มนุษย์ Baby Boomer (ถึงจะลุงจะป้าแต่ก็น่ารัก)

EP. 2/8

มนุษย์ Baby Boomer (ถึงจะลุงจะป้าแต่ก็น่ารัก) [EP.2/8]


บทความนี้ใช้เวลาในการสแกนเจนประมาณ 8 นาที


 

Baby Bloomer (ยุคแห่งบุพผาชน)
[คือคนที่ เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2489-2507  –  อายุประมาณ  54 – 72 ปี]

________________

หลังจากเราได้ทำความรู้จักภาพรวมของแต่ละเจนแบบคร่าวๆ ไปแล้วในบทความแสกนเจน  EP.2 นี้เราจะมาเจาะลึกที่มาที่ไป และลักษณะของเจนเนอเรชั่น Baby Boomer เพื่อให้เข้าใจถึงบริบททุกด้านที่มีอิทธิพลต่อคนเจนนี้ เราจะอยู่ร่วมกับเขาได้อย่างไร และจะทำยังไงให้ทำงานกันได้อย่างมีความสุข  แต่การจะเข้าใจคุณลุงคุณป้าผู้น่ารักนั้นอาจต้องเท้าความไปถึงรุ่นปู่ย่าก่อนสักหน่อย

 

(โปรเตอร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ราวปี 2500)

 

ถูกสอนมาให้ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน และเป็นเจ้าคนนายคน

 

อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (คำขวัญวันเด็ก พ.. 2523)

 

พ่อแม่ของเบบี้บูมเมอร์นั้น คือคนในเจนเงียบ (Traditionalist หรือ Silent Generation แล้วแต่ตำรา) ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนึ่งในเจนที่เคร่งครัดที่สุดในประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่ ด้วยความที่พวกเขาเกิดและโตในยุคที่มีแต่สงคราม จึงมีความเข้มงวดเป็นอย่างมาก  กระทั่งถึงเวลาที่เบบี้บูมเมอร์เกิดนั้นแม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะจบลงแล้ว แต่ภาพของความแร้นแค้นยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของคนเจนเงียบ  เพื่อคงความเป็นชาติไว้ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยที่ถูกแนวคิดคอมมิวนิสต์รุกราน ชาวจีนอพยพ หรือกระทั่งพี่น้องชนเผ่าบนที่สูง จึงต้องพยายามรักษาประเพณีวัฒนธรรมและรากเหง้าของตัวเองไว้ ซึ่งสะท้อนได้ผ่านคำขวัญวันเด็กของผู้นำประเทศรุ่น Traditionalist หลายทศวรรษที่มักจะพบแต่คำซ้ำๆ เช่น มีวินัย ขยันประหยัด รักชาติ และสามัคคี (80% ของนายกไทยเป็นคนเจนนี้)

 

 

(ไพศาลศิลป์ 2506)

 

ดังนั้น มรดกทางคำสอนที่คนรุ่นเบบี้บูมได้รับการขัดเกลามาจึงเป็นเรื่องของประเพณี พิธีการ อดทน อดออม เพราะตอนที่พวกเขายังเด็กๆ ก็มักจะเห็นความลำบากของพ่อแม่ พอโตมาหน่อยก็มีความหวังที่จะทำให้ครอบครัวสบายขึ้น คนเบบี้บูมเมอร์จึงเป็นคนที่มีความกตัญญูรู้คุณอย่างมาก  คำสอนที่ฮิตๆ ของเบบี้บูมเมอร์ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากโลกทัศน์ของพ่อแม่มานั้นก็ตามยุคสมัย เช่น งานหนักไม่เคยฆ่าคน มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าหมิ่นเงินน้อยอย่าคอยวาสนา ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว พูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียงตำลึงทอง เป็นต้น

 

 

เบบี้บูมเมอร์ในไทยบ้างเป็นลูกของชาวจีนอพยพ (เสื่อผืนหมอนใบ)  บ้างเป็นหลาน คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็จะเข้าสู่แวดวงการค้าขาย และด้วยความขยันและประหยัด บางคนก็กลายเป็นเจ้าสัวไปแล้ว ส่วนคนไทยแท้ๆ ก็มักจะเข้าสู่งานราชการเพราะมีความมั่นคง สมกับสโลแกนของเจนนั้นคือ  “To be… เจ้าคนนายคน”

 

แล้วคริสเตียนคริสเตียนเบบี้บูมเมอร์ล่ะ?

 

  1. เบบี้บูมเมอร์รักคริสตจักรและผู้นำมากๆ

คริสเตียนเบบี้บูมเมอร์จะมีความภักดีต่อสังกัดและองค์กร มีความผูกพันกับคริสตจักรท้องถิ่นอย่างยาวนาน มุมมองต่อคนในคริสตจักรคือพี่น้อง-ลูกหลาน  คนเจนนี้ไม่เพียงแต่ทำงานตามระบบสายบังคับบัญชาในที่ทำงานอย่างเคร่งครัด แต่ยังเชื่อฟังและให้เกียรติผู้รับใช้พระเจ้ามากๆ  แถมพวกเขายังให้ความสำคัญกับผู้นำคริสตจักรในฐานะบุคคลที่พระเจ้าทรงเลือก เชื่อว่าผู้นำนั้นได้รับสิทธิอำนาจจากพระเจ้าและประกอบด้วยฤทธิ์อำนาจอีกด้วย

และด้วยการถูกปลูกฝังให้รักเคารพผู้นำแต่ไหนแต่ไร คนเบบี้บูมเมอร์จึงมีแนวโน้มที่จะปักทั้งหัวใจไว้ที่ ‘ตัวบุคคล’ มาก และอาจถึงขั้นใจสลายได้หากผู้นำของเขาพลาดพลั้งเรื่องใดๆ ก็ตาม  ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นคนเจนนี้ย้ายโบสถ์หรือเลิกเชื่อด้วยเหตุผลส่วนตัวเพราะเมื่อเขาได้เลือกอะไรแล้วเขาก็จะให้ใจกันแบบสุดๆ และนี่ก็คือความน่ารักน่ายกย่องของผู้เชื่อเจนนี้  เรียกว่าเชื่อด้วยสุดหัวใจกันไปเลย!

 

มุมมองต่อการรับใช้ของเบบี้บูมเมอร์ คือ “การรับใช้คือวิถีชีวิต” การรับใช้เป็นเสมือนส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นการรับใช้ตลอด 24 ชั่วโมง ทุ่มเทกายใจเพื่อพระเจ้า ไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์  สำหรับเบบี้บูมเมอร์แล้วการเรียนพระคัมภีร์ไม่ใช่เพื่อเพิ่มพูนความรู้ แต่เป็นการเพิ่มพูนความเชื่อและเพื่อการนำไปใช้  ดังนั้นพวกเขาจะยังมีแนวโน้มที่จะรับใช้พระเจ้าไปเรื่อยๆ โดยไม่มีคำว่าเกษียณเพราะ การรับใช้ไม่ใช่งานแต่เป็นวิถีชีวิตของพวกเขา

 

  1. รักษาความเป็นทางการ และรักษาความสัมพันธ์ไปพร้อมๆ กัน

อันนี้เป็นความพิเศษของคนเจนเบบี้บูมเมอร์ก็ว่าได้ เพราะพวกเขาได้รับการถ่ายทอดความเป๊ะปังอลังการของการทำศาสนพิธีต่างๆ มาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ พวกเขาจึงสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ดีไม่แพ้รุ่นก่อนหน้า แต่ที่เพิ่มเติมคือพวกเขายังเก่งเรื่องของการระดมคนอีกด้วย เพราะพวกเขาเกิดในยุคครอบครัวขนาดใหญ่ แถมยังมีความสนอกสนใจในชีวิตของผู้คน ในขณะที่คนยุคเงียบแม่นยำเรื่องพิธีการแต่ขาดความยืดหยุ่นแต่เบบี้บูมเมอร์ยืดหยุ่นกว่า อีกทั้งถนัดในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ เราจึงจะเห็นว่าคนเจนนี้มักจัดงานที่ระดมคนหมู่มาก เช่นจัดงานประกาศคนเป็นพันๆ หรืองานรวมตัวใหญ่ๆ และถ้าความสัมพันธ์อยู่ในระดับดี เบบี้บูมเมอร์จะให้ความร่วมมืออย่างสุดตัว เพราะเบบี้บูมเมอร์นั้น แม่นเรื่องพิธี แถมมีดีเรื่องคน

 

 

  1. ผู้หญิงเจนนี้รักการรับใช้มากและเครือข่ายทางสังคมแน่นปึ๊ก

 

แฟชั่นยุค 60 ของเบบี้บูมเมอร์(ใครว่าสาวๆ เบบี้บูมเมอร์ไม่ทันสมัย บอกได้เลยตอนว่าแฟชั่น 60 มาก็แซบอยู่นะ)

 

(แฟชั่นยุคนี้เรียกว่า แนว Mod)

 

ถ้าไม่นับรวมกลุ่มไลน์หนุนใจ ที่เอาไว้ส่งข้อพระคัมภีร์และสวัสดีวันจันทร์แล้ว คนเบบี้บูมเมอร์ก็ยังชนะขาดในสองเรื่องนี้  ด้วยสภาพสังคมสมัยก่อนที่ยังไม่เปิดกว้างสำหรับผู้หญิงนัก ทำให้ผู้หญิงเบบี้บูมเมอร์มีเพียงหยิบมือที่ได้รับการศึกษาขั้นสูง พวกเธอจึงดำรงตำแหน่งแม่บ้านหรือแม่ค้าเสียส่วนใหญ่ ทำให้เครือข่ายทางสังคมของบรรดาแม่ๆ นั้นแข็งแกร่งมาก โดยไม่ต้องพึ่ง Social Media พวกเธอคือขุมพลังอันยิ่งใหญ่ของคริสตจักร ที่มีเวลาพร้อมเสมอสำหรับการรับใช้  มีทีมงานแม่บ้านอยู่ในทุกภาคส่วนของการรับใช้ ทั้งทีมต้อนรับ แม่ครัว ทีมประกาศ ผู้สอน ครูรวี ทีมนมัสการ ก็ล้วนแล้วแต่มีคณะสตรีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ประสบการณ์ก็แน่น แถมมนุษย์สัมพันธ์เป็นเลิศ แน่นอนว่าพวกเธออาจจะเคยชินกับรูปแบบการรับใช้เดิมๆ ไปบ้าง แต่ถ้าความสัมพันธ์ดีแล้วเขาจะพร้อมเปิดใจรับฟังคนรุ่นใหม่ในการปรับปรุงงานรับใช้หลากหลายด้าน  เพราะเบบี้บูมเมอร์มองว่า ทุกคนคือครอบครัวเดียวกันนั่นเอง เบบี้บูมเมอร์จึงพร้อมสนับสนุนคนรุ่นใหม่เสมอถ้าได้ใจกัน (สำหรับเบบี้บูมเมอร์แล้วความสัมพันธ์ที่ดีคือกุญแจมัดใจ)

 

 

  1. เบบี้บูมเมอร์เป็นคนทัน(ทุก)สมัย

 

ไทยไดมารู

 

#อยู่มาทุกยุค! ตั้งแต่ห้างไทยไดมารูยันเซ็นทรัลเวิร์ล บางท่านอายุเท่ากับอายุคริสตจักรเลยแหละ และการที่เห็นอะไรๆ มามากก็อาจทำให้ติดกับอะไรเดิมๆ บ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเบบี้บูมเมอร์ไม่ทันสมัยนะ เพียงแต่ต้องให้เวลาอัพเดทกันนิดนึงเท่านั้นเอง เบบี้บูมเมอร์ไม่ได้ปิดโอกาสในการมีไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ หลักฐานอยู่ในผลสำรวจของ ETDA (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ฯ) ที่ได้ข้อค้นพบว่าว่า เบบี้บูมเมอร์ก็ไม่ได้น้อยหน้าเจน X เจน Y เลยเรื่องของการออนไลน์

 

 

ใช่แล้ว เบบี้บูมเมอร์สามารถใช้สมาร์ทโฟนเซลฟี่อวดเพื่อน ดูรายการทีวียอดฮิต ฟังเทศนาผ่านยูทูป อ่านเพจชูใจ พวกเขาปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีได้หากจำเป็นในการเชื่อมต่อเขาให้เข้ากับหมู่เพื่อนฝูงญาติพี่น้อง และแม้เมื่อก่อนจะเคยบ่นลูกหลานเรื่องติดมือถือ แต่ชั่วโมงการใช้งานอินเตอร์เน็ตของเบบี้บูมเมอร์ก็สูงถึง 4 ชั่วโมงกว่าๆ ต่อวัน! (น้อยหน้าซะที่ไหน สวัสดีวันจันทร์จ้า!)

แต่กลับกัน ในแง่การทำงานแล้วเหล่าเบบี้บูมเมอร์อาจไม่ได้ถนัดในการใช้เทคโนโลยีเท่าไหร่นัก ถึงแม้จะปรับตัวให้ใช้เท่าที่จำเป็นได้ แต่ก็ยังถนัดคุยงานแบบเห็นหน้ามากกว่าผ่านวีดีโอคอล ส่งงานผ่านอีเมล์ได้ก็หรูที่สุด ณ จุดที่ยืนอยู่แล้ว

 

 

เจน X และ Y จะอยู่ร่วมกับเบบี้บูมเมอร์อย่างไรให้มีความสุข?

 

– สื่อสารกันด้วยความเข้าใจ

การทำงานหรือการรับใช้ก็ตาม ถ้าสามารถทำตามขั้นตอน ระบบระเบียบ จะช่วยให้คนเบบี้บูมเมอร์สบายใจ ถึงจะช้าและทำให้คนเจน X เจน Y อึดอัดที่ต้องทำตามกฏระเบียบไปบ้าง  เปิดใจพูดคุยต่อรองกันดู ไม่ควรยึดติดกับกฏเกณฑ์แบบทำนอง “ก็มันระบบเป็นมาอย่างนี้ ก็ต้องทำอย่างนี้” แต่ใช้วิธีการอธิบายและพูดคุยด้วยความเข้าใจจะดีกว่า โดยเฉพาะในเรื่องของการรับใช้นั้นมีส่วนผสมของความสัมพันธ์อยู่ด้วยมากกว่างานทั่วไป ถ้ารักษาความสัมพันธ์อันดีกับเบบี้บูมเมอร์ให้เขาเข้าใจได้ไม่ว่าจะงานรับใช้ หรือสายสัมพันธ์ในครอบครัว ก็มีความเป็นไปได้ที่จะวิน-วินทุกฝ่าย

คนเจน X และ Y ต่างต้องการได้แสดงความคิดเห็น และมีพื้นที่ในการทดลองแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ดังนั้นเขาจึงมองคำสั่งของเบบี้บูมเมอร์ว่าเป็นการบังคับ (ถึงแม้ด้วยเจตนาดี หรือเพื่อรักษาความเป็นระเบียบของส่วนรวมก็ตาม) แต่อย่างไรก็ดี ลองเปลี่ยนคำพูด-วิธีการทำงาน หรือการรับใช้ด้วยกันในโบสถ์ แทนที่จะเป็นการออกคำสั่ง แต่ลองถามเป็นคำถามปลายเปิดดูว่า “คิดเห็นยังไง?” “จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ยังไง?” “ไหนลองอธิบายเหตุผลสิ?” ก็จะทำให้เจน X และ Y รู้สึกถึงประตูแห่งการทำความเข้าใจที่ถูกเปิดออกมา และทำให้เกิดข้อตกลงใหม่ๆ ของการอยู่ร่วมกันในที่สุด

 

– ไม่ควรเหมารวมเบบี้บูมเมอร์ว่าเป็น “ผู้ใหญ่ที่ไม่ทันยุค”

การเหมารวมว่าท่านเหล่านั้นเป็น “ผู้ใหญ่” อาจทำให้เรามองข้ามความเป็นบุคคลที่มีจิตใจความรู้สึกและความต้องการ การให้ความสำคัญแก่การและกัน ลองรับฟังและพูดคุยกันดู จะได้เห็นว่าเบบี้บูมเมอร์นั้นไม่ได้เป็นคนที่ปิดกั้น แต่อาจเข้าถึงง่ายเสียด้วยซ้ำ

 

 

แม้โลกจะเปลี่ยนไปแต่เครื่องมือเดียวที่ยังคงใช้ได้ในทุกสมัยก็คือ ‘ความรัก’  เพราะความรักสามารถผูกพันทุกสิ่งไว้จนสมบูรณ์แบบได้ แม้แต่ช่องว่างระหว่างวัยก็ไม่มีข้อยกเว้น

 

ในตอนหน้า Church & Gen “คนละรุ่นเดียวกัน” จะมาพูดถึงเจน X กัน รอติดตามด้วยการกด See first บนหน้าเพจชูใจนะและสำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านตอนแรก ครับ สามารถอ่านตอนอื่นๆในซีรีส์นี้ ได้ทาง >>> https://www.choojaiproject.org/category/articles/featured/churchgen/

 

 

 

*บทความนี้เขียนและรวบรวมขึ้นมาเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีสำหรับคนหลายวัย โดยชี้ให้เห็นถึงบริบททางสังคมที่มีอิทธิพลต่อผู้คนในแต่ละยุคอย่างกว้างๆ เพื่อให้เข้าใจถึงอิทธิพลของสังคมที่มีผลต่อมุมมองของคนแต่ละวัยเพื่อสร้างความเข้าใจแก่กันและกัน ทั้งนี้บริบททางสังคมเป็นเพียงส่วนประกอบเดียวในการรับรู้ของบุคคลซึ่งไม่ได้เป็นตัวกำหนดความคิด แบบแผนพฤติกรรมทั้งหมด ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ทำให้แต่ละคนมีความแตกต่างกันด้วย

อ้างอิง :
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ. 2557. พฤติกรรมและแนวความคิดของ Baby Boomers ประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ. (ออนไลน์). จาก http://www.ditp.go.th/contents_attach/89588/89588.pdf  สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม  2018
สำนักยุทธศาสตร์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน). 2560. รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2560. (ออนไลน์). จาก https://www.etda.or.th/publishing-detail/thailand-internet-user-profile-2017.html สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม  2018

Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
  • Illustrator:
  • Jostar
  • พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
  • Editor:
  • Jick
  • บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง