Your Name รีวิว

EP. 18

Your Name เราหลับตาฝันถึงชื่อใคร? [ชูโรง]


HIGHLIGHTS:

  • ความถวิลหาใครสักคนหนึ่งนั้นต่างเกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ทุกคนและเราแต่ละคนต่างมีความว่างเปล่าที่ต้องการได้รับการเติมเต็ม
  • ไม่ว่าจะเป็นใครศาสนาใดทุกคนต่างต้องการ “ใครสักคน” ที่จะเติมช่องว่างนั้นหากคริสเตียนเราเข้าใจประเด็นนี้ เราจะเข้าใจจิตใจของผู้อื่นมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อการประกาศด้วยนะ
    .

 

ทาคิ และ มิทซึฮะ

 

บทความใหม่ประจำเดือนของ Featured วันนี้ขอเสนอ  “ชูโรง” บทความถอดหนังสไตล์คริสเตียน โดย “ลุงหมีรีวิว” วันนี้ลุงหมีอยากจะขออนุญาตนำพวกเรามาพบกับ หนังเรื่อง Your Name (หลับตาฝันถึงชื่อเธอ) ภาพยนตร์การ์ตูนสัญชาติญี่ปุ่นที่กระแสแรงในบ้านเกิดจนประเทศสยามเราต้องนำเข้ามาฉาย แม้จะขัดใจเรื่องชื่อไม่น้อยแต่ลุงหมีเองก็อดใจไม่ได้ที่จะตีตั๋วเข้าไปดู

 

น้อง ๆ หลายคนคงได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว หลายคนอาจจะไม่ค่อยสบายใจที่หนังมีพื้นฐานความเชื่ออื่น แต่ถ้าเราไม่สบายใจแบบนั้นมันจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย อย่าลืมว่าเราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความเชื่อต่างๆ อยากให้เราเข้าใจว่าในแต่ละที่มีวัฒนธรรมประเพณีอยู่(เราที่เป็นคนไทยน่าจะเข้าใจดี) ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับความเชื่อ โลกของหนังก็เช่นเดียวกัน ผู้สร้างเค้าก็สร้างตามพื้นฐานของเค้าเท่านั้นเอง ส่วนเราผู้ชมก็ชมอย่างเข้าใจและเปิดกว้าง แบบนี้แฮปปี้และเฮลตี้ดีนะลุงหมีว่า

 

หลับตาฝันถึงชื่อเธอ

 

ตัวหนังเล่าถึงอะไร?

ตัวหนังเล่าถึง  “ทาคิ” หนุ่มน้อยชนชั้นกลางชาวกรุงโตเกียว และ “มิตซึฮะ” สาวสวยผู้ดีบ้านนอกที่บ้านเป็นศาลเจ้า  สำหรับสังคมญี่ปุ่นคนในตระกูลที่ดูแลที่ศาลเจ้าไม่สามารถทำงานอื่นได้เพราะ ถือว่าเป็นผู้มีอภิสิทธิ์

 

วัฒนธรรมที่หล่อหลอมเป็นอัตลักษณ์หรือความเป็นญี่ปุ่นนั้นได้รับอิทธิพลจากความเชื่อแบบชินโต ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าในแต่ละจังหวัดหรือพื้นที่จะมีวิญญาณเจ้าที่คอยดูแลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตามอาคารบ้านช่อง ถนนหนทาง หรือในป่าเขา คล้ายกับที่บ้านเราเชื่อว่ามีเจ้าที่ มีศาลพระภูมิตามบ้าน เพียงแต่ศาลที่ญี่ปุ่นเค้าอัพไซด์ใหญ่กว่าเรา ปกติแล้วศาลเจ้าแต่ละที่จะมีตระกูลหนึ่งเป็นผู้ดูแลและประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ  คนที่เกิดในตระกูลนี้ เช่น มิตซึฮะ นางเอกของเราก็จะมีหน้าที่สืบทอดดูแลศาลเจ้าและสืบทอดพิธีกรรมต่อไป ด้วยสาเหตุนี้เองหนังจึงให้สาวน้อยมิตซึฮะมีภาวะพิเศษทางวิญญาณติดตัวคือ เวลาที่เธอนอนหลับเธอมักจะไปสลับร่างกับใครสักคนหนึ่ง แล้วทั้งคู่จะแลกร่างกันวันบ้างสองสามวันบ้างแล้วค่อยกลับไปสู่ร่างที่แท้จริงของตัวเอง โดยผู้โชคดีที่มิตซึฮะไปสลับร่างด้วยก็คือ ทาคินั้นเอง ช่วงแรก ๆ ทั้งคู่ป่วนชีวิตของกันและกันอย่างสุดฤทธิ์ จนต้องสื่อสารกันผ่านไดอารี และแอพมือถือ  แต่ไม่เคยติดต่อกันแบบจริง ๆ  จนเหตุการณ์เลวร้ายครั้งใหญ่อันเป็นจุดพลิกผันของเรื่องเกิดขึ้น

 

หลังจากเหตุการณ์นั้นทั้งคู่ก็ไม่สามารถจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นหรือกระทั่งชื่อของกันและกัน เหลือเพียงแต่ความรู้สึกเหงาและถวิลหาใครสักคน ชีวิตเป็นไปอย่างเงียบเหงาและทรมาน

 

ตัวหนังเป็นไปตามลายเซ็นของผู้กำกับ มาโกโตะ ชินไค (Makoto Shinka)  ภาพสวยละเมียดเหมือนความฝัน ดนตรีงดงาม และอารมณ์ที่เหงาจับจิตของตัวละคร แต่หากมองให้ลึกลงไปภาพยนตร์การ์ตูนของมาโกโตะมักจะพูดถึงการแสวงหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะมาเติมเต็มชีวิต

 

 

ความเหงา

 

 

ความโหยหาที่เราต่างเผชิญ

มิตซึฮะและ ทาคิ ได้สะท้อนให้เราเห็นถึงความรู้สึกโหยหาที่มนุษย์เราทุกคนมีอยู่ลึก ๆ ในใจ ความรู้สึกเหงาที่เหมือนหลุมดำที่ไม่มีวันถมหมด หรือเป็นความร้อนรนในใจเหมือนไฟที่ไม่มีวันดับได้ เพียงแต่ความโหยหาของแต่ละคนในช่วงชีวิตต่าง ๆ อาจจะแตกต่างกันออกไป บางคนปรารถนาความอบอุ่นอ่อนโยนจากครอบครัวหรือเพื่อนฟูง (เหมือนทาคิ) บางคนต้องการใครสักคนที่ยอมรับในตัวตนที่แท้จริงของเขา (เหมือนมิตซึฮะ) บางคนอาจจะเรียกร้องความเคารพจากเพื่อนร่วมงาน หรือ บางคนอาจจะต้องการพิสูจน์คุณค่าของตัวเองด้วยสิ่งของ หรือ เงินทอง บางคนพึ่งคนไม่ได้ พึ่งวัตถุไม่ได้ ก็มุ่งหน้าแสวงหาสิ่งที่อยู่เบื้องบน เราทุกคนยอมมีช่องโหว่และความโหยหานั้นตลอดเวลา สิ่งเหล่านั้นเป็นเหมือนกับน้ำที่จะหล่อเลี้ยงหัวใจของเราให้อยู่ต่อไปบนโลกที่แห้งแล้งใบนี้ได้ แต่…

 

“ทุกคนที่ดื่มน้ำนี้จะกระหายอีก…” (ยอห์น 4:13)

 

ปาสคาล นักคณิตศาสตร์และนักศาสนาศาสตร์คนสำคัญของโลกได้บันทึกข้อเขียน ในครั้งที่เขาเดินเล่นริมแม่น้ำ ว่า

 

“สิ่งที่ความโหยหาและความสิ้นหวังนี้สะท้อนถึง  คือร่องรอยของความสุขแท้ที่มนุษย์เคยได้รับ ซึ่งบัดนี้เหลือเพียงแต่ความเลือนลางว่างเปล่า เขาพยายามอย่างไร้ผลที่จะเติมเต็มมันด้วยทุกสิ่งรอบกาย เขาแสวงหาสิ่งที่เขาไม่อาจพบและไม่มีผู้ใดช่วย สิ่งเดียวที่จะเต็มเติมหลุมที่ไร้จุดจบในหัวใจนั้นได้ คือสิ่งที่สมบูรณ์และนิรันดร นั่นคือ องค์พระผู้เป็นเจ้า” –( Blaise Pascal)

 

 

หลับตาฝันถึงชื่อเธอ

 

แล้วใครกันที่ชีวิตของเราแสวงหา?

 

“ในผู้อื่นความรอดไม่มีเลย ด้วยว่านามอื่นซึ่งให้เราทั้งหลายรอดได้
ไม่ทรงโปรดให้มีในท่ามกลางมนุษย์ทั่วใต้ฟ้า” – (กิจการ 4:12)

 

ย้อนกลับมามองตัวเรากันครับ เราเองยังมีสิ่งไหนหรือใครที่เราโหยหาอยู่รึเปล่า พระคัมภีร์ได้เปิดเผยให้เราเห็นว่าแท้จริงแล้ว “นามนั้น”  ที่มนุษย์ทุกคนแสวงหานั้นคือ “พระเจ้า” ไม่ใช่เพียงแต่คนญี่ปุ่นหรือคนไทยอย่างเรา ๆ เท่านั้น ทุกคนบนโลกใบนี้ล้วนแต่รู้สึกขาดหายและ เหือดแห้งฝ่ายจิตวิญญาณ เราต่างก็ต่างพยายาม หลายวิธีในการกลับคืนสู่ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้สร้าง ความทรงจำของคนเราต่อพระเจ้าอาจเลือนลางไป และวิธีการแสวงหาความหมายในชีวิตก็ต่างออกไป แต่เราทุกคนต่างรู้ในใจว่ามีใครคนหนึ่งซึ่งเราควรจะกลับไปหาเขา มีสายสัมพันธ์บางอย่างที่ตัดกันไม่ขาด เพียงแต่ไม่รู้ว่าคน ๆ นั้นเป็นใคร หรืออะไรกันแน่ที่ขาดหายไปจากใจของเรา ความขาดหายที่ว่านี้ไม่ได้พึ่งเกิดมาในสังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนต่างใช้ชีวิตวุ่นวายในสังคมเมืองเท่านั้น แต่เกิดมาตั้งแต่ในพระคัมภีร์แล้วครับเหมือนที่ผู้เขียนสดุดีก็ยังพูดถึงไว้ว่า

 

“ข้า‍แต่​พระ‍เจ้า พระ‍องค์​ทรง​เป็น​พระ‍เจ้า​ของ​ข้า‍พระ‍องค์ ข้า‍พระ‍องค์​จะ​แสวง​หา​พระ‍องค์
จิต‍ใจ​ของ​ข้า‍พระ‍องค์​กระ‌หาย​หา​พระ‍องค์ เนื้อ‍หนัง​ของ​ข้า‍พระ‍องค์​กระ‌เสือก‍กระ‌สน​หา​พระ‍องค์
ใน​ดิน‍แดน​ที่​แห้ง‍แล้ง​และ​อ่อน‍ระโหย ที่​ซึ่ง​ไม่‍มี​น้ำ” -(สดุดี 63: 1)

 

 

ความเชื่อ และความหวังใจไม่ใช่เรื่องไร้สาระ

 

“เราเชื่อในอะไร แสดงว่าเราตัดสินใจดีแล้วที่จะวางใจสิ่งนั้นดังนั้นอย่าดูถูกการตัดสินใจของผู้อื่น” ในฐานะที่ลุงหมีเองก็เรียนจบศาสนศาสตร์มา และเป็นคอหนังด้วยนั้น ก็อยากจะบอกน้องๆ ว่า ให้เราตามทันโลก แต่ไม่ต้องตามกระแสของโลก เวลาดูหนังก็ถามตัวเองว่าพื้นฐานของเรื่องนี้ มาจากความคิดความเชื่อแบบไหน และถ้าเราไม่หลงประเด็นไปเชื่อถือตามนั้น ซึ่งถ้าเราใช้มีวิจารณญาณและความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ก็ไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้ามเพราะการดูหนังก็เหมือนการเข้าใจคนอื่น วัฒนธรรมอื่นที่ผ่านมาในรูปแบบสื่อประเภทหนัง จริงๆ แล้วการเข้าใจวัฒนธรรมอื่นก็มีความจำเป็นอยู่บ้างด้วยเช่นการประกาศโดยเข้าใจเบื้องหลังวัฒนธรรม

 

น้อง ๆ เคยได้ยินข้อพระคัมภีร์ข้อนี้มั้ยครับ  “อย่าใส่ใจกับเทพนิยายอันหาสาระมิได้” (1 ธิโมธี 4:7) ต้องออกตัวเลยครับว่า ข้อนี้อาจารย์เปาโลเตือนทิโมธีถึง ”การสอนเทียมเท็จ”  ที่เกิดในโบสถ์ อันปะปนระหว่างความเชื่อเดิมของชาวโรมัน และเทพนิยายปรัมปราที่เป็นตำนานทางศาสนาที่มีคนเอามาสอนในโบสถ์และบิดเบือนข่าวประเสริฐของพระเยซูจนทำให้ผู้เชื่อหลงไป ลุงหมีก็เห็นด้วยกับข้อนี้

 

แต่ความเชื่อของคนภายนอกคริสตจักร ไม่ใช่การเทียมเท็จ และชื่อที่คนเหล่านั้นแสวงหาก็ไม่ใช่ความไร้สาระ และไม่ดีแน่ถ้าเราจะไปชี้หน้าตัดสินผู้อื่นแบบนั้นคนเค้าจะพาลเพลียคริสเตียนเอา  อาจารย์เปาโลเองก็ยังใช้ความเชื่อของชาวโรมันใน เป็นสะพานเชื่อมในการทำพันธกิจกับคนแถบนั้น เช่น “พระเจ้าองค์นั้นที่ท่านไม่รู้จักชื่อ” (กิจการ 17: 23) เราไม่ควรไปบอกคนอื่นว่า สิ่งที่เขาเชื่อนั้นไร้สาระ แต่ให้เราเข้าใจเบื้องหลังและสิ่งที่เขานั้นต้องการ เพื่อจะได้ใจของเขาเราต้องเข้าใจเขาก่อนนะ  : )

 

สุดท้ายนี้ลุงหมีอยากจะให้เราเองที่เป็นคริสเตียนมองอย่างเปิดกว้างและ อย่าลืมว่า ชื่อของพระเยซูนั้น แท้จริงเป็นชื่อที่เราทั้งหลายควรจะยึดมั่น และบอกเล่าออกไป เพื่อเป็นความหวังใหม่ให้กับผู้คนรอบข้างนะครับ ถ้าเหนื่อยก็พักดูหนังและนำข้อคิดที่ได้จากหนังไปพัฒนาตัวเองกันได้ แต่อย่าลืมว่าพระคัมภีร์และการรู้จักพระวัจนะสำคัญที่สุด

 

น้อง ๆ สามารถศึกษาพระคัมภีร์เพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นน่าสนใจ
– เทพนิยายอันหาสาระมิได้ จาก 1 ธิโมธี 4:1-16
– และ การประกาศโดยใช้ความเชื่อของคนท้องถิ่นเป็นสะพานเชื่อได้ จาก กิจการ 17:16-34
ศึกษาโดยอ่านพระคำ และสอบถามพี่เลี้ยงที่โบสถ์ หรือ Inbox มาถามพี่ๆ ชูใจก็ได้ด้วยนะครับ

 

 

ขอพระเจ้าทรงเติมเต็มผู้ที่แสวงหาพระองค์อย่างถึงที่สุดครับ
ลุงหมีรีวิว

 


 

อ้างอิง
ประวัติชีวิตของ ปาสคาล
http://www.doxologists.org/blaise-pascal/


Previous Next

  • Author:
  • ชายอบอุ่นที่มีหลากหลายมิติ มีทั้งมิติแห่งการเป็นผู้รับใช้ มิติของคุณครูภาษาอังกฤษ แถมด้วยมิติของการเป็นนักดูหนังตัวยง ชูใจจึงจีบมาเขียนรีวิวหนัง และบทความความรู้พระคัมภีร์ซะเลย
  • Illustrator:
  • Jostar
  • พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
  • Editor:
  • Perapat T.
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)