“ความเข้าใจความรู้สึก” สิ่งที่ขาดหายไปในการหนุนใจผู้อื่น

Special EP.

Empathy “ความเข้าใจความรู้สึก” สิ่งที่ขาดหายไปในการหนุนใจผู้อื่น (me & another me) – [พูดคุยกับนักจิตบำบัด]


ผู้เขียน : ‘พี่เฟย’ ณิชา หลีหเจริญกุล (นักจิตบำบัด)
บทความนี้ใช้เวลาอ่านประมาณ  7 นาที

อ่านตอนอื่นๆ ของซีรีส์นี้ได้ทาง : https://www.choojaiproject.org/category/articles/life-series/me-and-another-me/


 

*บทความตอนพิเศษเพื่อความเข้าใจโรคซึมเศร้า จากบุคลากรคริสเตียนที่ทำงานด้านจิตบำบัด

 

 

เวลาที่คนรอบข้างของเราตกอยู่ในสภาพเลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นคนที่ต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้าอย่างเด็กต้นเรื่องใน Me & Another Me หรือเพื่อนที่พึ่งสูญเสียคนในครอบครัว ญาติที่พึ่งประสบอุบัติเหตุร้ายแรง เราปฏิบัติต่อเขายังไงคะ? วันนี้พี่เฟยมีเคสหนึ่งในพระคัมภีร์ที่อยากยกมาเป็นตัวอย่างให้ดูกัน นั่นก็คือ โยบและมิตรสหายผู้หวังดี

 

โยบ :
“ทำไมหนอ ข้าจึงไม่ตายตั้งแต่เกิด? ทำไมไม่สิ้นลมตั้งแต่คลอด?
…สิ่งที่ข้ากลัวได้มาถึงข้า สิ่งที่ข้าหวาดหวั่นเกิดขึ้นกับข้าแล้ว
ข้าไม่มีสันติสุข ไม่มีความสงบ ข้าไม่ได้พักผ่อน มีแต่ความวุ่นวายเท่านั้น”
(โยบ 3:11,20,23-26)

 

เอลีฟัส (เพื่อนโยบ 1) :
“คิดดูสิว่า ท่านเคยแนะนำคนมากมาย เคยช่วยให้คนอื่นอ่อนเปลี้ยเพลียแรง
มีกำลังขึ้นมาแล้วอย่างไร คำพูดของท่านเคยค้ำจุนผู้ที่สะดุดล้ม
ท่านทำให้คนที่ล้มพับลงเข้มแข็งขึ้นมาได้ แต่เดี๋ยวนี้เมื่อความทุกข์ร้อนมาถึงท่าน ท่านก็ท้อแท้”
(โยบ 4:3-6)

 

บิลดัด (เพื่อนโยบ 2):
“แน่ทีเดียว พระเจ้าย่อมไม่ทอดทิ้งคนที่ดีพร้อม ทั้งจะไม่ค้ำจุนคนทำชั่ว
พระองค์จะยังคงให้ปากของท่านหัวเราะร่า และให้ฝีปากของท่านโห่ร้องยินดี”
(โยบ 8:20-21)

 

โยบ :
“เออ ข้ารู้แล้วล่ะว่า ท่านรอบรู้ สติปัญญาจะตายไปกับท่าน
แต่ข้าก็มีความคิดจิตใจเหมือนท่าน…ใครบ้างไม่รู้ในสิ่งที่ท่านพูดมาทั้งหมด?
โปรดเงียบเสียเถิด ท่านนิ่งเสียก็ยังจะนับว่า ฉลาดท่านจะแสดงความลำเอียง
เข้าข้างพระองค์หรือ? จะสู้ความแทนพระเจ้าหรือ?”
(โยบ 12:2-3; 13:5,8)

 

เอลีฟัส (เพื่อนโยบ 1) :
“ท่านได้บ่อนทำลายความยำเกรงพระเจ้า และหยุดยั้งการยอมจำนนต่อพระองค์
บาปของท่านยุให้ปากท่านพูด…ท่านถึงได้เกรี้ยวกราดต่อพระเจ้า
และให้ถ้อยคำอย่างนี้พรั่งพรูออกมาจากปากของท่าน…”
(โยบ 15:4-5,13,20,25)

 

โยบ :
“ข้าได้ยินเรื่องแบบนี้มามากแล้ว พวกท่านล้วนเป็นนักปลอบโยนที่แย่จริงๆ
…ข้าก็พูดเหมือนท่านได้ ถ้าท่านตกอยู่ในสภาพเดียวกับข้า
ข้าก็สามารถยกคำหวานหูมาต่อว่าท่าน…แต่แม้ข้าจะพูดไป
ความเจ็บปวดของข้าก็ไม่ได้บรรเทาลง และแม้ข้าจะนิ่งเสีย มันก็ไม่ได้หายไป”
(โยบ 16:2-4,6)

 

เอลีฮู (เพื่อนโยบ 3) :
“ทำไมท่านบ่นต่อว่าพระองค์ว่า ไม่ทรงตอบมนุษย์…โยบเอ๋ย
…และข้าพเจ้าจะสอนสติปัญญาแก่ท่าน…มีอย่างอื่นอีกมากมายที่ต้องพูดแทนพระเจ้า
…มั่นใจเถิดว่า คำพูดของข้าเป็นความจริง ผู้รอบรู้แท้จริงอยู่กับท่านแล้ว”
(โยบ 33:13; 36:2,4)

 

ที่พี่เฟยยกข้อพระคัมภีร์โยบมาต่อกันเป็นฉากๆ เพื่อจะให้เห็นว่า ขณะที่โยบคร่ำครวญต่อชะตากรรมอันหนักหน่วงของตัวเอง คำหนุนใจของเพื่อนโยบก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ถึงแม้ความตั้งใจดีจะได้เต็มสิบ แต่สิ่งที่พวกเขาขาดไปมากเลยคือ Empathy!

 

 

Empathy คืออะไร?

Empathy แปลว่า เห็นอกเห็นใจ เข้าอกเข้าใจความรู้สึกคนอื่น คุณ 1Wilson และคุณ Thomas อธิบายไว้ว่า การเห็นอกเห็นใจเป็นทักษะที่มีไว้เพื่อรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น และเข้าใจได้ระดับนึงว่า คนนั้นกำลังอยู่ในภาวะไหน เช่น หดหู่ ซึมเศร้า ทุกข์ใจ หม่นหมอการเห็นอกเห็นใจไม่ได้เกิดขึ้นแค่จากการฟังหรือมองเห็น แต่เป็นการรับรู้อารมณ์ที่คนนั้นไม่ได้พูดออกมาเป็นคำพูดด้วย เช่น ประโยคที่โยบพูดว่า ‘ทำไมไม่ตายตั้งแต่เกิด’ ‘ข้าไม่มีสันติสุข’ ‘พระเจ้าไม่ฟังข้า’ ประโยคเหล่านี้โยบอาจกำลังบอกให้เพื่อนเขารู้ว่า เขารู้สึกสิ้นหวัง

 

แต่เพื่อนโยบแต่ละคนใช้แต่ ‘ตรรกะความรู้’ ตอบสนองต่อโยบโดยที่ไม่ได้ดูเลยว่า สภาวะจิตใจอารมณ์ความรู้สึกของโยบเป็นยังไง คือการตอบด้วยความรู้ทำได้นะคะ แต่มันต้องควบคู่ไปกับ ‘การรับรู้ความรู้สึก’ ด้วย เพื่อคนที่เราหนุนใจเขาจะได้รู้สึกว่ามีคนเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจความทุกข์ยากลำเค็ญที่เขากำลังเผชิญอยู่ อย่างในพระคัมภีร์ตอนนี้โยบกำลังอีโมกับพระเจ้าอยู่ แล้วสารพัดตรรกะเหตุผลที่เพื่อนโยบพูดมาไม่ใช่โยบไม่รู้ แต่คืออีโมอยู่ไง!!!

 

 

เพราะอะไรเราถึงต้องเห็นอกเห็นใจคนอื่น?

เพราะมนุษย์ต้องการให้ความอีโม (Emotional อารมณ์อ่อนไหว) ได้รับการแบ่งเบาออกไปจากจิตใจบ้าง ไม่งั้นถ้าแบกความอีโม เครียด เศร้า หวั่นไหว เปราะบางไว้คนเดียว จิตใจจะไม่ไหวและมันจะพังกว่าเดิม 

 

เพราะบรรดาเพื่อนโยบไม่ได้รู้เลยว่า พระเจ้ากับซาตานดีลอะไรกันไว้ ก็เลยไม่มีใครเข้าใจเหตุผลของพระเจ้าว่าทำไมชีวิตโยบถึงได้พังขนาดนี้ เพื่อนโยบก็เลยได้แต่ ‘เดา’ และหาสารพัดความรู้และเหตุผลเกี่ยวกับพระเจ้ามายืนยันกับโยบ แต่จะดีกว่าไหมถ้าเลิก ‘เดา’ แล้วเอาตัวเองมานั่งอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับโยบ ไม่ต้องคิดว่าถ้าเป็นฉัน ฉันจะคิดหรือจะทำอย่างไร ปิดสมองสักพัก แล้วใช้ใจสัมผัส อาจจะไม่ต้องอินมาก แค่รับรู้ความรู้สึกโยบก่อนก็พอ หากเพื่อนโยบจะตอบแค่ว่า

 

“เจ็ดวันเจ็ดคืนที่พวกข้าอยู่กับท่านมา ข้ารับรู้และเห็นถึงความทุกข์ทรมานใจของท่านเป็นที่สุด ข้าได้ยินท่านคร่ำครวญถึงการมีชีวิตอยู่ รู้สึกสิ้นหวังไม่อยากมีชีวิตอยู่ รู้สึกสงสัยและสับสนในการกระทำของพระเจ้า สติปัญญาของพวกข้าเองก็สุดจะเข้าใจเหตุผลอันล้ำลึกของพระองค์ได้ พวกข้าไม่รู้จะปลอบใจท่านอย่างไรดี เพราะถ้าพวกข้าเป็นท่าน ข้าก็คงจะทุกข์ใจอย่างท่าน แต่พวกข้าขออธิษฐานด้วยกันกับท่าน ให้ท่านได้รับการปลอบประโลมจิตใจ และเข้าใจเหตุผลอันล้ำลึกของพระองค์”

 

แค่นี้พอ!
แล้วถ้าเราไม่รู้จะปลอบอะไรต่อละก็ แค่อธิษฐานเผื่อเขาต่อไป

 

ดังนั้นวิธีที่จะสร้างการรับรู้อารมณ์คนอื่น ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรให้ยุ่งยากเลยค่ะ ใช้แค่ประสาทสัมผัสของเราเอง เอาตาไว้ใช้สังเกตดู หูเอาไว้ฟังสิ่งที่เขาพูด และใจเอาไว้รับรู้ความรู้สึก ส่วนสมอง ยังไม่ต้องคิดแทน แต่ให้คิดว่า สิ่งที่เราได้ยินและสังเกตเห็นจากคนนั้น มันแปลว่าอะไร เขากำลังจะบอกอะไรกับเรา เราอาจจะใช้ประโยคสะท้อนหรือถามกลับ เช่น

 

‘ฟังดูเหมือนว่า คุณกำลังรู้สึก….แบบนี้รึเปล่า’ หรือ

‘ดูเหมือนว่า เธอกำลังมีความสับสนด้วยใช่ไหม’ หรือ

‘ไม่แน่ใจว่า คุณรู้สึก…ด้วยรึเปล่า’ หรือ

‘ถ้าเป็นเรา เราเจอเหตุการณ์แบบนี้ เราคงจะรู้สึก…แล้วคุณล่ะ รู้สึกยังไง’

 

เพื่อให้เขารับรู้ว่า แม้จะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร
แต่อย่างน้อยก็มีคนมองเห็นและรับรู้ความรู้สึกของเขา

 

 

ขอบเขตการหนุนใจคริสเตียน

พี่เฟยเองก็เห็นความพยายามและตั้งใจดีของเพื่อนโยบนะคะ เพราะโดยปกติแล้ว เวลาเราเจอคนที่มีปัญหา ท้อแท้ เราก็อยากจะช่วยเหลือเขา อันนี้เป็นปกติของมนุษย์ เราก็จะให้คำแนะนำไป แต่ก็ต้องทำใจด้วยนะคะว่า เขาอาจจะทำหรือไม่ทำตามเราก็ได้ เพราะคำแนะนำมันอาจจะเวิร์คกับเราแต่อาจจะไม่เวิร์คกับเขา หรือบางทีอาจจะต้องช่วยกันหาว่าอะไรที่มันเวิร์คสำหรับเขา กระบวนการนี้เป็นการเดินทางเคียงข้างกันมากกว่าใครเดินนำใคร

 

ฉะนั้นเมื่อเราเห็นคริสเตียนกำลังเผชิญภาวะยากลำบากและอีโมอยู่ การใช้คำพูดหนุนใจให้ยึดมั่นในพระสัญญาของพระเจ้าก็ดีอยู่ค่ะ แต่เรามักมองข้ามอีกส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์นั่นคือ ‘ความรู้สึก’ ที่เราอาจช่วยแบ่งเบาความทุกข์ในใจเขาได้มากไม่แพ้กัน มันอาจไม่ใช่การย้ำเขาว่าพระเจ้ากำลังสอนอะไรเขาอยู่ ไม่ใช่การบิ้วอารมณ์ด้วยข้อพระคัมภีร์ปลุกเร้าไม่ให้ท้อถอย ไม่ใช่การซ้ำเติมว่านี่คือการตีสอนจากพระเจ้า เพราะข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่คนๆ นั้นไม่รู้

 

แต่ในโมเม้นท์ที่ยากลำบาก การเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกนั้น
จะเป็นสะพานให้เราเข้าไปในหัวใจเขาได้มากกว่าคำพูดหนุนใจ
ที่อาจกลายเป็นประตูปิดกั้นระหว่างเราและเขาไป

 

พี่เฟยเลยอยากจะชวนมองอีกมุมว่า เรายังสามารถอยู่เคียงข้างเพื่อนในการแบ่งเบาความทุกข์ในใจเขาด้วยการอธิษฐาน เพราะถ้าไม่รู้จะพูดอะไร การอยู่เงียบๆ ข้างๆ อธิษฐานด้วยกันกับเขา และอธิษฐานเผื่อเขา แค่นี้ก็ช่วยหนุนใจมากมายแล้ว

 

 

#ด้วยรักและเข้าใจความรู้สึกคนอื่นก่อนจะหนุนใจนะจ๊ะ

 

– พี่เฟย –

 

Reference:

1.
Wilson, J. P., & Thomas, R. B. (2004). Empathy in the Treatment of Trauma and PTSD. New York: Brunner-Routledge.

 


Previous Next

  • Author:
  • หลังจากเรียนจบศิลปกรรมศาสตร์ การละคร ม.ธรรมศาสตร์ ก็สนใจทำงานด้านเด็กและวัยรุ่นที่มีเชื้อเอชไอวี หลังจากเรียนต่อปริญญาโทสาขาสุขภาพจิต ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จากนั้นต่อปริญญาโทด้านศิลปะบำบัดที่ LASALLE College of Arts ที่ประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันกลับมาทำงานประจำที่คลีนิค The Oasis (https://www.theoasiscare.com/nicha-leehacharoenkul)
  • Illustrator:
  • Emma C.
  • เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน
  • Editor:
  • Jick
  • บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง