คริสเตียนกับการรับน้อง

EP. 40

คริสเตียนกับการรับน้อง


 

สิ่งที่ทำให้การรับน้องกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้น  ก็คงจะเป็นข่าวอื้อฉาวและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องซ้ำๆ ทุกปี ด้วยการดูแลที่ไม่ทั่วถึงทำให้เกิดการละเมิดทางเพศ ความรุนแรงต่อร่างกายจิตใจส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตาย กิจกรรมที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุซึ่งทำให้สูญเสียอวัยวะ หรืออันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิต เช่น กรณีการบังคับให้รุ่นน้องจูบปากกัน บังคับให้น้องทำอะไรน่าขยะแขยงๆ รุ่นพี่ทำระเบิดเพื่อใช้ในการรับน้องแล้วผิดพลาดสูญเสียแขนและขา บางกรณีก็ถึงกับเสียชีวิต

 

รับน้องจูบปาก

กรณีจูบปากชายหญิงที่สถาบันการศึกษาออกมาปกป้องว่า
ภาพที่หลุดออกมาเป็นมุมกล้องบ้างเป็นการแสดงบ้าง

__________________

เมื่อเหตุการณ์เป็นแบบนี้ในฐานะคริสเตียนเราควรวางตัวยังไง?

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าการรับน้องจะเป็นประเพณีที่เสื่อมทรามไปซะหมด ในโลกนี้ยังมีการรับน้องสร้างสรรค์ (อย่างน้อยก็ตามชื่อโครงการของบ้านเรา) และเพราะในแต่ละคณะ สถาบัน ก็มีรายละเอียดกิจกรรมที่แตกต่างกันไป ชูใจจึงอยากจะเสนอวิธีการและแนวคิดสำหรับคริสเตียนที่อาจต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเพณีรับน้องตามหลักการของพระคัมภีร์ เพราะเมื่อระบบการรับน้องยังอยู่คู่กับระบบการศึกษาไทย น้องๆ หลายคนจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงการต้องพบเจอกับผลกระทบหรือการเข้าไปมีส่วนกับกิจกรรมทำนองนี้

 

 

1. น้องต้องอยู่เป็น

 

รัฐธรรมนูญไทย ฉบับ 2560 มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า…


“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน”  

 

ดังนั้นตามทฤษฏี ไม่มีใครสามารถบังคับเราให้เข้าหรือไม่เข้ารับน้องได้ เพียงแต่การบอกว่าไม่บังคับตามกฏหมาย ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มี “แรงกดดันทางสังคม”  คนที่ไม่รับน้องอาจมีความรู้สึกอยู่ยากในสถานการณ์ที่คนส่วนใหญ่เออออตามคนหมู่มาก ลองมาดูกันว่ามีเหตุผลอะไรบ้างที่อาจจะทำให้น้องต้องเข้าร่วมรับน้องไม่ว่าจะสมยอมหรือเต็มใจ

 

ภาพโดย Chuttersnap

“ไม่เข้าไม่รู้จักเพื่อนนะน้อง”

 

อันนี้มีเหตุผลอยู่ส่วนหนึ่ง เพราะสังคมในมหาวิทยาลัยไม่เหมือนโรงเรียนมัธยมที่อยู่ด้วยกันในห้องวันละ 8 ชั่วโมง  แต่ละคนในมหาลัยมักมีเวลาไม่ตรงกัน คนนี้มีเรียน คนนี้ไม่มี คนนี้โดด คนนี้ดรอป วันดีคืนดีอาจารย์ก็นัดสอนซ่อมในวันที่เราไปโบสถ์หรือลาป่วย ใครจะเก็บชีทให้ ถ้าเรียนไม่รู้เรื่องใครจะนั่งติวด้วยกัน ไหนจะหนังสือและชีทฟรีจากพี่รหัส บางคนต้องการมีตัวตนในสังคม อยากมีประสบการณ์การทำกิจกรรม หรือ อยากเป็นแสงสว่างประกาศกับเพื่อน ถ้าไม่ค่อยมีเพื่อนคงลำบากหน่อยๆ (สารพัดความกังวลที่อาจจะส่งผลจริงหรือไม่ก็ได้)

 

 

“มิตรสหายก็มีความรักอยู่ทุกเวลา  และพี่น้องก็เกิดมาเพื่อช่วยกันยามทุกข์ยาก!
(สุภาษิต 17:17)



“ยามทุกข์ยาก” ที่ว่าอาจจะเป็นการ set up ขึ้นมาก็ได้ หลายคนอาจจะรับไม่ได้เพราะการจัดฉากของบางที่ดูเหมือนฉากหนังต้นทุนประหยัดไปนิด ตราบใดที่มันทำให้เรารู้จักกันมากขึ้น ถ้าเรามองว่า อืม… มันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร (ถ้ากิจกรรมนั้นไม่เลวร้ายจริงๆ) เราก็อยู่เพื่อสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ผ่านกิจกรรมที่เราสามารถเป็นเครื่องมือก็ได้อยู่

 

“ไม่รับน้องเรียนไม่จบนะจ๊ะ”

 

การไม่เข้าเรียนและไม่สอบน่าจะให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องกว่า การอธิบายหลักการแบบนี้ อาจด้วยเหตุผลทางสังคมที่มีวลีสวยๆ อย่าง “บินเดี่ยวไม่รอดนะจ๊ะ” (แต่ใบปริญญามีชื่อเราคนเดียวนะ) หรือแอบมีความเชื่อไสยๆ แฝงอยู่นิดๆ เช่น มหาลัยบางแห่งมีความเชื่อเรื่องการขึ้นดอยตอนรับน้องว่าถ้าไม่ขึ้นจะไม่จบ หรือถ้าไม่ไหว้พระประจำคณะก็จะไม่จบ สำหรับน้องที่เป็นคริสเตียนไม่ควรเก็บมาเครียดให้เสียเวลา และถ้าแอบเครียดว่าจะเรียนไม่จบจริง ขอให้น้องลองอธิษฐาน ตั้งใจเรียน และตักตวงมิตรภาพและความสนุกจากกิจกรรมในมหาลัยไปจะดีกว่า เพราะจากประสบการณ์ของการเรียนในมหาลัยของพี่แล้วพบว่า สิ่งที่จะทำให้น้องเรียนไม่จบคือ เกรด ตัวจบ และการเข้าเรียนไม่ครบนั่นเอง

.

“ขึ้นดอยไม่เกี่ยวเลย แต่ขึ้นดร๊อปในทรานสคริปต์เยอะๆ จบช้าแน่น๊อน!!!”

 

“ไม่รับน้อง จะไม่รู้เรื่องข้อมูลการเรียนเลยนะ”

 

ขอบคุณงานปฐมนิเทศ และมหาวิทยาลัยที่จัดเตรียมอาจารย์ที่ปรึกษาให้น้องๆ เรียบร้อยแล้ว ถ้าน้องมีรุ่นพี่ที่โบสถ์ที่เรียนมหาลัยเดียวกันยิ่งสบายใหญ่ หาตัวง่ายกว่ารุ่นพี่ที่มหาลัยเยอะ ยิ่งไปกว่านั้นการมีอินเทอร์เน็ตในศตวรรษที่ 21 ก็จะช่วยน้องได้ ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าไปนั่งรับน้องและร้องเพลง อ้อ เดี๋ยวนี้เค้ามีปฏิทินการศึกษาและเกรดอยู่ในเว็บด้วยนะ รู้ยัง!

 

แต่สำหรับคนที่ชอบหาข้อมูลด้วยการถามจากคนรอบข้าง การเข้ารับน้องเป็นแค่เครื่องมือให้เราได้หาเพื่อนในเบื้องต้น แต่เบื้องปลายแล้วน้องจะได้เจอเพื่อนทั้งในชั่วโมงเรียน ข้ามเมเจอร์ ข้ามคณะ ส่วนเด็กกิจกรรมก็ไม่ต้องพูดถึงว่าเรื่องเพื่อนนั้นคงหาได้ไม่ขาดแคลน เช่นนี้คำพูดที่ว่าถ้าไม่รับน้องจะไม่มีเพื่อนนั้น ก็จริงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ไม่ถึงกับชี้ชะตาที่เหลืออีก 4 ปีว่าจะไม่มีเพื่อนอีกเลย ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่สกิลในการเข้าหาเพื่อนของน้องมากกว่า

 

___________________________

 

สำหรับเราคริสเตียนก็ขอให้เลือกอย่างรอบคอบและมั่นใจในการตัดสินใจของเรานะครับ เพราะทุกการเลือกที่พึ่งพาพระเจ้านั้นย่อมเป็นหนทางที่ดีต่อเรา พระคัมภีร์พูดอยู่ว่า เราทำสิ่งสารพัดได้ไม่มีใครห้าม แต่ให้เราเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราอาจจะเข้าร่วมกิจกรรมไหน ไม่เข้าร่วมกิจกรรมไหนขอให้เราเลือกให้ดี และเรียนมหาลัยอย่างมีความสุข ^^

 

____________________________

 

2. พี่ต้องรับน้องด้วยความเห็นใจ 

 


สำหรับคริสเตียนที่ผ่านช่วงการรับน้องมาแล้วนั้น อาจจะต้องมีอันเข้าสู่การได้เป็นรุ่นพี่ที่ต้อนรับน้องใหม่ เราจะเป็นพี่ที่ดียังไงนั้นขอให้เราระลึกถึงสิ่งที่เราเคยผ่านมานะครับ

การสร้างบาดแผลในใจด้วยคำพูดเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ!

 

“ความตายความเป็นอยู่ที่อำนาจของลิ้น และบรรดาผู้ที่รักมันก็จะกินผลของมัน” – สุภาษิต 18:21

 

วิธีการ “ว๊าก”  ขัดกับหลักการของพระคัมภีร์อย่างสิ้นเชิง “ลิ้น” เป็นอวัยวะเล็กๆ และอวดอ้างเรื่องใหญ่ๆ (ยากอบ 3:5) พี่ว๊ากใช้อำนาจของลิ้นในการกล่าวอ้าง กฎระเบียบ ธรรมเนียมปฏิบัติ และมากกว่านั้นใช้ถ้อยคำที่กระทบกระทั่งเสียดสีจิตใจ พระคัมภีร์ไม่ได้ต่อต้านการด่าทอที่ออกมาเป็นเสียงดังๆ เท่านั้น แต่การพูดสุภาพที่เสียดแทงนั้น ก็เท่ากับการทำร้ายด้วยเช่นเดียวกัน คริสเตียนไม่ควรเป็นพี่ว๊ากแน่นอนเพราะแม้เราจะบอกว่าเป็นการแสดงหรือ เป็นการกระทำที่หวังดียังไง บาดแผลที่เกิดขึ้นเราไม่สามารถรับผิดชอบได้

 

 

เคารพกันด้วยใจไม่ใช่ข่มขู่ให้กลัว!

 

เจ้าจงให้เกียรติและแสดงความเคารพนับถือต่อผู้อาวุโส
และจงยำเกรงพระเจ้าของเจ้า…” (เลวีนิติ 19: 32)

 

ในชีวิตจริง การที่เราจะเคารพให้เกียรติใครสักคนได้ ก็เพราะคนนั้นทำคุณประโยชน์บางอย่างให้เรา สร้างแรงจูงใจบางอย่างให้เรา หรือมีฝีมือจนเป็นที่ยอมรับ ทำให้เรายกย่อง นับถือ และอยากเอาเป็นแบบอย่าง แต่… พอเป็นการรับน้อง เรากลับตีความเอาความแก่อาวุโส การพูดจาก๊ดดดดดัน หรือใช้พฤติกรรมรุนแรง (สำหรับคริสเตียนการให้เกียรติเป็นมากกว่าเพราะเขาควรได้รับ แต่เราให้เกียรติทุกคน)

 

แต่! วิธีการของพระเยซูที่ทำให้ทั้งสาวกและผู้เชื่อรักจนทุ่มกายถวายชีวิตให้ ไม่ใช่ความกลัวแต่เป็นความรัก

 

ในความรักนั้นไม่มีความกลัว แต่ความรักที่สมบูรณ์นั้นก็ขับไล่ความกลัวออกไปเสีย เพราะความกลัวเกี่ยวข้องกับการลงโทษ และผู้ที่กลัวก็ยังไม่มีความรักที่สมบูรณ์ เรารัก ก็เพราะพระองค์ทรงรักเราก่อน” (1 ยอห์น 4:18-19)

 

ชัดเจนนะครับ พระเยซูไม่ได้บังคับให้เรารักพระองค์ด้วยการข่มขู่ คุกคาม ลงโทษๆๆๆ แต่พระองค์ถ่อมสุภาพและเปี่ยมด้วยความรัก นั่นจึงทำให้เรารักพระองค์เพราะพระองค์ทรงเสียสละเพื่อเราก่อน เช่นกันเราก็ไม่สามารถบังคับให้ได้รับความรัก หรือได้ควาามเคารพจากคนอื่น โดยใช้ความกลัวมากดดันกันได้ การเชื่อฟังจากใจคือการให้เกียรติที่แท้จริงโดยไม่ต้องสร้างสถานการณ์ดราม่าใดๆ 

 

จงรักกันฉันพี่น้อง ส่วนการให้เกียรติแก่กันและกันนั้นจงถือว่าผู้อื่นดีกว่าตัว”
(โรม 12:10)

 

การเป็นพี่เป็นน้อง… ใช้ความรักก็ได้ ไม่จำเป็นต้องข่มขู่หรือกดดันให้ได้รับความเคารพ การถูกกดดันและสถานการณ์จำลองทำให้คนรักกันแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่การได้ร่วมทุกข์ร่วมสุข การเป็นแบบอย่าง การช่วยเหลือ และการให้อภัยต่างหากที่ถาวรกว่า (เรื่องของใจมันบังคับกันไม่ได้จริงๆ)

_____________________________


สรุปส่งท้าย :

 

การรับน้องที่สร้างสรรค์เช่น การรับน้องรถไฟ ของ ม.เชียงใหม่

การรับน้องเป็นประเพณีอย่างหนึ่งซึ่งเป็นประเพณีที่ดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคนที่นำมาใช้ ถ้าเราเข้าร่วมท่าทีที่ดีและความเข้าใจที่ถูกต้อง ในฐานะคริสเตียนเราควรมีจุดยืนบนพระคำของพระเจ้าและทำด้วยความรัก เพราะพระคัมภีร์บอกว่า “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่ท่านปรารถนาให้เขาปฏิบัติต่อท่าน” – (มัทธิว 7:12)

แต่ถ้าธรรมเนียมรับน้องที่น้องต้องข้องเกี่ยวข้องมันไม่โอก็ขอให้น้องใช้สติปัญญาในการหลีกเลี่ยงออกมาเพราะคริสเตียนเราก็ควรมีจุดยืน ไม่ใช่เข้าเมืองตาหลิ่วก็หลิ่วตาตาม เพราะว่าไม่ใช่ทุกสิ่งที่เค้าทำๆ กันนั้นจะเป็นสิ่งที่เราควรทำตาม

 

ห้ามประพฤติตามธรรมเนียมอันพึงรังเกียจ ซึ่งพวกเขาประพฤติกันอยู่ต่อหน้าเจ้า และห้ามทำตัวเจ้าให้เป็นมลทินด้วยสิ่งเหล่านี้ เราคือยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้า”
(เลวีนิติ 18:30)

 


ติดตามบทความใหม่ๆ ในคอลัมน์ #Featured ได้ทุกวันที่มีเรื่องเล่าหรือน่าสนใจ จับมาคุยกันในมุมมองคริสเตียนนะคะ ^^


Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
  • Illustrator:
  • Jostar
  • พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
  • Editor:
  • Jick
  • บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง