EP9 - โลกของคนชอบพูดคนเดียวเป็นยังไง ทำไมคนเราถึงชอบพูดคนเดียว? [สวัสดีชาวโลก Podcast]

EP.9

EP9 – Self-Talk โลกของคนชอบพูดคนเดียวเป็นยังไง ทำไมคนเราถึงชอบพูดคนเดียว? [สวัสดีชาวโลก Podcast]



เผยแพร่ : 3 มีนาคม 2021
ความยาว : 19 นาที

 


 

 

เนื้อหาในตอนนี้

 

“คนอะไรคุยกับตัวเอง? บ้ารึเปล่า?”  เราอาจเคยได้ยินคำถามทำนองนี้ หรือ อาจเคยเห็นตัวร้ายในละครหลังข่าวคิดเสียงดังเป็นฉากๆ ว่าตัวเองจะทำอย่างนั้นจะทำอย่างนี้ การพูดสิ่งที่คิดออกมาเป็นเสียงนั้นเป็นการคุยกับตัวเอง (self-talk) รูปแบบหนึ่ง แม้ว่าอาจจะฟังดูแปลกๆ สำหรับคนที่เป็นผู้ใหญ่ แต่การคุยกับตัวเองเป็นสิ่งปกติในขั้นตอนพัฒนาการการเติบโตของมนุษย์เรา ซึ่งพบมากในตอนที่เรายังเป็นเด็ก และแม้ว่าจะโตแล้วแต่การพูดกับตัวเองนั้นสำคัญมาก และเป็นเคล็ดลับในการจัดระเบียบ และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับชีวิตของเราอีกด้วย

วันนี้สวัสดีชาวโลก ชวนเรามา ทำความเข้าใจ โลกของคนชอบพูดกับตัวเองกัน  ว่ามันเป็นยังไง และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

 

1. ทำไมคนเราถึงคุยกับตัวเอง [นาทีที่ 2.00]

 

ศ.พญ. อุมาพร ตรังคสมบัติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ได้พูดเอาไว้ใน รายการปั้นใหม่ ทาง YouTube โดยสรุปว่า

การคุยกับตัวเองเป็นสิ่งธรรมดาที่เราทุกคนมักทำแต่เราอาจไม่ได้คิดว่ามันมีประโยชน์ยังไง  เวลาเห็นเด็กๆ กำลังเล่นแล้วคุยกับตัวเอง พ่อแม่หลายคนอาจสงสัยว่าที่ลูกพูดกับตัวเองนี่ปกติรึเปล่า คุณหมอบอกว่าคนเราเมื่อยังเล็กๆ เราต่างก็มีความคิด แต่ยังคิดในใจไม่เป็น ดังนั้นในตอนเล็กๆ เราจึงมีเสียงพูดกับตัวเองว่าเราน่าจะทำอันนี้ดีกว่าทำอันนั้นดีกว่า หรือพูดกับตัวเองในเชิงของการเลียนแบบคำสั่งของพ่อแม่ออกมาเป็นคำพูดของตัวเอง

 

พอคนเราโตขึ้นไปอีก  เราก็จะเริ่มมีความคิดในหัวสมอง (internalize thought) หรือมีบทสนทนากับตัวเองในเชิง Inner dialog และไม่จำเป็นต้องเปล่งเสียงออกมาอีก (แต่บางคนก็เปล่งเสียงออกมาอยู่) เมื่อโตขึ้นเราก็จะมีโลกส่วนตัว (โลกในหัวของเรา) สิ่งต่างๆ ในโลกส่วนตัวถ้าเราจัดการมันได้ดี ปัญหาต่างๆ ก็จะถูกแก้ไขไปด้วยดีด้วยนั่นเอง

 

2. การพูดกับตัวเองส่งผลกับตัวเรามากแค่ไหน?  [นาทีที่ 4.00]

 

“ความตายความเป็นอยู่ที่อำนาจของลิ้น และบรรดาผู้ที่รักมันก็จะกินผลของมัน” – สุภาษิต 18:21

 

พระคัมภีร์ของชาวคริสต์ได้พูดเอาไว้ถึงพลังของคำพูดที่สามารถกำหนดความเป็นความตาย ถ้อยคำอ่อนหวานนั้นเหมือนรวงผึ้งที่เป็นคุณแก่ร่างกาย (สุภาษิต 16:24) ในขณะที่ถ้อยคำเผ็ดร้อนเปรียบได้ดังกับไฟเผาใจเพราะลิ้นนั้นเป็นดั่งไฟ (ยากอบ 3:6) แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและอำนาจของคำพูด

Self-Talk ด้านบวกและลบ

คำพูดนั้นมีอำนาจและทรงพลัง เมื่อดังออกจากปากเข้าสู่หูก็จะส่งผลให้สมองคิดตามและเกิดผลกระทบด้านพฤติกรรมต่อผู้ฟัง หากเราฟังคำพูดจากคนรอบข้างๆ ซ้ำ เราอาจจะ “เชื่อ” คำพูดเหล่านั้นในที่สุดมันก็ส่งผลต่อเรา ในทำนองเดียวกันคำพูดที่เราพูดกับตัวเองทุกวันๆ ก็ส่งผลต่อความรู้สึก นึกคิด และการกระทำของเรา โดยบางทีเราก็ไม่รู้ตัว แต่ที่สำคัญกว่านั้นไม่ว่ายังไงคนเราก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อตัวเองมากกว่าคนอื่น และเสียงจากข้างในนั้น ไม่ได้พุ่งออกจากปากผ่านอากาศเข้าสู่รูหู แต่วนๆ เวียนๆ อยู่ในสมองของเราโดยจำเป็นต้องไม่ผ่านตัวกลางใดๆ คำพูดที่เราพูดกับตัวเองจึงส่งผลต่อเราได้มาก

 

เมื่อเราพูดกับตัวเองทุกๆ วัน ความคิดในหัว (internalize thought) และ บทสนทนากับตัวเอง(Inner dialog) ในเชิงลบมันก็จะกัดกินใจข้างในทุกวันไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

 

 

3. ฝึกพูดกับตัวเองในเชิงบวก  [นาทีที่ 8.00]

 

ถ้าเราพูดกับตัวเองในเชิงบวก ในเชิงที่สร้างความหวัง ก็จะส่งผลให้เรามีกำลัง จัดการกับเรื่องอึดอัดใจได้ดี แต่ถ้าพูดกับตัวเองในเชิงลบ ก็จะทำให้ยิ่งปัญหายิ่งเกิดขึ้น การพูดกับตัวเองเชิงบวกจะทำให้เรามีกำลังใจ หาทางออกได้ อีกทั้งยังเป็นระบายความเครียดออกไปและช่วยให้ไม่วุ่นวายใจ

 

ในสถานการณ์เลวร้ายของชีวิตการฝึกบอกกับตัวเองด้วยข้อความ หรือใส่ความคิดที่ทำให้มีกำลังใจให้กับตัวเอง จะทำให้ไม่เสียใจเกินไป หรือเศร้าเกินไป ถ้าเราฝึกคิดกับตัวเอง หรือใส่ข้อความที่เป็นเชิงบวกลงไป เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น เราก็จะมีแนวโน้มที่จะพูดกับตัวเองด้วยประโยคที่เราเคยชินนั้น ดังนั้นเราควรเปลี่ยนคำพูดกับตัวเองด้านลบเป็นคำพูดเชิงบวก ด้วยการพูดกับตัวเองอย่างจริงใจ มีเหตุผล ไม่หลอกตัวเอง

 

เช่น

 

“มันยากเกินไปฉันทำไม่ได้หรอก” เปลี่ยนเป็น “แม้ว่ามันจะยาก แต่เราต้องทำได้สิ”

“เห็นมั้ย สุดท้ายก็ล้มเหลวตามเคย” เปลี่ยนเป็น “ครั้งนี้เรายังทำไม่ได้ ครั้งหน้าจะทำมันให้ดีขึ้น”

“ฉันมันไม่ดี ฉันมันผิดเอง” เปลี่ยนเป็น “ฉันยังไม่รอบคอบพอ ต่อไปฉันจะต้องรอบคอบมากกว่านี้”

“ฉันอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเค้า” เปลี่ยนเป็น “ฉันรู้ว่ายังมีคนที่รักฉันอยู่ และฉันต้องอยู่ให้ได้”

“ฉันมันร้องเพลงเพี้ยน ฉันไม่ควรมานำนมัสการเลย” เปลี่ยนเป็น “ฉันรู้ว่าการร้องเพลงเป็นจุดอ่อนของฉัน ฉันจะฝึกฝนให้มากขึ้นและเลือกเพลงที่ง่ายขึ้น”

สิ่งที่เราพูดกับตัวเองเป็นเพียงการสะท้อนมุมมองของเราต่อสถานการณ์ต่างๆ การฝึกพูดกับตัวเองในเชิงบวกนั้นมีเป้าหมายเพื่อให้เราสามารถเห็นคุณค่าในตัวเองหรือเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ที่มีอยู่ท่ามกลางปัญหา ไม่ใช่เพื่อการบิดเบือน “ความเป็นจริง” หรือ “การโกหกตัวเอง”

_________________________________

 

ตัวอย่างบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ และในปัจจุบัน
แม้ว่าหลายคนจะมองว่า คือ ความพยายามของเขาความล้มเหลว โธมัส เอดิสัน นักวิทยาศาสตร์ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟ มีมุมมองต่อการทดลองที่ไม่สำเร็จของเขาต่างออกไป

 

โทมัส อันวา เอดิสัน คำพูด

“ผมไม่เคยล้มเหลว  ผมแค่พบ 10,000 วิธี ที่ใช้การไม่ได้เท่านั้น”
– โทมัส อันวาเอดิสัน นักประดิษฐ์เอกของโลก

 

คำพูดของผู้อื่นอาจดูเหมือนคำตัดสินคุณค่าในตัวเรา แต่นั่นก็ไม่สำคัญไปกว่า เราเห็นคุณค่าในตัวเองยังไง ในบทสัมภาษณ์ของ เลดี้ กาก้า นักร้องและศิลปินระดับโลก เธอบอกว่าตัวเธอเองก็เคยถูกคนใกล้ตัวอย่างคนรัก ตัดสินเธอด้วยคำพูดที่ดูถูกดูแคลน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอกลายเป็นคนอย่างคำพูดเหล่านั้นตราบใดที่เธอยังเชื่อในตัวเองอยู่

 


Lady Gaga Cosmopolitan Magazine Outtakes ฉบับ april 2010 

 

“ฉันเคยมีแฟนคนหนึ่งที่บอกว่าฉันจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ ไม่มีทางได้ชิงรางวัลแกรมมี่ ไม่มีทางทำเพลงฮิตและเขาก็หวังว่าฉันจะล้มเหลว ฉันบอกเขาว่า สักวัน (ตอนที่เราไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว) เธอจะไม่มีทางดื่มกาแฟที่ร้านนั่นโดยที่ไม่ได้ยินเสียงหรือเห็นหน้าฉัน” – เลดี้กาก้า ในนิตยสาร Cosmopolitan ฉบับ April 2010

 

ตัวอย่างบุคคลในพระคัมภีร์ที่มีความมั่นคงในตัวเอง เช่น

ดาวิด เชื่อว่า โดยการนำของพระเจ้า ตัวเองจะสามารถล้มยักษ์โกไลแอทได้ แม้ว่าจะไม่มีใครเลยที่เชื่อแบบนั้น
ในสถานการณ์ที่เลวร้าย ดาวิดเลือกที่จะ สรรเสริญพระเจ้าภายในใจของเขา โดยร้องเพลงถึงความดีที่พระองค์ได้กระทำ

 

 

4. การฝึกพูดกับตัวเองเป็นการจัดระบบความคิด   [นาทีที่ 15.20]

 

 

นอกจากการให้กำลังใจ หรือบั่นทอนกำลังใจของตัวเองด้วยคำพูดแล้ว วิธีที่เราพูดกับตัวเองยังเป็นการจัดระบบความคิดให้กับตัวเองอีกด้วย เช่น การที่เราพูดว่า “วันนี้เหนื่อยจังไว้พรุ่งนี้ค่อยเริ่มอ่านหนังสือ” หรือ “วันนี้ฉันจะต้องอ่านหนังสือให้จบให้ได้” ย่อมส่งผลต่างกัน หรือ การพูดกับตัวเองว่า “ฉันจะไม่ยอมเกินเลยกับใครถ้ายังไม่แต่งงาน” กับ “อยากตื่นมาแล้วมีใครอยู่ข้างๆ จัง” ก็ทำให้เกิดการกระทำและการวางตัวที่แตกต่างกัน (ระหว่างดาวิด กับ โยเซฟ ในเรื่องนางบัชเชบา และภรรยาของโปฟิฟาร์ เป็นตัวอย่างที่ดีของการมีจุดยืนในตัวเอง เพราะนำไปสู่การกระทำที่แตกต่างกันชนิดคนละขั้ว)

 

 

5. ใช้พระคัมภีร์พูดกับตัวเอง และอย่าลืมที่จะพูดกับพระเจ้า  [นาทีที่ 16.20]

 

“ข้าพระองค์ได้สะสมพระดำรัสของพระองค์ไว้ในใจของข้าพระองค์” – สดุดี 119:11

 

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าจะพูดกับตัวเองในแง่บวกแบบไหน ชูใจอยากบอกว่า…มีข้อพระคัมภีร์มากมายที่เต็มไปด้วยกำลังใจ ข้อความที่ให้ความหวัง และเพิ่มเติมกำลังใจให้แก่เราทุกคน การสะสมข้อความจากพระคัมภีร์ผ่านการอ่าน หรือฟัง จะช่วยให้เรามีถ้อยคำแห่งการหนุนใจเพื่อใช้สำหรับหนุนใจตัวเอง และผู้อื่น

 

และสุดท้ายนี้ ข้อดีของการได้เป็นลูกของพระเจ้าก็คือ เราไม่จำเป็นต้องพูดกับตัวเองเท่านั้น นอกจากการที่เราจะพูดกับตัวเองในเชิงบวกหรือพูดให้กำลังใจตัวเองแล้ว เราก็ยังสามารถขอกำลังที่มาจากพระเจ้าในการเผชิญกับสถานการณ์เหล่านั้นในชีวิตได้อีกด้วย  เพราะว่าคริสเตียนยังพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่อยู่ภายในเรา ไม่มีอะไรต้องอายหรือปกปิดเมื่อเราเจอสถานการณ์ต่างๆ เราสามารถเปิดเผยและพูดกับพระเจ้าได้อย่างจริงใจเหมือนกับที่เราไม่มีอะไรต้องปิดบังตัวเอง เพราะพระเจ้าทรงรู้และพร้อมที่จะเป็นอีก 1 กำลังใจใหญ่ๆ ให้กับเรา

 


 

    ข้อมูลเพิ่มเติม :

 

 


  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)