เจ ไม่ใช่สิ่งเดียวมที่คนสมัยนี้เปลี่ยนมากิน - Cover

‘เจ’ ไม่ใช่สิ่งเดียวที่คนสมัยนี้เปลี่ยนมากิน


บทความนี้ใช้เวลาในการอ่านประมาณ  4 นาที
วันที่เผยแพร่  : 8 ตุลาคม 2021


การกินเจเป็นทั้งเทศกาลและวิถีการกินที่ชาวไทยคุ้นเคย ชาวชูใจหลายคนคงมีคำถามว่า ‘คริสเตียนกินเจได้ไหม’  ซึ่งมี อ. หลายท่านที่ได้ให้คำตอบเรื่องนี้ไปแล้ว (ถ้าใครยังไม่เคลียร์เรื่องนี้ หรือยังมูฟออนจากธงเจไม่ได้ เห็นแล้วมันแสนสะดุดใจ พีชูใจขอแนะนำให้ดูคลิป ‘คริสเตียนกินเจได้ไหม’ ของ อาจารย์ เอก ชาติชาย ในเพจ CGNTV )

 

นอกจาก ‘เจ’ ยังมีอย่างอื่นอีกที่เป็นเทรนด์การกินของคนสมัยใหม่ วันนี้ชูใจจะพามาสำรวจ ‘วิถีการกิน’ อื่นๆ ที่กำลังพัฒนาขึ้นมา ให้เราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มคนที่มีวิถีการกิน หรือ dietary discipline ที่แตกต่างออกไปจากที่เราคุ้นเคย จะได้พอรู้คร่าวๆ ว่าคนเหล่านั้นว่าเค้าคิดกันยังไงถึงกินแบบนั้น และหากเราเห็นด้วยและอยากทำตามจะได้ทำตามด้วยความเข้าใจ

 

เริ่ม!

 

 

  1. สายเจ (มันจะพิธีหน่อยๆ)
    .

    การกินเจมักมาคู่กับการถือศีล เดิมปฏิบัติกันในลัทธิเต๋า ซึ่งได้ผสมผสานเข้ากับความเชื่อของพุทธจีนมหายานในเวลาต่อมา ตำนานการกินเจเกี่ยวข้องกับพระโพธิสัตว์มารีจี หรือเจ้าแม่แห่งดวงดาว (โต้วหมู่หยวนจวิน) (ดังนั้นสายเจจะมีความเกี่ยวข้องกับ ศาสนาและพิธีกรรม มากกว่าสายอื่น)

    .
    คำว่า ‘เจ’ มาจากอักษรจีน แจ( 齋 ) แปลว่า บริสุทธิ์ เล็งถึงการรักษากายใจให้บริสุทธิ์เพื่อสักการะเทพเจ้า (ที่มาของอักษรแจ คำนี้ มาจากการเขียนอักษรภาพของจีนที่เขียนเป็นรูปการบูชาธัญญาหารแก่เทพเจ้า)
    .

    .

    .
    โดยทั่วไปแล้วการกินเจจะมาคู่กับการถือศีลหรือการปฏิบัติตัวไม่เบียดเบียนผู้อื่นและสัตว์อื่น เราจึงเรียกรวมกันว่า ‘ถือศีลกินเจ’ โดยจะงดเว้นเนื้อสัตว์ทุกชนิด และผักที่มีกลิ่นฉุน 5 ประเภท การปฎิบัติตัวแบบนี้สะท้อนการจัดระเบียบอาหารการกินและร่างกายของคนเราที่ผ่านกรอบคิดทางศาสนา  เป็นการจัดระเบียบชีวิตและจิตวิญญาณ

    ตามความรับรู้ในปัจจุบันการกินเจมีจุดประสงค์เพื่อลดละการเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น   ตามแนวความคิดของชาวพุทธเรื่องเมตตาธรรม  ทั้งนี้การกินเจในเทศกาลอาจมาคู่กับพิธีกรรมการบูชาเจ้าแม่มารีจีและเจ้าอื่นๆ มีการจุดธูปสวดมนต์ขอพร ตรงส่วนนี้อาจทำให้คริสเตียนหลายคนไม่สบายใจ  เพราะ ในที่ๆ มีการจำหน่ายจ่ายแจกอาหารเจ ก็อาจเป็นสถานที่มีศาสนาพิธีเหล่านี้ด้วย

    การกินเจได้รับความนิยมแพร่หลายในปัจจุบันมากกว่าเป็นเทศกาลพิธี ทั้งนี้ผู้คนทั่วไปก็อาศัยช่วงเทศกาลกินเจ 9 วันในการถือโอกาส กินผัก เพื่อพักล้างร่างกาย (Detox) หรือเป็นโอกาสในการเริ่มต้นดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้ผู้ที่อยากปรับเปลี่ยนวิถีการกินได้ทดลองการกินแบบเจ บางคนอาจจะเปลี่ยนมากินเจตลอดปีไม่ใช่เพียงในช่วงเทศกาลเท่านั้น

    .
    .

  2.  สายมังฯ (มันจะเฮลตี้นิดๆ)
    .

    มังสวิรัติ (Vegetarian) มาจากคำว่า มังสะ (เนื้อหนัง) + วิรัต (งดเว้น) แปลตรงตัวก็คือ รูปแบบการกินที่งดเว้นเนื้อสัตว์ ซึ่งอาจมีรายละเอียดแตกต่างไปตามกลุ่ม เช่น สายมังบางกลุ่มยังคงกินไข่ไก่ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์บางอย่างเช่นนม โยเกิร์ต บางกลุ่มไม่แตะเนื้อสัตว์เลย บางกลุ่มยังคงกินปลาและอาหารทะเล

    หากมุ่งเน้นแนวคิดเรื่อง อาหาร และสุขภาพ สายมังฯ อาจมาในรูปแบบของการกินคลีน ออกกำลังกาย เล่นโยคะ สร้างสมดุลชีวิต

    .

    .
    มังสวิรัติ
    ในปัจจุบัน นอกจากประเด็นเรื่องสุขภาพแล้ว อาจผนวกรวมแนวคิดเกี่ยวกับ การเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) ร่วมด้วย  เช่น  การต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ ต่อต้านผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทารุณสัตว์ (Cruelty-Free) กระบวนการทำเครื่องสำอางบางอย่าง การทดลองยาในหนู  เสื้อผ้าจากขนสัตว์ เป็นต้น

    อย่างที่บอกไปว่า มังสวิรัติ (Vegetarian) นั้นมีหลายกลุ่มมาก สายมังฯ บางคนก็ไม่นิยามตัวเองอยู่ในกลุ่มไหนเลย กินตามวิถีของตัวเอง แต่ในหลากหลายกลุ่มนั้น กลุ่มที่เข้มข้นมากที่สุด ก็คือ ‘วีแกน’ (Vegan) ซึ่งไม่ใช่อักษรย่อของ Vegetarian แต่อย่างใด แต่เป็นคำเฉพาะของ กลุ่มคนที่เป็นสังสาวิรัติแบบเข้มข้นสุดขั้ว

    .
    .

  3.  สายวีแกน (Vegan) (มันจะเรียกร้องไม่น้อย)
    .

    ถ้าเห็นใครกินแต่ผัก ปฏิเสธหมูกระทะแล้ว คุณสงสัยจึงถามว่าเป็นมังสวิรัติเหรอ แล้วเขาตอบว่าเปล่าเราเป็นวีแกน ชาวชูใจไม่ต้องแปลกใจแต่อย่างใด เพราะวีแกนนั้นเป็นคำเรียกตัวเองของผู้ที่กินผักและเรียกร้องเรื่องสิทธิสัตว์ และเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสัตว์ (Animal Activist)
    .

    .
    แม้ว่าคนกินเจ คนกินมังฯ และวีแกน จะกินผักเป็นหลักและไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ความแตกต่างของวีแกนนั้น จะเป็นเรื่องความตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่อง “ชีวิตของสัตว์” มากกว่า เรื่องของสายบุญ หรือสายเฮลตี้ บางคนก็ตระหนักในเรื่องนี้มากๆ พยายามเรียกร้องให้สังคมหันมาใส่ใจกับปัญหาเรื่องสิทธิสัตว์

    ชาววีแกนไม่ได้เพียงไม่กินเนื้อสัตว์ แต่จะปฏิเสธผลิตภัณฑ์จากสิ่งมีชีวิตทุกประเภท บางรายอาจต่อต้านการนำสัตว์มาเป็นสัตว์เลี้ยง ต่อต้านร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ไม่เที่ยวสวนสัตว์ไม่สนับสนุนการแสดงสัตว์ การใช้แรงงานสัตว์ และอื่นๆ อีกด้วย

    .
    .

  4.  สายแล๊บ Plant-based food (มันจะอร่อยล้ำๆ)
    .

    ด้วยความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์อาหาร และผลกระทบของอุตสาหกรรมอาหารที่มีต่อโลก ประกอบกับความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในศตวรรษที่ 21 ก่อให้เกิดวิถีการบริโภคแบบใหม่ ซึ่งเน้นไปทางสุขภาพและความมั่นคงยืนยาวของโลก นั่นก็คือสาย Plant-based

    โดยสรุป แนวทางของแพลนท์เบส ก็คือการประดิษฐ์กรรมอาหาร โดยใช้เทคโนโลยีทำให้อุตสาหกรรมอาหารเป็นมิตรต่อโลกและผู้บริโภคมากขึ้น โดยการลดการใช้เนื้อสัตว์จริงๆ  (ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามากมายต่อโลกและมนุษย์)เพื่อมาทดแทนผลิตภัณฑ์จากเนื้อ หันมาใช้พืชเป็นพื้นฐานในอาหารแทน เพราะผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น +ดูแลสุขภาพมากขึ้น


    อาหาร plant-based อาจอยู่ในรูปแบบอาหารที่เรียบง่าย อย่างเช่น อาหารแนวโฮมเมดที่แปรรูปจากถั่ว หรือ อาหารแล็บที่มีกระบวนการซับซ้อน ทั้งการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การตัดแต่งทางพันธุวิศกรรม (genetic engineering)

     

    ในแนวทางนี้ plant-based ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา ไม่เกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิสัตว์  แต่จะเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางด้านอาหารของมนุษย์ อาหารกลุ่มนี้อาจมีเนื้อสัตว์ในส่วนผสมของผลิตภัณฑ์บ้าง ในกระบวนการแต่งกลิ่น รส หรือ ในองค์ประกอบอื่นๆ

    .
    .

  5.  สายทางเลือก Alternative Protein (มันจะลื่นๆ แต่ก็มันส์ดี)
    .

    ประเด็นแตกออกมาจากเรื่องสิ่งแวดล้อมและก๊าซเรือนกระจกและเรื่องสุขภาพ  ผู้บริโภคสายโปรตีนทางเลือกมีหลากหลายกลุ่ม แต่ก็ไม่ได้เน้นเรื่องสิทธิสัตว์ หรือการเคลื่อนไหวเรื่องการต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์  ผู้บริโภคโปรตีนทางเลือก คือกลุ่มที่หันมารับคุณค่าสารอาหารจากโปรตีนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ เนื้อสัตว์กระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนจากพืช และ โปรตีนจากสัตว์อื่นๆ

    โดยอาจมองเรื่องสุขภาพและประโยชน์ด้านโภชนาการมากกว่า เช่น ผู้บริโภคโปรตีนจากแมลง จำพวก จิ้งหรีด หรือ หนอนฟาร์มที่สะอาดได้มาตรฐาน  หรือผู้บริโภคเนื้อสัตว์ประเภทอาหารป่า โปรตีนสกัด โปรตีนผง โปรตีนกระป๋อง ไก่เลี้ยงเอง เป็นต้น
    .

    _________________________________
    .
    .

    กินสายไหนก็กินด้วยใจขอบพระคุณได้

    การกิน และไม่กิน นัยหนึ่งก็เป็นสิทธิส่วนตัวในการเลือกของแต่ละคน ในบางกรณีก็มีกรอบคิดทางศาสนา หรือความเชื่อส่วนบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้บริโภคมากมายที่มีทางเลือก ก็ย่อมเลือกในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดให้กับตัวเอง เช่นเดียวกับ คริสเตียนเอง แต่ละคนก็มีแนวคิด และแนวปฏิบัติในการกินที่แตกต่างกันด้วย

    ไม่ใช่เรื่องผิดที่แนวคิดหรือการตัดสินใจของเรา จะตรงกับกลุ่มไหนสายไหนตราบใดที่เราชัดเจนว่าเรากินเพราะเราได้เลือกแล้ว และกินด้วยการขอบพระคุณ ไม่ว่าเราจะเลือกวิถีการกินที่สุดโต่ง หรือ เลือกกินโดยมีเหตุผลไหนสนับสนุน

    .

    ———————————————-

     

    มีแนวคิดมากมาย และรูปแบบการกินที่หลากหลายในพระคัมภีร์
    .

    – ในปฐมกาล พระเจ้าทรงประทาน พืชที่มีเมล็ด และต้นไม้ที่มีผลให้อาดัมและเอวา ในสวนเอเดนเป็นอาหาร (ปฐมกาล 1:29)

    – ดาเนียล และเพื่อนของเขาเลือกที่จะกิน ‘ผัก’ ตลอดชีวิตเพื่อรักษาชีวิตของตัวเองให้บริสุทธิ์  (ดาเนียล 1:8-16)

    – พระเยซู ทรงประทาน ขนมปังและปลาแก่ประชาชน  (มัทธิว 14:13-21)

    – ยอห์นผู้รับบัพติศมากินเพียงจักจั่นและน้ำผึ้งป่า (มัทธิว 3:4)

    – คริสเตียนในยุคกิจการของอัครราชทูต รับประทานเนื้อและเหล้าองุ่น แม้กระทั่งเนื้อที่ผ่านการไว้รูปเคารพ ก็ยังสามารถกินได้ถ้าไม่มีคนสะดุด (1 โครินธ์ 8,10)

    ชีวิตยังคงสำคัญยิ่งกว่าอาหาร และพระเยซูทรงบอกว่า สิ่งที่เข้าไปในร่างกายนั้นไม่ได้ทำให้ร่างกายของเราเป็นมลทินเท่ากับสิ่งที่ออกมาจากความคิดและจิตใจภายในของเรา (มาระโก 7:17-23)  ไม่ว่าจะกินอะไรหรือไม่กินอะไรเพราะเห็นแก่พระเจ้าพระเจ้าก็ทรงยอมรับ ในโรม 14:1 -3 บอกกับเราว่า …

    .

    “จงต้อนรับคนที่ยังมีความเชื่อน้อยอยู่ แต่ไม่ใช่เพื่อให้โต้เถียงกันในเรื่องที่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว
    คนหนึ่งถือว่าจะกินอะไรก็ได้ แต่อีกคนหนึ่งที่มีความเชื่อน้อยก็กินแต่ผักเท่านั้น
    อย่าให้คนที่กินนั้นดูหมิ่นคนที่ไม่กิน และอย่าให้คนที่ไม่กินตัดสินคนที่กิน เพราะว่าพระเจ้าทรงยอมรับเขาแล้ว”

     

    .
    .

    ไม่ว่าเราจะเลือกกินแบบไหนขอแค่กินด้วยใจขอบพระคุณและตระหนักเสมอว่า …
    ‘เราไม่ได้กินเพื่ออยู่เท่านั้น แต่อยู่เพื่อพระคริสต์’ นั่นก็เพียงพอแล้ว

    #ด้วยรักและกินใจ

    .

    .


ต้นฉบับภาพประกอบ จาก :  www.freepik.com

หากคุณมีภาระใจและอยากร่วมสนับสนุนชูใจ Project ให้มีคอนเทนท์เพื่อให้กำลังใจและส่งต่อความหวังออกไป สามารถสนับสนุนเราได้ ผ่านการแชร์บทความ การอธิษฐานเผื่อ และถวายทรัพย์เพื่อพันธกิจของเราด้วยกัน  อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง >>> https://www.choojaiproject.org/donate/ ขอพระเจ้าอวยพรชาวชูใจทุกคนค่ะ


Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
  • Editor:
  • Jick
  • บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง