3

[พระคัมภีร์ไม่ไหลย้อนกลับ]The12 ep.3 อาโมส


 

Amos

………………………

9.54 อาโมส มาเผยพระวจนะทำไม ภาพรวมของอาโมส

16.44 วันแห่งพระเจ้า

24.30 การครอบครองของพระเจ้า

37.20 พระวจนะของพระเจ้า

41.58 ความสัตย์ซื่อของพระเจ้า

………………………

ในโลกของเรากำลังเกิดกระแสเรียกร้องความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เกิดขึ้นมากมายหลายที่

แต่เรื่องราวในทุกวันนี้ดูจะละม้ายคล้ายคลึงเหมือนกับในสมัยผู้เผยพระวจนะ อาโมส หากแต่ ผู้ที่เรียกร้องผ่านอาโมส คือ พระเจ้า

…………………………………………………………………………

พระเจ้าคาดหวังให้ อิสราเอล ดำเนินชีวิตให้เป็นแสงสว่าง เป็นพระพร แก่บรรดาประชาชาติ ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยอับบราฮัม ซึ่งการจะเป็นอย่างนั้นได้คนในสังคมอิสราเอลก็ต้องดำเนินชีวิตกับพระเจ้า แต่ในพระธรรมอาโมส ความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรมเต็มไปทั่วทั้งแผ่นดินอิสราเอล

สถานการณ์ที่นำมาสู่เหตุการณ์นี้เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง

อย่างแรกคงเป็นความมั่นคงทางการทหาร เมื่อกษัตริย์เยโรโบอัมที่สอง สู้รบชนะเมืองศัตรู และ ตีเอาเมืองคืนมาเป็นของตนได้ อาณาจักรเลยขยาย ทหารยิ่งรบก็ย่ิงแข็งแกร่ง ยิ่งได้จุดยุทธศาสตร์ และ ได้ทรัพยากรเพิ่มก็มีความมั่นคง เมื่อมีความมั่นคงทางการทหาร สงครามก็น้อยลง นำไปสู่เศรษฐกิจที่เติบโต คนชั้นกลางหลายคนก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ใช้โอกาสนี้สร้างความร่ำรวยเพราะเศรษฐกิจที่เติบโต จนมีชีวิตที่ติดหรู และ ฟุ้งเฟ้อ

ความมั่งคั่งกลายเป็นสิ่งที่หอมหวานและน่าปราถนา ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อของพวกเขาในสมัยนั้น  แทนที่เขาจะมุ่งไปที่พระเจ้าให้พระองค์เป็นศูนย์กลาง แต่ความสะดวกสบาย ความมั่นคง มั่งคั่ง กลายเป็นสิ่งที่น่าปราถนามากที่สุด และนี้คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น ส่งผลให้ประชาชนอิสราเอลมีพฤติกรรมที่เกิดขึ้นรวมๆอยู่สามอย่าง เรียกให้จำง่ายๆว่า

3i

 

Indifferent – อิน-ดิฟ-เฟอร์-เรนท์

การเพิกเฉย สังคมอิสราเอลเริ่มกลายเป็นสังคมที่ไม่ใส่ใจคนอื่น คนอื่นจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ขอให้เรามั่งคั่งและมั่นคง ประสบความสำเร็จก็พอ

 

idolatry – ไอ-ดอล-ลา-ทรี

การปรนิบัติรูปเคารพ

เป็นการที่เขาไว้วางใจในรูปเคารพ ที่ให้ความมั่งคั่งแก่เขา พอมีความสำเร็จความมั่งคงเป็นเป้าหมาย เขาก็มองหา “พระ” ที่ให้ความร่ำรวย ซึ่งเราจะพบว่า เขาหันไปนับถือ “พระบาอัล” เพราะเป็นเทพของความสมบูรณ์ มั่งคั่ง ของชาวคานาอัน อันที่จริงแล้วเขาก็นมัสการพระเจ้าแบบเดียวกัน คือหวังว่าพระเจ้าจะอวยพรแก่เขา

 

Injustice อิน-จัส-ติส

ความอยุติธรรม

เมื่อความมั่งคั่งกลายเป็นสิ่งหอมหวาน จนกลายเป็นส่ิงเสพติด เมื่อความอยากไม่สามารถเติมเต็ม คนที่รำ่รวยไม่ได้รวยแค่จากการค้า แต่ยังหาวิธีที่จะได้มากขึ้น จึงนำมาสู่การปล่อยเงินกู้นอกระบบ!

คนที่รวยก็ปล่อยเงินกู้ให้กับคนจน พอกู้ไปแล้วไม่มีเงินจ่าย เขาก็ยึดบ้าน ยึดที่ดิน ที่เลวร้ายคือยึดลูกเมียไปเป็นทาส ซึ่งนี่คือ คนอิสราเอลด้วยกัน

และ ความอยุติธรรมในตอนนี้ยังลามไปถึงศาล ที่ซึ่งควรจะยุติธรรม แต่กลับมีการติดสินบนให้คนร่ำรวยชนะคนจนเพื่อให้เขาได้ยึดที่นาได้ง่ายขึ้น

นี่คือ สาม ไอ ที่เกิดขึ้นในอิสราเอล และนี่เป็นเรื่องที่ผิดจากที่พระเจ้าออกแบบไว้ สังคมอิสราเอลจะเป็นแบบนี้ไม่ได้

พระเจ้าจึงส่ง “อาโมส” มา เพื่อประกาศ “ถ้อยคำ” ของพระองค์

…………………………………………………………………………

พระเจ้าส่งอาโมสมา ไม่ได้เพื่อแค่มาบอกกับอิสราเอลว่าทำผิดอย่างไร หรือศีลธรรมนั้นตกต่ำแค่ไหน แต่กำลังมาชี้ให้เห็นสิ่งที่ลึกกว่านั้น ลึกกว่าความบาปที่อิสราเอลทำอยู่นั่นคือเรื่องของ “พันธสัญญา”

 

พันธสัญญา เป็นคำทางการระหว่างคนสองกลุ่ม เช่นมี กษัตริย์สององค์มาทำพันธสัญญาร่วมกัน ว่าต่างคนต่างจะไม่โจมตีกัน หรืออีกแบบหนึ่ง ก็เป็นกษัตริย์ผู้ครอบครองทำต่อกษัตริย์ผู้อยู่ใต้อาณัติ ถ้าจงรักภักดี ก็จะคุ้มครองดูแล ปกป้องจากศัตรู ซึ่งรูปแบบนี้ก็เป็นรูปแบบหนึ่งใน พันธสัญญา

 

ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับอิสราเอลน้ันไม่ได้ฉาบฉวย แต่จริงจังแบบพันธสัญญา ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่อิสราเอลเคยเป็นทาสในแผ่นดินอียิปต์ พวกเขาก็มีประสบการณ์ตรงในการได้รับความไม่ยุติธรรม ถูกกดขี่ข่มเหง แล้วพระเจ้าก็ช่วยกู้เขาออกมาจากการเป็นทาส และพระองค์ก็อยากให้เขามาเป็นตัวอย่างของชนชาติที่พระเจ้าทรงช่วยกู้ เพื่อให้ไปเป็นพรแก่บรรดาประชาชาติดังที่เคยบอกไว้ตั้งแต่สมัยของอับราฮัม ซึ่งถ้าเขาทำตามนี้ พระเจ้าจะอวยพรเขามากมายนี่คือ พันธสัญญา แต่พวกเขากลับมองข้ามการดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาของพระเจ้า

 

พระเจ้าคาดหวังให้เขาเป็นแบบอย่าง การจะเป็นแบบอย่างได้ ก็ต้องใช้ชีวิตที่สะท้อนถึงความดีงามของพระเจ้า พระเจ้าผู้ทรงแสนดี สร้างทุกอย่างดี และ มีเมตตา สังคมที่สะท้อนความดีของพระเจ้า ก็ควรจะมีความเอาใจใส่ผู้อื่น คนแข็งแรงดูแลคนเจ็บป่วย คนรวยดูแลคนยากจน แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ไม่ได้เป็นแบบที่พระเจ้าออกแบบไว้

 

แม้ว่าเขาเคยผ่านประสบการณ์ของความอยุติธรรมมาก่อน แต่ตอนนี้เขากลับไม่เข้าใจ และ ใช้ชีวิตไม่ต่างอะไรจากชนชาติที่ชั่วร้ายอื่นๆ เขากลับทำในส่ิงที่เขาเคยถูกกระทำมาก่อน

 

พระเจ้าจึงส่ง อาโมสมาเตือนเรื่องความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้

 

ภาพสังคม หรือ ภาพชุมชนที่พระเจ้าวางไว้จึงไม่ใช่แค่โครงสร้าง หรือ จิ๊กซอร์ทางสังคม แต่เป็นชุมชนที่มีภาพเป็น “ครอบครัว” จริงๆ เป็นโครงสร้างที่ลงไปในระดับลึกจากข้างใน

 

ดังนั้นการเรียกร้องของ อาโมส จึงไม่ใช่การมาเรียกร้องเพื่อให้เกิดการปฏิรูปทางสังคม แต่เป็นการเรียกร้องต่อ “ชุมชนของพระเจ้า” ที่มี รากเหง้า มาจากความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับคนของพระองค์ ผ่าน “พันธสัญญา”

 

เป็นการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน เพราะถ้าเขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้า มันก็จะส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นๆ เมื่ออยู่ร่วมกันก็กลายเป็นชุมชนที่เป็นห่วงเป็นใยดุจครอบครัว และกลายเป็นสังคมต้นแบบที่ดำเนินชีวิตสะท้อนความดีงามของพระเจ้า

 

และนี่คือส่ิงที่ อาโมส กำลังเรียกร้อง

 

………..

 

เนื้อหาของพระธรรม อาโมส ลองแบ่งเป็นหัวข้อได้อยู่ 4 หัวข้อที่ร้อยเรียงกัน คือ

วันแห่งพระเจ้า

การครอบครองของพระเจ้า

พระวจนะของพระเจ้า

ความสัตย์ซื่อของพระเจ้า

 

…………………………………………………………………………

หัวข้อแรก 

1.วันแห่งพระเจ้า

 

ในอิสราเอล มีแนวคิดเรื่อง วันแห่งพระเจ้ามานานแล้ว แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากการที่ดินแดนแถบคานาอันเป็นประเทศเล็กๆแต่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของโลกโบราณ เป็นทางเชื่อมไปสู่ยุโรป แอฟริกา และ เอเชีย เอาเป็นว่าถ้ามหาอำนาจฝั่งไหนอยากกรีฑาทัพไปโจมตีอีกฝั่งก็ต้องผ่านคานาอัน หรือ ในอีกทางหนึ่ง ใครยึดดินแดนนี้ได้ก็เหมือนได้ยึดสะพานที่ทุกคนต้องใช้เอาไว้ในมือ

 

เมื่อดินแดนปาเลสไตน์กลายเป็นพื้นที่ที่ใครๆก็อยากผ่าน อิสราเอลจึงกลายเป็นชนชาติที่ตกทุกข์ได้ยากจากการกดขี่ข่มเหงจากต่างชาติ พวกเขาจึงเฝ้ารอ วันที่พระเจ้าจะกลับมาครอบครอง วันที่พระเจ้าจะมาจัดการกับประเทศที่ทำร้าย กดขี่และ ทำความอยุติธรรมกับเขา ซึ่งวันนี้แหละที่เขาเรียกว่า “วันแห่งพระเจ้า”

 

ในพระธรรมอาโมส เมื่อเปิดเรื่องขึ้นมา พระเจ้าก็ทำแบบนั้นจริงๆ พระเจ้าจะ “พิพากษาประชาชาติ” ดามัสกัส กาซา ไทระ เอโดม อัมโมน โมอับ และ ยูดาห์! (ยูดาห์แยกมาจากอิสราเอล ก็ถูกมองว่าเป็นศัตรูด้วย) รวมเป็น เจ็ดประเทศ ที่จะโดนพิพากษาโดยพระเจ้า พออิสราเอลได้ยิน ก็เข้าใจได้ทันทีว่า นี่แหละ คือ “วันแห่งพระเจ้า” พวกนี้ต้องโดนพิพากษา และ เป็นวันที่เขาจะได้รับการยกขึ้นจากการถูกกดขี่ข่มเหง

 

แต่พออ่านๆไปกลับพบว่า พระเจ้าก็จะมาพิพากษาคนอิสราเอลด้วย! และ ชนชาติอิสราเอลเอง แทบจะเป็นเป้าหมายหลักของการพิพากษาในครั้งนี้ (มีการกล่าวถึงชนชาติอื่นที่จะถูกพิพากษาไม่กี่ข้อ อิสราเอลรับไปสองบท)

 

หัวข้อสอง

2.การครอบครองของพระเจ้า

 

ในพระธรรมอาโมสพูดถึงการครอบครองของพระเจ้าอย่างชัดเจน พระเจ้าเรียกร้องชนชาติต่างๆให้รับผิดชอบต่อความ่บาปชั่วของพวกเขา เช่น

 

“การละเมิดของดามัสกัส สามครั้งและสี่ครั้ง เราจะไม่ยอมกลับการลงทัณฑ์…”  ฯลฯ

 

นี้คือ หัวข้อที่เกี่ยวกับการครอบครองของพระเจ้าในการเป็นเจ้าของๆโลกใบนี้

 

นอกจากนี้การครอบครองของพระเจ้ายังพูดถึงการที่พระเจ้าทรงควบคุมการขึ้นลงของชนชาติต่างๆ (บทที่ 6:14) ซึ่งกำลังสะท้อนให้เห็นว่าเหตุการร์ณที่เกิดขึ้นกับอิสราเอล ก็มาจากการครอบครองของพระเจ้า ไม่มีใครที่จะหลบพ้นจากการครอบครองของพระองค์ได้

 

อิสราเอลจึงต้องรีบเข้าใจในเรื่องนี้เพราะเขากำลังหันไปนมัสการพระบาอัล โดยลืมไปว่า แท้จริงแล้ว พระเจ้าต่างหากที่เป็นผู้ประทานความมั่งคง ความมั่งคั่ง และสิ่งต่างๆเหล่านี้ให้

 

พระธรรรมอาโมสจึงย้ำแล้วย้ำอีกว่าพระเจ้าทรงครอบครองอยู่

 

การครอบครองของพระเจ้ายังเข้าไปเกี่ยวกับเนื้อหาหลักๆในพระธรรมอาโมสด้วย แบ่งเป็น ซีรี่ย์ย่อยๆได้ สาม เรื่อง

SERIES I จงฟัง

อยู่ในบทที่ 3 4 5 ขึ้นต้นคำว่า “จงฟัง”

จงฟังที่ 1 อิสราเอลไม่ได้รักษาพันธสัญญา

พระเจ้าเรียกอิสราเอลออกมาจากอียิปต์ พระเจ้าทำพันธสัญญากับอิสราเอล ภาพเปรียบเทียบก่อนหน้าจากพระธรรมโฮเชยา พันธสัญญานี้ราวกับงานแต่งงาน จดทะเบียนสมรส แต่ภายหลังอิสราเอลกลับฉีกมันทิ้ง

ดังนั้น พระเจ้าจึงประกาศ ข้อหา กับอิสราเอลเรื่องแรก “จงฟังนะ อิสราเอล” ‘ว่าเจ้ากำลังไม่ทำตามพันธสัญญา’”

 

จงฟังที่ 2 ปฏิเสธคำเตือนของพระเจ้า

เพราะอิสราเอลกำลังปฏิเสธคำเตือนของพระเจ้า เตือนแล้วก็ไม่ฟัง

 

จงฟังที่ 3 อิสราเอลกำลังนมัสการศาสนาแต่เปลือกนอก

เพราะอิสราเอลไม่ได้เลิกนมัสการพระเจ้า แต่เขาเอาหมด เขายังเข้ามาถวายในวิหารเหมือนเดิม แต่เมื่อกลับออกไป ก็ไปกดขี่คนจน พระคัมภีร์บอกว่าถ้าให้คนอิสราเอลกู้ยืม ก็อย่าคิดดอก ถ้าเขาไม่มีคืน ก็อย่าไปยึดที่ เพื่อเขาจะมีที่ทำกินและส่งต่อให้ลูกหลานเป็นที่ที่พระเจ้ามอบให้เขาสืบไปเป็นนิตย์ อย่ายึดเสื้อคลุม เกรงว่าเขาจะหนาว และ ไม่มีอะไรห่มคลุมร่างกาย กฏเหล่านี้ล้วนสะท้อนภาพความเมตตาของพระเจ้า แต่อิสราเอลกลับทำทุกอย่าง

 

การละเมิดสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาเรื่องการผิดศีลธรรม แต่เป็นการไม่ทำตามพันธสัญญา เขาหักภาพสะท้อนของพระเจ้าที่คาดหวังต่อประชากรของพระองค์ดังที่ควรจะเป็น เขากลับไม่สนใจราวกลับไม่เคยได้ยิน ทั้งๆที่เขาก็ยังเข้าไปนมัสการพระเจ้า

 

สิ่งนี้พระเจ้าเรียกว่าการนับถือศาสนาจอมปลอม พระเจ้าไม่ชอบ และ ไม่รับ การนมัสการพระเจ้าแบบนี้ภายหลังพระเยซูใช้คำว่า “หน้าซื่อใจคด” นั่นเอง

 

SERIES II วิบัติ

 

วิบัติแก่เจ้าผู้ปรารถนาวันแห่งพระเจ้า

วันแห่งพระเจ้าจะเป็นประโยชน์อะไรแก่เจ้าเล่า

วันนั้นเป็นความมืด

ไม่ใช่เป็นความสว่าง

5:18

วิบัติแก่ผู้ที่เอกเขนกอยู่ในศิโยน

และบรรดาผู้ที่รู้สึกตัวว่าปลอดภัยแล้วบนภูเขาสะมาเรีย

คือผู้มีชื่อเสียงแห่งประชาชาติชั้นเอก ในบรรดาประชาชาติทั้งหลาย

ผู้ซึ่งพงศ์พันธุ์อิสราเอลมาหานั่นน่ะ

6:1

ทั้งสองข้อนี้ขึ้นต้นด้วยคำว่า วิบัติ สองตอนนี้พระเจ้ากำลังเจาะเข้าไปที่ต้นตอแห่งความบาป ซึ่งก็คือ “ศาสนาจอมปลอม” นั่นเอง นี่คือต้นเหตุของความบาปของอิสราเอล

 

ในเมื่อเขาสนใจสิ่งอื่นที่มีคุณค่ามากกว่าพระเจ้าสิ่งนั้นกลายเป็นรูปเคารพของอิสราเอล เป้าหมายของเขามีแต่ความมั่นคง และความมั่งคั่ง และ สิ่งน้ันสำคัญกว่าพระเจ้า พระเจ้าจึงกลายเป็นเพียงเปลือกนอกของเขา ซึ่งในตอนนี้ไม่ต่างจากการกราบไหว้พระบาอัล เพราะเขานมัสการเพียงเพื่อหวังว่าพระเจ้าจะอวยพรเขาแบบเดียวกับพระบาอัล

 

เขาทำพันธมิตรกับอียิปต์ กับอัสซีเรีย มหาอำนาจในยุคนั้น ย่ิงทำให้เขาวางใจในความมั่นคงของเขาเข้าไปอีก แต่เขาลืมไปว่า พระเจ้า ต่างหากที่เป็นผู้ครอบครอง

 

SERIES III นิมิต

ซีรี่ย์ที่สาม ในหัวข้อการครอบครอง คือเรื่อง นิมิต

อยู่ในในบทที่ 7-9 มีนิมิตอยู่ห้าอย่าง

ตั๊กแตน พระเจ้าสามารถใช้ตั๊กแตนทำลายความอุดมสมบูรณ์ได้

ไฟ หมายถึงความแห้งแล้ง แผ่นดินที่กันดาร

สายดิ่ง การพิพากษา จะมาอย่างยุติธรรม ไม่ใช่เพราะตามใจพระเจ้า

กระจาดผลไม้ฤดูร้อน อ่านแล้วอาจงง แต่แท้จริงแล้วเป็นการเล่นคำในภาษาฮีบบรู คำว่า กระจาดผลไม้ คายีซ พ้องกับคำว่า เคยซ แปลว่าสิ้นสุด หมายถึง เวลากำลังจะสิ้นสุดแล้ว พระเจ้าถามอาโมสเจ้าเห็นอะไร อาโมสตอบ “คายีซ” กระจาดผลไม้ ดังนั้นและ “เคยซ” (เวลาสิ้นสุด) มาถึงแล้ว

นิมิตสุดท้ายอาโมสไม่ได้เห็นอะไรนอกจาก

พระเจ้าเองในฐานะผู้พิพากษา เพื่อมาทำลายความบาปชั่ว นั่นคือหายนะที่จะเกิดกับอิสราเอล

 

…………………………………………………………………………

หัวข้อที่สาม

 

3.พระวจนะของพระเจ้า

 

พระธรรมอาโมส เล่นกับเลข เจ็ด คือ คนอิสราเอลชอบเล่นเลขเจ็ด เพราะเลขเจ็ดเป็นเลขสมบูรณ์ แบบเดียวกับที่พระเจ้าสร้างโลกเจ็ดวัน

 

ในพระธรรมอาโมส ก็เล่นเลขเจ็ด ตอนที่ชนชาติที่จะถูกลงโทษ มาจบที่ยูดาห์ซึ่งเป็นชนชาติที่เจ็ด อิสราเอลก็น่าจะดีใจ เพราะครบแล้ว จบแล้ว แต่พอขยับมาพิพากษาอิสราเอลจึงเกินความคาดหมาย ก็มีสะดุ้งกันได้

หรือการใช้คำว่า

 

การละเมิดของดามัสกัส สามครั้งและสี่ครั้ง

การละเมิดของกาซา สามครั้งและสี่ครั้ง….

นี่ก็เป็นการเล่นคำ เพื่อจะสื่อว่าความบาปนั้นครบถ้วนสมควรที่จะถูกพิพากษาแล้ว

 

แล้วเรื่องตัวเลขกลายมามาเกี่ยวกับการเผยพระวจนะตอนนี้ได้อย่างไร สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่คำว่า “พระยาเวห์ตรัส” ซึ่งมีถึง 49 ครั้ง คุ้นๆไหม มันคือ 7×7 และเราจะยังพบอีกว่าว่าการเน้นคำว่า “พระยาเวห์ตรัส” ยังเป็นใจความหลักสำคัญของพระธรรมอาโมสด้วย

 

ลองคิดตามนะ อะไรคือการลงโทษที่รุนแรงที่สุดถ้าไม่กลับใจ?

การกันดารอาหาร?

ถูกศัตรูโจมตี?

บ้านเมืองพินาศ?

ตกเป็นเชลย?

 

พระเจ้าตรัสว่า

ดูเถิด วันเวลาก็มาถึง

เมื่อเราจะส่งทุพภิกขภัยมาที่แผ่นดิน

ไม่ใช่การอดอาหาร หรือการกระหายน้ำ

แต่ จะอดฟังพระวจนะของพระเจ้า

…เขาทั้งหลายจะวิ่งไปวิ่งมา เพื่อแสวงหาพระวจนะของพระเจ้า

แต่เขาจะหาไม่พบ…

ไม่ใช่ตั๊กแตน หรือ ไฟ แต่พระเจ้าจะส่งความกันดารลงมา และไม่ใช่การกันดารอาหาร แต่เป็นการกันดาร “พระวจนะ”

 

นี่เป็นโทษที่รุนแรงที่สุดแก่อิสราเอล คือ พระเจ้ากำลังจะบอกว่า เตือนถึง 49 ครั้งแล้ว (7×7) แต่ เมื่อเขาไม่กลับใจ จึงนำไปสู่โทษที่รุนแรงที่สุดคือ การไม่ได้ยินพระวจนะของพระเจ้า

 

ซึ่งเรื่องนี้เป็นจริงในภายหลัง เมื่อสะมาเรียถูกตีแตกและคนถูกต้อนไปเป็นเชลย ไม่มีผู้เผยพระวจนะไปเผยที่อัสซีเรียเลย ต่างจากยูดาห์ ที่ภายหลังก็ถูกพิพากษาและถูกกวาดไปเป็นเชลย แต่ก็ยังมีผู้เผยพระวจนะที่ไปเผยพระวจนะที่บาบิโลน เรื่องนี้จึงเป็นจริง และ เป็นโทษที่รุนแรงที่สุด คือการไม่ได้ยินพระวจนะของพระเจ้าอีก แม้เขาหา แต่จะไม่พบ

…………

หัวข้อที่สี่ คือ

4.ความสัตย์ซื่อของพระเจ้า

 

ในหมวดผู้เผยพระวจนะ ถ้าอ่านให้จบ แล้วเราจะเห็นสองด้านที่อยู่บนเหรียญเดียวกัน คือ

การพิพากษาเพราะพระเจ้ายุติธรรม และ ความเมตตาที่จะรื้อฟื้นให้กลับคืนสู่สภาพดี

 

การพิพากษาจากความยุติธรรม ไม่ได้เป็นเพียงแค่การพิพากษาสิ่งที่ชั่วร้าย แต่เป็นเพราะเขาผิดพันธสัญญา ซึ่งถ้าพระเจ้าต้องลงโทษผู้ที่พระองค์รักเพราะเขาทำผิดสัญญา ในทำนองเดียวกัน ถ้าเขาปฏิบัติตามพันธสัญญา พระเจ้าก็จะอวยพรเขาเช่นกัน

 

เรื่องนี้เป็นสองด้านของเหรียญที่ชื่อว่า พันธสัญญา

 

ในพระธรรมอาโมสตอนสุดท้ายจึงพูดถึงความสัตย์ซื่อตามพันธสัญญา แม้จะไม่มีคำว่าพันธสัญญาเลยก็ตาม แต่ว่าพระเจ้าจะลงโทษอิสราเอล เพราะ อิสราเอลละเมิดพันธสัญญา

 

การเข้ามาหาพระเจ้าของเขาแทนที่จะเข้ามาเพื่อลบล้างความผิด แต่กลายเป็นว่ายิ่งกลายเป็นการเพิ่มพูนความผิด เพราะเข้าเขามานมัสการ แต่ก็ออกไปนมัสการพระอื่น และ ชีวิตยังเต็มไปด้วยการโกงและอยุติธรรมอยู่ทั่วไป แทนที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์แต่เขากับยิ่งนับถือพระเจ้าแต่เปลือกนอก (3i)

 

ความไม่สัตย์ซื่อของอิสราเอลที่กำลัง ละเมิดพันธสัญญา ด้วยเหตุนี้พระเจ้าจะไม่อดทน จะจัดการกับอิสราเอล จึงมีหลายครั้งที่บอกว่า อิสราเอลจะต้องตกไปเป็นเชลย ดังที่กล่าวมาทั้งหมด

 

พระเจ้าบอกว่า จงแสวงหาเรา และ จะมีชีวิตอยู่

 

กลับมาที่ความสัมพันธ์กับพระเจ้า ไม่ใช่แค่พิธีกรรมทางศาสนา

พระองค์จึงมีสัญญาที่จะรื้อฟื้น และ จะรื้อฟื้นราชวงศ์ของดาวิด!

 

…ในวันนั้น เราจะยกกระท่อมของดาวิด

ที่ล้มลงแล้วนั้น ตั้งขึ้นใหม่…

ทำไมเป็นกระท่อม หรือ เรือน ทำไมไม่เป็นราชวงศ์ ทำไมไม่บอกว่า จะรื้อฟื้นอิสราเอล ทำไมต้องเป็น “กระท่อม”

ในภาษาเดิม “กระท่อม” “เรือน” ก็เหมือนกับ “เต้นท์” หรือ เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมนั่นก็คือ “ครอบครัว” ดังนั้นในมุมมองที่พระเจ้ามองต่ออิสราเอล ตามพันธสัญญา คือพระเจ้ามองว่านี่เป็นเรื่องของ “ครอบครัว” การรื้อฟื้นก็เป็นความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องโครงสร้างทางสังคม แต่เป็นการดูแลกันและกันแบบคนใน “ครอบครัว”

ครอบครัวที่ไม่ทิ้งกัน นี่คือชุมชนที่พระเจ้าทรงออกแบบไว้ เมื่ออิสราเอลไม่ได้ทำสิ่งนี้ จึงกลายเป็นการลงโทษ แต่ในท้ายที่สุดพระเจ้าก็จะรื้อฟื้น เพื่อให้เขากลับมาเป็นแบบอย่างต่อประชาชาติอยู่อย่างที่พระองค์เริ่มต้นไว้ตั้งแต่สัญญาที่ทำกับ อับราฮัม

 

สุดท้าย พระคัมภีร์ อาโมส ก็จบลงแบบนี้ จบด้วยการที่พระเจ้าจะทรงรื้อฟื้น ตามพันธสัญญา

 

………………………………………………………………

หัวใจของพระเจ้าที่สะท้อนในพระคัมภีร์ตอนนี้ เต็มไปด้วยหัวใจที่เป็นห่วงคนที่ลำบาก คนยากจน คนอ่อนแอ ลูกกำพร้า หญิงม่าย คนที่ดูแลตัวเองไม่ได้ เหมือนกับที่พระองค์เคยช่วยอิสราเอลตั้งแต่สมัยก่อน เมื่อพระองค์ช่วยอิสราเอล พระเจ้าก็คาดหวังให้เขาทำแบบเดียวกันกับผู้อื่น แบบเดียวกับที่พระองค์ทำกับเขา

 

นี่ คื อ หั ว ใ จ ข อ ง พ ร ะ เ จ้ า

 

เรื่องนี้ส่งผลไปยังพระคัมภีร์ใหม่ด้วย ในพระคัมภีร์ใหม่ พระเยซูมักจะใช้เวลากับคนที่สังคมรังเกียจ การประกาศเรื่องของพระเยซูเริ่มต้นที่คนเลี้ยงแกะ ไม่ต่างจากอาโมสซึ่งเป็นคนเลี้ยงแกะ เป็นชนชั้นที่ต่ำต้อยที่สุดในสังคม แต่พระเจ้าประกาศกับคนที่ต่ำต้อยก่อน

 

เมื่อ พระเยซู เริ่มราชกิจ ก็หยิบเอาอิสยาห์ขึ้นมาพูด ข่าวดีจะมาถึงคนจน

เมื่อเริ่มสอน ก็บอกว่า ผู้ใดเป็นคนยากจน จะเป็นสุข

เมื่อถึงคำอุปมาเรื่องงานเลี้ยง ที่ไม่มีใครมา พระองค์ก็บอกให้เชิญคนยากจน คนง่อย คนโรคเรื้อน เข้ามา แผ่นดินสวรรค์จะได้เต็มไปด้วยความชื่นชมยินดี

พระองค์ใช้เวลากับคนเก็บภาษี ใช้เวลากับผู้หญิง ที่ด้อยโอกาส คนที่สังคมรังเกียจ นี้คือหัวใจที่ช่วยเหลือผู้คน

นี่คือหัวใจของพระเจ้า ที่สะท้อนผ่านพระเยซูคริสต์

เมื่อพระเยซูเสด็จกลับสู่สวรรค์ ใครควร สะท้อนภาพหัวใจแบบนี้ ต่อ นั้นก็คือผู้เชื่อ

พระเจ้าคาดหวังและออกแบบไว้ตั้งแต่พระคัมภีร์เดิม ให้คริสตจักรเป็นชุมชนดังที่พระเจ้าออกแบบไว้ คนรวยดูและคนจน คนเข้มแข็งคอยพยุงคนอ่อนแอ มีการเข้าส่วนกันแบบเป็นห่วงเป็นใย ร่วมทุกข์ร่วมสุข อย่างกับคนในครอบครัว นี่คือสิ่งที่พระเจ้าอยากเห็น แต่ไม่เห็นในคนอิสราเอลในพระธรรม อาโมส

 

ถ้าเราบอกว่าเราเป็นคนที่รักพระเจ้า แต่เราไม่เอาใจใส่คนจน  indifferent เราก็ไม่ต่างจากเรื่องในอาโมส

ถ้าเรานมัสการ เราให้ใครเป็นศูนย์กลาง ถ้าเรามีอย่างอื่นที่เราเคารพมากกว่าพระเจ้า เราก็ idolatry

ถ้าเรานมัสการ เราบอกว่าเรารักพระเจ้าแต่เรากลับโกงคนอื่น เราก็ injustice

ถ้าเราบอกว่ามีพระเจ้า เราต้องแบบอย่าง เป็นตัวอย่างของพระคริตส์ สะท้อนหัวใจของพระเจ้าผ่านทางชีวิตของเรา

 

ในยากอบ การพูดถึง คนต่างชาติจะเข้ามาเชื่อพระเจ้าได้ไหม ยากอบอ้าง อาโมสบทที่เก้า ตอนนี้ ถึงเวลาแล้วที่พระเจ้าจะรื้อฟื้นกระท่อมของดาวิด ไม่ใช่แค่สำหรับคนอิสราเอล แต่เป็นครอบครัวใหญ่ ที่มีคนแตกต่างมากมายหลายชนชาติ เป็นครอบครัวใหม่ที่เปิดให้คนทุกชาติเข้ามาอยู่ใน “กระท่อม” ของดาวิดผ่านทางความเชื่อในองค์พระเยซูคริสต์

………………………………………….

ตอนนี้เรามีกระแสความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ เราออกไปได้ไหม? ก็เป็นไปได้ แต่สิ่งที่เรียกร้องอาจเป็นเพียงสิ่งที่อยู่ภายนอก เป็นโครงสร้างทางสังคม สิ่งนี้ไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิด เคยมีการเรียกร้องและเปลี่ยนแปลงมากมายใน ปวศ สิ่งที่เราอยากเปลี่ยนอาจหายไป แต่ไม่ใช่ถาวร เมื่อเวลาเปลี่ยน ก็เปลี่ยน ส่ิงที่เคยเรียกร้อง ในคำนิยามใหม่ มันไม่ได้หายไป แต่แปรเปลี่ยนไปตามเวลา

 

ดังนั้นถ้าจะอ่าน อาโมส สิ่งที่อาโมสกำลังเรียกร้องไม่ใช่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม แต่พระเจ้ากำลังใช้อาโมสมาปฏิรูปสังคมจากภายใน เริ่มต้นที่ความสัมพันธ์กับพระเจ้า

 

ถ้าเรามีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระเจ้า ก็จะสะท้อนออกมายังความสัมพันธ์กับผู้อื่น จากตัวเราไปสู่ครอบครัว จากครอบครัวเป็นชุมชน เมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็สามารถสะท้อนภาพไปถึงคนในบรรดาประชาชาติได้ ดังที่พระเจ้าเคยบอกไว้กับ อับราฮัม เราก็จะเป็นเกลือและแสงสว่างได้

 

ถ้าเราเห็นคนอื่นเป็นโครงสร้าง เราก็อาจต่างคนต่างอยู่ แต่ถ้าเรามองว่าเขาเป็นสมาชิกคนในครอบครัว เราก็จะอยู่นิ่งไม่ได้ เราต้องช่วยเขา และนี่เป็นการปฏิรูปสังคมจากภายใน

 

นี่เป็นเรื่องยาก เป็นภาระ เป็นพันธสัญญาที่เรามีกับพระเจ้า คริสตจักรจะทำหน้าที่แทนอิสราเอลเคยล้มเหลวในอดีต

 

นี่เป็นภาระ เป็น “ความหนัก” ที่ ผู้เชื่อต้องแบก และนี่สัมพันธ์กับชื่อของ “อาโมส” ที่แปลว่า “ภาระหนัก” อาโมส เอาเรื่องหนักๆมาให้อิสราเอลในเวลาที่เขาไม่อยากเปลี่ยน เขายังมั่งคง มั่งคั่ง ถ้อยคำของ อาโมส ก็มาถึงเราด้วย ว่านี่เป็นภาระที่ผู้เชื่อต้องแบก เพื่อจะได้เป็นเกลือ เป็นแสงสว่างแก่บรรดาประชาชาติ?

 

เมื่อคิดถึงการเปลี่ยนแปลง เราคิดถึงการเรียกร้องให้คนอื่นเปลี่ยน แต่ อาโมส กำลังเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่ตัวของเราจากภายในของตัวเราเอง คือ เร่ิมต้นที่ความสัมพันธ์กับพระเจ้า

 

อยู่ที่เราพร้อมจะแบก “ภาระ” นี่ไหม

.

.

.


Previous Next

  • Author:
  • เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก
  • Author:
  • อ.ธนิต โลเกศกระวี ผู้อำนวยการพระคริสต์ธรรมเชียงใหม่ (CTS) หรือ พี่ใช้ รุ่นพี่ผู้รับใช้ผู้มีไฟ และมีเป้าหมายที่จะสืบสาน และ ส่งต่อความเข้าใจในพระคัมภีร์ให้กับพี่น้องคริสเตียน และ ผู้รับใช้รุ่นใหม่ๆต่อไป