EP.3

Me Myself & God ตัวตนของฉันกับพระเจ้า


ผู้เขียน : ‘พี่เฟย’ ณิชา หลีหเจริญกุล (นักจิตบำบัด)

สองบทความที่ผ่านมา พี่เฟยได้เขียนถึงเรื่อง Self-esteem และการอธิบายแบบกว้างเรื่องการเลี้ยงดูที่ส่งผลต่อ Self-esteem ของเรา ตอนสุดท้ายนี้เลยจะเขียนถึงประเด็น การกำหนดตัวตนจริงกับตัวตนปลอมต่อพระเจ้า (True Self vs False Self)

 

_______________

Self กับคริสเตียน

 

Self-esteem = ความภูมิใจในตัวเอง + รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า + เป็นที่รัก + รักตัวเอง


การเป็นคริสเตียนไม่ได้แปลว่า เราจะมี Self-esteem มากหรือน้อยไปกว่าคนที่ไม่ได้เป็น เพราะก่อนหน้าที่เราจะมาเชื่อพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นตอนเด็กหรือตอนโต ก็ยังมีปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อ Self-esteem ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆอยู่ นั่นคือการเลี้ยงดูจากครอบครัว
(*อ่านส่วนขยายได้ใน Ep.2) ซึ่งทำให้เกิดการกำหนดตัวตนจริงกับตัวตนปลอม (True vs. False Self) (*อ่านส่วนขยายได้ใน Ep.1) ขึ้น

 

 

อาจสรุปได้ว่า โดยทั่วไปแล้ว ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก คนเรามักจะไม่สามารถเป็นตัวเองได้ทั้งหมด เพราะสัญชาติญาณในการใช้ชีวิตจะทำให้บางครั้งเราต้องตอบสนองความต้องการของคนอื่น เพื่อให้ตัวเองมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำให้คนเราต้องซ่อนตัวจริงไว้ แล้วปล่อยให้ตัวปลอมทำงานแทนในบางสถานการณ์

 

ตัวอย่างเช่น:

 

ลูกร้องงอแง แล้วแม่บอกว่า ทำตัวแบบนี้ไม่น่ารัก เป็นเด็กไม่ดี แม่จะไม่รัก และลงโทษ

ลูกอาจจะงอแงต่อไป ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้ว่าเราเป็นเด็กไม่ดี แม่ไม่รัก ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำๆ บ่อยๆ เป็นระยะเวลายาวนานหลายปี ลูกจะต้องหาทางออกว่า อยู่อย่างไรให้รอด ให้แม่ยังรัก เพราะไม่งั้นจะมีชีวิตต่อลำบาก

 

ส่งผลให้

ลูกอาจจะยอมตามที่แม่ต้องการ เป็นคนที่แม่อยากให้เป็น แม้ตัวเองจะไม่ชอบ (หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไม่โอเค) ความต้องการของตัวเองจะหายไปจนเริ่มไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร (แต่รู้ว่าแม่ต้องการอะไร) และตัวปลอมของลูกจะทำงานเพื่อตอบโจทย์ของแม่

 

ดังนั้นสรุปได้ว่า

การเป็นคริสเตียนไม่สามารถบอกได้ว่า เรามี Self-esteem มากหรือน้อยกว่าคนอื่นที่ไม่ได้เป็น เพราะประสบการณ์ชีวิตวัยเด็ก (เด็กขนาดที่เรายังไม่สามารถตัดสินใจเป็นคริสเตียนได้) นั้นมีผลกับ Self-esteem

 

_______________

การเป็นตัวเองต่อหน้าพระเจ้า

 

คริสเตียนก็เป็นมนุษย์ที่แสวงหาการยอมรับเช่นคนทั่วไป และบางครั้งเมื่อเรานำคุณค่าของเราไปผูกเข้ากับการทำในสิ่งที่คนหรือสังคมต้องการ พระเจ้าก็กลายเป็นหนึ่งในสังคม โบสถ์ที่เราพยายามพิสูจน์ให้พระองค์เห็นว่าเราเป็นคริสเตียนที่ดีด้วยการสร้างตัวปลอมขึ้น ในขณะเดียวกันส่งผลให้ตัวจริงที่ถูกซ่อนไว้ไม่ได้รับการพัฒนาหรือเติบโต หากเมื่อไหร่ที่ตัวเราเผลอไปแตะสัมผัสกับตัวจริงก็จะทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง จึงต้องพยายามกลบซ่อนเข้าไปอีกเพื่อให้ใช้ชีวิตไปต่อได้

 

ทั้งนี้ ก็เพราะมันง่ายที่จะเผลอครอบพระเจ้าด้วยมุมมองเดียวกับความเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ลึกๆแล้ว ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ด้วยประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาเราก็มักอุปมาพระเจ้าให้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งคล้ายคลึงกับพ่อแม่ของเราและอีกอย่างก็เพราะสังคมคริสเตียนที่มักกระตุ้นด้วยการสร้างค่านิยมให้เป็นคริสเตียนที่ดี เป็น “ลูกที่ดี” ของพระเจ้า แล้วพระเจ้าจะอวยพร “ดี” ในที่นี้คือการเชื่อฟัง ทำตาม และสละชีวิตเพื่อติดตามพระเยซู ทั้งการรับใช้ การใช้ชีวิตในทางสว่าง ฯลฯ

 

เมื่อเป็นอย่างนี้ บทบาทของพระเจ้าก็คล้ายกับพ่อแม่ บางคนอาจทำทุกอย่างเพื่อให้เป็นคริสเตียนที่ดีตามความหมายของสังคมโบสถ์ แต่ในใจกลับมีแรงต้านและค้านอยู่ กระทั่งถึงจุดที่เรารู้ว่าพระเจ้าต้องการอะไร แต่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เพราะเราถูกบอกเสมอว่า ให้ทิ้งความต้องการของตัวเองแล้วเชื่อฟังความต้องการของพระเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น(ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่พระเจ้าต้องการจากเราจริงๆ แต่เป็นสิ่งที่เราถูกหล่อหลอมหรือเข้าใจไปเอง) ดังนั้นพระเจ้าจึงกลายเป็นบุคคลที่เราต้องทำให้พอใจเพื่อตัวเราจะได้รับความรักหรือการอวยพร

 

 

จุดประสงค์ของการเขียนบทความนี้คือพี่เฟยอยากชวนให้น้องๆ ได้ทบทวนกันว่า ทุกวันนี้ที่เชื่อพระเจ้าอยู่เราเชื่อเพราะอะไร? เพื่ออะไร? พระเจ้าคือใคร? ความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าเป็นแบบไหน? และพระเจ้าเป็นยังไงในสายตาของเรา?

 

ถ้าใครยังคิดไม่ออกเรื่องรูปแบบความสัมพันธ์กับพระเจ้าพี่เฟยก็อยากเสนอให้ลองเทียบจากตัวอย่างความสัมพันธ์ตามหลักสไตล์การเลี้ยงดูจาก Ep.2 กันค่ะ

 

 

ซึ่งรูปแบบความสัมพันธ์ 4 แบบนี้เป็นมุมมองของพระเจ้าที่เราเข้าใจ ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าทรงเป็นแบบใด

 

  1. Authoritarian parenting (การเลี้ยงดูแบบควบคุม)

พระเจ้าสั่งอะไรห้ามขัด “ต้องทำตามเท่านั้น” ถ้าไม่ทำโดนลงโทษแน่นอน! พระเจ้าแบบนี้ดูจะไม่สนใจเลยว่าเราต้องการหรือรู้สึกยังไงบ้าง ถ้าเราไม่เต็มใจทำ ก็กลายเป็นความผิดเราที่ไม่เชื่อฟังและไม่ทำตามคำสั่งของพระเจ้า ดังนั้นความต้องการและความรู้สึกของเราถูกผลักกระเด็นไปไกลโพ้น เพราะพระเจ้าในข้อนี้ไม่เคยฟัง หรือสนใจความรู้สึกของเราเลย เราเกรงกลัวว่าพระเจ้าจะไม่พอพระทัยหรือการลงโทษจากพระองค์

 

  1. Authoritative parenting (การเลี้ยงดูแบบไว้วางใจ)

พระเจ้าสนใจและใส่ใจความต้องการของเรา ตกลงเห็นชอบร่วมกัน รับฟังปัญหา และเราสามารถบอกความรู้สึกทุกอย่างที่มีต่อคนอื่นกับพระเจ้าได้ หรือความรู้สึกทุกอย่างกับพระเจ้าได้…เน้นว่า ทุกอย่าง ไม่ว่าจะรู้สึกไม่พอใจ ผิดหวัง เสียใจ โกรธ ดีใจ ปลื้มใจ ฯลฯ ในขณะเดียวกัน พระเจ้าก็มีขอบเขต ไม่ตามใจทุกอย่าง แต่สอนให้เข้าใจ และยังให้เวลาเราที่จะเข้าใจตัวเองและเข้าใจพระองค์อีกด้วย

 

  1. Neglectful parenting (การเลี้ยงดูแบบละเลย)

เราเชื่อพระเจ้านะ ไปโบสถ์ นมัสการ ฟังเทศน์ ก็รู้นะว่าพระเจ้าดี พระเจ้ารัก แต่บางทีก็ไม่ค่อยรู้สึก หรือบางทีก็เหมือนว่าพระเจ้าอยู่ไกลมาก บางคนอาจมีความรู้สึก ไม่พอใจพระเจ้า อธิษฐานอะไรก็ไม่เคยได้คำตอบ พูดอะไรก็ไม่เคยรู้สึกว่าพระเจ้าฟัง เหมือนพูดกับกำแพง ความเงียบของพระเจ้า มันสั่นประสาทให้รู้สึกเคว้งคว้าง เหมือนถูกพระเจ้าละเลยทอดทิ้งอยู่เดียวดาย

 

  1. Indulgent parenting (การเลี้ยงดูแบบยอมตาม)

พระเจ้าจะเป็นเหมือนยักษ์จินนี่ที่เราขออะไรก็คิดว่าพระเจ้าจะต้องให้ จะต้องอวยพร เราอยากได้อะไรก็อธิษฐานๆ คิดเอาว่า อันนั้นอันนี้มันต้องเป็นสัญญาณบอก เป็น sign จากพระเจ้าแน่เลย เรามีพระเจ้าไว้ตามใจตัวเอง

 

 

มุมมองเหล่านี้คล้ายกับมุมมองที่เรามีต่อพ่อแม่ ในขณะเดียวกันพระเจ้าก็ทรงเป็นบุคคลเหมือนกัน ดังนั้นวิธีที่ตัวเราได้รับการเลี้ยงดูอาจทำให้เข้าใจว่า พระเจ้าก็เลี้ยงดูเราแบบนั้น หรือเราอยากให้พระเจ้าชดเชยในสิ่งที่เราไม่เคยได้รับในวัยเด็ก ทำให้เราพยายามแสวงหาการยอมรับจากพระเจ้ามากขึ้นๆ เพื่อให้พระองค์รักและยอมรับ

 

จริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าควรเป็นแบบไหน? พี่เฟยว่า เห็นทั้ง 4 ข้อแล้ว ใครก็คงจิ้มคำตอบเองได้ เพราะถ้าพระเจ้าเป็น savior (ผู้ช่วย), healer (ผู้รักษา), deliverer (ผู้ประทานให้), provider (ผู้จัดเตรียม), protector (ผู้ดูแลรักษา), confident (ความมั่นใจ), joy (สันติสุข), love and secure (ความรักและความปลอดภัย) ก็จะเหมือนแบบที่ 2 คือ “ทรงเป็นพระเจ้าที่ไว้วางใจได้… for sure!!!”

 

_______________

 

การเป็นตัวเองต่อหน้าพระเจ้า สำหรับบางคนมันไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนตัวพี่เฟยเองสมัยก่อนไปเรียนศิลปะบำบัด พระเจ้าของเราเป็นแบบแรก คือถ้าไม่ทำตามพระเจ้าบอก จะลงโทษแน่ๆ มีมุมมองว่าพระเจ้าดีงามอยู่ไกลๆ ส่วนเราก็เป็นคนบาปต่ำต้อยด้อยค่าที่ไม่มีอะไรดีเลย ต้องทำต้องคิดแบบนั้นแบบนี้ เพื่อไม่ให้พระเจ้าโกรธ และต้องเป็นเด็กดีเพื่อพระเจ้าพอใจ จนช่วงที่เรียนจิตบำบัดจึงค่อยเห็นพระเจ้าชัดขึ้นว่าพระองค์เป็นผู้ที่เราไว้ใจได้มากที่สุด และค่อยๆ ทดสอบว่าจะไว้ใจพระเจ้าได้มากแค่ไหน โดยที่พี่เฟยบอกพระเจ้าก่อนว่าเราจะเป็นตัวเองแล้วนะ ไม่ปิดบัง

 

พระคัมภีร์ก็สนับสนุนให้เรามีความกล้าที่จะเข้ามา เผชิญหน้าอย่างเปิดเผยกับพระเจ้า และขอการช่วยเหลือจากพระองค์โดยไม่มีอะไรต้องปิดซ่อน

 

ฮีบรู ๔:๑๖ กล่าวว่า “ ฉะนั้นขอให้เราทั้งหลายจงมีใจกล้าเข้ามาถึงพระที่นั่งแห่งพระคุณ  
เพื่อเราจะได้รับพระเมตตา  และจะได้รับพระคุณที่จะช่วยเราในขณะที่ต้องการ ”

 

อะไรที่เคยรู้มาว่า เป็นคริสเตียนจะต้องทำตัวแบบนั้นแบบนี้ตามกรอบ แต่ต่อไปนี้จะทำที่ตัวเองต้องการ การได้บอกความรู้สึกของตัวเองให้พระเจ้ารับรู้ว่าคิดยังไง รู้สึกยังไงต่อคนอื่นและพระเจ้า โดยจะไม่กลบเกลื่อน มันกลายเป็นว่า พระเจ้าอยู่ใกล้มากขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งมันทำให้การโทษตัวเอง และการทับถมตัวเองจางหายไป…

 

หลังจากนั้นก็ได้เรียนรู้จักพระเจ้าในแง่มุมใหม่ว่า พระองค์นี้ดีงามมากมาย พระเจ้าอดทนกับความเกรี้ยวกราดของพี่เฟยมาก มุมมองที่มีต่อพระเจ้าก็เปลี่ยนจากที่เราต้องพยายามทำตามด้วยการเชื่อฟังเพื่อไม่ให้พระเจ้าโกรธ เป็นแบบที่เราสามารถเป็นตัวเองได้ เปิดเผยได้อย่างหมดเปลือก พูดคุยกับพระองค์ในทุกเรื่องแม้เรื่องที่ไม่น่ารัก หรือมุมบางมุมที่เคยปิดซ่อน (แต่พระเจ้าก็รู้มุมนั้นอยู่แล้ว) และได้รู้ว่าพระเจ้าก็ยังรัก รับฟัง อดทน สอน และทำให้เข้าใจตัวเองในขณะที่เข้าใจพระเจ้ามากขึ้นด้วย

 

รู้ได้เลยว่าสันดานของตัวเองถูกปรับเปลี่ยนเป็นผู้เป็นคนมากขึ้น การรับใช้ก็เริ่มมีเป้าหมายขึ้น เริ่มรู้ว่าเราต้องการทำอะไรร่วมกันกับพระเจ้า และพระเจ้ามอง vision อย่างไร ส่วนอะไรที่เราเห็นไม่ตรงกับพระเจ้า อะไรที่เรากังวล และไม่เห็นด้วยกับพระเจ้าก็เป็นเรื่องที่คุยกันได้ ปรับจูนกันได้  พระเจ้าเป็นพระเจ้าที่ไม่บังคับหากเราไม่พร้อม และเราก็สามารถบอกพระองค์ได้เมื่อเรารู้สึกต้องฝืนทำอะไรบางอย่าง    

 

อย่าให้มายาคติเรื่องการเป็นคริสเตียนที่ “ ดี ” มาครอบเราไว้

เพราะบางครั้งมันอาจเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ตัวปลอมของเรายังคงอยู่

 

ขอให้เข้าใจไว้เสมอว่า พระเจ้าอนุญาตให้เราเป็นตัวเองต่อหน้าพระองค์ได้ จะดีหรือร้ายพระเจ้าก็ยอมรับและอดทน แม้สิ่งที่มนุษย์ด้วยกันจะไม่สามารถทำได้ เพราะพระเจ้าจะสอนและเปลี่ยนให้เราพบตัวจริงของเราแบบที่พระเจ้าสร้างเอาไว้ เพื่อจะสามารถมีพระเยซูเป็นแบบอย่าง และเลียนแบบพระองค์ตามแบบฉบับของเราเอง โดยมีความรักของพระเจ้าที่ไว้วางใจได้คอยดูแลอยู่เสมอ

 

“ การเปลี่ยนแปลงจะสั่นคลอนตัวปลอมอันเป็น safe zone ของเรา

เพื่อให้ศักยภาพของตัวจริงได้มีที่ยืน ”

 

ป.ล. Self-esteem จะเริ่มมาเมื่อเรารู้สึกจริงๆ ว่าพระเจ้ายอมรับ ใส่ใจ และเข้าใจเรา ขอให้มั่นใจว่าพระเจ้ามีวิธีรับมือและวิธีขัดเกลาชีวิตของเราแต่ละคนแตกต่างกันไป

 


Previous Next

  • Author:
  • หลังจากเรียนจบศิลปกรรมศาสตร์ การละคร ม.ธรรมศาสตร์ ก็สนใจทำงานด้านเด็กและวัยรุ่นที่มีเชื้อเอชไอวี หลังจากเรียนต่อปริญญาโทสาขาสุขภาพจิต ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จากนั้นต่อปริญญาโทด้านศิลปะบำบัดที่ LASALLE College of Arts ที่ประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันกลับมาทำงานประจำที่คลีนิค The Oasis (https://www.theoasiscare.com/nicha-leehacharoenkul)
  • Illustrator:
  • เฮียกิดไจ๋
  • หนุ่มน้อยไฟแรงผู้รับใช้ เป็นคนเจนวายสาย conservative อนุรักษ์มือถือแบบปุ่มกด ไม่นิยมการใช้โซเชียล ชื่นชอบการอบคุ้กกี้ ดูเตียบ่อกี้และละครนาคีกับที่บ้าน เชี่ยวชาญทางด้านกราฟฟิกและงานครัว นี่มัน! หนุ่มโสดในฝันของสาวๆ เลยนี่นา!
  • Editor:
  • Emma C.
  • เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน