8

[พระคัมภีร์ไม่ไหลย้อนกลับ] The12 ep.8 ฮาบากุก


 

ฮะบากุก

 

ยังคงดำเนินเรื่องราวต่อเนื่องมาจากพระธรรมนาฮูมกับคำถามต่อความยุติธรรมของพระเจ้า

………………………………………..……

อยากฟังให้ได้อรรถรสมากขึ้นลองกลับไปอ่าน ฮาบากุก ก่อนได้ มีทั้งหมด 3 บทเท่านั้น จิ๊บๆ

………………………………………..……

ฮาบากุก เป็นผู้เผยพระวจนะที่น่าสนใจ ก่อนหน้านี้เราจะเห็นผู้เผยพระวจนะที่ออกไปประกาศ เพื่อเผยความชั่วร้ายของชนชาติต่างๆหรือแม้กระทั่งต่อชนชาติอิสราเอลเอง เพื่อให้เขากลับใจและเพื่อพระเจ้าจะไม่ลงโทษ แต่เรื่องของฮาบากุกนั้นไม่ได้ออกไปที่ไหน ฮาบากุกบอกจะขึ้นไปบนหอคอย เพื่อดู!

 

ฮาบากุก เป็นการเผยพระวจนะแบบสะท้อนคิดว่า ว่าทำไมเกิดความอยุติธรรมในสังคมมากมาย แต่กลับไม่เห็นว่าพระเจ้าจะทำอะไรสักอย่าง และ นี่คือสิ่งที่ฮาบากุกตั้งคำถามกับพระเจ้า และแน่นอน พระเจ้าตอบ! แต่คำตอบกลับผิดคาดจากที่คิด ฮาบากุกจึงค้านพระเจ้าอีก แล้วพระเจ้าก็ตอบอีก! และ สุดท้าย ฮาบากุกก็เริ่มเข้าใจ และได้คำตอบ

 

ฮาบากุก ไม่ได้ไปบอกใครให้กลับใจ แต่เป็นการเผยพระวจนะเชิงสะท้อนคิด ในรูปแบบการสนทนาระหว่างเขากับพระเจ้า

………………………………………..……

บทที่ 1-2
The Conversation

………………………………………..……

ถ้าเราอยากอ่านฮาบากุกให้เข้าใจ ต้องอ่านให้เป็นบทสนทนาระหว่างฮาบากุกกับพระเจ้า เราก็จะเห็นว่ามันต่อเนื่องกัน โดยในสองบทแรกเป็นการที่ฮาบากุกร้องทุกข์ต่อพระเจ้า และ พระเจ้าตอบ

ในบทแรก ฮาบากุกร้องทุกข์ต่อพระเจ้าว่า ทำไมเขาต้องมาเห็นอะไรแบบนี้ เพราะเมื่อเขามองไปในสังคม เขาพบว่าตอนนี้บ้านเมืองมีแต่ความชั่วร้าย ความอยุติธรรม การกดขี่ข่มเหงคนจน ผู้นำก็คอรัปชั่น แล้วก็ดูเหมือนว่าพระเจ้าไม่ได้ทำอะไรกับสิ่งนี้ พระเจ้าอยู่ไหน? ทำไมพระเจ้าไม่ทำอะไรสักที

 

ข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์จะร้องทุกข์นานสักเท่าใด
และพระองค์มิได้ทรงฟัง
หรือข้าพระองค์จะร้องทูลต่อพระองค์ว่า
และ พระองค์ก็ไม่ทรงช่วย

 

ทีนี้ พระเจ้าก็เลยตอบฮาบากุกว่า อย่ามัวแต่ก้มหน้าก้มตา มองขึ้นดู พระเจ้าทำอยู่นะ แต่ถึงจะบอก เจ้าก็จะไม่เชื่อ เพราะพระเจ้าจะให้คน แคลเดีย หรือ คนบาบิโลน มาลงโทษคนยูดาห์ที่ชั่วร้าย!

 

จงมองทั่วประชาชาติต่างๆและดูให้ดี
จงประหลาดและแปลกใจ
เพราะเรากำลังประกอบกิจในสมัยของเจ้า
ถึงจะบอก เจ้าก็จะไม่เชื่อ

 

พอฮาบากุกได้ยินอย่างนี้ก็ต้องอึ้ง เพราะ คนบาบิโลน สำหรับยูดาห์คือคนที่ชั่วร้าย คือคนที่โหดยิ่งกว่าคนอัสซีเรียที่เข้าทำลายอาณาจักรเหนือ

 

………………………………………..……

ถ้ายังจำกันได้กับพระคัมภีร์ก่อนหน้านี้ เราพูดถึงอัสซีเรียที่ทำสงครามกับอิสราเอล คนอัสซีเรียเป็นคนที่โหดร้ายในเรื่องการทำสงคราม มีการสลักสร้างภาพนูนต่ำถึงฉากสงครามที่ไม่ใช่แค่การรบ แต่เป็นการกระทำต่อเชลยชาวอิสราเอลที่แพ้สงคราม อย่างโหด! และพวกเขาทำภาพสลักนูนต่ำนี้ติดไว้ประดับผนังพระราชวัง!  ซึ่งทุกวันนี้ ภาพสลักนูนต่ำที่ว่ายังถูกแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์อังกฤษ

………………………………………..……

 

แต่ตอนนี้ นี้ นี้ อัสซีเรียที่ว่าอย่างโหด โดน “บาบิโลน” ถล่มไปเรียบร้อยแล้ว… ราบเรียบ ราบคาบ เพราะบาบิโลน ใช้วิธีจัดการกับศัตรูด้วยนโยบาย Scorched-earth policy (Scorch-แปลว่า แสงแดดแผดเผา ขอตั้งชื่อเรียกเองว่านี้คือ ปฏิบัติการแดดแผดเผา) คือ เวลาที่บาบิโลนตีเมืองไหนได้ จะทำลายด้วยการเผาทิ้ง เผาทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่สัตว์ หรือ ต้นไม้ใบหญ้า

 

ซึ่งถ้าเราอ่านฮาบากุกจนถึงตอนท้าย

 

 

แม้ต้นมะเดื่อไม่มีดอกบาน
หรือเถาองุ่นไม่มีผล
ผลมะกอกเทศก็ขาดไป
ทุ่งนามิได้เกิดอาหาร
ฝูงสัตว์ขาดไปจากคอก
และไม่มีฝูงวัวที่ในโรง

 

 

นี่ก็อาจสะท้อนว่า ฮาบากุก ก็น่าจะรู้ถึงนโยบายนี้ที่บาบิโลนกระทำต่อศัตรู และ ตัวเขาเองได้แต่รอถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างแน่ๆ และ รออย่างเงียบๆ

 

ก่อนหน้านี้อิสราเอลต้องเผชิญหน้ากับ อัสซีเรีย ที่ถูกเรียกว่า ชนชาติที่ชั่วร้าย เข้าบุกยึดทำลายกวาดไปเป็นเชลย และกระทำต่ออิสราเอลอย่างโหดเหี้ยม แต่ใน ฮาบากุก คนยูดาห์ที่รอดจากอัสซีเรีย กำลังจะต้องเผชิญกับ บาบิโลน ชนชาติที่ทำลายอัสซีเรียและเป็นคนที่โหดเหี้ยมยิ่งกว่า

 

………………………………………..……

 

เมื่อพระเจ้าบอกว่า จะใช้คน แคลเดีย(บาบิโลน) มาจัดการกับยูดาห์ที่ชั่ว เมื่อฮาบากุกได้ยินจึงรับไม่ได้

 

และด้วยเรื่องนี้น่าจะทำให้ ฮาบากุก ต้องแทบช็อค เพราะถ้าอ่านมาตั้งแต่ต้น เราจะเห็นการร้องทุกข์ของฮาบากุก ถึงสภาพบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยความชั่วร้าย ธรรมบัญญัติหย่อนยาน คนก็อยู่ลำบากเพราะคนชั่วที่เต็มเมือง แต่แล้วพระเจ้าก็ตอบว่า ได้ เราจะทำ ด้วยการเอาคน “ชั่วยิ่งกว่า” มาพิพากษายูดาห์

 

อย่างนี้ก็ได้เหรอ?

 

………………………………………..……

 

ไฉนพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์เห็นการชั่ว
และให้มองเห็นความยากลำบาก
ทั้งการทำลายและความทารุณก็อยู่ตรงหน้าข้าพระองค์
การวิวาทและการทุ่มเถียงกันก็เกิดขึ้น
ดังนั้น ธรรมบัญญัติจึงหย่อนยาน
และความยุติธรรมก็มิได้ปรากฏเสียเลย
เพราะว่าคนอธรรมล้อมรอบคนชอบธรรมไว้
ความยุติธรรมจึงปรากฏอย่างวิปลาส

 

สำหรับ ฮาบากุก แล้วในแง่นึงเขามองว่าตัวเขาเป็นตัวแทนส่วนหนึ่งของคนชอบธรรมที่เหลืออยู่ท่ามกลางสังคมเต็มไปด้วยความคดโกง เพราะการหย่อนยานต่อธรรมบัญญัติ สังคมที่วิปริต จนเขาไม่สามารถทนเห็นความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในสังคมได้

 

ถ้าเรากลับไปอ่านคำพูดของ ฮาบากุก การร้องทุกข์ของเขากำลังตั้งคำถามต่อพระเจ้าว่า  “พระองค์ยังดีอยู่ไหม?” “พระองค์ยังชอบธรรมอยู่ไหม?”  “พระองค์ยังยุติธรรมอยู่หรือเปล่า?”  ทำไมถึงปล่อยให้คนชอบธรรมอย่างผม และ เพื่อนๆต้องอยู่ในสภาพนี้

 

และ เมื่อพระเจ้าตอบว่า พระเจ้าจะใช้บาบิโลนที่ชั่วกว่ามาลงโทษยูดาห์

จึงกลายเป็นที่มาของการพูดคุยรอบที่สอง

ฮาบากุก ทูลค้านพระเจ้าว่า “ผมรับไม่ได้ ทำไม! พระองค์ถึงทำแบบนี้ มันเกินไป!”

 

 

………………………………………..……

จากเรื่องนี้เราจะเห็นว่า ฮาบากุก ทูลค้านพระเจ้าสองครั้ง
ครั้งแรก เกิดความชั่วในสังคมยูดาห์ ฮาบากุก ตั้งคำถามว่า ทำไมพระเจ้าไม่ทำอะไร?

แต่เมื่อพระเจ้าตอบว่า “กำลังทำอยู่นะ”
จึงเกิดคำครั้งที่สองเมื่อ ฮาบากุก ค้านว่า “ไม่ได้ พระเจ้าทำเกินไป”

………………………………………..……

 

 

ในครั้งแรก พระเจ้าทำน้อยไป ทำไมไม่ทำอะไร ส่วนครั้งที่สอง ไม่ได้นะ พระเจ้าทำเกินไป

 

นี่คือการมองสถานการณ์ด้วยมุมมองแห่งความชอบธรรมของตัว ฮาบากุก เอง เขากำลังมองตัวเองว่าเป็นคนชอบธรรม และ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เขาตั้งคำถามต่อพระเจ้าว่า “พระเจ้ายังชอบธรรมอยู่ไหม” “พระเจ้ายังควบคุมอยู่ไหม” “พระเจ้ายังดีอยู่ไหม” ทำไมสิ่งที่เขาเห็นจึงมีแต่ความอยุติธรรมความชั่วร้าย คำทูลค้านของฮาบากุก กำลังโจมตีไปที่ว่า “มันจะยุติธรรมได้ยังไง” ถ้าพระเจ้าเอาคนชั่วร้ายกว่ามาลงโทษคนชั่ว คือ เอาบาบิโลนมาโจมตียูดาห์ หรือสรุปประเด็นได้ว่า ฮาบากุก กำลังชี้ไปที่

 

“ ค ว า ม ยุ ติ ธ ร ร ม ”
ของพระเจ้า

 

พระเจ้ายังยุติธรรมไหม
ถ้าพระเจ้าลงโทษคนชั่วด้วยคนชั่วมากกว่า

 

………………………………………..……

 

แล้วพระเจ้าจึงตอบฮาบากุก ว่าไม่ต้องกังวลเรื่องความยุติธรรมของเราหรอกนะ เพราะว่า เราจะลงโทษบาบิโลนด้วย

 

คนเคลเดียจับคนทั้งหลายมาด้วยเบ็ด
เขาลากคนมาด้วยแห
เขารวบคนมาด้วยอวนของเขา

เขาจึงเปรมปรีดิ์และเริงโลด
เพราะฉะนั้น เขาจึงถวายสัตวบูชาแก่แหของเขา
และเผาเครื่องหอมให้แก่อวนของเขา
อาศัยสิ่งเหล่านี้ เขาจึงดำรงชีพอยู่อย่างฟุ่มเฟือย
อาหารของเขาก็สมบูรณ์

แล้วคนเคลเดียจะชักดาบออกเรื่อยไป
และฆ่าประชาชาติทั้งหลายอย่างไร้เมตตาหรือ

 

นอกจากบาบิโลนจะโหดเหี้ยม จากการใช้นโยบาย Scorched-earth policy แล้ว ยังบ้าอำนาจ บาบิโลนมองคนอื่นราวกลับเป็นสัตว์ ไม่ได้มองเป็นคน และเที่ยวกลืนชนชาติอื่น และ ทำลายทุกอย่างไม่ให้เหลือ แล้วคนเหล่านี้แหละที่พระเจ้ากำลังจะใช้มาจัดการกับยูดาห์(ที่ชั่วก็จริง)แต่ยังน้อยกว่าบาบิโลน ซึ่งดูไม่ยุติธรรมเลย

 

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้

 

อันที่จริงแล้ว ประเด็นนี้ไม่ได้มุ่งเน้นให้เป็นเรื่องของความยุติธรรมเท่ากับเป็นประเด็นที่สำคัญกว่า คือ “การครอบครองของพระเจ้า” ที่พระเจ้าจะใช้อะไรก็ได้ในการสำแดงความยุติธรรมของพระองค์

 

ลองย้อนกลับไปสักนิดในปฐมกาล ตอนที่พระเจ้าสัญญากับอับราฮัมว่าจะยกดินแดนคานาอันให้ แต่ต้องรอก่อนนะ กว่าจะได้เข้าไปจริงๆก็ในยุครุ่นลูกรุ่นหลานนู่น เพราะ “บาปของคนอาโมไรต์ ยังไม่ครบถ้วน” นั่นหมายความว่าในอนาคตลูกหลานของอับราฮัมจะเข้าไปยึดดินแดน หรือ โมเสสก็เตือนคนอิสราเอลเรื่องการเข้ายึดดินแดนว่า “อย่าสำคัญตัวผิดว่าเป็นความชอบธรรมที่ได้รับแผ่นดิน แต่เป็นเพราะความชั่วร้ายของชนชาติเหล่านั้น พระเจ้าจึงทรงขับไล่เขาออกไป” (ฉลบ 9:4)

 

ดังนั้นในเรื่องการเข้าไปยึดดินแดนของอิสราเอลจึงมีสองด้าน ในขณะที่อิสราเอลเข้ายึดดินแดน พระเจ้าก็ใช้การยึดดินแดนนี้เป็น  “อุปกรณ์”  ในการลงโทษความบาปของคนอาโมไรต์ด้วย

 

เพราะฉะนั้นในแง่นี้ พระเจ้ายังทรงสำแดงความยุติธรรมในแง่ที่ว่าพระองค์ยังลงโทษคนที่ชั่วร้ายอยู่ แต่วิธีการของพระองค์ที่ใช้ลงโทษ พระองค์จะใช้อะไรก็ได้ตามที่พระองค์ทรงควบคุมอยู่ พระเจ้าจึงใช้คนบาบิโลนที่ชั่วร้ายกว่ามาลงโทษคนยูดาห์ และภายหลังพระองค์ก็จะลงโทษคนบาบิโลนด้วย

………………………………………..……

 

ถ้าเราสังเกตในบทที่สอง เราจะเห็นการพิพากษาบาบิโลนด้วยคำว่า “วิบัติ” ซึ่งนับได้ ห้าครั้ง

 

วิบัติแก่ผู้ที่สะสมสิ่งที่มิใช่ของตนไว้…

วิบัติแก่ผู้ที่ได้กำไรมาสู่เรือนของตนด้วยความชั่ว…

วิบัติแก่ผู้สร้างเมืองด้วยโลหิต และ วางรากนครไว้ด้วยความชั่ว…

วิบัติแก่ผู้นั้นที่กระทำให้เพื่อนบ้านดื่ม ปนความโกรธของตนเข้าด้วย และทำให้เขาเมาไป
เพื่อจะเพ่งดูความเปลือยเปล่าของเพื่อนบ้าน…

วิบัติแก่ผู้ที่กล่าวแก่สิ่งที่ทำด้วยไม้ว่า จงตื่นเถิด…

 

การยึดข้าวของ

การคดโกง

การสร้างเมืองด้วยโลหิต (การกดขี่ในฐานะทาส)

ผู้นำที่ใช้ชีวิตอย่างปล่อยตัว ปรนเปรอตัวเอง

และ การกราบไหว้รูปเคารพ

 

………………………………………..……

 

ในบทนี้จึงเป็นการที่พระเจ้าตอบว่าพระองค์จะสำแดงความยุติธรรมของพระองค์แน่ๆ เพราะว่า ฮาบากุก ตั้งคำถามว่า มันไม่ยุติธรรมเลย ซึ่งตอนนี้เองที่พระเจ้าได้ย้อนถามเพื่อให้ ฮาบากุก ได้คิด

 

ดูเถิด ผู้ที่จิตใจไม่ชอบธรรมก็จะล้ม
แต่ว่าคนชอบธรรมจะดำรงชีวิตอยู่ ด้วยความซื่อสัตย์

 

 

คนอธรรมจะล้มลง(วิบัติต่างๆที่จะเกิดขึ้น) คือคนบาบิโลนที่ชั่วร้ายจะล้มลง

 

แต่คนชอบธรรมจะดำเนินชีวิตด้วยความ “ซื่อสัตย์” คำว่าซื่อสัตย์นี้กลายเป็นคำใหญ่ในพระธรรมฮาบากุก ซึ่งเรื่องนี้ยังถูกนำไปใช้จนถึงพระคัมภีร์ใหม่ คือ คนชอบธรรมจะดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์

 

ในตอนนี้ พระเจ้ากำลังถามอ้อมๆว่า “ฮาบากุก” ตกลงท่านเป็นคน “อธรรม” หรือ คน “ชอบธรรม” ถ้าคุณเป็นคน “อธรรม” คุณจะอยู่ไม่ได้นะ แต่ถ้าคุณเป็นคน “ชอบธรรม” คุณจะดำเนินชีวิตอยู่ในความซื่อสัตย์ นั้นหมายถึง ดำเนินชีวิตด้วยการไว้วางใจในการครอบครอง ในฤทธิ์อำนาจ ในพระสติปัญญาของพระเจ้า

 

คำถามนี้กำลังย้อนกลับไปเป็นคำท้าทายต่อตัวของ ฮาบากุก เอง

 

 

ในตอนต้นฮาบากุกเริ่มต้นด้วยการมองตัวเองว่าเขาเป็นคนส่วนหนึ่งของคนที่ชอบธรรม ที่สายตาของเขาไม่สามารถที่จะเห็นความชั่วได้ เมื่อพระเจ้าบอกว่าจะเอาคนบาบิโลนมาตียูดาห์ ฮาบากุก ก็ใช้คำในการโต้แย้งว่า “พระเนตรของพระองค์ บริสุทธิ์เกินกว่าจะเห็นความชั่วร้ายแบบนี้ได้”

 

สังเกตได้ว่า ฮาบากุก กำลังมองว่าตัวเองเป็นคนชอบธรรมที่ตาของเขาไม่ควรจะได้เห็นความชั่วร้ายในสังคม และถ้าพระเจ้าใช้บาบิโลนมาโจมตียูดาห์ พระเจ้า! ตกลงพระองค์ยังชอบธรรมอยู่ไหม? คำในตอนนี้ ฮาบากุก กำลังมุ่งประเด็นไปที่ความชอบธรรม

 

แล้วพระเจ้าก็บอกว่าจะลงโทษบาบิโลนนะ แต่ก็ย้อนถามประเด็นเดียวกับที่ฮาบากุกถาม “คุณเป็นคนชอบธรรมหรือเปล่า?” เพราะถ้าคุณ “ชอบธรรม” คุณจะดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ ในตอนนี้เองพระเจ้ากำลังท้าทายให้ฮาบากุกกลับมาดำเนินชีวิต ไม่ใช่ด้วยความชอบธรรมของตัวเอง แต่โดยความชอบธรรมของพระเจ้า

 

คือคำว่า “ชอบธรรม” เป็นคำนามธรรม แต่เป็นประเด็นหลักในพระคัมภีร์เล่มนี้ ถึงแม้ในพระคัมภีร์จะไม่ได้เขียนแจกแจงนิยามมาเป็นข้อๆ ความชอบธรรมนั้นเป็นแบบนี้นะ หนึ่ง สอง สาม แต่มีการขยายเรื่องของคนชอบธรรมกับคนอธรรมไว้อยู่เหมือนกัน

 

ดูเถิด ผู้ที่จิตใจไม่ชอบธรรมก็จะล้ม
แต่ว่าคนชอบธรรมจะดำรงชีวิตอยู่ ด้วยความซื่อสัตย์

 

ดูเหมือนว่า คนชอบธรรมหมายถึงคนที่ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความซื่อสัตย์ ส่วนคนที่ไม่ชอบธรรมคือคนที่หยิ่งจองหอง คำถามนี้ก็เลยย้อนกลับมาถาม ฮาบากุก ว่า ตกลง ฮาบากุก ไว้ใจความชอบธรรมของพระเจ้าไหม? หรือ เขาหยิ่งจองหองขนาดที่เขาไว้ใจความชอบธรรมของตัวเอง?

 

การที่ ฮาบากุก มองด้วยสายตาแห่งความชอบธรรมของตัวเอง แล้วตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของพระเจ้า ถามกับพระเจ้าว่า พระเจ้าดีอยู่ไหม พระเจ้าชอบธรรมอยู่ไหม พระเจ้ายังครอบครองอยู่ไหม คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่เกิดจากการใช้ความชอบธรรมของตัวเองเป็นมาตรฐาน

 

เรื่องนี้คล้ายกับพระธรรม โยบ

 

………………………………………..……

โ ย บ

 

ในตอนแรกที่โยบทนทุกข์ โยบก็บอกว่า “โอ ไม่เป็นไร พระเจ้าทรงให้ ก็ทรงรับไป สาธุการพระนาม” แต่พอถึงบทที่สาม โยบกลับบอกว่า “โอโห จะเกิดมาทำไม ขอแช่งวันที่ข้าพเจ้าเกิด” หลังจากนั้นก็คร่ำครวญความเจ็บปวดอย่างพรั่งพรูกับเพื่อนยาวไปจนถึงบทที่ 31 ซึ่งในบทที่ 31 นี้ เราจะพบกับการประกาศกร้าวของโยบ “ถ้าผมทำอย่างนั้นขอให้ผมเป็นแบบนี้” ซึ่งเป็นแบบนี้เกือบทั้งบท คือโยบกำลังแช่งตัวเองถ้าเขาเป็นคนทำผิด แต่ถ้าเขาไม่ผิด “ขอองค์ผู้มหิธิฤทธิ์ จงตอบข้าที” โยบกำลังขอให้พระเจ้าตอบเขาว่า พระเจ้าทำไม่ถูก เพราะเขามั่นใจว่าเขาชอบธรรม และเขาไม่ผิดแน่ๆ เขาจึงกล้าที่จะบอกว่า ถ้าผมทำอย่างนั้นขอให้ผมเป็นแบบนี้ มั่นใจว่าตนเองชอบธรรม ซึ่งในที่สุดพระเจ้าก็สำแดงให้ โยบ เห็นว่า ความชอบธรรมที่แท้จริงเป็นอย่างไร

 

เรื่องนี้ไม่ต่างอะไรจากพระธรรม ฮาบากุก เพราะฮาบากุกกำลังมองด้วยสายตาแห่งความชอบธรรมของตัวเอง แล้วในแง่หนึ่งก็ต่อว่าพระเจ้าว่าไม่ได้ทำอะไร และเมื่อพระเจ้าตอบว่า ทำแล้วนะ คือจะให้บาบิโลนมาตี ฮาบากุก ก็ค้านว่า “ไม่ได้” “ทำอย่างนี้ได้ยังไง” ทำอย่างนี้ไม่ยุติธรรมเลย “พระเนตรของพระองค์บริสุทธิ์เกินกว่าจะเห็นความชั่วร้ายแบบนี้” พูดง่ายๆว่า ฮาบากุก กำลังต่อว่าพระเจ้าว่าพระองค์ชอบธรรมเกินกว่าจะมาทำอะไรแบบนี้ หรือ ฮาบากุกกำลังมองว่า สิ่งที่พระเจ้าจะทำ นั้นไม่ชอบธรรมเสียเลย เรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในบทที่หนึ่งบทที่สอง ในบทสนทนาระหว่าง ฮาบากุก กับ พระเจ้า จนมาถึงจุดที่พระเจ้าใช้มุมมองเดียวกันย้อนถาม ฮาบากุก

 

………………………………………..……

 

ฮาบากุกเอ๋ย เจ้าเป็นคนชอบธรรม หรือ ไม่ชอบธรรม ถ้าเจ้าจะใช้ชีวิตที่วางใจในความชอบธรรมของตนเอง เจ้าก็จะล้มลง แต่ถ้าเจ้าจะดำเนินชีวิตด้วยความชอบธรรม เจ้าจะดำเนินชีวิตในความซื่อสัตย์ ไว้ใจในความดีงาม การครอบครอง และ ความสัตย์ซื่อของพระเจ้า

 

………………………………………..……

 

คำว่าซื่อสัตย์นี้เป็นคำใหญ่ เป็นคำที่มีความหมายในชีวิตของคริสเตียนด้วย อย่างคำว่า “อาเมน” ที่เราใช้เมื่อจบคำอธิษฐาน คำว่า “อาเมน” ก็แปลว่า “ซื่อสัตย์” หรือ Faithfulness การที่พระเจ้าบอกว่า คนชอบธรรมจะดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ก็หมายถึง ฮาบากุก ก็จะต้องกลับมา “ไว้ใจ” ในความซื่อสัตย์ ของพระเจ้า

 

คำว่า ซื่อสัตย์ เมื่อใช้กับมนุษย์หมายถึง การที่เราซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า แต่เมื่อใช้กับพระเจ้า คำว่า “สัตย์ซื่อ” นี้ หมายถึงพระลักษณะแห่งความ “ซื่อสัตย์” ของพระองค์เอง ซึ่งพระองค์จะมั่นคงและทำตามพระสัญญาของพระองค์อย่างสัตย์ซื่อตามพระลักษณะของพระองค์นั้นเอง

 

สำหรับฮาบากุกที่แม้เป็นเหมือนตัวแทนคนชอบธรรมในยูดาห์ เมื่อพระเจ้าตอบและเขารับไม่ได้ รู้สึกไม่ยุติธรรมที่พระเจ้าทำแบบนี้ แต่พระเจ้าก็เรียกให้ ฮาบากุก กลับมาไว้วางใจในความสัตย์ซื่อของพระองค์

 

ในที่สุดแล้วพระธรรมฮาบากุกก็กลับมาหนุนใจคนชอบธรรมว่า การดำเนินชีวิตที่ชอบธรรมเป็นการดำเนินชีวิตในความชอบธรรมของพระเจ้าด้วยการซื่อสัตย์ ถ่อมใจ ไว้ใจในนำ้พระทัย และการครอบครองของพระเจ้า ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร คนชอบธรรมจะดำเนินชีวิตด้วยการไว้วางใจในความซื่อสัตย์ของพระเจ้า

 

…………………………

บทที่ 3
The Song

…………………………

 

พระธรรมฮาบากุกไม่ได้จบแค่สองบท ที่เป็นการสนทนาแบบถามตอบกับพระเจ้า แต่มาจบในบทที่ 3 ซึ่งกลายเป็นบทเพลงสดุดีคร่ำครวญของ ฮาบากุก บทเพลงนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงบางสิ่งบางอย่างในหัวใจของ ฮาบากุก ที่เปลี่ยนแปลงไป จากคนที่มองเห็นตัวเองเป็นคนชอบธรรม และ ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของพระเจ้า แต่ในบทเพลงนี้ เมื่อฮาบากุก เห็นว่าพระเจ้ายุติธรรม พระเจ้าครอบครอง พระเจ้าสามารถใช้บาบิโลนที่ชั่วร้ายมาตียูดาห์ที่ชั่วร้ายน้อยกว่าได้ และ พระเจ้าท้าทายฮาบากุกว่า คนชอบธรรมจะดำเนินชีวิตด้วยความสัตย์ซื่อ ในตอนนี้ ฮาบากุก เดินมาถึงจุดที่ตาสว่าง เห็นว่าเขาต้องพึ่งในความสัตย์ซื่อของพระเจ้า ไม่ใช่พึ่งความชอบธรรมของตัวเขาเอง

 

ด้วยเหตุนี้เพลงที่เขาแต่งจึงเป็นเพลงที่พูดถึง ความไว้วางใจอย่างเต็มเปี่ยมที่ฮาบากุกมี ท่ามกลางสถานการณ์ที่จะแย่ลง ลองคิดตามกันดู ในตอนเริ่มเรื่องฮาบากุกก็บอกผมไม่อาจมองได้นะ ความชั่วร้ายแบบนี้ที่เกิดขึ้นในอิสราเอล แต่พระเจ้าก็บอกว่า มันจะแย่กว่านี้อีกเพราะบาบิโลนจะเข้ามาตีทำลายยูดาห์ ฮาบากุก บอก ตาของพระองค์จะไปทนมองได้ยังไงนั่นแย่ยิ่งกว่าเดิมอีก ซึ่งพระเจ้าก็ย้ำว่า ใช่ มันจะแย่จริงๆ แต่วางใจในความซื่อสัตย์ของเราสิ

 

และ ฮาบากุก ก็เลือกที่จะวางใจ และ เขียนบทเพลงนี้ขึ้นมา

 

ข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์ได้ยินกิตติศัพท์ของพระองค์
ข้าแต่พระเจ้า พระราชกิจของพระองค์นั้น ข้าพระองค์ยำเกรง
พอถึงกลางยุคขอทรงรื้อฟื้นพระราชกิจนั้นขึ้นใหม่
พอถึงกลางยุคขอทรงแจ้งให้ทราบทั่วกัน
เมื่อทรงกริ้ว ขอทรงระลึกถึงความกรุณา
3:2

 

พอถึงตรงนี้ ฮาบากุก มาถึงความเชื่อมั่นในความชอบธรรมของพระเจ้าแล้ว ก่อนหน้านี้ จะบอกว่า พระเจ้าทำแบบนี้ไม่ได้นะ พระเจ้าทำน้อยไป พระเจ้าทำมากไป แต่ตอนนี้ “เมื่อทรงกริ้ว ขอทรงระลึกถึงความกรุณา” ฮาบากุกยอมรับแล้วว่า การพิพากษาจะมาถึงแน่นอนโดยบาบิโลน แต่ถ้ามาถึงเมื่อไหร่ ก็ขอพระเจ้าทรงระลึกถึงเมตตากรุณาด้วย

 

และจากบทเพลงนี้จะเห็นว่าเขายังวางใจในความสัตย์ซื่อของพระองค์ด้วย

 

ข้าพระองค์ได้ยินกิตติศัพท์ของพระองค์

 

กิตติศัพท์ของพระเจ้า คือ กิตติศัพท์ ตั้งแต่สมัยที่พระองค์นำคนออกมาจากการเป็นทาศที่อียิปต์ สมัยที่พระองค์ลงมาปรากฏที่ภูเขา สมัยที่พระองค์ลงมาด้วยเสาเมฆเสาเพลิง สมัยที่พระองค์ลงมาปรากฏด้วยรัศมีภาพที่ยิ่งใหญ่ สมัยที่พระองค์เคลื่อนพลของพระองค์แล้วก็เกิดแผ่นดินไหว ฯลฯ

 

“ข้าพระองค์เคยได้ยิน” กิตติศัพท์แบบนี้มาก่อน เรื่องราวที่พระองค์เคยแทรกแซงธรรมชาติ ที่คนในพระคัมภีร์ก็ไม่สามารถอธิบายได้อย่างแจ่มชัด สัมผัสได้เพียง เป็นเสียงฟ้าร้อง เป็นแสงแวบวาบ เป็นแผ่นดินไหว ฯลฯ ฮาบากุก บอกว่าผมเคยได้ยินกิตติศัพท์ของพระองค์

 

พอถึงกลางยุคขอทรงรื้อฟื้นพระราชกิจนั้นขึ้นใหม่

 

ในบทเพลงนี้ ฮาบากุก กำลังอธิษฐานขอการครอบครองที่มาจากพระเจ้า การเสด็จมาของพระเจ้า

 

พระเจ้าเสด็จจากเทมาน
องค์บริสุทธิ์เสด็จจากภูเขาปาราน
สง่าราศีของพระองค์คลุมทั่วฟ้าสวรรค์
และโลกก็เต็มด้วยคำสรรเสริญพระองค์

ความผ่องใสของพระองค์ดังแสงสว่าง
มีลำแสงแวบมาจากพระหัตถ์ของพระองค์
พระองค์ทรงกำบังฤทธานุภาพของพระองค์เสียที่นั่น

โรคระบาดเดินนำหน้าพระองค์
ภัยพิบัติมาชิดตามหลังพระองค์
พระองค์ประทับยืนและทรงวัดพิภพ
พระองค์ทอดพระเนตรและทรงเขย่าประชาชาติ

แล้วภูเขานิรันดร์กาลก็กระจัดกระจาย
และเนินเขาอันอยู่เนืองนิตย์ก็ยุบต่ำลง
การเสด็จของพระองค์ก็เป็นดังดั้งเดิม

ข้าพเจ้าได้เห็นเต็นท์ของคนคูชันอยู่ในสภาพทุกข์ใจ
และม่านแห่งแผ่นดินมีเดียนหวั่นไหว
ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ทรงพระพิโรธต่อแม่น้ำหรือ
พระองค์ทรงกริ้วต่อแม่น้ำหรือ
หรือว่าพระองค์ทรงโกรธทะเล

เมื่อพระองค์เสด็จทรงม้า
เมื่อทรงรถรบแห่งความมีชัย
พระองค์ทรงดึงแล่งคันธนูออกเสียแล้ว
ทรงบรรจุลูกธนูไว้ในสายของมัน
พระองค์ทรงแยกพิภพด้วยแม่น้ำ

บรรดาภูเขาเห็นพระองค์ก็บิดเบี้ยวไป
กระแสน้ำที่ดุเดือดก็กวาดผ่านไป
มหาสมุทรก็ส่งเสียง
มันยกมือของมันขึ้นเบื้องสูง

ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์นิ่งเฉยอยู่ในที่ของมัน
เมื่อแสงแห่งลูกธนูของพระองค์พุ่งผ่านไป
เมื่อแสงแวบวาบแห่งหอกอันเป็นเงาของพระองค์พุ่งไป
พระองค์เสด็จไปเหนือพิภพด้วยความโกรธา
พระองค์ทรงเหยียบย่ำประชาชาติด้วยความกริ้ว

 


พระองค์เสด็จออกไปเพื่อช่วยประชากรของพระองค์ให้รอด
เพื่อช่วยผู้ที่พระองค์ทรงเจิมไว้ให้รอด

 

การเสด็จมาของพระเจ้าด้วยปรากฏการณ์ที่เหนือธรรมชาติที่ไล่เรียงมาทั้งหมด ก็มีเพื่อ ไปช่วยประชากรของพระองค์ “ให้รอด” และ ยังพูดถึงการช่วยถึงผู้ที่พระเจ้าทรงเจิมให้รอด ซึ่งในอนาคตก็หมายถึง พระเมสสิยาห์ด้วย

 

เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอพยพที่พระเจ้าไปช่วยประชากรของพระองค์ให้รอดจากการเป็นทาศที่อียิปต์ เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นอีกแน่ๆ ฮาบากุก มาถึงจุดที่เขามั่นใจว่าพระเจ้าจะแทรกแซงความชั่วร้ายของโลกอีกแน่ๆ สิ่งที่ฮาบากุกเคยเห็นว่ามันชั่วร้ายที่เกิดขึ้น พระเจ้าก็จะตอบสนองต่อความชั่วร้ายนั้นแน่ๆ ตามความยุติธรรมของพระองค์ พระองค์จะตอบสนอง ต่อความชั่วร้าย การคดโกง ความอยุติธรรม ความไม่สัตย์ซื่อ ความโหดเหี้ยม การยึดข้าวของ การดูถูกคนให้เป็นเพียงสัตย์ ผู้นำที่ปราศจากความรับผิดชอบ หรือ แม้กระทั่งคนที่นมัสการรูปเคารพ

 

ฮาบากุก มั่นใจว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของอิสราเอลจะเกิดขึ้นอีก พระเจ้าจะแทรกแซงในประวัติศาสตร์โลกอีก ฮาบากุก มาถึงจุดที่มั่นใจพระเจ้าสุดๆ

ข้าพเจ้าได้ยิน และท้องของข้าพเจ้าก็สะเทือน
พอได้ยินเสียง ปากของข้าพเจ้าก็สั่น
กระดูกของข้าพเจ้าก็ผุพัง
และข้าพเจ้าก็สะเทือนอยู่ในที่ของข้าพเจ้า
เพราะข้าพเจ้าคอยวันแห่งความลำบากอยู่เงียบๆ
คือวันที่จะมาถึงประชาชนที่บุกรุกเรา

 

ฮาบากุก มาถึงจุดที่เขาข้ามคำถามที่เคยต่อว่าว่า “ทำไมพระเจ้าไม่ทำอะไร” “พระเจ้าทำมากไป” “ทำน้อยไป” “พระเจ้าไม่ชอบธรรม” “พระเจ้าไม่ยุติธรรม” “ทำไมไม่ควบคุม” “ทำไมปล่อยให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้” แต่ตอนนี้ฮาบากุกมาถึงจุดที่มั่นใจว่า ถ้าในอดีตพระเจ้าเคยแทรกแซงเพื่อช่วยคนของพระองค์ให้รอด  พระองค์ก็จะทำอีก

 

ความมั่นใจนี้ส่งผลมาถึงช่วงสุดท้าย ถึงแม้ว่าบาบิโลนจะเข้ามาตีและใช้นโยบายอันโหดเหี้ยม Scorched-earth policy กับยูดาห์ ฮาบากุก ก็ยังพูดในบทเพลงท่อนสุดท้าย

 

แม้ต้นมะเดื่อไม่มีดอกบาน
หรือเถาองุ่นไม่มีผล
ผลมะกอกเทศก็ขาดไป
ทุ่งนามิได้เกิดอาหาร
ฝูงสัตว์ขาดไปจากคอก
และไม่มีฝูงวัวที่ในโรง

 

ถึงกระนั้นข้าพเจ้าจะร่าเริงในพระเจ้า
ข้าพเจ้าจะเปรมปรีดิ์ในพระเจ้าแห่งความรอดของข้าพเจ้า
พระเยโฮวาห์คือองค์พระผู้เป็นเจ้าทรง เป็นกำลังของข้าพเจ้า
พระองค์ทรงกระทำเท้าของข้าพเจ้าเหมือนอย่างตีนกวางตัวเมีย
พระองค์ทรงกระทำให้ข้าพเจ้าเดินไปบนที่สูง
ทั้งหลายของข้าพเจ้า

 

ถึงหัวหน้านักร้อง ใช้เครื่องสาย (นะจ๊ะ)

 

เรื่องของฮาบากุก เริ่มต้นที่ความชอบธรรมของ ฮาบากุก ผู้เป็นเสียงร้องของคนชอบธรรมที่กำลังมองสถานการณ์ที่อธรรม ทนดูไม่ได้ที่เห็นความอธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมและในโลก

 

ในโลกปัจจุบัน ในมุมมองของคริสเตียน บางครั้งเราก็ทนดูไม่ได้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ความชั่วร้ายในสังคม และถ้าเรามองดูด้วยสายตาแห่งความชอบธรรม เราก็จะพบคำถามที่ว่า “ทำไมพระเจ้าปล่อยให้เกิดแบบนี้” “ทำไมพระเจ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง” หรือ “พระเจ้าปล่อยแล้ว!” “หรือพระองค์ไม่ทำอะไรอีกแล้วหลังจากที่พระองค์สร้างโลก?” ฮาบากุก เอง มาถึงคำตอบที่ว่า  “ ไ ม่ ใ ช่ ”

 

เมื่อฮาบากุกมาถึงความมั่นใจในความสัตย์ซื่อของพระเจ้า ฮาบากุกบอกว่า ในอดีตพระเจ้าเคยทำแบบนั้นเดี๋ยวพระเจ้าก็จะทำอีก! คือพระเจ้าจะแทรกแซงประวัติศาสตร์โลก เพราะฉะนั้น ฮาบากุก เลยกลับมาดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ คือเลือกที่จะดำเนินชีวิตด้วยความไว้วางใจพระเจ้า

 

อันที่จริงแล้วความชอบธรรมของฮาบากุก ยังไปไม่ถึงความชอบธรรมของพระเจ้าเลย ดังนั้นที่เคยท้วงว่า พระเจ้าทำมากไป ทำน้อยไป ทำไมไม่ทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ไม่ได้ พระเจ้าบริสุทธิ์เกินไปที่จะทำแบบนี้ ถ้าพระเจ้าชอบธรรมต้องทำอย่างนี้ ฮาบากุก กำลังพูดถึงความชอบธรรมของตัวเอง แล้วก็คิดว่า ความชอบธรรมของพระเจ้าก็น่าจะเป็นแบบนี้ ในระดับเดียวกับของเขา แต่อันที่จริงแล้ว ความชอบธรรมของฮาบากุก เทียบไม่ได้เลยกับความชอบธรรมของพระเจ้า ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าจึงใช้พระคัมภีร์ข้อนี้

 

แต่ว่าคนชอบธรรมจะดำรงชีวิตอยู่ด้วย

ค ว า ม ซื่ อ สั ต ย์

 

 

พระเจ้าทำทุกสิ่งตามความชอบธรรมของพระองค์ แต่ส่ิงที่พระเจ้าทำมันเกินความเข้าใจของเรา เป็นเหตุให้เราอาจตั้งคำถาม ดังน้นให้เรากลับมาที่ความซื่อสัตย์ของพระเจ้า

 

ความซื่อสัตย์เป็นพระลักษณะของพระองค์ ถ้าพระเจ้าซื่อสัตย์ในอดีต พระเจ้ายังคงซื่อสัตย์ในปัจจุบัน ถ้าพระเจ้าครอบครองโลกในอดีต พระองค์ยังครอบครองในปัจจุบัน ถ้าพระเจ้าเคยแทรกแซงในอดีต พระเจ้าจะแทรกแซงในโลกปัจจุบันด้วย

 

คนชอบธรรมจะดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ คือไว้วางใจในความดีงาม ในการครอบครอง ในสิทธิอำนาจ ในพระปัญญาของพระองค์ และเพื่อเราจะมองสถานการณ์โลกที่แม้เราอาจทนเห็นไม่ได้ แต่เราจะเข้ามาอธิษฐานเผื่อโลก และก็เข้ามาเพื่อยอมให้พระเจ้าทรงทำทุกส่ิงตามความยุติธรรม และ ความชอบธรรมของพระองค์

 

และ นี่คือบทสรุปของพระธรรม ฮาบากุก

 

………………………………………..……

.

.

.

.

 

ในขณะที่เรามองโลกด้วยความชอบธรรมของเรา
แล้วตั้งคำถามว่า ทำไมพระเจ้าไม่ทำอะไร พระเจ้าชอบธรรมไหม
พระเจ้าได้ถามกลับมาว่า แล้วคุณชอบธรรมไหม

 

ถ้าใช่

 

ก็ดำเนินชีวิตด้วยความ สัตย์ซื่อ และ ไว้วางใจ ในความสัตย์ซื่อของพระเจ้าสิ

 

………………………………………..……

 

โยบ

ในที่สุดเมื่อพระเจ้าตอบโยบ โยบพบว่าตนเองไม่ชอบธรรมเลย ตอนแรกเขาคิดว่าเขาถูก ไม่ได้ทำผิด เขาชอบธรรม แต่เมื่อพระเจ้าตอบ ความชอบธรรมของพระเจ้านั้นเกินกว่าที่เขาเข้าใจได้ จนกระทั่งโยบเอามือปิดปาก แล้วก็นั่งเงียบๆ ในช่วงสุดท้ายพระเจ้าอวยพรโยบ และ โยบดำเนินชีวิตแบบเงียบๆด้วยความไว้วางใจในความชอบธรรมของพระเจ้า

ฮาบากุก

ก็จบแบบนั้น ฮาบากุกมาถึงจุดที่มั่นใจและยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้า “ข้าพเจ้าจะรอคอยวันนั้นแบบเงียบๆ”

………………………………………..……

 

ชื่อของ ฮาบากุก มีความหมายว่า “โอบกอด”

 

………………………………………..……

 

พระเจ้าปลอบประโลมและสวมกอด ฮาบากุก พระเจ้าไม่ได้โกรธที่ ฮาบากุก ตั้งคำถามต่อพระเจ้า พระเจ้าให้เกียรต่อคำถามที่จริงใจ แม้แต่ใน โยบ ก็เหมือนกัน โยบมั่นใจในตัวเองจนสงสัยพระลักษณะของพระเจ้า และ ตั้งคำถามต่อพระเจ้า แต่พระเจ้าก็ไม่ได้โกรธโยบเช่นกัน ที่สงสัย และ ถาม

 

เมื่อเราอธิษฐาน เราสามารถอธิษฐาน “ตั้งคำถาม” ด้วยความจริงใจได้ การอธิษฐานด้วยการตั้งคำถามกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับ ฮาบากุก ที่ได้เติบโตขึ้นในพระเจ้า ในชีวิตของเราก็ไม่ต่างกัน ชีวิตเราอาจต้องพบกับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความสงสัย ต้องเผชิญกับปัญหาบางอย่าง ส่ิงเหล่านี้ก็เกิดขึ้นเพื่อให้เราจะได้อธิษฐานด้วยการ “ตั้งคำถาม” ด้วยความจริงใจ เพื่อจะทำให้เราได้เติบโตขึ้นในพระเจ้า

 

ในที่สุดแล้ว ฮาบากุก ได้รับการโอบกอดจากพระเจ้า และ ตัวฮาบากุกก็โอบกอดน้ำพระทัยของพระเจ้า ด้วยความไว้วางใจ ด้วยความเชื่อใจในความซื่อสัตย์ของพระองค์

 

………………………………………..……

แม้ต้นมะเดื่อไม่มีดอกบาน
หรือเถาองุ่นไม่มีผล
ผลมะกอกเทศก็ขาดไป
ทุ่งนามิได้เกิดอาหาร
ฝูงสัตว์ขาดไปจากคอก
และไม่มีฝูงวัวที่ในโรง

.

ถึงกระนั้นข้าพเจ้าจะร่าเริงในพระเจ้า
ข้าพเจ้าจะเปรมปรีดิ์ในพระเจ้าแห่งความรอดของข้าพเจ้า

………………………………………..……

.

.

.


Previous Next

  • Author:
  • เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก
  • Author:
  • อ.ธนิต โลเกศกระวี ผู้อำนวยการพระคริสต์ธรรมเชียงใหม่ (CTS) หรือ พี่ใช้ รุ่นพี่ผู้รับใช้ผู้มีไฟ และมีเป้าหมายที่จะสืบสาน และ ส่งต่อความเข้าใจในพระคัมภีร์ให้กับพี่น้องคริสเตียน และ ผู้รับใช้รุ่นใหม่ๆต่อไป