุปก็คือคะแนนสอบเฉลี่ยปีนี้สูงขึ้น ในขณะที่เด็กจำนวนมากสอบไม่ติด

 

 

ในระบบการสอบ TCAS จะเริ่มต้นช้ากว่าแบบเดิม (เลื่อนจากสอบในช่วงเทอม 2 ของ ม.6 ไปเป็นช่วงหลังเรียนจบ ม.6) และมีขั้นตอนที่ยาวนานมากขึ้นจึงยิ่งสร้างความเครียดให้กับตัวเด็ก 61 ที่ต้องรอสอบและติดตามผล (หากสงสัยเรื่องระบบTCAS อ่านได้ที่อ้างอิง) อีกทั้งความใหม่ของตัวระบบที่เพิ่งทดลองใช้กับความที่ดูจะซับซ้อนของมันก็ทำให้ผู้ปกครองหลายคนไม่เข้าใจ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความกดดันให้ตัวเด็กมากขึ้นไปอีก

 

                                                                  

เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย (ความคาดหวังเรื่องอนาคต)

 

ใครก็รู้! สังคมไทยวัดคุณค่าของคนที่คะแนนกับความนิยมของสถาบัน
ตัวเด็กจึงถูกตัดสินตั้งแต่ผลการเรียนเฉลี่ย เกรดวิชาหลัก
ไปจนถึงคณะที่เลือก และสถาบันที่เรียน

 

 

ผลวิจัยเชิงสำรวจของเอแบคโพลและสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เรื่อง “เด็กและเยาวชนไทยอยากเห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงจากการศึกษาไทย” (2557)  ชี้ว่าเด็กไทยสะท้อนปัญหาเรียนหนักติดอันดับต้นๆ ของโลกแต่เอาความรู้ไปใช้จริงไม่ได้แถมเครียดและกดดันเพราะกลัวสอบไม่ผ่านหรือไม่สามารถเข้าศึกษาได้

 

 

ระบบการศึกษาไทยที่มุ่งเน้นเพียงการสอบทำให้เด็กต้องใช้เวลาที่เหลือจากการเรียนปกติไปเรียนพิเศษ ซึ่งการที่เอาแต่ตะบี้ตะบันเรียนเพื่อสอบก็ทำให้เด็กไทยขาดโอกาสในการค้นหาตัวตน ความชอบ กระทั่งไม่รู้จักศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง  ในขณะเดียวกับที่การแข่งขันก็รังแต่จะทำให้เกิดความเครียดและกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ

 

 

เมื่อระบบการศึกษาไม่ได้เปิดช่องว่างให้ เด็กไทยจึงมักลงเอยด้วยการเดินตามกรอบ โดยดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยชื่อดัง และคณะยอดนิยม (ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะสมหวังเพราะที่นั่งอันมีจำกัด) อีกทั้งเมื่อไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรก็มักจะจบลงที่การ “เลือกเอาไว้ก่อน” และผลที่เกิดขึ้นคือการกั๊กที่นั่งคนอื่น หรือการได้เรียนอย่างขมขื่นในคณะที่ตัวไม่ชอบ (แต่แม่ชอบ) จนสุดท้ายอาจนำไปสู่การซิ่ว เรียนจบช้า หรือรีไทร์ ในเวลาต่อมา

 

ที่สำคัญคือการทุ่มเวลาทั้งหมดไปกับการเรียนในวัยที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย และต้องก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ จะส่งผลให้เด็กขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะทางด้านสังคม ด้านการรู้จักตัวเอง และไม่ค่อยได้รับการปลูกฝังด้านจริยธรรม เพราะเน้นผลลับด้านวิชาการจนเกินเหตุ

 

 

เพราะสังคมคาดหวังว่า… เด็กวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า
(แรงกดดันของครอบครัว และสังคมจึงมาก)

 

 

ความคาดหวังที่ไม่มีทางออกส่งผลให้คนเราทำอะไรบางอย่างเพื่อลดความตึงเครียด  เช่นเมื่อระบบการศึกษากดขี่ชีวิตคนมากจนเกินไป ตัวเด็กก็ใช้ความพยายามที่จะอยู่รอดด้วยวิธีการต่างๆ บางกลุ่มสมยอมต่อระบบและพยายามเล่นตามเกม ในขณะที่บางกลุ่มก็เล่นนอกเกม ทั้งเรียนรู้ที่จะโกง หรือพึ่งพาสิ่งที่เหนือกฎธรรมชาติ ทั้งการบนศาลเจ้าแบบออริจินัล หรือบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งเด็ก 61 จำนวนมากสร้างแคมเปญแจกเงินใน Twitter ซึ่งนอกจากเรียกคะแนนความสงสารแล้วยังเป็นการเพิ่มยอดฟอโลว์เวอร์ไปในตัว (น่าจะลองไปสอบ PR กับ Marketing นะเนี่ยยย)

 

 

 

_______________

 

ไม่เพียงแต่เด็กไทยที่ต้องเครียดกับการศึกษา เรื่องการสอบ
ความคาดหวังที่มาพร้อมกับความผิดหวังเหมือนจะเป็นยาขมที่ส่งผลกระทบต่อเด็กๆ ทั่วโลก

 

 

ไม่ว่าจะเป็นการสอบ SAT ของฝั่ง อเมริกา ที่เป็นการสอบกลาง ที่เคยถูกตั้งคำถามผ่านภาพยนตร์เรื่อง The Perfect Score (2004) ไปแล้วว่า การมีมาตรฐานเดียวกันนั้นจริงๆ มันยุติธรรมกับเด็กไหม เพราะคนเรามีความสนใจและความสามารถไม่เหมือนกัน อีกทั้งการที่พยายามผลักดันให้เด็กค้นพบศักยภาพในตัวเองที่จะมีไปทำไมในเมื่อสุดท้ายก็ใช้ข้อสอบชุดเดียวกันตัดสิน

 

 

ไม่เพียงแต่การสอบโหดหินของฝั่งตะวันตกเท่านั้น ฝั่งเอเชียเองก็ขึ้นชื่อเรื่องความทารุณของระบบการเรียนการสอบ ในหลายประเทศใหญ่ๆ ทั้ง ไทยแลนด์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีนแผ่นดินใหญ่

 

 

อย่างเช่น ซูนึง (수능) หรือการสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ ที่มีนักเรียนเข้าสอบราว 650,000 คนในแต่ละปีเพื่อเข้าชิงมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่มีเพียงประมาณ 1% เท่านั้นที่จะสามารถผ่านเข้าสู่มหาวิทยาลัยที่ตั้งความฝันไว้ได้ (ซื้อหวยบ้านเราโอกาสถูกมากกว่าอีก) ความโหดแบบนี้สร้างความกดดันจนนักเรียนหลายคนที่พลาดหวังถึงกับฆ่าตัวตาย

 

วันสอบซูนึง เป็นวันสำคัญมากระดับชาติ ตลาดหุ้น และห้างสรรพสินค้า จะเปิดช้ากว่าเดิม 1 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้รบกวนการสอบ จะไม่มีเครื่องบินลงจอดประมาณ 30 นาทีในช่วงสอบวิชาการฟังภาษาอังกฤษ อีกทั้งรถบัส รถไฟฟ้า และบริการสถานะต่างๆ ก็พร้อมบริการส่งนักเรียนถึงสถานที่สอบกว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศให้ถึงทันเวลา ประชาชนที่ไม่มีภารกิจจะหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักเรียน ตำรวจจราจรก็จะอยู่ประจำการเพื่อช่วยเหลือให้นักเรียนถึงห้องสอบโดยสะดวก รวมทั้งสำนักข่าวต่างๆ ที่คอยรายงานและเกาะติดตลอดเวลา ถือเป็นข่าวใหญ่ไม่แพ้ข่าวทางด้านการเมืองเลยทีเดียว จริงจังป่ะล่ะ!

 

ทำนองเดียวกันกับการสอบ Gaokao ของจีนซึ่งจัดปีละ 1 ครั้งเช่นกัน อีกทั้งปริมาณของประชากรที่ค่อนข้างมากจึงทำให้การแข่งขันจึงสูงตามไปด้วย ชนิดที่ว่าสอบครั้งนี้สามารถตัดสินอนาคตของเด็กนักเรียนจีนได้เลยว่าจะได้เรียนต่อไหม และอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

 

 

 


     พ่อแม่ของนักเรียนบางคนที่ฐานะดีให้ความสำคัญกับการสอบจนถึงขั้น จ้างพี่เลี้ยง หรือที่เรียกว่า 高考保姆 (Gaokao Nannies) ให้มาดูแลนักเรียนในช่วงเตรียมตัวสอบ รวมไปถึงดูแลเรื่องอาหารและโภชนาการของนักเรียนที่อ่านหนังสือเตรียมตัวสอบด้วย! ในวันนั้นจะมีแท๊กซี่ และรถอาสาสมัครบริการส่งนักเรียนไปสอบฟรี เพราะพวกเขาถือว่าเป็นการสอบที่สำคัญมากกับเด็กๆ

 

 

การสอบเข้าของประเทศญี่ปุ่นก็ขึ้นชื่อว่าโหดหินเช่นกัน เพราะถือเป็นบันไดสำคัญขั้นสำคัญสำหรับชีวิตคนญี่ปุ่น แถมชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยก็แทบจะกำหนดชีวิตการทำงานของคนญี่ปุ่นไปทั้งชีวิต มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างเช่น มหาวิทยาลัยโตเกียว (โตได) ก็มีอัตราการแข่งขันกันสอบเข้าดุเดือดทุกปี

 

เริ่มต้นด้วยความคาดหวัง ชีวิตอาจต้องพังเพราะความผิดหวัง

 

การสอบเต็มไปด้วยความคาดหวังของทั้งตัวเด็กและผู้ปกครอง แต่อย่างที่รู้กันว่ามีเด็กเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่ไปถึงฝั่งฝันได้ ดังนั้นเราควรเรียนรู้ที่จะจัดการกับความผิดหวัง และมีมุมมองอย่างไรกับสถาณการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังการสอบ?

 

 

ย้ายความคาดหวังจากความสามารถของตัวเองไปสู่ความหวังในพระเจ้า

 

“คนที่ผู้อุปถัมภ์ของเขาคือพระเจ้าของยาโคบก็เป็นสุข
คือผู้ที่ความหวังของเขาอยู่ในพระเจ้าของเขา” – สดุดี 146:5

 

ความหวังเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ และการมีความหวังเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ชีวิตมีจุดหมาย แต่การคาดหวังของคริสเตียนมีทางเลือกที่ดีกว่าการยึดติดกับระบบที่ไม่แน่นอน หรือความสามารถของมนุษย์ที่มีจำกัด

 

สิ่งต่างๆ ที่ไม่แน่นอนทำให้จิตใจของเราหวั่นไหวได้ง่ายและไม่มั่นคง เป้าหมายของการเข้าสู่มหาวิทยาลัยนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่าลืมว่าชีวิตของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริญญาและเกียรตินิยม เพราะพระเจ้าผู้ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์เราจะมีแผนการณ์ที่ดีกว่าแผนการณ์ของเราเตรียมเอาไว้เสมอ

 

วางแผนและทำในส่วนของเราให้ดีที่สุด
ส่วนที่เหลือฝากไว้กับพระเจ้า

 

“ใจของมนุษย์กะแผนงานทางของเขา แต่พระเจ้าทรงนำย่างเท้าของเขา” – สุภาษิต 16:9

 

การวางแผนการสอบ กับการเลือกคณะ และขั้นตอนในการยื่นคะแนนเป็นหน้าที่ของเรา ซึ่งเราเองต้องทำอย่างรอบคอบและเต็มที่ที่สุด นอกเหนือจากความสามารถในการควบคุมของตัวเรานั้นจึงเป็นส่วนของพระเจ้า

 

ในพระเจ้าไม่มีคำว่าล้มเหลว

 

“ถ้าพระเจ้าทรงนำย่างเท้าของมนุษย์คนใด และคนนั้นพอใจในวิธีการของพระองค์ แม้เขาล้ม เขาจะไม่ล้มลงเหยียดยาว เพราะพระหัตถ์ของพระเจ้าพยุงเขาไว้…ข้าพเจ้าเคยหนุ่ม บัดนี้แก่แล้ว แต่ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นคนชอบธรรมถูกทอดทิ้ง หรือลูกหลานของเขาขอทาน … จงรอคอยพระเจ้า…และรักษาทางของพระองค์ไว้ และพระองค์จะยกย่องท่าน…” สดุดี 37:23-25,34

 

การเข้ามหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝันไม่ได้ไม่ใช่จุดจบของชีวิต และไม่ได้หมายความว่าเราพ่ายแพ้ เช่นตัวอย่างในพระคัมภีร์อย่างโยเซฟ ที่แม้ว่าจะเป็นเด็กฉลาด แต่พระเจ้าก็มีแผนการณ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าการเป็นคนฉลาดที่ครอบครองฝูงสัตว์ เพราะแผนของพระเจ้าคือเขาจะได้ครอบครองอียิปต์ ทว่าก่อนจะถึงตอนนั้นเขาต้องถูกขายและมีชีวิตในคุกเสียก่อน

 

การสอบนั้นกดดัน และมีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนเสมอ … เราอาจเคยได้ยินคำพยานมากมายของพี่น้องในคริสตจักร ที่ผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาแล้วนับไม่ถ้วน ซึ่งแต่ละคนล้วนมีความแตกต่างกัน บางคนเก่งมากแต่สอบไม่ติด บางคนไม่เก่งแต่สุดท้ายก็สอบได้ บางคนไม่ได้มหาวิทยาลัยที่หวัง แต่ก็ไปเกิดผลในมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ตั้งใจแต่แรก สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงย่างก้าวหนึ่งที่เราจะเกิดผลมากขึ้นในบั้นปลาย

 

การสอบวัดความรู้ที่เราตั้งใจนั้น เป็นเพียงบททดสอบเล็กๆ ในการทดสอบที่ยิ่งใหญ่ของวิถีทางความเชื่อ พี่ชูใจของหนุนใจ เด็ก 61 และคนรอบข้างให้มีความหวังและทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดนะคะ

 

 

“จงวางใจในพระยาห์เวห์ด้วยสุดใจของเจ้า และอย่าพึ่งพาความรอบรู้ของตนเอง
จงยอมรับรู้พระองค์ในทุกทางของเจ้า แล้วพระองค์เองจะทรงทำให้วิถีของเจ้าราบรื่น”
(สุภาษิต 3:5-6 THSV11)

 

 

#ด้วยรักและสอบเข้ามหาวิทยาลัย

 



ข้อมูลเพิ่มเติม :

 

ขั้นตอนการสอบ TCAS : http://www.ondemand.in.th/tcas61-ระบบใหม่-คืออะไร

การสอบ ซูนึง ของเกาหลี : https://www.admissionpremium.com/content/3035

ข่าวผลวิจัยเรื่องความเครียดจากเรียนหนักของเด็กไทย (2557) :http://campus.sanook.com/1371165/

บทความเรื่อง ความเครียดของเด็กไทย…จากระบบการศึกษาไทย : https://www.tcdcconnect.com/content/3774/

การสอบ Gaokao ของจีน : https://www.dek-d.com/studyabroad/45803/                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                          


Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
  • Illustrator:
  • Jostar
  • พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
  • Editor:
  • Emma C.
  • เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน