11

[พระคัมภีร์ไม่ไหลย้อนกลับ] The12 ep.11 เศคาริยาห์


 

 

ประชาชนลุกขึ้นมาถามเศคาริยาห์ “นี่ผ่านมาเจ็ดสิบปีแล้ว ทำไมพระเจ้าไม่ทำตามสัญญาเลย” แล้ว เศคาริยาห์จึงตอบเป็นนิมิตแปดอย่าง ในตอนหลังประชาชนก็ถามอีก แล้วเศคาริยาห์ก็ตอบอีกแต่รอบนี้เป็นครุวาท นี่คือภาพรวมของ เศคาริยาห์

 

ถ้าเราจะดูเศคาริยาห์ ให้รู้เรื่อง เราต้องย้อนกลับไปนิดนึงใน ฮักกัย

 

ฮักกัยพูดเรื่องการสร้างพระวิหาร และ จบลงที่ เศรุบบาเบล ที่จะเป็นแหวนตรา เป็นการเปรียบเทียบว่า พระเจ้าจะรื้อฟื้นราชวงศ์ของดาวิด ซึ่งในเยเรมีย์ก็เปรียบ อิสราเอล เหมือนแหวนตราที่ถูกถอดออก นั่นคือการตกไปเป็นเชลย ส่วนฮักกัยนี้พระเจ้ากำลังจะสวมแหวนแต่งงานคืนกลับมา คือการกลับสู่การเริ่มต้นความสัมพันธ์กันใหม่อีกครั้ง

ฮักกัยเร่ิมด้วย วันนี้ จะสร้างพระวิหาร เมื่อถึง วันนั้น พระเจ้าจะรื้อฟื้น พอมาถึงเศคาริยาห์ ประชาชนจึงถามว่า ก็ถึงตามเวลาที่ว่าแล้วถึงวันนั้นแล้วนี่ แต่ยังไม่เห็นการรื้อฟื้น เจ็ดสิบปีจะผ่านไปแล้ว ทำไมพระเจ้าไม่ทำตามเวลาของพระองค์

ปีที่ฮักกัยเริ่มเผยพระวจนะก็คือ ปี 520 ก่อนคริสตศักราช ส่วนเศคาริยาห์ก็ช่วงเดียวกัน แต่คาบเกี่ยวกันช่วงเดือน คนในสมัยฮักกัยจึงถามเศคาริยาห์ว่าทำไมพระเจ้าไม่ทำตามสัญญาสักที

 

พ ร ะ เ จ้ า ลื ม ห รื อ เ ป ล่ า ?

 

อันที่จริงมีบางเรื่องที่สำคัญกว่า การที่พระเจ้าจะทำตามสัญญา เป็นเรื่องที่อิสราเอลยังมองไม่เห็น

………………………………………….

 

ในแง่ของการจัดวาง เนื้อหาของเศคาริยาห์ดูแปลกๆ เพราะช่วงแรกเป็นร้อยแก้ว แต่ส่วนท้ายเป็นร้อยกรอง บางคนก็ใช้ตรงนี้เป็นเหตุผลที่เชื่อว่า คนเขียนน่าจะเป็นคนละคนจึงใช้วิธีการเขียนต่างกัน เพียงแต่มีคนเอามาประกอบกันทีหลัง ช่วงแรกจึงเป็นงานเขียน ส่วนช่วงท้ายเป็นบทกลอน แต่สำหรับเรา(ผู้จัดทำ)เชื่อว่าเป็นผู้เขียนคนเดียวกัน หรือ ถึงจะเป็นผู้เรียบเรียง แต่ก็ตั้งใจใช้รูปแบบการเขียนที่แตกต่างกันนี้เพื่อที่จะสื่อสารบางอย่าง เพื่อให้ผู้อ่าน ได้คิด! ถึงเรื่องสองอย่างที่แตกต่างกัน หรือ เป็นไปได้ไหมว่า ผู้เขียนกำลังจะบอกว่ามีสองเรื่องที่คู่ขนานอยู่ร่วมในโลกใบเดียวกัน

 

เรื่องในบทที่หนึ่งถึงแปดเป็นร้อยแก้ว ส่วนบทที่เก้าถึงสิบสี่เป็นร้อยกรอง เป็นเรื่องเดียวกันที่ดำเนินไปด้วยกัน เป็นเหรียญเดียวมีสองด้านแต่ประสานกันเป็นเนื้อเดียวกันอย่างแยกไม่ออก

 

บทที่หนึ่งถึงเก้ากล่าวถึงการสร้างพระวิหาร เป็นปัจจุบันของผู้อ่านในสมัยนั้น

ส่วนบทที่เก้าถึงสิบสี่เป็นเรื่องหลังสร้างพระวิหาร เป็นเหตุการณ์ในอนาคตก็ว่าได้

………………………………………….

 

ถ้าเราดูจุดเริ่มต้นของพระคัมภีร์เศคาริยาห์ ก็เริ่มต้นจากคำถามที่ว่า  “เจ็ดสิบปีมาถึงแล้วทำไมพระเจ้าไม่ทำตามสัญญาสักที”  สิ่งที่พระเจ้ากำลังจะเปิดเผยในเศคาริยาห์จึงกำลังจะบอกว่า มันไม่ใช่แค่เรื่องพระเจ้าทำตามสัญญานะ แต่มันมีเรื่องที่เป็นชั้นบางๆซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่งซึ่งคุณควรจะตระหนักรู้ด้วย  จึงเป็นคำตอบที่ตามมาต่อจากคำถาม เป็นคำตอบผ่าน “แปดนิมิต”

 

นิมิตเกิดตอนไหน คือตอนที่เศคาริยาห์นอน แล้วทำไมไม่เรียกความฝัน นั่นก็เพราะเขาไม่ได้หลับไง

 

 

นิมิตที่เศคาริยาห์เห็นมีอะไรบ้าง

ม้ากับทูตสวรรค์ที่ตรวจตราโลก

เขาสี่เขากับช่างเหล็ก

ชายคนหนึ่งเอาเชือกไปวัดกรุงเยรูซาเล็ม

ปุโรหิตโยชูวาสวมชุดเปื้อน

เชิงตะเกียงกับต้นมะกอกเทศ

หนังสือม้วนเหาะ

ผู้หญิงในถังเอฟาห์

รถรบสี่คัน

 

( ถ้าใครมาถึงตรงนี้ เพื่อความเข้าใจที่ดี แนะนำให้กลับไปอ่านนิมิตทั้งแปดนี้ก่อน )

การจะอ่านเรื่องนิมิตเหล่านี้ให้เข้าใจควรอ่านโดยอยู่ใต้ “คำถามเปิดเรื่อง” ของพระคัมภีร์เล่มนี้

 

 


เจ็ดสิบปีแล้ว
ทำไมพระเจ้ายังไม่ทำอะไร

 

 

แล้วนิมิตทั้งแปดนี้แหละที่พระเจ้ากำลังตอบว่าพระเจ้ากำลังทำอยู่ แม้อิสราเอลจะมองไม่เห็น จึงกลายเป็นสองโลกที่กำลังดำเนินไปพร้อมๆ กันแม้เราจะมองไม่เห็น คือ โลกฝ่ายวัตถุ และ โลกฝ่ายวิญญาณ ที่ผู้คนไม่ได้ตระหนัก

…………….

ม้ากับทูตสวรรค์ที่ตรวจตราโลก  รถรบสี่คัน

ถ้าเราสังเกตุในนิมิตที่หนึ่ง พระเจ้าให้เศคาริยาห์ได้เห็นพลม้าสี่สีออกตรวจตราโลก แล้วกลับมารายงานว่า ทุกอย่างสงบแล้ว… พอเราอ่านๆไปจนถึงนิมิตที่แปด เราก็จะเจอรถรบเทียมม้า มีม้าสี่สี ที่ออกไปตรวจตรา แล้วกลับมารายงานเช่นกัน เพราะฉะนั้นในแง่นี้ นิมิต หนึ่งกับแปด จึงมีความสอดคล้องกัน

เมื่อเราไปอ่านนิมิตสองกับเจ็ดก็คล้องกัน และ สามกับหก ก็คล้องกัน และ สุดท้ายสี่กับห้าก็คู่กัน เป็นเหมือนโครงสร้างแบบแฮมเบอร์เกอร์ที่เราพูดถึงกันบ่อยๆ ว่ามักมีสองเรื่องวางคู่กันในเนื้อหาเดียว

เมื่อเปิดเรื่องด้วยคำถามว่า ทำไมดูเหมือนพระเจ้าไม่ทำอะไร นิมิตสองคู่แรกจึงกำลังเปิดเผยว่า พระเจ้าได้ทำอยู่ พระองค์ได้ตรวจตราโลกแล้ว พระองค์ครอบครอง เมื่อสถานการณ์สงบแล้ว จึงต่อด้วยนิมิตคู่ที่สอง สองกับเจ็ด

 

…………….

เขาสี่เขากับช่างเหล็ก

สี่เขาหมายถึง อัสซีเรีย และ บาบิโลน และ ช่างเหล็กก็คือ เปอร์เซีย นั่นก็คือมหาอำนาจที่มีผลต่อการเป็นเชลยของอิสราเอลนั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับนิมิตที่เจ็ด

 

ผู้หญิงในถังเอฟาห์

ซึ่งหมายถึงอิสราเอลที่อยู่ใต้อำนาจของมหาอำนาจที่ครอบงำอิสราเอลอยู่ ภาพเปรียบเทียบผู้หญิงในนิมิตนั้นเป็นสัญลักษณ์ของอิสราเอลที่กราบไหว้รูปเคารพ และ ความชั่วร้ายจากการกราบไหว้รูปเคารพกำลังถูกใส่ถังพากลับไปยังบาบิโลน คือ ความชั่วร้ายของการกราบไหว้รูปเคารพถูกนำกลับไปยังแหล่งแห่งการกราบไหว้รูปเคารพ คือ บาบิโลนนั่นเอง ภายหลังบาบิโลนจึงเป็นจุดแพร่ของความชั่วร้ายของการไหว้รูปเคารพ เป็นสัญลักษณ์ของการกราบไหว้รูปเคารพ

นิมิตสองกับเจ็ดจึงคู่กัน พูดถึง ศัตรูที่นำอิสราเอลไปสู่ความชั่วร้ายและทำให้ต้องตกไปเป็นเชลย ตอนนี้อยู่ในการดูแลของพระเจ้า

 

…………….

ชายคนหนึ่งเอาเชือกไปวัดกรุงเยรูซาเล็ม

หมายถึงวันหนึ่งพระเจ้าจะทำการรื้อฟื้นเยรูซาเล็ม แต่ในอีกแง่หนึ่ง ต้องกลับไปดูเรื่องคล้ายๆ กับที่อาโมสด้วย คือเรื่องของชายที่ถือสายดิ่งซึ่งหมายถึง การพิพากษา ในทำนองเดียวกันกับนิมิตเรื่องนี้ การวัดของพระเจ้าไม่ได้แค่วัดขนาด แต่ก็กำลัง “วัด” เยรูซาเล็มด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็คล้องกับนิมิตที่หก

 

หนังสือม้วนเหาะ

หมายถึงพระบัญญัติ หนังสือม้วนที่เหาะไป ซึ่งทำหน้าที่ “พิพากษา” แบบเข้าไปถึงระดับ ตามบ้าน! เรื่องนี้หมายถึง พระวจนะของพระเจ้าเป็นเหมือนมาตรฐานของพระองค์ที่จะไปพิพากษา ไม่ใช่แค่พิพากษาบรรดาประชาชาติเท่านั้น แต่กำลังทำหน้าที่พิพากษาคนของพระองค์ในเยรูซาเล็มด้วย

เพราะฉะนั้นสายวัด ไม่ได้ทำหน้าที่แค่วัดขนาด ของการรื้อฟื้น แต่กำลังพูดถึงการพิพากษาด้วย คือ การชำระอิสราเอลให้พ้นจากความชั่วร้ายในอดีต

 

…………….

ปุโรหิตโยชูวาสวมชุดเปื้อน

เมื่อซาตานมาฟ้องร้องว่าโยชูวามหาปุโรหิตสวมเสื้อสกปรก เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ ที่หมายถึง อิสราเอลที่เต็มไปด้วยความบาป แล้วพระเจ้าก็จัดการ!  ให้เปลี่ยนเสื้อ!!! แล้วเราก็จะอ่านเจอว่าซาตานก็ต้องเงียบกับการตอบสนองของพระเจ้านี้ เพราะพระเจ้าบอกว่า พระองค์อภัยให้ นั่นหมายถึงพระองค์อภัยให้ประชากรของพระองค์แล้ว พระองค์จะให้ใส่เสื้อใหม่ หมายถึงการรื้อฟื้น ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องการรื้อฟื้นในบทที่ห้า

 

เชิงตะเกียงกับต้นมะกอกเทศ

พระเจ้าจะรื้อฟื้นผ่านต้อนมะกอกสองต้น ที่มีนำ้มันมะกอกเติมไปที่เชิงตะเกียงคันประทีปตลอดเวลา ต้นมะกอกสองต้นเล็งถึง มหาปุโรหิตโยชูวา(ที่ให้เปลี่ยนเสื้อเมื่อกี้) กับ เศรุบบาเบล ที่เป็นเจ้าเมือง ต้นไม้สองต้นกำลังหมายถึงการ “นำ” ผ่านโยชูวา และ เศรุบบาเบล แต่ความหมายไม่ได้อยู่ที่สองคนนี้ที่จะเป็นผู้นำการรื้อฟื้นอิสราเอล เพราะทั้งสองคนนี้เป็นเพียงคนเติมนำ้มันไปที่คันประทีป แล้วพระวจนะก็บอกว่า

 

ไม่ใช่ฤทธิ์ ไม่ใช่แรง แต่ แข็งแกร่งด้วยพระวิญญาณ.. 
..ถึงภูเขาก็จะราบไป

 

นั่นหมายความว่า การรื้อฟื้นอิสราเอลจะเกิดแน่ๆ โดยพระวิญญาณของพระองค์ ไม่ใช่โดยผู้นำผู้นำทางการเมือง หรือ ผู้นำทางศาสนา แต่จะมาโดยพระวิญญาณของพระองค์ ผ่านผู้นำที่สัตย์ซื่อ เป็นผู้เลี้ยงของพระเจ้า

 

ผู้นำที่สัตย์ซื่อ ผู้เลี้ยงของพระเจ้า โดยการนำของพระวิญญาณจะนำการเปลี่ยนแปลงมาได้

 

เรื่องนิมิตทั้งแปดนี้เกิดขึ้นเพื่อตอบคำถามแรก “จะเจ็ดสิบปีแล้วไม่เห็นพระเจ้าจะทำตามสัญญา” และคำตอบที่ได้ก็คือ “ทำอยู่… แต่คุณไม่เห็น” นี่เป็นประเด็นแรกของเศคาริยาห์ที่กำลังจะบอกว่า มีสองโลกที่อยู่ร่วมกันแต่เรามองไม่เห็น เรามองเห็นแต่เพียงโลกฝ่ายวัตถุ แต่เรามองไม่เห็นโลกฝ่ายวิญญาณ โลกใบนี้มันมีสองมิติที่ดำเนินคู่กัน

 

โลกฝ่ายวัตถุ  กับ  โลกฝ่ายวิญญาณ

 

………………………………………….

 

เพราะฉะนั้น เวลาที่เรามองเห็นเรื่องแค่มิติเดียว เป็นไปได้ไหมที่บางเรื่องจึงไม่สามารถแก้ไขได้จากเพียงด้านเดียว เป็นการแก้ไขตามอาการ แต่ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ เศคาริยาห์กำลังวินิจฉัย คำถาม “ทำไมเจ็ดสิบปีแล้วไม่เห็นพระเจ้าจะทำตามสัญญา” ว่านี่เป็นเพียงอาการ ไม่ใช่ต้นเหตุ พวกเขาเพียงแค่อยากเห็นวิหารที่ควรจะเสร็จ การรื้อฟื้นที่น่าจะมาแล้วแต่ก็ยังไม่มา ราชวงศ์ดาวิด และ กษัตริย์พระเมสสิยาห์ที่น่าจะมาแล้ว ทำไมยังไม่มา? เพราะทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอาการ เศคาริยาห์กำลังจะบอกว่าเราต้องกลับไปดูที่ต้นเหตุ อะไรเป็นต้นเหตุให้สิ่งเหล่านี้ยังไม่มา?

 

หลังจากบทที่หก จึงเป็นการบอกว่า อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สิ่งเหล่านี้ยังไม่มา ซึ่งก็คือ การละเมิดพันธสัญญานั่นเอง ตั้งแต่บทที่หกจึงเร่ิมต้นพูดเรื่องพันธสัญญา

 

ในท้ายบทที่หก มีการพูดถึงการสวมมงกุฏให้กับ โยชูวา!? โดยปกติแล้ว มงกุฏจะถูกสวมให้กับผู้ปกครอง ซึ่งถ้าให้ถูกต้องตามที่น่าจะเป็นก็ควรเป็น เศรุบบาเบล แต่ตอนนี้ถูกสวมให้ โยชูวา ซึ่ง โยชูวา เป็นมหาปุโรหิต ซึ่งเราจะกลับมาพูดอีกครั้ง

 

สาเหตุที่สิ่งเหล่านี้ยังไม่มาอยู่ในบทที่ เจ็ด ซึ่งก็เป็นคำถามอีกครั้ง ชาวอิสราเอลถามว่า

 

.

.


ควรจะอดอาหาร
ต่อหรือเปล่า

.

.

ที่เขาถามก็เพราะเจ็ดสิบปีแห่งการเป็นเชลยกำลังจะจบลงแล้ว

 

 

ในช่วงเป็นเชลย จะมีการจัดช่วง “อดอาหาร” เพื่อไว้ทุกข์ ซึ่งในตอนนี้ถ้า เวลาเจ็ดสิบปีกำลังจะหมดลงแล้ว พวกเขาจึงสงสัยว่าควรจะ อดอาหารต่อ หรือ จัดงานเลี้ยงฉลอง ดี ซึ่งเศคาริยาห์ก็ออกมาบอกว่า นี่ก็เป็น อาการ! เช่นกัน เราต้องกลับไปที่สาเหตุต่างหาก

 

โดยพระวจนะของพระเจ้า ได้แลคเชอร์ผ่านเศคาริยาห์ยาวๆกันไปตั้งแต่บทที่เจ็ดแปด ซึ่งอาการของมันที่ปรากฏก็คือคำถามที่ว่า “ตกลงเราควรอดอาหารหรือควรเลี้ยงฉลองดี” เศคาริยาห์จึงนำกลับไปที่สาเหตุ นั่นก็คือ พวกเขาหักพันธสัญญานั่นเอง สังเกตุคำในบทที่ เจ็ด

 

พระเจ้าถามว่า “ทำไมถึงคิดเรื่องอดอาหาร?” “เจ้าอดอาหารก็เพื่อตัวเองไม่ใช่หรือ?” “เมื่อเจ้าดื่ม เจ้าก็ดื่มพวกตัวเองไม่ใช่หรือ?” จะถามทำไมเรื่องอดอาหาร เพราะสุดท้าย เจ้าก็ทำเพื่อตัวเองไม่ใช่หรือ? และนี่เป็นประเด็นที่สองที่น่าสนใจ เพราะคนอิสราเอลทำสิ่งเหล่านี้เป็นพิธี เป็นสัญลักษณ์ แต่ ไปไม่ถึงความหมายที่สำคัญ เวลาที่เขาอดอาหาร ก็เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดี รู้สึกเคร่ง รู้สึกว่ายังเป็นประชากรของพระเจ้า เพราะทำตามเป็นพิธี แต่ไปไม่ถึงว่าเขาทำส่ิงเหล่านี้ไปเพื่ออะไร?

 

เศคาริยาห์ก็เตือนว่า ถ้าคุณจะอดอาหาร คุณก็ต้องสำนึกสิว่าการที่คุณต้องอดอาหารเพราะตกไปเป็นเชลยนั้น เป็นเพราะอะไร

 

แต่เขาปฏิเสธไม่ยอมฟังและหันบ่าดื้อเข้าใส่ และอุดหูของเขาเสียเพื่อเขาจะไม่ได้ยิน
7:11

 

ก็เป็นเพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เหรอ คือการที่เขาหักพันธสัญญา เราจำได้ไหมว่าในพระธรรม อาโมส เขาไม่ได้ถูกพิพากษาเพราะไหว้รูปเคารพ แต่ประเด็นที่นำสู่การพิพากษาจริงๆคือการที่เขาหักพันธสัญญา

 

บทที่เจ็ดนี้ จึงเป็นการตอบว่า การที่พวกเขาถามว่า ควรจะอดอาหารต่อไหม ไม่สำคัญเท่ากับว่า พวกเขาเข้าใจความหมายของสิ่งที่เขาทำ(การอดอาหาร)หรือเปล่า นั่นคือการกลับใจใหม่ กลับสู่พันธสัญญา

………………………………………….

 

ดังนั้นการที่คนอิสราเอลมาถามว่า ควรจะอดอาหาร หรือ เลี้ยงฉลองดี เศคาริยาห์โดยพระวจนะของพระเจ้าจึงตอบว่า สิ่งสำคัญคือคุณไปถึงความหมายของมันไหม หรือ คุณหยุดอยู่เพียงแค่พิธีที่เป็นเปลือกนอก ซึ่งถ้าคุณหยุดอยู่เพียงแค่พิธีที่เปลือกนอก คุณก็อย่าทำดีกว่า เพราะคุณ อด ก็เพื่อตัวเอง หรือ ดื่ม เพื่อเลี้ยงฉลองก็ดื่มเพื่อตัวเองทั้งนั้น

 

ในพระคัมภีร์เดิม พระเจ้าได้ตั้งงานเลี้ยงฉลองเป็นเทศกาลเอาไว้ หรือ แม้แต่การอดอาหาร แต่สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดก็ล้วนเป็นเพียงสัญลักษณ์ เป็นเพียง “หมายสำคัญ” เพื่อให้ระลึกถึงสิ่งที่ “สำคัญ” กว่า ซึ่งตอนนี้อิสราเอลยังไปไม่ถึง นั่นก็คือการกลับใจใหม่ คนอิสราเอลจะเลี้ยงฉลอง ก็ไปไม่ถึงสิ่งที่สำคัญกว่า คือพระคุณของพระเจ้า ที่ก่อให้เกิดการเลี้ยงฉลอง นี่เป็นประเด็นสองด้านในเหรียญเดียว ที่เขายังไปไม่ถึง

 

พวกเขายึดติดกับพิธีกรรมต่างๆโดยลืมใคร่ครวญถึงความหมายที่แท้จริง สำหรับเศคาริยาห์ ถ้าคุณจะอดอาหาร ก็ต้องไปถึงความหมาย คือการกลับใจ เพราะการตกไปเป็นเชลยก็เพราะคุณหักพันธสัญญาไม่ใช่หรือ ถ้าคุณไปไม่ถึงการกลับใจ คุณก็ไม่ต้องทำเสียดีกว่า

 

เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่มีสองด้าน ไม่ใช่แค่ด้านวัตถุ หรือ ด้านวิญญาณ แต่กำลังมีสองด้านว่า

 

ศาสนาที่คุณเชื่อ
มีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง   หรือ  ตัวเองเป็นศูนย์กลาง

 

ถ้าคุณมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง เมื่อคุณอดอาหารก็เพื่อพระเจ้า หมายถึงว่า คุณอดอาหารเพื่อระลึกถึงพันธสัญญาที่คุณมีกับพระเจ้า ถ้าคุณจะเลี้ยงฉลองก็เลี้ยงฉลองเพื่อพระเจ้า โดยการระลึกถึงพระคุณของพระเจ้าที่มีต่ออิสราเอล

 

นี่คือสองมิติ อีกประเด็นหนึ่ง จากเรื่องฝ่ายวัตถุ และ ฝ่ายวิญญาณ มาสู่ ศาสนาที่มีพระเจ้าหรือตัวเองเป็นศูนย์กลาง นี่คือหัวใจสำคัญของ เศคาริยาห์ด้วย

………………………………………….

 

 

ฮักกัย จบด้วย วันนี้เป็นวันสร้างวิหาร ส่วนวันนั้นเป็นวันรื้อฟื้นแหวนตราของเศรุบบาเบล ส่วนในเศคาริยาห์ เมื่อเวลาครบเจ็ดสิบปีแล้ว พระเจ้าจะทำตามสัญญาของ วันนั้น ที่ว่าไว้ไหม? บทที่เก้าถึงสิบสี่จึงกำลังขยายความของคำว่า วันนั้น ของฮักกัย ว่าวันนั้นคือวันที่พระเจ้าจะรื้อฟื้นอิสราเอล

 

เศคาริยาห์กำลังจะตอบคำถามแรก โดยการเตือนประชาชนว่า วันนั้น พระเจ้าจะทำแน่ๆ แต่ก่อนจะถึง ให้คุณย้อนกลับไปคิดถึง วันโน้นน เสียก่อน

 

คุณจำได้ไหมว่า
ทำไมถึงต้องตกไปเป็นเชลย

 

เพราะในอดีตการที่คุณต้องตกไปเป็นเชลย นั่นก็เป็นมาจากการละเมิดพันธสัญญาบรรพบุรุษของคุณจึงต้องตกไปเป็นเชลย ประเด็นในตอนนี้จึงกลายเป็นว่า มันไม่ได้อยู่ที่  วันนั้น  ในอนาคตว่าพระเจ้าจะทำตามสัญญาไหม แต่ให้ย้อนคิดถึง วันโน้น ในอดีต เมื่อการหักพันธสัญญานำสู่การตกเป็นเชลย การย้อนคิดในเรื่องนี้ก็เพื่อจะได้กลับมาถามตัวเองว่า ใน วันนี้ คุณจะกลับมาดำเนินชีวิตอยู่ในพันธสัญญา เพื่อให้ถึง วันนั้น วันที่พระเจ้าจะรื้อฟื้นหรือเปล่า

 

วันนั้นที่จะมาถึง พระเจ้าจะทำแน่ๆ แต่ก็จะเป็นผลจากการตัดสินใจดำเนินชีวิตใน วันนี้ ของคุณด้วย วันนี้ คุณดำเนินชีวิตในความสัมพันธ์กับพระเจ้าหรือไม่ เพราะถ้าไม่ มันก็จะไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต

 

นี่ก็เป็นประเด็นอีกคู่หนึ่งที่ปรากฏใน เศคาริยาห์ เป็นประเด็นที่สาม

 

วันนี้  กับ  วันนั้น

………………………………………….

 

ประเด็นที่สี่ที่ตามมาคือเรื่อง โยชูวาที่สวมมงกุฏ!?

ทำไมถึงสวมมงกุฏให้โยชูวาที่เป็นมหาปุโรหิต? ทำไมไม่ใช่ เศรุบบาเบลที่เป็นฝ่ายปกครอง เรื่องนี้คงต้องย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ของอิสราเอลเสียก่อน

 

ใน ประวัติศาสตร์ของอิสราเอล ถ้าเราแบ่งเป็นก้อนใหญ่ๆสักก้อนละ ห้าร้อยปี ถ้าลองเร่ิมจาก อับราฮัม น่าจะราวๆปี 2000 ก่อนคริสตศักราช จนถึง ยุคโมเสส ก็ราวๆปี 1500 ก่อน ค.ศ. เป็นการปกครองด้วยผู้นำเผ่า ก็คือ อับราฮัม อิสอัค ยาโคบ ใครถือสิทธิบุตรหัวปีก็จะมีสิทธิเป็นผู้นำเผ่า ซึ่งมาจบลงด้วยการไปที่อียิปต์ และ ดูเหมือนการนำด้วยผู้นำเผ่าจะไม่เวิร์กเท่าไหร่ จากจุดสูงสุดที่อับราฮัม มาจบลงที่การเป็นทาศที่อียิปต์

 

ต่อมาเป็นยุคของ โมเสส ซึ่งถือเป็น ผู้เผยพระวจนะ (former prophet) ซึ่งในพระคัมภีร์พระเจ้าบอกว่า ภายหลังพระเจ้าจะให้เกิดผู้เผยพระวจนะตามอย่างของโมเสส เป็นผู้เผยพระวจนะแบบที่พระเจ้าตรัสหน้าต่อหน้า ผู้ที่รับช่วงต่อจากโมเสสก็คือ โยชูวา แต่หลังจากโยชูวาไปเข้าสู่ยุคผู้วินิจฉัย ก็กลายเป็นว่า เขาใช้ชีวิตแบบทิ้งดิ่งลงดิน จากจุดสูงสุดคือ โมเสส ที่พระเจ้าพูดหน้าต่อหน้า จนถึง จุดจบคือความหายนะ เลวร้าย เพราะแต่ละเผ่าก็ทำตามใจตัวเอง แม้กระทั่งเกิดสงครามกลางเมืองในหมู่อิสราเอล นี่คือ ห้าร้อยปีที่สอง ซึ่งก็ดูไม่เวิร์กเหมือนกัน

 

จนถึงห้าร้อยปีที่สาม ประมาณช่วงหนึ่งพันถึงห้าร้อยปีก่อน ค.ศ. คือยุคของ ดาวิด ซึ่งเป็นกษัตริย์ กษัตริย์ตามอย่างของดาวิดดีที่สุด  เพราะใจของเราชื่นชอบ  คือคำที่พระเจ้าตรัสไว้ พอจบยุคดาวิดก็เข้าสู่ยุคของซาโลมอน ก่อนที่จะไปสู่ เยโรโบอัม ที่เกิดสงครามกลางเมืองจนแบ่งอิสราเอลเป็นอาณาจักรเหนือ และ ใต้ การปกครองนี้จากจุดสูงสุดที่ดาวิด หลังจากนั้นก็ทิ้งตัวดำดิ่งควงสว่านลงเหวเพราะจบลงที่เมืองแตก กลายเป็นเชลย ทั้งสะมาเรีย และ เยรูซาเล็ม การปกครองด้วยกษัตริย์ นี่ก็ดูไม่เวิร์ก

 

จนประมาณปี 500  ช่วงที่กลับมาจากการเป็นเชลยคือในยุคของเศคาริยาห์ การสวมมงกุฏให้โยชูวามหาปุโรหิต ดูจะเป็นนัยว่าหลังจากนี้การปกครองของอิสราเอลจะเกิดโดยการนำจากปุโรหิตไม่ใช่กษัตริย์ ไม่ใช่ผู้เผยพระวจนะ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แม้จะมี เศรุบบาเบล แต่ก็เป็นเพียงผู้ปกครอง เป็นผู้ว่าที่อยู่ใต้มหาอำนาจที่ครอบครองอีกที

 

ในช่วงยุคกรีก จะมีการปฏิวัติและปลดปล่อยตัวเองออกจากการเป็นเมืองขึ้นประกาศตนเป็นรัฐอิสระของอิสราเอล และผู้นำก็ได้ตั้งกษัตริย์ขึ้นมาครอบครอง แต่เขาเหล่านั้นก็ไม่ได้มาจากวงศ์ดาวิด ซึ่งในแง่นี้คนยิวก็ไม่ได้ถือว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นกษัตริย์ที่แท้จริง

 

ผู้นำจริงๆจึงเป็น มหาปุโรหิต ซึ่งมีบทบาทในช่วงก่อนพระคัมภีร์ใหม่ และ ในพระคัมภีร์ใหม่ และถึงแม้จะมีกษัตริย์ แต่ก็เป็นเพียงผู้นำผู้ปกครองที่อยู่ใต้มหาอำนาจเสียมากกว่า เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปี 500 ก่อน ค.ศ. จนถึงยุค พระเยซู มหาปุโรหิต จึงเป็นเหมือนผู้ปกครอง เป็นผู้นำตัวจริงของอิสราเอล แล้วเราก็จะพบว่า ปุโรหิต มีบทบาทในช่วงหลังจากการกลับมาเป็นเชลยเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นเราจะพบว่า การนำด้วยปุโรหิต ก็ทิ้งดิ่งควงสว่านลงเหวเหมือนกัน

ในสมัยของ แมคคาเบียส ปุโรหิตมีการซื้อตำแหน่ง จะมาจากเผ่าไหนก็ได้ถ้าอยากจะเป็นก็ไม่มีใครสนใจ ถ้าได้เป็นปุโรหิตแล้วจะตั้งพวกตัวเองเป็นปุโรหิตก็ได้ เพราะ ตำแหน่งนี้มีความสำคัญต่อการเมือง เละเทะกันทีเดียว

 

500 ปีแรก การนำโดยผู้นำเผ่า จบลงไม่เวิร์ก

500 ปีต่อมา นำโดยผู้เผยพระวจนะแบบโมเสส แต่ต่อมาก็ไม่เวิร์ก

ถูกปกครองด้วยกษัตริย์อย่างดาวิด แต่ก็ไม่มีใครเป็นแบบดาวิดอีก ก็ไม่เวิร์ก

แล้วก็มาห้าร้อยปีสุดท้าย ที่นำโดยปุโรหิต ช่วงต้นก็ดี แต่ก็จบลงไม่เวิร์ก ไม่ต่างกัน

ในที่สุดแล้วจึงกลายเป็นคำถามว่า

 

 

อิสราเอลประชากรของพระเจ้า
ควรมีผู้นำแบบไหน

 

 

แล้วพระธรรมเศคาริยาห์ก็ตอบให้เห็นว่า อนาคตของอิสราเอลจะถูกปกครอง ไม่ใช่โดยผู้นำเผ่า ไม่ใช่โดยผู้เผยพระวจนะ กษัตริย์ หรือ ปุโรหิต แต่จริงๆต้องเป็น

 

.

.

.

 

ผู้  เ  ลี้  ย  ง

.

.

.

 

คือ พระเมษบาลที่ดี ผู้นำของอิสราเอลต้องเป็นผู้เลี้ยง และ ผู้เลี้ยงที่ดีคนนี้ จะเป็นผู้นำ ที่เป็นกษัตริย์ ปุโรหิต และ ผู้เผยพระวจนะ ด้วยพระคุณของพระเจ้า เราจึงรู้ว่า ผู้นำที่เป็นได้ทั้งสามอย่างนี้คือ พระเยซู

พระเยซู บอกว่า เราเป็นผู้เลี้ยง…

 

หากเราอ่านและสังเกตในเศคาริยาห์ เราจะเห็นว่า มีหลายตอนที่โยงไปที่พระคัมภีร์ใหม่

 

ธิดาแห่งศิโยนเอ๋ย จงร่าเริงอย่างยิ่งเถิด
โอ บุตรีแห่งเยรูซาเล็มเอ๋ย จงโห่ร้อง
ดูเถิด กษัตริย์ของเธอเสด็จมาหาเธอ
ทรงความยุติธรรมและความรอด
พระองค์ทรงอ่อนสุภาพและทรงลา
ทรงลูกลา
9:9

ปกติกษัตริย์จะต้องขี่ม้า เพื่อมาปราบศัตรู ซึ่งถ้าเราเป็นผู้อ่านในสมัยนั้นอาจงงเพราะกษัตริย์ที่จะมาช่วยอิสราเอล ทำไมขี่ลา?

 

…แล้วเขาก็ชั่งเงินสามสิบเชเขลออกให้แก่ข้าพเจ้าเป็นค่าจ้าง
แล้วพระเจ้าตรัสกับข้าพเจ้าว่า “จงโยนเงินนั้นเข้าไปในคลัง”
คือเงินก้อนงามที่เขาจ่ายให้ข้าพเจ้า
ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเอาเงินสามสิบเชเขลโยนเข้าไปในพระคลัง
ในพระนิเวศของพระเจ้า
11:12

 

เรื่องของเมษบาล (ผู้เลี้ยงแกะ) ที่ชั่วร้าย

ในตอนนี้ ผู้เลี้ยงแกะ อันดับแรก ก็เลี้ยงเพื่อขาย ขายเสร็จก็รวย  คนที่ซื้อ ก็ซื้อเพื่อเอาไปฆ่ากินให้ได้อิ่ม ส่วนผู้เลี้ยงก็ไม่ได้เป็นผู้เลี้ยงที่ดี เป็นเพียงผู้รับจ้างเลี้ยง จึงได้เงินสามสิบเหรียญ แล้วเงินที่ได้ก็โยนเข้าไปในคลัง หรือ ในพระวิหาร

 

เรื่องนี้ไปปรากฏในพระคัมภีร์ใหม่ด้วย จำได้ไหม ยูดาส ขายพระเยซูได้เงินสามสิบเหรียญ เมื่อรู้สึกผิดยูดาสจึงเอาเงินไปคืน บางคนจึงบอกให้เอาไปไว้ที่วิหาร แต่มหาปุโรหิตบอกว่า ไม่ได้! นี่เป็นเงินสกปรก จะเอาไปไว้ในวิหารไม่ได้ ให้เอาไปให้ช่างปั้นหม้อ! ซึ่งนี่เกี่ยวกับเศคาริยาห์

 

เพราะคำว่า โยนเข้าไปไว้ในคลัง ในเศคาริยาห์ มีความหมาย คล้ายกับคำว่า เอาไปให้ช่างปั้นหม้อ เพราะฉะนั้นในแง่นี้ มหาปุโรหิต ที่ได้รับเงินจากยูดาส ในสมัยพระเยซู เขาจะเอาเงินไปไว้ในคลังหรือในพระวิหารก็ไม่ได้ เพราะถ้าเขาเอาไปไว้ในพระวิหาร เขาจะกลายเป็น เมษาบาลผู้ชั่วร้าย ในเศคาริยาห์ทันที เรื่องนี้ เขาก็รู้ ดังนั้น เขาจึงบอกให้เอาไปให้ช่างปั้นหม้อ เพื่อในที่สุดแล้วเขาจะได้รู้สึกว่า  เขาเป็นเมษาบาลที่ดี   ผมเป็นคนดี  ผมเป็นผู้นำของพระเจ้าที่ดี

แต่หากเราอ่านพระคัมภีร์เราจะพบว่า ปุโรหิตในสมัยพระเยซู  กลายเป็นผู้เลี้ยงที่ชั่วร้าย

 

เท้าของพระเจ้าจะเหยียบภูเขามะกอกเทศด้านตะวันออก

 

ในวันนั้น พระบาทของพระองค์จะยืนอยู่ที่ภูเขามะกอกเทศ
ซึ่งอยู่หน้าเมืองเยรูซาเล็มด้านตะวันออก
14:4

 

นี่คือเหตุการณ์ที่เศคาริยาห์บอกไว้ชัดเจน มากมากๆๆๆๆๆๆ

ตอนที่พระเยซูจะเข้ากรุงเยรูซาเล็ม พระองค์วางแผนไว้รัดกุมมาก ถ้าเราไปอ่านในพระกิตติคุณ เราจะเจอพระเยซูบอกว่า “อย่าไปบอกใคร” บ่อยมาก พอทำการรักษาเสร็จ ก็บอกว่า “อย่าไปบอกใคร”  ทำการอัศจรรย์เสร็จก็ย้ำว่า “อย่าไปบอกใคร” แต่เมื่อจะเข้ากรุงเยรูซาเล็ม พระองค์กลับเปิดเผยตัวเองชัดเจน

 

เริ่มที่พระองค์ไปที่หมู่บ้าน เบธฟายี พระองค์ให้สาวกไปเตรียมลา ซึ่งหมู่บ้านนี้อยู่ทางตะวันออกของเยรูซาเล็ม พระองค์กำลังเตรียมจะเข้าทางทิศตะวันออก ทรงลูกลา และ เหยียบภูเขามะกอกเทศ ตามที่เขียนไว้ในเศคาริยาห์ หรือ จะสรุปได้ว่า พระเยซูกำลังจะเปิดเผยว่า ผู้ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ในเศคาริยาห์ กษัตริย์ที่จะมารื้อฟื้นอิสราเอล ได้มาแล้ว

 

เมื่อพระองค์เข้าเยรูซาเล็มด้วยลา ผู้คนก็เลยเฮโล เอาใบปาลม์มาโบก มาร้องว่า “โฮซันนา” “โฮซันนา” เพราะเศคาริยาห์บอกว่า พระองค์จะมาเหยียบประตูตะวันออกในฐานะนักรบ คือ ผู้นำที่จะทำการปลดปล่อย ฆ่าศัตรู เมื่อพวกเขาเห็นพวกเขาจึงร้องว่า “โฮซันนา” ซึ่งแปลได้อย่างนี้  โฮ-ชี-อะ  แปลว่า ช่วยเรา น่า แปลว่า โปรด(please) รวมกันคือ  Plese save us  หรือ โปรดช่วยเราให้รอดเถิด ผู้คนจึงตะโกนบอกประโยคนี้ พระเยซูจะต้องมาปลดปล่อยเรา ฟาดฟันศัตรูให้หมดสิ้น

 

ในเศคาริยาห์ มีตอนหนึ่ง ที่พูดถึงภูเขาที่อยู่ทางทิศเหนือและใต้ด้วย ซึ่งถ้าเอามาประกอบในเรื่องของพระเยซูในตอนนี้จะยิ่งเห็นภาพชัดขึ้น

 

เมื่อพระเยซูเข้าทางทิศตะวันออก ซ้ายมือของพระองค์คือทิศใต้ ส่วน ทางขวาคือทิศเหนือ ถ้าพระองค์จะมาเพื่อปลดปล่อยตามที่คนอิสราเอลคิด พระองค์ต้องเลี้ยวไปทิศเหนือ เพราะที่นั่นมี ป้อมแอนโธเนีย เป็นที่ประจำการของเจ้าหน้าที่และทหารโรม ถ้าพระองค์จะมาเพื่อปลดปล่อยและฟาดฟันศัตรูพระองค์ต้องไปที่นั่น แต่พระเยซูเลี้ยวซ้าย ลงใต้! ไปยัง พระวิหาร แล้วพระองค์ก็ไปชำระพระวิหาร หลังจากนั้นพระองค์ก็ถูกจับ และ ประชากรที่เคยบอกว่า โฮซันนา ก็บอกให้ตรึงเขาเสีย ตรึงเขาเสีย

 

พระเมสสิยาห์ที่รอคอย ทำไมไม่เลี้ยวขวา ไปต่อสู้กับศัตรู ทำไมเลี้ยวซ้ายมาจัดการกับพวกเดียวกันเอง!?

เรื่องนี้ผิดจากที่คาดหวัง ผิดจากที่เขาตั้งใจ ผิดจากที่คิด!

 

ย้อนกลับไปที่เศคาริยาห์ ก็ยังมีเรื่องที่น่าสนใจ เพราะการกล่าวถึง ชัยชนะของพระเมสสิยาห์ หรือ การรื้อฟื้นของราชวงศ์ดาวิด ก็ไม่ได้เป็นแบบที่เขาคิด

 

และเราจะเทวิญญาณแห่งความเมตตาเอ็นดู
และการวิงวอนบนราชวงศ์ดาวิดและชาวเยรูซาเล็ม
ดังนั้นเมื่อเขาทั้งหลายมองดูเรา 
ผู้ซึ่งเขาเองได้แทง
เขาจะไว้ทุกข์เพื่อท่าน เหมือนคนไว้ทุกข์เพื่อบุตรคนเดียวของตน ฃ
และร้องไห้อย่างขมขื่นเพื่อท่าน
เหมือนอย่างคนร้องไห้เพื่อบุตรหัวปีของตน
12:10

 

เป็นเรื่องที่คนยิวในยุคนั้นที่อ่านเศคาริยาห์จะงงมากๆ เมื่อเขาอ่านมาจนถึงบทที่สิบสองและสิบสาม

ทำไมชัยชนะของราชวงศ์ดาวิดจะมาทาง
โดยคนที่เขาเองเป็นผู้แทง?

 

คนอิสราเอลเป็นคนแทง แล้วคนที่ถูกแทงจะเป็นเหตุแห่งชัยชนะมาสู่ราชวงศ์ดาวิด อ่าวงงเลยทีเดียว แต่ยังไม่หมด เพราะ

 

เมื่อเขามองขึ้นไปดูคนที่เขาแทง ก็จะรำ่ไห้คร่ำครวญกับคนที่เขาแทง ราวกับบุตหัวปีของตนตาย การไว้ทุกข์นี้จะยิ่งใหญ่กว่าการไว้ทุกข์ที่ที่ราบเมกิดโด ในสมัยกษัตริย์โยสิยาห์(ผู้นำการปฏิรูป) เมื่อเขามองไปที่คนที่เขาแทง เพราะคนที่เขาแทงทำให้เกิดชัยชนะในราชวงศ์ของดาวิด ซึ่งถ้าเราอ่านต่อไปอีก

 

ในวันนั้น จะมีน้ำพุพลุ่งขึ้นสำหรับราชวงศ์ของดาวิดและชาวเยรูซาเล็ม
เพื่อจะชำระเขาให้พ้นจากบาปและความไม่สะอาด
13:1

 

ในวันนั้นพระเจ้าจะชำระบาปของอิสราเอล

ถ้าเราอ่านประติดประต่อเรื่องทุกอย่างเข้าด้วยกันเริ่มที่ตอนจบ เศคาริยาห์ในตอนท้ายกำลังพูดถึงพระสัญญาใน “วันนั้น”

 

พระเจ้าจะให้ชัยชนะแก่ราชวงศ์ของดาวิด ประชาชาติทั้งหลายจะเข้ามาโจมตีราชวงศ์ของดาวิดไม่ได้ และ ประชาชาติจะกลับมาแสวงหาพระเจ้า

 

ซึ่งชัยชนะนี้จะเกิดขึ้นได้ เกิดจากการที่คนอิสราเอลไป แทงคนหนึ่ง แล้วเมื่อเขามองคนที่แทง เขาจะร้องไห้ เพราะ คนที่ถูกแทงเป็นเหตุให้เกิดการชำระบาป

 

แล้วคนยิวที่อ่านตอนนี้ก็ต้องงง มันจะเป็นไปได้ยังไง คือเมื่อเราลองอ่านย้อนกลับอีกครั้ง

การชำระบาปอิสราเอลจะมาจากไหน คือมาจากชายที่เขาแทง และ ชายที่เขาแทงและร่ำไห้นั้น จะเป็นเหตุให้ราชวงศ์ดาวิดได้ตั้งมั่นอยู่

 

นี่คือเศคาริยาห์ เป็นเรื่องราวก่อนที่ พระเยซู จะมา

 

สำหรับเราคริสเตียนที่มองเห็นจากยุคหลังเลยเห็นชัดว่าว่า พระเยซูได้จงใจสำแดงพระองค์เองให้เรารู้ว่า พระองค์คือผู้ที่เศคาริยาห์ได้เล็งถึง พระองค์จะเป็นผู้เลี้ยงที่ดี พระองค์จะนำการยกโทษบาปมา ผ่านการถูกแทง และ ผู้ที่แทงพระองค์เมื่อเห็นก็จะร่ำไห้

ถ้าเราไปอ่านวิวรณ์บทที่หนึ่งข้อเจ็ด

 

ดูเถิด พระองค์จะเสด็จมาพร้อมกับหมู่เมฆ และนัยน์ตาทุกดวง และคนเหล่านั้นที่ได้แทงพระองค์จะเห็นพระองค์ และมนุษย์ทุกชาติทั่วโลกจะร่ำไห้เพราะพระองค์
วิวรณ์ 1:7

………………………………………….

 

นี่คือเรื่องราวของเศคาริยาห์  เรื่องของโลกสองใบในโลกใบเดียวกัน

 

โลกวิญญาณ และ โลกวัตถุ ถ้าเรามองแค่ที่อาการ เราอาจพลาดที่จะเห็นสาเหตุในโลกฝ่ายวิญญาณ

ความเชื่อที่มีพระเจ้า หรือ ตัวเราที่เป็นศูนย์กลาง

พระสัญญาใน วันนั้น  พระองค์จะทำแน่ อยู่ที่ว่า วันนี้ เราจะเดินในพระสัญญาหรือเปล่า

และ สุดท้ายเรื่องของ ผู้นำ พระเจ้าไม่ได้สนใจ ผู้นำ เท่ากับว่าพระองค์สนใจ ผู้เลี้ยง ที่เลี้ยงดูประชากรของ

 

พระธรรมเศคาริยาห์จบลงด้วยคำว่า จงเลี้ยงแกะของเรา จงเลี้ยงแกะของเรา เช่นเดียวกับที่พระเยซูได้บอกกับเปโตร  เศคาริยาห์มาจบที่พระองค์จะทำตามสัญญาแน่นอน แต่คุณต้องไม่ลืมว่ามันมีสองโลกอยู่ในโลกใบเดียวกัน

 

จากพระคัมภีร์ที่ดูแตกต่างแล้วเอามาประกอบกัน แต่กลับกลายเป็นเทคนิคที่ต้องการทำให้เห็นว่า มีสองเรื่องที่อยู่ด้วยกันไปด้วยกัน และเราควรตระหนัก เศคาริยาห์เปิดเรื่องเริ่มต้นด้วยคำถาม พระเจ้าเจ็ดสิบปีแล้ว ทำไมพระองค์ไม่ทำอะไรสักที พระองค์ลืมหรือเปล่า

 

แต่อาจเป็นเราเองที่ลืมไปว่า พระองค์สัตย์ซื่อตามพระสัญญาของพระองค์มาโดยตลอด เช่นเดียวกับชื่อของพระธรรมเล่มนี้     เศคาริยาห์    ที่แปลว่า

.

.

 

พ  ร  ะ  เ  จ้  า  ไ  ม่  ลื  ม

. . .

.

.

.

 

 


Previous Next

  • Author:
  • เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก
  • Author:
  • อ.ธนิต โลเกศกระวี ผู้อำนวยการพระคริสต์ธรรมเชียงใหม่ (CTS) หรือ พี่ใช้ รุ่นพี่ผู้รับใช้ผู้มีไฟ และมีเป้าหมายที่จะสืบสาน และ ส่งต่อความเข้าใจในพระคัมภีร์ให้กับพี่น้องคริสเตียน และ ผู้รับใช้รุ่นใหม่ๆต่อไป