อยู่ต่อยังไงหลังเผชิญเรื่องสะเทือนใจ

Special EP.

อยู่ต่อยังไงหลังเผชิญเรื่องสะเทือนใจ (me & another me) – [พูดคุยกับนักจิตบำบัด]


ผู้เขียน : ‘พี่เฟย’ ณิชา หลีหเจริญกุล (นักจิตบำบัด)
บทความนี้ใช้เวลาอ่านประมาณ  10 นาที

อ่านตอนอื่นๆ ของซีรีส์นี้ได้ทาง : https://www.choojaiproject.org/category/articles/life-series/me-and-another-me/


 

*บทความตอนพิเศษเพื่อความเข้าใจโรคซึมเศร้า จากบุคลากรคริสเตียนที่ทำงานด้านจิตบำบัด

 

 

พอพี่เฟยอ่านซีรีส์ Me & Another Me จบ ทั้งรู้สึกขอบคุณพระเจ้าในการเยียวยารักษาบาดแผลในใจที่เด็กต้นเรื่องแบ่งปันประสบการณ์ออกมา และเห็นถึงการเจริญเติบโตของคนเราภายหลังช่วงเวลาที่ย่ำแย่นั้น เวลาที่เราเจอเรื่องแย่ๆ ผลกระทบของมันจะทำให้ชีวิตของเราเสียศูนย์ ตั้งหลักไม่ทัน กลับมาเริ่มต้นใหม่ไม่ไหว จมอยู่กับความทรมาน และอาจจะรู้สึกประหนึ่งมีชีวิตอยู่บนซากปรักหักพังกันเลยทีเดียวล่ะ พี่เฟยจะบอกว่า อย่าเพิ่งท้อใจไป หายใจลึกๆ แล้วค่อยๆ มองดูว่า รอบข้างเรายังพอเหลืออะไรอยู่บ้างที่จะเป็นตัวช่วยให้กู้หลักกลับมาตั้งต้นใหม่ได้ ในบทความนี้พี่เฟยเลยจะชวนกันมองถึงหลักคร่าวๆ 5 อย่าง ของ Post Traumatic Growth ที่เป็นกระบวนการช่วยประคองให้ตั้งหลักได้บ้าง บางคนก็อาจจะทำอยู่แล้ว หรือรู้อยู่บ้างแล้ว ก็จะชวนคิดชวนมองเพิ่มเติมค่ะ

 

Posttraumatic Growth คืออะไร?

ความหมายของคำนี้ตรงตามตัวเลย พี่เฟยแปลความหมายเองเลยว่า “การเติบโตหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ” เพราะเวลาเราเจอเรื่องโหดร้าย หดหู่ ย่ำแย่ ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เราจะมีคำถามเป็นชุดอยู่ในหัว เช่น ทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดกับฉัน ทำไมคนนั้นถึงทำร้ายฉัน ฉันทำผิดอะไรถึงต้องเจอเรื่องโหดร้ายแบบนี้ อนาคตต่อไปของฉันจะเป็นยังไง ไปจนถึงว่า ทำไมพระเจ้าถึงปล่อยให้ฉันเจอเรื่องแบบนี้ ทำไมพระเจ้าไม่ปกป้องดูแลฉัน! บลา บลา บลาาาา… เป็นเรื่องปกติมากที่ทำให้เราจะตั้งคำถาม และพยายามแสวงหาคำตอบ เพื่อจะได้เข้าใจสิ่งที่มันค้างคาอยู่ในใจ แล้วชีวิตจะได้ไปต่อ

 

อยู่ต่อยังไงหลังเผชิญเรื่องสะเทือนใจ

 

คุณ Tedeschi และ Calhoun1 ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการติดตามชีวิตของคนหลายคนที่ได้เผชิญบาดแผลทางใจ ว่าเขาดำเนินชีวิตผ่านไปได้อย่างไรหลังจากเหตุการณ์เหล่านั้น แล้วมีปัจจัยอะไรบ้างที่ประคองให้คนเหล่านี้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ เพื่ออธิบายกระบวนการเติบโตเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนที่เผชิญความยากลำบาก ทุกข์ทรมาน

 

ปัจจัยที่ส่งผลให้คนเราดำเนินชีวิตต่อไปได้หลังเจอเรื่องร้ายๆ มี 5 อย่าง

  1. สายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับคนอื่น 
  2. การมองเห็นความเป็นไปได้ในการดำเนินชีวิตต่อไป
  3. ความเข้มแข็งภายในจิตใจ
  4. การมองเห็นความรื่นรมย์ในชีวิต
  5. จิตวิญญาณที่เติบโต

 

สำหรับบางคน ถึงแม้ว่าเหตุการณ์เลวร้ายมันยังคงมีอยู่ แต่ตัวช่วย 5 อย่างนี้จะคอยเป็นสิ่งที่ประคองให้เขาค่อยๆ ใช้ชีวิตไปต่อได้ ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถยอมรับข้อจำกัดของชีวิตและอยู่กับมันได้มากขึ้น มองเห็นอนาคต และความเป็นไปได้ที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ เห็นความเข้มแข็งของตัวเอง และมีจิตวิญญาณที่เติบโต  แล้วสิ่งเหล่านี้แหละที่เป็นตัวกระตุ้น เป็นความท้าทายที่มีไว้ให้มนุษย์ ‘ทุกคน’ เผชิญ เพื่อเป็นกระบวนการสร้างชีวิตให้ก้าวไปข้างหน้า 

 

“บางทีชีวิตมันอาจจะต้องพังลงก่อน แล้วจึงจะถูกสร้างขึ้นใหม่”

 

_______________________________

 

1.สายสัมพันธ์แนบแน่นกับคนอื่น (Interpersonal relationship)

 

“เพราะฉะนั้นจงหนุนใจกัน และต่างคนต่างจงเสริมสร้างกันขึ้น
ตามอย่างที่พวกท่านกำลังทำอยู่นั้น” – (1 เธสะโลนิกา 5:11-12)

 

ความสัมพันธ์ที่สนิทสนม แนบแน่น เป็นความสัมพันธ์ที่มีความหมาย ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนสนิท คู่ชีวิต ผู้ใหญ่ที่เราไว้ใจ หรือใครสักคนที่คอยเคียงข้างในเวลาที่มีปัญหา พอเราหันไปมองก็จะเจอเขาเหล่านี้คอยเป็นห่วงเป็นใย คอยเตือนตรงๆ คอยช่วยเหลือ พร้อมรับฟัง และเป็นที่ปรึกษา คนเหล่านี้จะทำให้เรารู้ว่า เราไม่ได้โดดเดี่ยวอ้างว้างบนโลกนี้จนเกินไป และจะเป็นประตูเปิดไปสู่ความเป็นไปได้ว่า โลกนี้ยังปลอดภัย มีคนที่ไว้ใจได้ เรายังมีที่ยืน เรายังมีตัวตน ยังมีคนมองเห็นคุณค่า และเรายังเป็นที่รักของใครสักคน มีกำลังใจยามท้อแท้ มีเพื่อนร่วมทางที่พร้อมเผชิญเรื่องแย่ๆ ไปด้วยกัน คนเหล่านี้ไม่ต้องมีจำนวนเยอะ มีหนึ่งหรือสองคน แต่มีคุณภาพ ก็เพียงพอที่จะเป็นฟูกรองรับยามเราล้ม หรือเป็นที่อิงแอบได้ยามเหนื่อยล้า

 

2.ความเป็นไปได้ใหม่ๆ (New possibilities)

“พระเจ้าทรงเป็นที่ลี้ภัยและเป็นกำลังของเรา
เป็นความช่วยเหลือที่พร้อมอยู่ในยามยากลำบาก” – (สดุดี 46:1)

 

มองเห็นความเป็นไปได้ในความเป็นไปไม่ได้ หรือมีคนช่วยมอง ได้ลองประสบการณ์ใหม่ เส้นทางใหม่ของชีวิตที่เปลี่ยนความคิดเดิมๆ มันก็อาจจะมีบ้างที่เราจะกลัว กังวลที่จะเริ่มต้นลองอะไรแหวกแนวไปจากเดิม ถ้าลองทำแล้วมันเป็นไปไม่ได้ ก็ให้โอกาสตัวเองลองใหม่ เพราะยังมีกองเชียร์ให้กำลังใจเราอยู่ และอย่าลืมให้กำลังใจตัวเอง เราอาจจะถามตัวเองก็ได้ว่า อะไรบ้างที่เราอยากจะจบมันลง ทิ้งมันไว้ข้างหลัง แล้วเริ่มต้นลองทำสิ่งที่เปิดโอกาสให้ได้ลอง เพราะเรากำลังเริ่มต้นตั้งใจมุ่งหน้าทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น มันอาจจะมีอุปสรรคบ้าง มีความยาก มีความท้อแท้บ้าง แต่สิ่งเหล่านี้มันจะค่อยๆ เปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อตัวเอง ต่อคนอื่นและต่อโลก ยิ่งถ้าเราสามารถมองเห็นความเป็นไปได้ในพระเจ้าผู้ทรงทำได้ทุกอย่างแล้วเราก็จะยิ่งมีความหวังที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้

 

 

3.ความเข้มแข็งภายใน (Personal strength)

“แต่เขาทั้งหลายผู้รอคอยพระยาห์เวห์จะได้รับกำลังใหม่ เขาจะบินขึ้นด้วยปีกเหมือนนกอินทรี
เขาจะวิ่งและไม่อ่อนเปลี้ย เขาจะเดินและไม่เหน็ดเหนื่อย” – (อิสยาห์ 40:31)

 

เมื่อมีความสัมพันธ์ไว้วางใจคนอื่น และได้ลองสิ่งใหม่ เราก็จะเริ่มเรียนรู้และมองเห็นจุดแข็ง ความเข้มแข็งที่มีอยู่ในตัวเอง เข้าใจตัวเองมากขึ้นว่า ฉันทำอะไรได้ดี ฉันต้องการอะไร ฉันคือใคร มองเห็นเป้าหมายในชีวิต รับมือกับความกดดัน ความล้มเหลว ความกังวล ความเจ็บปวดได้มากขึ้น เรียนรู้จากความผิดพลาด เรียนรู้จากบาดแผลความเจ็บปวด เรียนรู้ที่จะรับมือกับเรื่องแย่ๆ เพราะชีวิตเริ่มมีต้นทุนมากขึ้น

 

4.มองเห็นความรื่นรมย์ในชีวิต (Appreciation of life)

 

“พระองค์ผู้ทรงหนุนใจเราในความยากลำบากทั้งหมดของเรา
เพื่อเราจะสามารถหนุนใจคนทั้งหลายที่มีความยากลำบากอย่างใดอย่างหนึ่ง
ได้ด้วยการ 
หนุนใจซึ่งเราเองได้รับจากพระเจ้า” – (2 โครินธ์ 1:3-4)

 

พอเริ่มมองเห็นเป้าหมายในชีวิต เริ่มรับมือกับความรู้สึกแย่ๆ ยอมรับและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ได้มากขึ้น ก็จะช่วยให้เริ่มรู้สึกชื่นชมกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้ เริ่มรู้สึกดีกับโลกใบนี้มากขึ้น รู้สึกดีกับตัวเอง ภูมิใจในตัวเอง เริ่มเห็นอกเห็นใจความทุกข์ยากของคนอื่น เริ่มมองเห็นความงดงามในชีวิต มีสันติสุขเล็กๆ ในใจ ขอบคุณชีวิตตัวเองที่ผ่านเรื่องแย่ๆ มาได้ และถึงแม้ความทุกข์มันยังมีอยู่บ้าง แต่ก็มีความหวังและขอบคุณที่ยังมองเห็นสิ่งดีๆ ในชีวิตได้

 

5.จิตวิญญาณเติบโต (Spiritual growth)

 

“เหตุฉะนั้นเราจึงไม่ย่อท้อ ถึงแม้ว่ากายภายนอกของเรากำลังทรุดโทรมไป
แต่จิตใจภายในนั้นก็ยังคงจำเริญขึ้นใหม่ทุกวัน” – (2 โครินธ์ 4:16)

 

มาถึงตอนนี้ก็จะรู้และเข้าใจถึงจุดหมายในชีวิต เห็นคุณค่าในการมีชีวิตอยู่ รักตัวเอง เชื่อมโยงกับบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าชีวิตของตัวเอง มีความหวังให้กับชีวิตเมื่อเผชิญความยากลำบาก

 

 

พระเจ้าอยู่ตรงไหนบ้างในกระบวนการนี้?

 

บอกได้เลยค่ะว่าพระองค์อยู่ในทุกขั้นตอน พอผ่านเรื่องราวเหล่านี้ไปได้คริสเตียนหลายคนจึงสามารถขอบคุณที่พระเจ้าเปลี่ยนแปลงชีวิต เรื่องราวแย่ๆ จึงกลายเป็นคำพยานถึงความเป็นพระเจ้าให้คนอื่นฟังไปด้วย กลายเป็นเรื่องราวชูใจให้คนอื่นๆ รู้ว่า พระเจ้าช่วยเขาผ่านเรื่องเหล่านี้มาได้ยังไง นั่นก็เพราะว่าใน 5 อย่างที่เล่ามา พระเจ้าอยู่ด้วยทุกขั้นตอน อาจจะมีช้าบ้าง เร็วบ้าง แล้วแต่เวลาของพระเจ้า และเวลาที่เราพร้อมเปิดใจรับการช่วยเหลือ

 

แม้บางช่วงเราจะไม่เข้าใจพระเจ้า บ่น ก่น ด่า ร้องไห้ประหนึ่งว่า พระองค์ทำร้ายชีวิตเรา แต่พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้า เพราะทรงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากจะเป็นตัวพระองค์เอง” แปลว่า แม้เราจะหมดหวังกับพระเจ้า สูญสิ้นความเชื่อ แต่พระเจ้ายังคงเป็นบุคคลที่ปลอดภัยและไว้ใจได้ มองเห็นคุณค่าในชีวิตของเรา เชื่อมั่นในตัวเรา ให้กำลังใจปลอบประโลมเมื่อเราท้อใจ เคียงข้างเราไปตลอดทางที่แสนจะพัง  และไม่เคยหมดหวังในตัวตนของเราเลย พระเจ้าจะพิสูจน์ให้เราเห็นว่า พระองค์ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้เรื่องเลวร้ายเกิดขึ้น แต่แสดงความรับผิดชอบ และหน้าที่ของพระเจ้าคือ การช่วยเรากอบกู้สร้างชีวิตของเราขึ้นมาใหม่ แม้หนทางจะยากลำบาก แต่พระองค์เพียงขอให้เรา ‘ร่วมมือ’ ในการสร้างชีวิตใหม่ไปด้วยกัน เพราะพระองค์ทรงเห็นหนทาง เห็นความเป็นไปได้ เห็นความหวัง เห็นแสงสว่างปลายทางที่เรายังมองไม่เห็น พระองค์จะช่วยเราในการสร้างความเข้มแข็งภายในจิตใจ และเปิดเผยให้เราได้รู้ว่า เป้าหมายชีวิตคืออะไร เราคือใคร เราต้องการอะไรจริงๆ เราดีและงดงามแค่ไหน  และมีความหมายต่อพระเจ้าเพียงใด แม้แต่ก่อนเราจะรู้สึกว่า พระเจ้าไม่เหลียวแล แต่เราก็จะเริ่มมองเห็นและขอบคุณพระเจ้า หรือแม้แต่ขอบคุณที่เรื่องแย่ๆ มันเกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้ผ่านมันมาแบบโดดเดี่ยว แต่เพราะพระเจ้าไม่เคยทอดทิ้งและสิ้นหวังกับเรา

 

จิตวิญญาณเราจึงเติบโตขึ้น มีความเชื่อมั่น ศรัทธา ไว้ใจตัวเองมากขึ้น และรู้แน่ว่า…

 

 

“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะลำบากยากเย็น จะเจ็บปวดแค่ไหน
ยังไงซะ พระเจ้าก็จะอยู่เคียงข้างเสมอ ไม่ทอดทิ้งเราและสู้ผ่านเผชิญไปด้วยกัน”

– พี่เฟย –

 

 

# ด้วยรักและชูใจ

 

 


Reference

1. Tedeschi, R. G., & Calhoun, L. G. (2004). Posttraumatic Growth : Conceptual Foundations and Empirical Evidence. Psychological Inquiry, 15 (1), 1-18.

 


Previous Next

  • Author:
  • หลังจากเรียนจบศิลปกรรมศาสตร์ การละคร ม.ธรรมศาสตร์ ก็สนใจทำงานด้านเด็กและวัยรุ่นที่มีเชื้อเอชไอวี หลังจากเรียนต่อปริญญาโทสาขาสุขภาพจิต ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จากนั้นต่อปริญญาโทด้านศิลปะบำบัดที่ LASALLE College of Arts ที่ประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันกลับมาทำงานประจำที่คลีนิค The Oasis (https://www.theoasiscare.com/nicha-leehacharoenkul)
  • Illustrator:
  • Emma C.
  • เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน
  • Editor:
  • Perapat T.
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)