12

[พระคัมภีร์ไม่ไหลย้อนกลับ] The12 ep.12 มาลาคี


 

 

มาลาคี

 

เราเดินทางกันมาถึงเล่มสุดท้ายของผู้เผยพระวจนะน้อยแล้วกับพระธรรม มาลาคี เล่มที่มักจะเอาไปใช้ในเรื่องการถวายทรัพย์

ก็ถูกส่วนหนึ่งเพราะ มาลาคี ก็พูดเรื่องการถวาย แต่ยังมีประเด็นที่สำคัญกว่านั้นอยู่ที่เราอาจพลาดไป เพราะอย่าลืมว่านี่คือหนังสือเล่มสุดท้ายของหมวดผู้เผยพระวจนะ เรื่องราวที่เข้มข้นก่อนหน้านี้กำลังจะจบลงที่หนังสือเล่มนี้ เนื้อหาที่จะขมวดปมต่างๆก่อนหน้านี้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

 

………………………….

 

ถ้าจะอ่านมาลาคีให้รู้เรื่องก็ต้องแยก “ต้นเหตุ” กับ “อาการ” อย่างที่เคยบอกมาก่อนในตอนของเศคาริยาห์  “การถวาย” ที่เคยได้ยินกันบ่อยๆในมาลาคีอาจเป็นเพียง “อาการ” ส่วน “ต้นเหตุ” ที่แท้จริงคืออะไรต้องมาตามดูไปด้วยกัน

 

ถ้าเราอ่านมาลาคี เราอาจสังเกตเห็นแต่บทสนทนาที่เถียงกับพระเจ้า เถียงกันไปเถียงกันมาอยู่หกเจ็ดคำถาม ถ้าเราอ่านเผินๆอาจเข้าใจว่า ทำไมอิสราเอลนี่ดื้อจังเลย นี่ก็เล่มสุดท้ายอยู่แล้ว ทำไมขี้เถียงจัง ฮึ!!

 

แต่อันที่จริงแล้วถ้าเราจะอ่านมาลาคี ควรปรับความเข้าใจกันสักนิดก่อน ลองคิดถึงคนในพระธรรมตอนนี้ดูดีๆ พวกเขาคือคนที่กลับมาจากบาบิโลน ซึ่งคนที่กลับมาก่อนรุ่นนี้อาจเป็นรุ่นพ่อ รุ่นตาของเขาก็ได้ หรือบางคนก็อาจยังมีชีวิตอยู่ตั้งแต่ตอนนั้น สำหรับคนที่ฟัง มาลาคี ในตอนนี้ จึงเป็นคนที่กลับมาถึงอิสราเอลสักพักนึงแล้ว ราวๆ 100 ปี หลังจากการกลับมา

 

ตอนที่ เศรุบบาเบลจะกลับมา คนที่กลับมาจากบาบิโลนมีเพียง 50,000 คน ถ้าเทียบกับการออกจากอียิปต์ในสมัยอพยพนั้นมีถึงหลักล้านคน จำนวนประชากรจริงๆจึงน่าจะมีมากกว่านั้น เพียงแต่ความสะดวกสบายหลังจากที่ปักหลักอยู่ที่บาบิโลนอันยาวถึง 70 ปีนั้น อาจทำให้คนอีกส่วนหนึ่งไม่เลือกที่จะกลับมา เพราะการเดินทางออกมาจากบาบิโลน เพื่อกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอน ที่มีแต่ซากปรักหักพังนั้น อาจเรียกได้ว่าต้องกลับไปเร่ิมใหม่จากศูนย์ คนที่เดินทางออกมาในตอนนั้นจึงน่าจะเรียกได้ว่า เป็นคนที่มีความตั้งใจที่ดี มีความมุ่งมั่น มีหัวใจที่ดียอดเยี่ยมทีเดียว คือเขายอมเสียสละความมั่นคง เพื่อจะกลับภูมิลำเนาที่มีแต่ซากปรักหักพัง นั่นคือ รุ่นพ่อ รุ่นตา ของคนที่อ่าน มาลาคี

 

แล้วในช่วงที่เราเคยอ่าน ฮักกัย ด้วยกัน เราก็จะพบว่าตอนนั้น การสร้างพระวิหาร หยุดชะงักไปหลายปีเพราะอุปสรรค และ การกันดารอาหาร จนฮักกัยต้องมาหนุนใจ เศรุบบาเบล ให้กลับมารื้อฟื้นการสร้างพระวิหาร

 

ในยุคมาลาคีที่เราจะมาดูด้วยกัน ตอนนี้วิหารได้สร้างเสร็จแล้ว เอสรา ก็กลับมารื้อฟื้นระบบถวายบูชา และ เนหะมีย์ ก็กลับมารื้อฟื้นกำแพงเยรูซาเล็มเรียบร้อยแล้ว

 

ส่วนในเนหะมีย์มีปัญหาอยู่นิดหน่อย เพราะเมื่อสร้างเมืองแล้ว แต่ไม่มีใครเข้าไปอยู่ เพราะอยู่ตามชนบทสบายกว่า และ ยังปลอดภัยจากศัตรูมากกว่า เพราะในสมัยนั้น “เมือง” มักตกเป็นเป้าหมายในการถูกโจมตีเป็นอันดับต้นๆ แต่เมืองก็จะเป็นเมืองไม่ได้ถ้าไม่มีคน เพราะฉะนั้นเนหะมีย์จึงหนุนใจให้คนกลับเข้าไปอยู่ในเยรูซาเล็ม เพราะฉะนั้นคนที่กลับมาก็เต็มไปด้วยความหวัง อาจมีความรักตามพันธสัญญาด้วยซ้ำ

 

ในสมัยฮักกัยเมื่อพวกเขากลับมาก็ร้องไห้ไปแล้ว เพราะวิหารไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีต ส่วนในตอนนี้ในมาลาคี “วิหาร” กำลังชำรุดและพุพัง เพราะยืนยาวๆมาร้อยปีแล้ว และที่ต้องอยู่ในสภาพทรุดโทรมก็เพราะ ไม่มีใคร “ถวาย” แค่เห็นก็น่าเศร้า

 

เมื่อเขากลับมา ก็ยังไม่เห็นการรื้อฟื้นราชวงศ์ดาวิดที่พระเจ้าสัญญาไว้ เศรุบบาเบล ก็เป็นได้แค่เชื้อพระวงค์ แต่เป็นกษัตริย์ไม่ได้ เปอร์เซีย มหาอำนาจที่ตีบาบิโลนสำเร็จและกลายเป็นมหาอำนาจในตอนนั้นคงไม่อนุญาติแน่นอน เรื่องนี้ก็ยิ่งทำให้คนผิดหวัง และ ที่พระเจ้าเคยบอกว่าจะให้แผ่นดินในพันธสัญญา ถ้าเทียบกับสมัยดาวิดที่มีพื้นที่ตั้งแต่ ดาน จน เบเออร์เชบา เทียบกับตอนนี้ที่อิสราเอลกลายเป็นเพียงรัฐเล็กๆ แถมล้อมรอบไปด้วยศัตรู ดูยังไงก็ไม่น่าจะเป็นจริงได้ตามสัญญาของพระเจ้า รอแล้วรอเล่าแต่ก็ยังไม่เห็นสักที รุ่นปู่ก็เล่าให้ฟัง พ่อก็เคยบอกให้เชื่อว่าพระเจ้าจะทำ แต่จนพ่อบางคนอาจจากไปแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้น

 

ไม่มีวิหารที่สมศักดิ์ศรี ไม่มีกษัตริย์ ไม่มีดินแดนตามพันธสัญญา คำถามจึงเกิดขึ้น… พระเจ้าทำตามพันธสัญญาหรือเปล่า? หรือพระเจ้าไม่ได้แยแสอะไรกับเราอีกแล้ว? หรือ พระเจ้าไม่แคร์อะไรพวกเราอีกแล้ว?

 

เวลาผ่านไปร้อยปี ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้น จากการเริ่มต้นด้วยความหวัง และ หัวใจที่ดี ที่ถูกส่งต่อๆกันมา เฝ้ารอคอยที่จะเห็น แต่เมื่อไม่มีอะไรเกิดขึ้นให้ประจักษ์แก่ตาความผิดหวังจึงเข้ามาแทน เมื่อยังไม่อะไรเป็นอย่างที่คิด ไม่มีคำตอบ ความผิดหวังเริ่มเปลี่ยนเป็นความโกรธ ความโกรธที่ยาวนานกลายเป็นความขมขื่น

 

ความหวังที่แปรเปลี่ยนเป็นความขมขื่นจากการเฝ้ารอคอยที่ว่างเปล่า

 

นี่คืออารมณ์ที่เราต้องเข้าใจก่อน ก่อนจะเริ่มต้นในการอ่าน มาลาคี

 

………………………….

 

ในเล่มก่อนหน้า เราอาจเห็นบทกลอน บทกวี ที่ต้องการสื่อสารเรื่องนามธรรมบางอย่างให้เป็นภาพ เป็นการสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก แต่ในมาลาคีใช้วิธีการเขียนแบบบทสนทนา โต้ตอบกันไปมา ด้วยเหตุผล อ่านไปอ่านมา เหมือนกับจับเอาคนที่รู้สึกไม่พอใจกันมานั่งคุยกัน

 

ในมาลาคี พระเจ้า เข้าใจหัวใจของคนยูดาห์ในสมัยนั้นเข้าใจ “อารมณ์” ดังที่กล่าวมา พระเจ้าจึงไม่ได้ต่อว่า แต่ชวนมานั่งคุยกันด้วยเหตุด้วยผล และ ลักษณะการคุยกันแบบนี้มีถึง หกรอบ ด้วยกัน

 

งานเขียนในลักษณะนี้เราเรียกว่าเป็นวรรณกรรมแบบ “รีฝ” ที่แปลว่า “พิพาท” คือ การโต้แย้งด้วยเหตุผล เป็นภาพเหมือนหนัง “ศาล” ที่เหล่าอัยการ โจทย์ ผู้พิพากษาต่างโต้ตอบกันด้วยเหตุผล

 

มันมีการโต้แย้งกันถึง หกรอบ ดังนั้นถ้าเราจะอ่านให้เข้าใจควรตามไปอ่านโดยจับเอาประเด็นของทั้ง หกหัวข้อนี้ในการทำความเข้าใจว่า ประเด็นที่พระเจ้ากำลังกล่าวคืออะไร และมันสัมพันธ์กันอย่างไร

 

เพื่อความเข้าใจรูปแบบ ของข้อพิพาทจะเป็นอย่างนี้ คือ “พระเจ้าจะตรัส…” เป็นคำกล่าวอ้างเปิดเป็นประเด็นก่อน แล้วประชาชนก็จะค้าน “แต่เจ้าก็พูดว่า…” หรือเป็นการแก้ข้อกล่าวหา แล้วจบด้วยการตอบสนองของพระเจ้า ซึ่งรูปแบบก็จะวนอยู่อย่างนี้ ถ้าเราจับสามหัวข้อนี้ได้ เราก็จะอ่านได้เข้าใจมากขึ้น

  • พระเจ้าตรัส
  • อิสราเอลตอบ
  • พระเจ้าตอบสนอง

………………………….

ข้อพิพาทที่หนึ่ง 

1:2-5

พระเจ้าตรัสว่า  เราได้รักเจ้าทั้งหลาย
แต่ท่านทั้งหลายพูดว่าพระองค์ได้ทรงรักข้าพระองค์สถานใด

 

ย้ำอีกครั้ง! เวลาอ่านเรื่องราวในตอนนี้ ต้องอ่านด้วยมุมมองของอิสราเอลที่เต็มไปด้วยความรู้สึก “ขมขื่น” คำว่า “พระเจ้าจะรักเรายังไง” จึงไม่ใช่คำถามที่ถามพระเจ้ากลับอย่างนุ่นนวลว่าพระเจ้าจะรักเราได้อย่างไร หรือ ฮาว-ทู-รัก เหมือนคนพึ่งจีบกันแล้วถามหาความมั่นใจด้วยเสียงนุ่มๆ แต่คำถามที่เราเห็นอยู่นี้เป็น คำถามลอย! เป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ เป็นประโยคบอกเล่าที่อยู่ในรูปแบบคำถาม เป็นประโยคของคนที่ผิดหวัง

 

“พระเจ้าได้รักเจ้าทั้งหลาย”
“พระองค์ไม่ได้รักเราหรอก”

 

ถ้าพระเจ้าจะรักพวกเรา พวกเราจะมาอยู่ในสภาพนี้ได้ยังไง ครอบครัวผมก็ตามพระองค์มา เราเสียสละ แต่ก็ไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้นเลย นี่คืออารมณ์ในตอนนั้น ซึ่งถ้าเรายิ่งอ่านไปเราก็จะพบว่า ประโยคนี้ไม่ได้เกินจริงเลย

 

แล้วพระเจ้าก็ตอบสนองต่อคำตอบของเขา

 

พระเจ้าตรัสว่า  เอซาวเป็นพี่ชายของยาโคบมิใช่หรือ เราก็ยังรักยาโคบ…”

 

ทำไมเราเลือกบรรพบุรุษของเจ้า ยาโคบ ก็เป็นคนหลอกลวงไม่ใช่หรือ ถ้าไม่ใช่เพราะเรารัก เราจึงเลือกไม่ใช่หรือ การที่พวกคุณได้เป็นประชากรของพระเจ้าที่พระองค์ทรงเลือกจึงสะท้อนถึงความรักของพระองค์อยู่แล้ว นี่คือการยืนยันความรักของพระเจ้าต่อพงษ์พันธ์ของยาโคบ

 

ปัญหาก็คือ ในตอนนี้เขาไม่อาจสัมผัสได้ถึงความรักของพระเจ้า เขามองไม่เห็นถึงส่ิงที่พระเจ้าทำเพื่อเขา แล้วเขาก็เรียกร้องว่าพระเจ้าไม่ได้ทำอะไรให้ ทั้งๆที่การที่พระเจ้าเลือกเขาเป็นประชากรของพระเจ้าคือภาพสะท้อนความรักของพระเจ้าอยู่แล้ว

 

บางทีเราอาจเห็นเป็นของตาย นี่คือประเด็นแรก

พระเจ้ายืนยันว่าพระเจ้ารัก รู้ได้ยังไง?
ก็พระเจ้าเลือกเขาเป็นประชากรของพระเจ้าไง

………………………….

ข้อพิพาทที่สอง

1:6-9

บุตรก็ย่อมให้เกียรติแก่บิดาของเขา คนใช้ก็ย่อมให้เกียรตินายของเขา แล้วถ้าเราเป็นพระบิดา เกียรติของเราอยู่ที่ไหน และถ้าเราเป็นนาย ความยำเกรงเรามีอยู่ที่ไหน นี่แหละพระเจ้าจอมโยธาตรัสแก่ท่านนะ…

 

โอ บรรดาปุโรหิตผู้ดูหมิ่นนามของเรา
ท่านก็ว่าข้าพระองค์ทั้งหลายดูหมิ่นพระนามของพระองค์สถานใด

 

คนอิสราเอลไม่ได้ให้เกียรติพระเจ้า

ด้วยสามัญสำนึก ลูกต้องให้เกียรติพ่อ ลูกน้องให้เกียรติเจ้านาย แล้วถ้าเราเป็นพระเจ้า เกียรติของเราอยู่ที่ไหน แล้วก็มาถึงปุโรหิต เจ้าดูหมิ่นนามของเรา

 

“เราดูหมิ่นพระเจ้าตรงไหน หือ หลักฐานอยู่ไหน”
อิสราเอลค้านตอบด้วยอารมณ์แบบนี้ แล้ว พระเจ้าจึงตอบ

 

ลองดูสิ ลองเอาของพวกนี้ไปถวายเจ้าเมือง เขาจะรับได้เหรอ ลองใช้สามัญสำนึกตอบสิ!

 

พอมาถึงตอนนี้ อาจเปรียบได้กับการรู้จักใครสักคนที่น่าเคารพ เมื่อครั้นตอนแรกยังไม่รู้จักก็มีความเกรงใจ มีความเคารพยำเกรง แต่พอนานไปกลับ เล่นหัว ไม่เกรงใจ ตอนนี้อิสราเอลกำลังตอบสนองพระเจ้าแบบนั้น เพราะเมื่อเขาไม่เห็นว่าพระเจ้าทำอะไรให้พวกเขา เขาก็ไม่เห็นจะต้องทำอะไรให้พระเจ้านี่ การถวายของเขาจึงเป็นเพียงความเคยชิน เป็นเพียงพิธีที่ทำตามกันมา

 

ถ้าพระเจ้าไม่ได้ทำดีกับเรา
เราก็ไม่จำเป็นต้องทำดีอะไรกับพระเจ้านี่

 

ความเชื่อของเขากลายเป็นความเชื่อราคาถูก ลองคิดถึงตอนที่เราเจอของที่อยากได้ แม้เราจะอยากต่อราคาของทุกอย่าง แต่ถ้ารู้ว่ามันมีค่า แพงแค่ไหนเราก็ยอมจ่าย แต่ถ้าเราเห็นว่านั้นเป็นของราคาถูก ก็จะพยายามต่อแล้วต่ออีกเพราะไม่อยากเสียเงินเยอะ ลองเทียบการถวาย สัตว์ตาบอด สัตว์ป่วย พิการในตอนนี้กับการถวายสมัยเลวีนิติสิ ตอนนี้ของที่เขาใช้ถวายเป็นเพียงของเหลือ เป็นของเดน สภาพย่ำแย่

 

เรื่องนี้จึงไม่ได้เกี่ยวกับราคาของสิ่งถวาย เท่ากับ การที่เขามองว่าพระเจ้ามีคุณค่าแค่ไหน คนอิสราเอลกำลังตีค่าพระเจ้าต่ำ ของที่เขายอมจ่ายจึงเป็นเพียงของเหลือเดน เพราะพระเจ้าไม่ได้ทำอะไรให้กับเขา

 

นี่ถ้าไม่เรียกว่าดูหมิ่นพระเจ้า
จะเรียกว่าอะไร?

 

ในสมัยเลวีนิติ การถวายต้องคัดเลือกของที่ดี พระเจ้าควรได้รับของที่บริสุทธิ์  เพราะพระเจ้าบริสุทธิ์ แต่เรื่องก็ผ่านไปยาวนาน จากพระเจ้าที่เขาคุ้นเคย กลายเป็นเคยชิน เคยชินกับพระคุณของพระเจ้าราวกับว่าเป็น “ของตาย” เป็นของที่เขาควรได้อยู่แล้ว เขาจึงไม่นับ เขาจึงไม่เห็นว่าพระเจ้าทำอะไร เมื่อเขาไม่เห็นพระคุณของพระเจ้า เขาจึงตีค่าพระองค์ต่ำลง ไม่ได้ใส่ใจความบริสุทธิ์ของพระเจ้า ไม่ได้ให้เกียรติพระเจ้าอีก อิสราเอลกำลัง “เล่นหัว” พระเจ้า เป็นลูกที่ไม่ให้เกียรติพ่อ ลูกน้องที่ไม่ให้เกียรติเจ้านาย เป็นปุโรหิตที่ไม่ได้ให้เกียรติพระเจ้า

 

เราเป็นอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า?

 

อิสราเอลเดินมาถึงจุดนี้ คือเมื่อมองพระคุณ เขาเห็นพระเจ้าเป็นของตาย การดูแลประชากร พระพรที่จะมอบให้ เป็นเรื่องที่พระเจ้าต้องทำ ไม่ใช่”พระคุณ” แทนที่จะย่ิงรู้จักกับพระเจ้า กลับกลายเป็นแค่คนคุ้นเคย แล้วกลายเป็นคนที่เคยชิน จนเล่นหัวได้ เร่ิมไม่เห็นคุณค่า ไม่ให้เกียรติ นี่คือส่ิงที่สะท้อนออกมาจากของที่เขาใช้ถวายในตอนนี้

 

นี่คือประเด็นที่สอง

 

………………………….

ข้อพิพาทที่สาม

2: 10-16

เราทุกคนมิได้มีบิดาคนเดียวดอกหรือ พระเจ้าองค์เดียวได้ทรงสร้างเรามิใช่หรือ แล้วทำไมเราจึงทรยศต่อกันและกัน กระทำให้พันธสัญญาของบรรพบุรุษของเราสาธารณ์

…เพราะว่ายูดาห์ได้… ไปแต่งงานกับบุตรีของพระต่างด้าว

 

ข้อพิพาทที่สามนี้เป็นเรื่องของการที่อิสราเอลทรยศต่อพันธสัญญาที่เขาทำกับภรรยา ในสมัยนั้นการแต่งงานก็ไม่ได้มีการมายืนประกาศพันธสัญญาที่หน้าโบสถ์เหมือนสมัยนี้ แต่ก็ยังคงเป็นแนวคิดเดียวกัน คือการทำพันธสัญญาระหว่างสามีและภรรยา ดังนั้นการที่เขาละทิ้งภรรยาไปแต่งงานกับคนต่างด้าว คือเขากำลังทรยศภรรยา เขากำลังฉีกใบสมรสทิ้ง นี่จึงเป็นคำที่พระเจ้าร้องกล่าวหา

 

“เจ้าทรยศเรา เจ้าทรยศภรรยา”
ดังนั้นเราจึงไม่รับเครื่องบูชาของเจ้าอีกแล้ว

แล้วอิสราเอลก็ตอบ
“เป็นอะไร” “ทำไมไม่รับ!!”

 

ภาษาฮีบรูแปลมาจริงๆฮ้วนๆมีเพียงคำว่า “เป็นอะไร!” คำเดียวเสียด้วยซ้ำ “ทำไมพระเจ้าไม่รับเครื่องบูชา” “เป็นอะไร” แต่มันฮ้วนเสียจนภาษาไทยต้องเพิ่มคำว่า เป็นอะไร “เหตุใดพระองค์จึงไม่รับ” เข้าไป พระเจ้าจึงตอบสนองเขา

 

การที่เจ้าละทิ้งภรรยาเจ้าเมื่อยังหนุ่มนั้น คนนั้นเป็นภรรยาตามพันธสัญญา แต่เจ้าก็ยังทรยศต่อนาง…  พระองค์ผู้ได้เป็นพยานต่อการแต่งงานของเขา ที่เขาได้ทรยศภรรยาที่มาตามพันธสัญญานั้น เพื่อที่จะไปแต่งงานใหม่กับผู้หญิงที่ไม่เชื่อพระเจ้า “ระวังให้ดี พระเจ้าไม่อยากให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น เพราะพระเจ้าเกลียดชังการหย่าร้าง”

 

เรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับการทรยศ การแต่งงาน พันธสัญญา

 

อันที่จริงเรื่องนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่ ถ้าเรากลับไปดูในประเด็นที่หนึ่งมีเรื่องการทรงเลือกให้เป็นประชากรในพันธสัญญา ประเด็นที่สองพูดถึงเรื่องของถวายเป็นการสะท้อนการนมัสการในพันธสัญญา พอมาถึงประเด็นที่สามพูดถึงการหย่าร้างมันคือการฉีกพันธสัญญากับภรรยาที่เขาได้เมื่อตอนหนุ่ม

 

เพราะฉะนั้นในแง่นี้ ความรักดั้งเดิมที่เคยเป็นของอิสราเอลก็ถูกฉีกไป คือเขาฉีกพันธสัญญา ปัญหาของเขาคือการที่เขา ทรยศ เขาไม่สัตย์ซื่อต่อความรักที่เคยมีต่อภรรยา ไม่แยแสต่อเวลาที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน เขาหันไปแต่งงานกับคนที่ไม่เชื่อ คนต่างด้าว

 

ประเด็นที่เขาแต่งงานกับคนต่างด้าว ไม่ใช่เรื่องของข้อห้ามทางวัฒนธรรม แต่เป็นการที่เขาไม่แยแสกับ “พันธสัญญา” อีกแล้ว เรื่องนี้เราต้องเข้าใจว่าในภาคพันธสัญญาเดิม มีบทบัญญัติเรื่องการแต่งงานกับคนที่ไม่เชื่อ เพราะพระเจ้าเตือนไว้แล้วว่า ถ้าเจ้าไปแต่งงานกับคนที่ไม่เชื่อ ครอบครัวของคนที่ไม่เชื่อก็จะดึงให้เขาไปนมัสการพระอื่น ซึ่งเรื่องมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ

 

เอสรา กลับมาจากการเป็นเชลยเพื่อมารื้อฟื้นระบบนมัสการ แล้วก็พบว่าคนอิสราเอลที่กลับมา ก็กลับไปแต่งงานกับคนที่ไม่เชื่อ เนหะมีย์ ก็ลักษณะเดียวกัน ที่กลับมารื้อฟื้นกำแพง รื้อฟื้นระบบสังคม แล้วก็เหมือนเดิมคนอิสราเอลไปแต่งงานกับคนที่ไม่เชื่อ นี่น่าจะเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับในมาลาคี คือ เมื่อเนหะมีย์กลับไปเปอร์เซียแล้วแต่อิสราเอลก็เหมือนเดิม สังเกตุได้จากคำอธิษฐานของเนหะมีย์ในหลายตอน ขอทรงโปรดระลึกถึงการงานของข้าพระองค์ อย่าให้มันสูญเปล่าเลย และในความเป็นจริงมันก็สูญเปล่า ในแง่ที่ว่า สิ่งที่เนหะมีย์ทำไม่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตคนอย่างแท้จริง พอมาในสมัยมาลาคี คนอิสราเอลก็ได้ไปแต่งงานกับคนต่างชาติอยู่ดี

 

การแต่งงานนี้ไม่ใช่แค่การที่เขาจะมีโอกาสไปนมัสการพระอื่น แต่นี้กำลังสะท้อนว่า เขาไม่ได้แคร์ พันธสัญญา อีกแล้ว ถ้าอ่านต่อนนี้ในครั้งแรกอาจมองว่าเป็นเรื่องสามีภรรยา แต่เรื่องนี้เป็นเพียง “อาการ” ส่วนโรคที่เป็น “ต้นเหตุ” จริงๆ คือการที่เขาไม่สนใจ “พันธสัญญา” ของพระเจ้าอีกแล้ว

 

ในพระธรรมตอนนี้เริ่มจากการที่พระเจ้าบอกว่า เรารักเจ้า พอมาถึงตอนนี้เราเห็นได้ว่ามันมีพัฒนาการของความสัมพันธ์แบบดิ่งลง จากคนรัก เป็นคนคุ้นเคย จนเป็นคนเคยชิน “ของตาย” ชินชา จนเขา ฉีกพันธสัญญา

 

เรื่องนี้นำสู่ข้อพิพาทที่สี่โดยตรง การฉีกพันธสัญญา

 

………………………….

ข้อพิพาทที่ 4

 

เจ้าได้กระทำให้พระเจ้าอ่อนระอาพระทัยด้วยคำพูดของเจ้า
เจ้ายังจะกล่าวว่าเราทั้งหลายกระทำให้พระองค์อ่อนพระทัยสถานใด
ก็ด้วยกล่าวว่าทุกคนที่กระทำความชั่วก็เป็นคนดีในสายพระเนตรพระเจ้า
และพระองค์ทรงพอพระทัยคนเหล่านั้น
หรือโดยถามว่าพระเจ้าแห่งความยุติธรรมอยู่ที่ไหน
2:17

 

“เจ้าทำให้เราอ่อนระอาใจ” “เหนื่อย”
“พระองค์เองต่างหากที่ทำให้เราต้องเหนื่อยไม่ใช่เหรอ”

 

เจ้าทำให้เราเหนื่อยก็เพราะเจ้าบอกว่า ทุกคนที่ชั่ว ก็เป็นคนดีในสายพระเนตรของพระเจ้า หรือ เจ้าถามว่าพระเจ้าแห่งความยุติธรรมอยู่ที่ไหน

 

เขากำลังบอกว่า พระเจ้าทอดทิ้งเรา พระเจ้าไม่ยุติธรรม พระเจ้าเห็นผิดเป็นชอบ คนอิสราเอลมาถึงจุดที่เขาใส่ร้ายพระเจ้าแล้วว่าพระเจ้าเห็นผิดเป็นชอบ เขามาถึงจุดที่เขาไม่รู้จักกับพระเจ้าของเขาแล้ว เขาเต็มไปด้วยความผิดหวัง โกรธ ขมขื่น และตอนนี้ภาพของพระเจ้าผิดเพี้ยนไปหมด พระเจ้าจึงต้องอธิบาย

 

ดูเถิด เราส่งทูตของเราไปเพื่อตระเตรียมหนทาง…
…และใครจะยืนมั่นอยู่ได้เมื่อท่านปรากฏตัว

 

นี่คือการยืนยันว่า พระเจ้าสัตย์ซื่อในพันธสัญญาของพระองค์ พระองค์ยังยุติธรรมตามพันธสัญญาของพระองค์อีกด้วย อิสราเอลต่างหากที่ไม่ได้สัตย์ซื่อตามพันธสัญญา ประเด็นของข้อพิพาทนี้จึงเป็นเรื่องการที่อิสราเอลทรยศต่อพันธสัญญาของพระเจ้า

 

ถ้าสังเกต เราจะเห็นว่า ข้อพิพาท สี่กับสาม นั้นสอดคล้องกัน ในข้อพิพาทที่สาม คือการทรยศต่อพันธสัญญากับภรรยาซึ่งสะท้อนถึงการที่เขาหักพันธสัญญา และ ในข้อพิพาทที่สี่นี้ก็พูดถึงการที่เขาปฏิเสธพันธสัญญาของพระเจ้า

 

ดังนั้นพระเจ้าจึงย้ำว่า พระองค์ยังคงสัตย์ซื่อต่อพันธสัญญานะ แต่อิสราเอลต่างหากที่ไม่สัตย์ซื่อ

 

………………………….

ข้อพิพาทที่ 5

3:6-12
พระเจ้าจอมโยธาตรัสว่า
เจ้าจงกลับมาหาเรา และเราจะกลับมาหาเจ้าทั้งหลาย
แต่เจ้ากล่าวว่าเราทั้งหลายจะกลับมาสถานใด

 

“จงกลับมาหาเรา”
“เราจะกลับมายังไง”

 

อย่าลืมนี่เป็นคำถามลอยจึงไม่ใช่การถาม ฮาว์-ทู-กลับ แต่กำลังสะท้อนว่า เขาไม่อยากกลับมาหาพระเจ้าอีกแล้ว ถ้าเราอ่านในข้อพิพาทนี้ ดูเหมือนว่าพระเจ้ากำลังตามง้อเพื่อขอให้กลับมาถึง ความสัมพันธ์ ที่เคยดีด้วยซ้ำ แต่ก็ดูเหมือนว่าอิสราเอลไม่ได้มีเยื่อใยแบบนั้นด้วย

 

แล้วพระเจ้าก็เริ่มบอกว่า กลับมาสิ แล้วเดี๋ยวเราจะกลับมาหาเจ้า ประโยคนี้ถ้าเราจำได้มันคือภาษาในพันธสัญญา  การทำพันธสัญญาคือการกลับคืนสู่ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพระเจ้า แล้วจะกลับมาได้อย่างไร? พระเจ้าจึงเริ่มบอกทาง

 

พระเจ้าจอมโยธาตรัสว่า
จงนำทศางค์ เต็มขนาดมาไว้ในคลัง
…จงลองดูเราในเรื่องนี้ดูทีหรือว่า
เราจะเปิดหน้าต่างในฟ้าสวรรค์ให้เจ้า
และเทพรอย่างล้นไหลมาให้เจ้าหรือไม่

พระเจ้าจอมโยธาตรัสว่า
แล้วประชาชาติทั้งสิ้นจะเรียกเจ้าว่า ผู้ที่ได้รับพระพร

 

นี่เกี่ยวอะไรกับพันธสัญญา เกี่ยวอะไรกับการถวาย? เรามักจะใช้เรื่องนี้ในโบสถ์ เราอาจเคยได้ยินคำท้าทายที่ว่า ถวายก่อนสิแล้วพระเจ้าจะใช้คืนให้สิบเท่ายี่สิบเท่า ลองดู! อะไรทำนองนี้ แต่ถ้าเราฟังต่อไป ก็ต้องระวังด้วยในการใช้ประโยคนี้ ให้เรามาตามกันต่อ มาดูกันว่าบริบทที่พระเจ้ากำลังจะนำเราในพระธรรมตอนนี้เป็นแบบไหนกันแน่

 

พระเจ้ากำลังเรียบเรียงเรื่องราวให้ฟังว่า ถ้าเจ้าจะกลับมาใช้ชีวิตตามพันธสัญญา แต่ทว่าตอนนี้คุณห่างเราไปมากแล้ว ด้วยการฉีกพันธสัญญากับภรรยา นั่นคือฉีกพันธสัญญากับเราด้วย ถ้าจะกลับมาจะกลับมายังไง ก็เริ่มจากการเอาทศางก์มาถวายแล้วเราจะอวยพรเจ้า เราจะเทพรอย่างล้นไหลมาให้เจ้า จนประชาชาติจะเห็นแล้วเรียกเจ้าว่า “ผู้ได้รับพร”

 

ประชาชาติจะเห็น แล้วจะเรียกเจ้าว่า “ผู้ได้รับพร”

คุ้นๆไหม ลองใช้เวลาคิดสักนิด ว่าคำนี้มาจากตอนไหน

.

.

.

.

.

“ผู้ได้รับพร” นี่คือคำที่พระเจ้าเคยได้ให้ไว้กับ อับราฮัม ตั้งแต่ปฐมกาล ในแง่นี้การที่เขาจะกลับมาเป็นประชากรแห่งพันธสัญญาที่พระเจ้าเริ่มไว้กับอับราฮัมได้ ก็ต้องเริ่มจากการที่เขา กลับมาดำเนินชีวิตในการอวยพรของพระเจ้า กลับมาเป็นประชากรที่พระเจ้าอวยพรนั่นเอง

 

นี่คือคำเรียกร้องให้กลับสู่จุดเริ่มต้นแห่งพันธสัญญา จุดเร่ิมต้นของความเชื่อ เป็นความเชื่อแบบเดียวกับอับราฮัม ที่ตอนนั้นมีเพียง อับราฮัมกับพระเจ้า

 

ไม่ได้มีพระวิหาร ไม่ได้มีระบบบูชา ไม่มีกษัตริย์ มีเพียงความเชื่อต่อพระเจ้าดังที่ อับราฮัม ตอบสนองต่อการเรียกของพระเจ้า ที่ว่าให้ออกมาจากบ้านบิดา แล้ว อับราฮัมก็ออกมา เป็นความเชื่อแบบนั้น แล้วพระเจ้าก็จะอวยพร บรรดาประชาชาติจะได้รับพรเพราะเจ้า เมื่อประชาชาติมองอับราฮัม เขาก็จะเห็นว่านี่คือคนที่ได้รับพร นี่คือคนที่มีพระเจ้า

 

พระเจ้าก็ท้าทายแบบเดียวกันคือ จงเอาทศางก์เต็มขนาดมาไว้ในคลัง นั่นก็ไม่ใช่เพื่อพระเจ้า แต่เพื่อพระเจ้าจะได้อวยพร แต่ก็ไม่ใช่เพื่อจะให้เขาได้รำ่รวยขึ้น แต่เพื่อ “ประชาชาติ” จะได้เห็นว่า นี่เป็นชนชาติของพระเจ้า

 

เพื่อให้คนอื่นได้รู้จักกับพระเจ้า

 

นี่เป็นแผนการความรอดของพระเจ้า ตลอดเรื่องราวของหนังสือผู้เผยพระวจนะที่ผ่านมา การย้ำให้อิสราเอลรักษาชีวิตให้บริสุทธิ์ การใช้ชีวิตตามพันธสัญญา และผลของการหักพันธสัญญาทำให้พระเจ้าต้องสำแดงความสัตย์ซื่อและยุติธรรมของพระองค์ ทั้งหมดก็ไม่ได้มีเพียงเพื่ออิสราเอล แต่เพื่อที่คนอื่นเห็นชีวิตของคนที่มีพระเจ้าแล้ว เขาจะได้กลับเข้ามาหาพระเจ้า นี่เป็นภาพใหญ่ของแผนการเรื่องการช่วยกู้และความรอดของพระเจ้าผ่านทางอิสราเอล แต่ดูเหมือนว่าเขาไม่เห็น เขาเห็นแค่ภาพเล็กๆ เขารอเพียงจะเห็นว่าเขาจะได้รับอะไร

 

ถ้าเขาสัตย์ซื่อในการกลับมาหาพระเจ้า และตระหนักว่าของทุกอย่างเป็นของพระองค์อยู่แล้ว เขาก็จะถวายด้วยความเต็มใจ โดยไม่ต้องเรียกร้องอะไร ปัญหาทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่แตกร้าว ความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ตระหนักว่า ของทุกอย่างนั้นล้วนมาจากพระเจ้า ทั้งหมดเป็นของพระองค์อยู่แล้ว

 

พระเจ้าต้องการที่จะนำพระพรและความรักไปสู่บรรดาประชาชาติ แต่ อิสราเอลถามแต่เพียงว่า “เขาจะได้อะไร”

ซึ่งไปเกี่ยวกับ ประเด็นที่ หก

 

………………………….

ข้อพิพาทที่ 6

3:13-14
พระเจ้าตรัสว่า  ถ้อยคำของเจ้านั้นใส่ร้ายเรา
เจ้ายังกล่าวว่าเราทั้งหลายได้กล่าวใส่ร้ายพระองค์สถานใด
เจ้าได้กล่าวว่าที่จะปรนนิบัติพระเจ้าก็เปล่าประโยชน์”
ที่เราจะรักษาพระดำรัสสั่งของพระองค์ หรือ
ดำเนินอย่างคนไว้ทุกข์ต่อพระพักตร์พระเจ้าจอมโยธา นั้นจะได้ผลดีอันใด”

 

การติดตามพระเจ้า คำนี้ในภาษาเดิม ใช้คำว่า “รับใช้”

 

“ทำไมเจ้าใส่ร้ายเรา” “ทำไมพูดแรงอย่างนี้”
“อะไร!” “พูดแรงยังไง พูดแรงตรงไหน!!”

 

จริงๆแล้วถ้าเราเชื่อพระเจ้า มันน่าจะได้อะไรบ้างสิ การจะปรนิบัติพระเจ้าไม่เห็นได้อะไรเลย จะรักษาพระบัญญัติไปทำไม ไม่เห็นได้ประโยชน์อะไรเลย เชื่อพระเจ้าไม่เห็นมีประโยชน์ คนชั่วก็ยังได้ดี คนชั่วไม่ถูกลงโทษ หรือ พระเจ้าไม่ได้แยแสความอยุติธรรมในสังคม พระเจ้าอวยพรคนที่ชั่ว!

 

“เจ้าใส่ร้ายเรา”
“เราใส่ร้ายอะไร!”

 

การติดตามพระเจ้า ไม่มีประโยชน์เลย น่าจะได้รับอะไรบ้างสิ เราก็ปรนิบัติพระเจ้า พระเจ้าน่าจะตอบแทนเราตามสมควร นี่เป็นประเด็นของเรื่องนี้

ตอนนี้ชวนให้เราคิดถึง โยบ

โยบ….

 

โยบเป็นคนดีที่ยำเกรงพระเจ้า จนแล้ววันหนึ่งมารก็มาถามพระเจ้าว่า “โยบ ยำเกรงพระเจ้า “เปล่าๆ” หรือ?” คล้ายๆกับที่ตอนนี้ อิสราเอลกำลังบอกว่า ปรนิบัติพระเจ้าก็ “เปล่าๆ” ไม่ได้อะไร แต่ถ้าเราอ่านโยบต่อไปจนจบทั้งเล่ม พระธรรมโยบกำลังยืนยันกับเราว่า โยบยำเกรงพระเจ้าแบบ “เปล่าๆ” จริงๆ ซึ่งเป็นการกลับมาตอบคำท้าทายของมารในตอนเริ่มต้นที่ว่า “โยบยำเกรงพระเจ้าเปล่าๆจริงหรือ?” คำตอบคือ “จริง” โยบยำเกรงพระเจ้าเปล่าๆจริงๆ

 

พระธรรมโยบมีการอธิบายความเชื่อของคนโบราณที่เข้าใจว่า ถ้าเขาทำดีจะได้ดี ทำชั่วก็จะได้ชั่ว แต่เมื่อความเชื่อของโยบมาถึงตอนสุดท้าย เราจะเห็นว่า โยบเชื่อพระเจ้าเปล่าๆจริงๆ คือ ไม่ต้องมีอะไรมาแลก โยบก็ยังจะรักพระเจ้า ถึงไม่ต้องมีผลประโยชน์ให้ โยบก็ยังรับใช้พระเจ้า

 

เรื่องนี้กำลังค้านกับคนอิสราเอลในมาลาคี “จะรับใช้พระเจ้าก็เปล่าประโยชน์” อิสราเอลต้องการสิ่งตอบแทนในการรับใช้พระเจ้า แต่ในพระธรรมโยบบอกกับเราว่า แท้จริงแล้วความเชื่อที่เราควรมีต่อพระเจ้า คือความเชื่อแบบ “เปล่าๆ” ที่ไม่ผูกติดกับผลประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น ไม่ต้องมีของแลกเปลี่ยน เป็นความสัมพันธ์ราวกับเพื่อนสนิท ที่ไม่ได้คบหากันด้วยผลประโยชน์ และ คบกันเพื่อหวังว่าจะได้รับอะไรตอบแทน เป็นความสัมพันธ์กันแบบ “เปล่าๆ” ไม่มีอะไรแอบแฝงต่อกัน

 

คนอิสราเอลในสมัยนั้นกำลังยึดติดกับสิ่งที่คิดว่าควรจะได้รับ เขาจึงขมขื่น

นี่คือข้อพิพาทหกประการในหนังสือมาลาคี

…..

 

ถ้าเราสังเกต เราจะเห็นความสอดคล้องกัน เรื่องข้อพิพาทที่หนึ่ง เรื่องการทรงเลือก เราได้รักเจ้า เราได้เลือกเจ้า ข้อพิพาทเรื่องการทรงเลือกนี้มาคล้องกับเรื่องที่หก พันธสัญญาต่อผู้ที่พระเจ้าเลือกไว้ เริ่มต้นที่ผู้ที่พระเจ้าเลือก จบลงที่ ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกไว้

 

ข้อพิพาทข้อที่สองพูดเรื่องข้อพิพาทของการถวายของปุโรหิต มาคล้องกับเรื่องที่ห้า การพิพาทเรื่องการถวายของประชาชน

 

ข้อพิพาทข้อที่สามกับสี่ก็ขนานกัน ข้อสามคือการฉีกพันธสัญญาต่อภรรยา อันที่สี่คือ การฉีกพันธสัญญาต่อพระเจ้า

 

ทั้งหมดเป็นโครงสร้างแบบที่เรากล่าวมาโดยตลอด เป็นแฮมเบอร์เกอร์ ประกบบนประกบล่างขนานกัน นำสู่ใจความสำคัญของพระธรรมมาลาคี คือการเรียกร้องให้อิสราเอลกลับสู่ความสัมพันธ์ดั้งเดิม

 

ความสัมพันธ์ดั้งเดิมที่ไม่จำเป็นจะต้องมีผลประโยชน์ มีแค่พระเจ้ากับเขา ถ้าเราย้อนกลับมาดูในตอนเริ่มต้น อิสราเอล คาดหวังอะไร “วิหารที่ไม่ใหญ่โต” “การรื้อฟื้นราชวงศ์ของดาวิด” “พื้นที่ทำกินอย่างสมัยก่อน” “การรื้อฟื้นอิสราเอลที่ยังไม่มา”

 

พระเจ้าเรียกเขากลับมาที่ความสัมพันธ์ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับผลประโยชน์ พระเจ้าจึงพูดถึงเรื่องหนึ่ง ที่เขาคาดหวัง “ราชวงศ์ของดาวิด”

 

แต่พอมาถึงตรงนี้ พระคัมภีร์มาลาคีกำลังบอกว่า พระเจ้าเองต่างหากที่เป็นจอมกษัตริย์ เป็น “พระเจ้าจอมโยธา” ซึ่งเรื่องนี้ออกจากผิดคาด เพราะสิ่งที่เขารอคอยคือ กษัตริย์จากราชวงศ์ดาวิด เรื่องนี้เกินความดาดหมาย เพราะในสมัยเชลยไม่สามารถมีกษัตริย์ได้เพราะอิสราเอลมีสถานะเป็นเมืองขึ้น เขาจึงคาดหวังว่า กษัตริย์จากราชวงศ์ดาวิดจะมาอย่างไร แต่พระเจ้าเองต่างหากที่เป็นกษัตริย์ของเขา

 

พระธรรมสดุดีหลายตอนที่เขียนขึ้นในสมัยเชลย ก็ยังเขียนยืนยันว่า “พระยาเวห์ทรงเป็นกษัตริย์”(สดด.97) “พระยาเวห์ครอบครอง” “เราเป็นกษัตริย์แห่งจักรวาล”(สดด.94) พระเจ้าเองที่เป็นกษัตริย์ในช่วงสมัยเชลย

 

พระเจ้ากำลังเรียกร้องให้กลับมาที่ความสัมพันธ์ดั้งเดิม พระธรรมมาลาคีไม่ได้เรียกร้องให้เรากลับมาสนใจแค่เรื่องถวายทรัพย์ในวันอาทิตย์ แต่เป็นเรื่องการเรียกร้องให้กลับมาที่ “ความรักดั้งเดิมของพระเจ้า”

 

และ ในท่ีสุดอิสราเอลก็ต้องกลับมาที่ความสัมพันธ์ดั้งเดิม

………………………….

ในบทที่สามก่อนที่จะจบ การที่เรียกร้องให้กลับมาที่ความสัมพันธ์ดั้งเดิม ก็มีเรื่องของ “คนเหล่านั้น” ที่เกรงกลัวพระเจ้า เขาจะนั่งคุยกัน แล้วพระเจ้าก็จะนั่งฟังคนเหล่านั้น ภาพนี้เป็นภาพที่สวยงาม

 

แล้วคนเหล่านั้นที่เกรงกลัวพระเจ้าจึงพูดกันและกัน พระเจ้าทรงฟังและทรงได้ยิน
16

 

ตอนนี้กำลังจะบอกกับเราว่า เมื่อเรากลับมาที่ความรักดั้งเดิม ประชากรของพระเจ้าเขาจะคุยกัน  แล้วพระเจ้าจะทรงฟัง ในภาษาเดิมแปลได้ว่า พระเจ้าจะเอาใจใส่ จะฟังส่ิงที่เขาพูดคุย

 

พระเจ้าอยากจะเข้าร่วมวงสนทนาใส่ใจ อยากอยู่ตรงนั้น ตรงที่เขาคุยกัน คนที่กลับมาสู่ความรักดั้งเดิมของพระเจ้า สองสามคนคุยกัน แล้วพระเจ้าก็จะอยู่ตรงนั้นด้วย

 

เพราะว่ามีสองสามคนประชุมกันที่ไหนในนามของเรา เราจะอยู่ท่ามกลางพวกเขาที่นั่น
มธ 18:20

 

พระเจ้าอยากจะมีความสัมพันธ์แบบนี้ ที่ๆลูกของพระองค์อยู่ร่วมกัน แล้วพระองค์ก็อยากจะอยู่ด้วย นั่นคือความสัมพันธ์ดั้งเดิมที่พระเจ้าเรียกร้อง และไม่เพียงแค่เขาจะคุยกัน แต่เขาจะมีหนังสือม้วนแห่งการบันทึกความทรงจำ จำเพาะพระพักตร์ เราเชื่อว่าสิ่งนี้คือ การที่พระเจ้าประทานพระวจนะให้กับผู้เชื่อเพื่อที่เขาจะได้เรียนรู้สัมผัสถึงความรัก เพื่อจะได้อยู่ในความรักของพระเจ้า

 

…..

 

พระธรรมมาลาคีมาจบตรงนี้

พระเจ้าจะประกอบกิจในวันแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า ในวันนั้นพระเจ้าจะทำ ในตอนปลายบทที่สี่

 

พระเจ้าจอมโยธาตรัสว่าดูเถิด วันนั้นจะมาถึง คือวันที่จะเผาไหม้เหมือนเตาอบ เมื่อคนที่อวดดีทั้งสิ้น และคนที่ประกอบการอธรรมทั้งหมดจะเป็นเหมือนตอข้าว…”

…และเจ้าจะเหยียบย่ำคนอธรรม เพราะว่าเขาจะเป็นเหมือนขี้เถ้าที่ใต้ฝ่าเท้าของเจ้า ในวันนั้นเมื่อเราประกอบกิจ พระเจ้าจอมโยธาตรัสดังนี้แหละ”

 

วันแห่งพระเจ้าที่จะมาถึง ตอบประเด็นสุดท้ายที่บอกว่า “คนอธรรมก็เจริญขึ้น” “พระเจ้าไม่ใส่ใจความยุติธรรมเลย” ตอนจบของบทที่สี่กำลังบอกว่า ไม่หรอก วันแห่งความยุติธรรมของพระเจ้าจะมา คนอยุติธรรมจะถูกเผาไหม้ไป และ คนชอบธรรมจะกระโดดโลดเต้น ในแง่นี้กำลังบอกว่าพระเจ้ายุติธรรมนั่นเอง

 

แล้วพระธรรมมาลาคีก็มาจบแบบ แปลกๆ

………………………….

จงจดจำธรรมบัญญัติของโมเสสผู้รับใช้ของเรา
ทั้งกฎเกณฑ์และกฎหมายซึ่งเราได้บัญชาเขาไว้ที่ภูเขาโฮเรบสำหรับอิสราเอลทั้งสิ้น
4

ดูเถิด เราจะส่งเอลียาห์ผู้เผยพระวจนะมายังเจ้าก่อนวันแห่งพระเจ้า คือวันที่ใหญ่ยิ่งและน่าสะพรึงกลัวมาถึง
5

และท่านผู้นั้นจะกระทำให้จิตใจของพ่อหันไปหาลูก และจิตใจของลูกหันไปหาพ่อ หาไม่ เราจะมาโจมตีแผ่นดินนั้นด้วยคำสาปแช่ง
6

 

นี่ก็จบกันแบบชวนช็อกทีเดียว นี่เป็นเล่มสุดท้าย แต่กลับจบด้วยคำสาปแช่ง!!

 

เรื่องนี้ทำให้เราต้องทำการกลับไปค้น ว่าคำสาปแช่งในตอนจบนี้หมายถึงอะไร เราจึงพบว่าในภาษาเดิมของมาลาคีจบด้วยคำว่า “เฆ-เร็ม” คำนี้แปลว่า “ของทำลายถวาย” ซึ่งมาลาคีก็เต็มไปด้วย เรื่องของ “ของถวาย” การมาจบด้วยคำว่า “เฆ-เร็ม” หรือ “ของทำลายถวาย” นี่ยิ่งน่าสนใจมาก ซึ่งคำว่า “ของทำลายถวาย” นี้ปรากฏมากในพระธรรม โยชูวา

 

ในโยชูวา คำว่า “ของทำลายถวาย” ปรากฏเยอะมาก การให้อิสราเอลเข้าตีเมืองต่างๆก็ใช้คำนี้ คือคำว่า “เฆ-เร็ม” เมื่อตอนที่ อาคาน ยักยอก “เฆะเร็ม” คือของที่ต้องเป็นของพระเจ้าเท่านั้น ก็เกิดวิบัติแก่อิสราเอลส่งผลให้เขาต้องพ่ายแพ้เมืองเล็กๆอย่างเมือง อัย ทั้งๆที่พึ่งชนะ เยรีโค เมืองที่ใหญ่กว่านั้นหลายสิบเท่าสำเร็จ

 

พระธรรมโยชูวา หากถูกจัดตามพระคัมภีร์ฮีบรูเดิม เราจะเรียกโยชูวาว่า former prophet ถูกวางไว้เป็นเล่มแรกของหมวดผู้เผยพระวจนะ(หากสนใจให้ลองศึกษาคำค้นต่อเรื่องการจัดเรียงพระคัมภีร์แบบฮีบรู ,TNK) แล้ว มาลาคี เป็นผู้เผยพระวจนะเล่มสุดท้าย หรือ เป็นคนสุดท้ายในหนังสือหมวดผู้เผยพระวจนะก็ว่าได้

 

ด้วยการจัดวางแบบนี้ เราก็จะเห็นว่า แนวคิดเรื่อง เฆเร็ม เร่ิมต้นที่โยชูวา และ จบด้วยคำสุดท้ายในมาลาคีว่า เฆเร็ม เช่นกัน ตามแนวทางการวางเนื้อหาแบบแฮมเบอร์เกอร์ในภาพใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้อิสราเอลต้องกลับมาใคร่ครวญว่า ทุกส่ิงเป็นของพระเจ้า เขาต้องกลับมาที่พื้นฐานของพันธสัญญา คือ ตระหนักว่าทุกสิ่งเป็นของพระเจ้า การที่เขาได้เป็นประชากรของพระเจ้าก็คือพระคุณ ถ้าเขาไม่กลับมาที่ความสัมพันธ์ดั้งเดิม เขาจะกลายเป็น เฆเร็ม เสียเอง คือ กลายเป็นของต้องทำลายถวายเสียเอง

 

ในพระธรรมโยชูวา พระเจ้าใช้อิสราเอล เป็นเครื่องมือในการลงโทษคนบาปเมืองที่เป็นเมืองของคนบาปกลายเป็น เฆเร็ม คือ ของที่ต้องถวายทำลายพระเจ้า ซึ่งนี่คือคำเตือนในมาลาคีข้อสุดท้ายว่า หากอิสราเอลไม่กลับมา เขาจะกลายเป็น เฆเร็ม เสียเอง สิ่งใดที่เคยเกิดขึ้นกับคนคานาอันเพราะความบาป อิสราเอลที่ไม่เอาพระเจ้าก็จะเจอสิ่งนั้นเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ เยรูซาเล็มแตกปี 576 ก.ค.ศ. และ แตกอีกครั้งในปี ค.ศ. 70 จนคนต้องแตกกระสานซ่านเซ็นไปทั่วโลก

………………………….

การจบแบบนี้ช่างน่าอึดอัด คือคนยิวไม่ค่อยสะดวกใจอย่างมากที่จะต้องจบด้วยคำว่า เฆเร็ม เขาจึงใช้วิธีอ่านย้อนไปอีกนิด คือเมื่ออ่านจบในข้อหกแล้ว ให้ย้อนกลับไปอ่าน ข้อสี่ข้อห้าอีกครั้งหนึ่ง

 

จงจดจำธรรมบัญญัติของโมเสสผู้รับใช้ของเรา
ทั้งกฎเกณฑ์และกฎหมายซึ่งเราได้บัญชาเขาไว้ที่ภูเขาโฮเรบสำหรับอิสราเอลทั้งสิ้น
4

ดูเถิด เราจะส่งเอลียาห์ผู้เผยพระวจนะมายังเจ้าก่อนวันแห่งพระเจ้า คือวันที่ใหญ่ยิ่งและน่าสะพรึงกลัวมาถึง
5

 

แทนที่จะจบด้วยคำสาปแช่ง จึงปิดด้วย โมเสส และ เอลียาห์ ในข้อสี่และห้าแทนการมาจบที่ข้อหก พระธรรมมาลาคีจึงกลับมาจบด้วยความหวัง เล็งไปถึงวันแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า วันที่เขารอคอยมาตลอด มันจะมีองค์ประกอบอะไรบางอย่าง คือในวันนั้น จะมีโมเสส กับ เอลียาห์ เป็นการเชื่อมตัวแทนของธรรมบัญญัติ เข้ากับ ตัวแทนของผู้เผยพระวจนะ วันแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้ากำลังจะร้อยเชื่อมประวัติศาสตร์ของชนชาติของพระเจ้าทั้งหมดเข้าด้วยกัน และในตอนนี้เราต้องวกกลับไปยังอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ขาดไม่ได้อยู่ในมาลาคีบทที่สามข้อหนึ่ง

 

พระเจ้าจอมโยธาตรัสว่า <<ดูเถิด เราส่งทูตของเราไปเพื่อตระเตรียม หนทางไว้ข้างหน้าเรา และพระเจ้าผู้ซึ่งเจ้าแสวงหานั้น จะเสด็จมายังพระวิหารของพระองค์อย่างกะทันหัน ทูตแห่งพันธสัญญาผู้ซึ่งเจ้าพอใจนั้น ดูเถิด ท่านกำลังมาแล้ว 2แต่ใครจะทนอยู่ได้ในวันที่ท่านมา และใครจะยืนมั่นอยู่ได้เมื่อท่านปรากฏตัว

 

ทูตคนนี้หมายถึงใคร? คำว่า “ทูตของเรา” ในภาษาฮีบรู อ่านว่า “มาลาคี” ซึ่งก็คือชื่อของพระธรรมเล่มนี้ เพราะฉะนั้นในแง่นี้ถ้า มาลาคี เป็นผู้เขียนพระธรรมเล่มนี้ เขาก็กำลังจะบอกอย่างนี้

 

ผมชื่อ มาลาคี ผมกำลังจะประกาศพระวจนะของพระเจ้า แต่วันแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าจะส่ง “มาลาคี” อีกคนหนึ่งมา เมื่อท่านนั้นมา จะไม่มีใครยืนอยู่ได้ (ตรงนี้ในวิวรณ์เล่มสุดท้ายของพระคัมภีร์ใหม่ก็จับประเด็นนี้ “เมื่อท่านนั้นมา จะไม่มีใครยืนอยู่ได้”) คนนี้มีลักษณะอะไรที่เห็นชัด มาลาคี ก็พามาจบตรงนี้ คืนในวันแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้าที่จะมาถึง ท่านจะพาโมเสสและเอลียาห์มาผสานกัน โทราห์กับหมวดผู้เผยพระวจนะก็จะมาผสานกัน จำได้ไหมว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นตอนไหน?

 

ลูกา 9:28-36
เมื่อพระองค์กำลังอธิษฐานอยู่ วรรณพระพักตร์ของพระองค์ก็เปลี่ยนไป
ดูเถิด มีสองคนสนทนาอยู่กับพระองค์ คือโมเสสและเอลียาห์

 

สิ่งที่พระเยซูได้จำแลงพระกายบนภูเขากำลังสะท้อนว่า บุคคลที่พระคัมภีร์เดิมได้สัญญาไว้จนมาถึง มาลาคี ซึ่งเป็นพระคัมภีร์เดิมเล่มสุดท้ายได้ขมวดเอาไว้ มาลาคี ท่านนี้แหละ จะเป็นคนที่จะยืนอยู่ต่อหน้าพระองค์ไม่ได้ ผู้นี้แหละจะเป็นผู้ผสานประวัติศาสตร์ของชนชาติของพระเจ้าทั้งหมดตั้งแต่โมเสสจนถึงหมวดผู้เผยพระวจนะ

 

เรื่องนี้มาจบที่ความหวังว่า มาแล้ว วันแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้ามาถึงแล้ว เราเชื่อว่า เปโตร เข้าใจเรื่องนี้ถึงกับตื่นเต้นจนไม่รู้จะพูดอะไร “สร้างเพิงเลยครับ!”

 

“พระอาจารย์เจ้าข้า ซึ่งเราอยู่ที่นี่ก็ดี ให้พวกข้าพระองค์ทำเพิงสามหลังสำหรับพระองค์หลังหนึ่ง สำหรับโมเสสหลังหนึ่ง สำหรับเอลียาห์หลังหนึ่ง” เปโตรไม่รู้สึกตัวว่าได้พูดอะไร

 

เปโตรเข้าใจเรื่องที่ โมเสส และ เอลียาห์ มาปรากฏต่อหน้าพระเยซู พระองค์คือทูตองค์นั้น คือ มาลาคี ที่จะไม่มีใครยืนอยู่ต่อหน้าพระเจ้าได้ คือคนที่จะนำความหวังของการรื้อฟื้นอิสราเอลขึ้นใหม่ คือ คนที่จะนำการพิพากษาคนอธรรม นั่นก็คือ พระเยซู

 

เมื่อคนยิวอ่านมาถึงเล่มสุดท้าย เขาจะตั้งคำถามว่า “มาลาคี” คนนี้คือใคร คนนี้จะต้องปรากฏกับโมเสส กับ เอลียาห์ ใครกัน? สำหรับคริสเตียนที่อ่านตอนนี้ก็มักจะคิดถึงยอห์นผู้ให้รับบัพติสมา คือ เป็นเอลียาห์ที่จะมาก่อน มาเตรียมทาง ซึ่งในแง่นั้นก็ถูก แต่ พระธรรมมาลาคี กำลังทำให้เห็นภาพว่า วันแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้าที่จะมาปรากฏ มีองค์ประกอบอีกสองอันก็คือ โมเสส กับ เอลียาห์ นั้นเอง แน่นอน เปโตร เห็นและเข้าใจทันที

 

พระธรรมหมวดผู้เผยพรวจนะน้อยก็มาขมวดจบที่พระธรรมมาลาคีได้อย่างยอดเยี่ยม ถ้าผู้อ่านในหมวดนี้ติดตามอ่านมาเรื่อยๆ จะรออย่างใจจดใจจ่อว่า “ใคร” ที่กำลังจะมา ซึ่งสำหรับคริสเตียนแล้ว ด้วยพระคุณของพระเจ้าเราจึงรู้ว่า คือ พระเยซู

 

เรื่องราวทั้งหมดนี้ไล่มาเรื่อยๆจนจบที่ มาลาคี กับบทสรุปที่ว่า พวกเขาต้องกลับมาที่ความรักดั้งเดิมของพระเจ้า แต่เขาทำเองไม่ได้ พระเจ้าประทานบัญญัติ เขาก็ล้มเหลว พระเจ้าประทานผู้เผยพระวจนะมาเตือน เขาก็ล้มเหลว พระเจ้าใช้ศัตรูมาจับเขาไปเป็นเชลย เมื่อเขากลับมา เขาก็กลับมาล้มเหลวเหมือนเดิม วนกลับไปอย่างนี้เรื่อยๆ

 

จึงต้องมีอะไรบางอย่าง คือต้องมีใครสักคน ที่กลับมาช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระเจ้า คือ “มาลาคี” ที่พระเจ้าจะส่งมา ที่ไม่ใช่แค่มาเตือนว่าต้องรักษาบัญญัตินะ เตือนว่าต้องเชื่อฟังนะ แต่พระองค์นำทางการกลับคืนสู่ความสัมพันธ์ด้วยการ “ตายบนไม้กางเขน” เพื่อนำเรากลับมาสู่ความรักดั้งเดิมของพระเจ้า เป็นทูตของพระเจ้า เป็น

.

.

.

ม า ล า คี

.

.

.


Previous Next

  • Author:
  • เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก
  • Author:
  • อ.ธนิต โลเกศกระวี ผู้อำนวยการพระคริสต์ธรรมเชียงใหม่ (CTS) หรือ พี่ใช้ รุ่นพี่ผู้รับใช้ผู้มีไฟ และมีเป้าหมายที่จะสืบสาน และ ส่งต่อความเข้าใจในพระคัมภีร์ให้กับพี่น้องคริสเตียน และ ผู้รับใช้รุ่นใหม่ๆต่อไป