คนเราถูกสร้างมาให้มีอารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อน โลกภายในจิตใจนั้นส่งผลต่อออกมาเป็นกระทำ การกระทำของคนเราบ่อยครั้งก็เกิดจากแรงขับดันภายในที่ซับซ้อน วันนี้ขอชวนเรามาทำความรู้จักอีกหนึ่งอารมณ์สำคัญของคนเรากันสักนิด … อารมณ์ที่ว่านั้นคือ “ความโกรธ”
“ความรู้สึกต่างๆ จะเกิดขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นและดำรงอยู่พักหนึ่ง
แต่ความโกรธ สามารถคุกรุ่นอยู่จนข้ามวัน และนั่นอันตรายมาก…”
ความโกรธ เป็นหนึ่งในอารมณ์หลักของเรา ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกไม่พอใจกับอะไรสักอย่าง สิ่งที่น่าสังเกตคือ “ความโกรธนั้นมักมาคู่กับความเสียใจ(หรือผิดหวัง)เสมอ” เหมือนกับเหรียญสองด้านที่แยกจากกันไม่ได้ อย่างเช่น
- เวลาที่เรามีนัดสำคัญกับคนรักแต่รถไฟฟ้าเกิดขัดข้อง เราก็อาจจะหงุดหงิดหรือโกรธ เพราะเราตั้งใจที่จะไปให้ทันเราจึงเสียใจที่เราไม่สามารถทำตามนัดได้ ผลคือเราอาจโกรธตัวเองที่ไม่รู้จักเผื่อเวลา หรือโยนความผิด (Projection) ไปให้กับผู้ให้บริการรถไฟฟ้า ลามไปถึงประเทศชาติ
- เวลาโทรศัพท์หาเพื่อนสนิทแต่เพื่อนไม่ยอมรับสาย เราก็อาจจะโกรธเพื่อนเพราะเราเสียใจที่เราอยากคุยแล้วไม่ได้คุย ถ้าเป็นคนอื่นเราก็อาจจะไม่โกรธแต่เพราะเป็นเพื่อนรักก็เลยผิดหวัง
เมื่อคนเรามีความตั้งใจหรือความคาดหวังอะไรบางอย่างแล้วไม่เป็นอย่างหวังนั้น โดยเฉพาะกับคนรักหรือคนที่เราให้ความสำคัญ เราไม่สามารถปฎิเสธได้เลยว่าเราจะไม่โกรธหรือไม่เสียใจ ถึงตรงนี้อยากให้เราทำความเข้าใจก่อนว่า ความโกรธเป็นอะไรที่ธรรมชาติมาก ๆ เป็นเรื่องปกติ ความโกรธเป็นหนึ่งในอารมณ์ภายในอันหลากหลายของเรา อารมณ์โกรธไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย และไม่ใช่เรื่องที่ผิด พระคัมภีร์ของคริสเตียนก็ยังเขียนเอาไว้ว่า …
“โกรธก็โกรธได้ แต่อย่าทำบาป อย่าให้ถึงตะวันตกดินแล้วท่านยังโกรธอยู่ ” – เอเฟซัส 4:26
ที่ว่าแต่อย่าทำบาปและอย่าให้ถึงตะวันตก คืออะไร?
พี่กานตี้เคยอ่านเจอประโยคนี้จากไบเบิ้ล ประโยคนี้น่าสนใจมาก เพราะความโกรธข้างในอาจผลักดันให้เรา “กระทำ” อะไรบางอย่างออกไป อย่างที่บอกไปแล้วว่าความโกรธนั้นมักมากคู่กับความเสียใจ คนเราอาจมีกระบวนการป้องกันตัวเองจากการเสียใจที่แตกต่างกันไป และในบางกรณีอาจแสดงออกมาเป็นความรุนแรงก็ได้ แล้วทำไมต้องจัดการอารมณ์ก่อนตะวันตกดิน? ชาวชูใจอาจเคยเห็นตามข่าวแล้วว่าความรุนแรงมากมาย เกิดจากการเก็บงำความโกรธสะสมไว้ข้ามวันข้ามคืน เกิดเป็นความแค้นจนอาจก่อนให้เกิดการทำร้าย หรือการแก้แค้นที่ร้ายแรงเกิดกว่าเหตุ กระทั่งคนรักกันการเก็บความโกรธไว้ก็อาจทำให้เกิดเหตุการร้ายแรง
“เพราะเมื่อรักมากก็เสียใจมาก เมื่อเสียใจมากก็โกรธมาก”
คนที่โกรธและไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังโกรธอยู่ เขาได้ปล่อยให้เจ้าตัวโมโหมันครอบงำความคิด คำพูด และพฤติกรรมของเขา ทำให้เขามักจะเผลอระบายความโกรธหลายๆ อย่าง ทั้งที่รู้ตัวและตั้งใจทำให้เกิดความเสียหาย เพื่อให้สะใจ เช่น ด่าทอ ทำลายข้าวของ พูดจาประชด ทะเลาะเบาะแว้ง หรือทำการแก้แค้นหลายๆ อย่าง หรือแม้ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดความเสียหาย แต่ผลที่ตามมาอาจรุนแรงถึงขั้นเผลอทำร้ายร่างกายจนถึงชีวิต หลายครั้งคนเราก็พลาดก็ทำสิ่งเหล่านี้ไปโดยไม่ทันได้คิดให้ถี่ถ้วนเพราะอารมณ์โกรธครอบงำ
“ ความโกรธไม่ใช่สิ่งที่เราต้องกำจัดแต่เป็นสิ่งที่เราต้องจัดการ การจัดการความโกรธที่ถูกต้องจะช่วยให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีและราบรื่น”
________________________________
วิธีการจัดการกับความโกรธมีดังนี้
รู้เท่าทันอารมณ์ (Aware)
การรู้ทันอารมณ์คือรู้ว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอย่างไร และอะไรเป็นต้นเหตุที่ทำให้เรารู้สึกเช่นนั้น จริงๆแล้วลึกๆ เราต้องการอะไร การรู้ทันอารมณ์โกรธ หรือการที่รู้ว่าตอนนี้ฉันกำลังโกรธอยู่นั้นทำให้เราควบคุมอารมณ์ของเราไม่ให้เตลิดไปไกล และยังลดการตอบสนองสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยความโกรธอย่างไม่ทันคิดอีกด้วย ทำให้เราเป็นผู้ที่โกรธช้าลง และแม้เราจะโกรธ แต่เราจะเป็นผู้ที่ปกครองจิตใจของตัวเองได้ ไม่ปล่อยให้เจ้าตัวโมโหมาบังคับให้เราทำอะไรต่าง ๆ นานาที่ไม่เป็นประโยชน์
“บุคคลผู้โกรธช้าก็ดีกว่าคนมีกำลังมาก
และบุคคลผู้ปกครองจิตใจของตนเองก็ดีกว่าผู้ที่ตีเมืองได้” – สุภาษิต 16:32
…
- จัดการอารมณ์ตนเอง
หากการรู้ว่าตัวเองโกรธแล้วยังไม่สามารถหายโกรธได้ สามารถจัดการความโกรธด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้เราได้ผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นการยับยั้งอารมณ์ของเรา หรือการระบายอารมณ์ที่อัดอั้นข้างในออกมา
- 2.1 ยับยั้งอารมณ์
ด้วยการขอเวลานอก หรือออกจากสถานการณ์ที่ทำให้ยิ่งโกรธ เช่น เดินไปห้องน้ำ เข้าไปในห้องส่วนตัว เดินออกจากสถานการณ์ แต่ไม่ใช่ทำด้วยความประชดประชันจำพวก “เมย์ขอตัวนะคะ…อิ่มแล้วค่ะ” เหมือนในละครก่อนข่าวเพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้นแล้วยังอาจก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ดีตามมา - 2.2 ระบายอารมณ์ออก
เช่น อธิษฐานระบายกับพระเจ้า คุยกับเพื่อน วิ่ง เตะบอล ตีเทนนิส เตะกระสอบทราย วาดรูป ปาหมอน ฉีกกระดาษ ร้องไห้หรือแม้กระทั่งกรี๊ดออกมาดังๆ! (ทำให้ที่ส่วนตัวนะไม่ใช่กลางสี่แยก) การระบายอารมณ์เป็นวิธีที่ช่วยให้เราผ่อนคลายได้อย่างไม่น่าเชื่อ และการซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเอง และเป็นการแสดงความไม่พอใจอย่างตรงไปตรงมาออกมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคือเราต้องทำอย่างที่เรารู้ตัว และไม่ใช่การทำลายให้ข้าวของเสียหาย ไม่ใช่การทำร้ายผู้อื่น และไม่ใช่การทำร้ายตัวเองอย่างเด็ดขาด - 2.3 ตั้งกติกา หรือให้คำมั่นสัญญากับตัวเอง
ว่า…มีสิ่งใดบ้างที่เราจะทำ หรือไม่ทำเด็ดขาด ขณะที่กำลังโกรธ หรือโมโหจัด เช่น ฉันจะไม่ปาข้าวของ ฉันจะไม่ทำร้ายคนที่ฉันโกรธ - 2.4 พยายามหาให้เจอว่าต้นตอของความโกรธของเราคืออะไร (หรือเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใดที่มักทำให้เราโกรธบ่อย ๆ)
จะยิ่งดีมากถ้าเราอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์สำแดงกับเราว่าบาดแผลที่ทำให้เรามักโกรธ หรือผิดหวัง เสียใจนั้นคืออะไร เพื่อที่เราจะได้รับการรักษา และให้พระเจ้าเป็นผู้ที่จะเติมเราให้เต็ม แทนที่เราจะแสวงหาสิ่งนั้นจากคนอื่นๆ และขอพระเจ้าช่วยเราให้มีผลพระวิญญาณบริสุทธิ์ และให้เราเป็นคนที่จะเต็มด้วยความรัก ความยินดี สันติสุข สุภาพ รู้จักบังคับตนเอง ไม่เป็นคนฉุนเฉียว และโกรธง่าย (สรุปจาก กท 5:22)
พี่กานตี้เองก็ต้องฝึกจัดการกับความโกรธของตัวเองเหมือนกัน โดยตัวพี่ใช้วิธีการอธิษฐานพูดคุยความรต่อพระเจ้า แลใช้เวลาในการพิจารณาตัวเอง หลังจากนั้นก็ฝึกรู้ทันอารมณ์ตัวเอง ความโกรธต่าง ๆ จะเบาลงเมื่อเรารู้ว่าตัวเองกำลังโกรธ และก็ใช้หลายวิธีเพื่อยับยั้งอารมณ์โกรธตัวเอง เช่น สื่อสารให้คนที่เรากำลังคุยด้วยว่าเราเริ่มโกรธแล้วนะ ขอเวลาก่อน หรือเดินออกจากสถานการณ์ แม้กระทั่งการร้องไห้ระบายออกไป สิ่งหนึ่งที่พี่กานตี้ตั้งใจจะระวังเป็นพิเศษตอนโกรธคือ พี่กานตี้จะพยายามไม่พูดอะไรตอนที่โกรธ เพราะพี่กานตี้สังเกตดูว่าคำพูดตอนโกรธมันเป็นคำพูดที่ทำร้ายคนอื่น และมักไม่เป็นสาระใด ๆ นอกจากสร้างความเจ็บปวด
ไม่ว่าความรัก หรือความโกรธ ย่อมผลักดันให้เกิดการกระทำบางอย่างออกมา … การกระทำของความโกรธที่มากกว่าความรักอาจแสดงออกมาเป็นการแก้นแค้นหรือการทำร้าย แล้วการกระทำของความรักที่ชนะความโกรธล่ะ … ก็คือการให้อภัยค่ะ
สุดท้ายนี้ก็ขอพระเจ้าอวยพรน้อง ๆ ที่น่ารักทุกคน ให้มีผลพระวิญญาณ
และมีชัยชนะเหนือความโกรธ และเต็มด้วยความรักล้นอยู่ในชีวิต และไหลไปเป็นพรแก่ผู้อื่นนะคะ
#ด้วยรักและชูใจ
อ่านบทความอื่นๆ ในหัวข้อ ‘จิตวิทยาวัยรุ่น’ จากพี่กานตี้ได้ทาง >>> https://www.choojaiproject.org/category/articles/psychology/teen-psychology/
Related Posts
- Author:
- พี่กานตี้เป็นนักจิตวิทยาเด็กและครอบครัวที่มีภาระใจด้านพัฒนาการและการศึกษาของเด็กๆ อยากเห็นสังคมแห่งการแบ่งปันและช่วยเหลือเกื้อกูลเหมือนพี่ชูใจเดี๊ยะ ... “รักเด็ก” แบบนี้ต้องชวนไปไปประกวดมิสแกรนด์กับพี่ชูใจแล้วล่ะ!
- Illustrator:
- Jostar
- พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ