ผู้รับใช้เจน Y ขออธิบายเกี่ยวกับเด็กเจน Z

EP. 5/8

ผู้รับใช้เจน Y ขออธิบายเกี่ยวกับเด็กเจน Z [Church & Gen ตอนที่ 5]


บทความนี้ใช้เวลาในการอ่านประมาณ 8 นาที


 

Gen Z – เซนเทนเนียล
[คือคนที่เกิดตั้งแต่ปี 
พ.ศ. 2540 อายุประมาน 20 ปีลงไป]

________________

 

ในตอนที่นักวิชาการและนักการตลาดกำลังตื่นตัวเกี่ยวกับคน เจนมิลเลเนียล หรือ เจน Y กันได้ไม่เท่าไหร่ คนรุ่นเซนเทนเนียล หรือ เจน Z ก็โตมาเป็นวัยรุ่นแทนซะแล้ว กว่าผู้ใหญ่ทั้งหลายแหล่จะรู้ตัว ณ เวลานี้ เด็กอนุชนที่หลายๆ โบสถ์พูดถึงนั้นกลายเป็นช่วงยุคของคนเจน Z และไม่ว่ารู้ตัวหรือไม่ ในอีกไม่เกิน 2 ปี เด็กๆ เหล่านี้ก็จะเริ่มเข้าสู่ วัยการทำงานเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้วล่ะครับ แถมบางคนก็จะก้าวสู่การเป็นผู้รับใช้ซะด้วย

 

และเพราะโลกตอนนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จนหลายคนตามไม่ทันเลยทีเดียว  และด้วยความที่เราหลายคนยังไม่รู้จักเจน Z เท่าไหร่นัก ชูใจโปรเจ็คจึงออกทำการสำรวจ และทำการสัมภาษณ์เล็กๆ เกี่ยวกับมุมมองและประสบการณ์ของคนเจน Y ที่เรียกได้ว่าใกล้ชิด และมีไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงชาวเจน Z มากที่สุด เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้อ่าน หวังว่าบทสัมภาษณ์นี้ จะเป็นประโยชน์กับคนที่ต้องทำงานกับเจน Z ไม่มากก็น้อย ปะลุยเลยเถอะ!

 

 

*บทความนี้เป็นเพียงประสบการณ์และความคิดเห็นของคนเจน Y กลุ่มหนึ่งที่มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับคนเจน Z เท่านั้น และเป็นเพียงการนำเสนอผลการสัมภาษณ์เบื้องต้น ไม่ใช่ผลการวิจัย*

 

________________________

 

 

คำถามที่ 1 : เอาจริงๆ นะ คิดว่าเด็กรุ่นเจน Z เป็นคนยังไง?

 

1.1 เป็นตัวของตัวเองสูง และไม่ชอบกรอบ

 

อาจารย์ท่านหนึ่ง : “เป็นคนที่เป็นตัวของตัวเองสูงมาก  มีความมั่นใจ ต้องการอิสระไม่ชอบกรอบ ชอบความรวดเร็ว ไม่ค่อยมีความอดทน แต่อยู่กับเทคโนโลยีได้เป็นวันๆ ”

ชูใจทีม : “ฟังๆ ดูแล้วก็ไม่ค่อยต่างกับที่เจนผู้ใหญ่ มองเจน Y เท่าไหร่นะครับ”

อาจารย์ท่านหนึ่ง : “เจน Z คือขั้นกว่าของเด็กเจน Y ครับ เพราะเจน Y เนี่ยยังเติบโตมากับอะไรที่มันออฟไลน์บ้าง แต่เจน Z เค้าจะออนไลน์หมด เค้าจะคิดว่าเค้าทำทุกอย่างได้เอง เค้าต้องการอะไรแค่เสิร์ชเค้าก็ได้มาแล้ว ดังนั้นเวลาเราบอกให้ทำอะไรเค้าก็จะไม่ค่อยเชื่อในวิธีการของเรา เค้าเชื่อสิ่งที่เค้าหาได้จากอินเตอร์เน็ต”

 

ไม่ต่างกันกับ ผู้ให้สัมภาษณ์อีกคนที่ทำงานตำแหน่งเดียวกันในอีกสถาบันหนึ่ง ซึ่งบอกกับเราว่า “เด็กๆ ค่อนข้างมีโลกของตัวเองสูง เข้าถึงได้ยากมากแม้อายุจะห่างกันไม่กี่ปี” ในทำนองเดียวกันเมื่อลองสัมภาษณ์ทางแชทกับคุณครูฝึกสอนโรงเรียนอินเตอร์แห่งหนึ่งอย่างไม่เป็นทางการก็พบกับคำตอบแบบเดียวกันอีกด้วย

 

 

คำตอบเหล่านี้ไม่ใช่ข้อค้นพบใหม่แต่อย่างไรครับ ด้วยการที่เทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันมีเป็นตันๆ เด็กๆ ได้รับข้อมูลมากมายพวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะเชื่อในข้อมูลที่ได้รับมากกว่า วิธีการที่เขายังไม่แน่ใจว่าใช้ได้ผลไหม เพราะคำว่า “มันต้องทำแบบนี้” หรือ “ก็เข้าทำมาแบบนี้” นั้นไม่ได้ผลอีกต่อไป  เมื่อลองสอบถามเด็กบางคนก็จะพบว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ การได้ลองทำตามวิธีการที่เค้าได้รู้มา แล้วลองผิดลองถูก  ลองปล่อยให้เขาได้ทำตามวิธีที่พวกเขาคิด ถ้ามันไม่ดีเดี๋ยวเขาจะมาถามเอง

 

อย่าพึ่งหวั่นใจไปนะครับพี่ๆ ทั้งหลาย ลองเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทดลองทำตามความคิดของตัวเองดูก่อน ในฐานะผู้ที่ทำงานกับเด็ก อาจารย์ที่เราสัมภาษณ์เสนอว่า “เวลาให้ทำอะไรสั่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอธิบายจุดมุ่งหมาย ว่าทำอะไรเพราะอะไร เค้าอาจมีข้อเสนอกลับ และเสนอวิธีของเค้าอีกด้วย ต้องฟังให้มาก ใช้ชีวิตกับเค้าและเรียนรู้กับเค้า”  เพราะวิธีการเรียนรู้ของแต่ละเจนนั้นไม่เหมือนกัน เจน Z เกิดมาพร้อมข้อมูลสำเร็จรูปที่สรุปมาให้เสร็จสรรพ หรือมีต้นแบบผู้ประสบความสำเร็จให้ได้เห็นเพียบ  เพียงแต่เค้ายังขาดประสบการณ์เรียนรู้จากการได้ทดลองทำซักหน่อยความล้มเหลว หรือความสำเร็จจะทำให้เขาเรียนรู้ได้มากขึ้น

 

by Jason Rosewell

 

1.2 เจน Z ความอดทนน้อย(ลง) สมาธิสั้น(ลง)

 

“เมื่อก่อนเรานั่งฟังเป็นวันคิดตามภาพครูบอก ตอนนี้สื่อมันเยอะมาก เด็กเกิดมาเห็นภาพเคลื่อนไหวมากมายภายใน 1 นาที สมองส่วนรับภาพทำงานดี แต่สมาธิสั้น ชอบให้ตื่นเต้นตลอดถ้าไม่จะเบื่อเลย  เราก็เลยต้องเตรียมสื่อการสอนไว้เยอะๆ ครับ”  – คุณครูภาษาอังกฤษโรงเรียนเอกชนของคริสเตียน

 

การจะจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานานนั้นแทบจะไม่ใช่วิสัยของเด็กเจน Z อีกแล้ว เพราะพวกเขารับรู้สิ่งต่างๆ พร้อมๆ กันหลายช่องทางอยู่ตลอด และด้วยเทคโนโลยีที่ต่างตอบสนองทุกอย่างเร็วไว พวกเขาจึงไม่ค่อยชินกับการรอคอย เท่าไหร่ ที่เป็นแบบนี้ไม่ใช่ความผิดใคร เป็นเพราะวิธีการสื่อสารมันเปลี่ยนไป คนเจนเบบี้บูมอาจรู้สึกโรแมนติกกับการรอคอยการตอบจดหมายจากคนรัก เจน X อาจรอคิวต่อกันเพื่อนแย่งกันใช้ตู้โทรศัพท์เพื่อคุยกับคนพิเศษ  หรือคนเจน Y ที่มีประสบการณ์ต้องโทรคุยกันเมื่อว่างในตอนเย็นคุยยาวไปจนถึงเช้า ให้แม่บ่นเล่นว่า “คุยกันจนสายไหม้”  แต่เด็กเจน Z ส่งข้อความหากันตลอดเวลา ไม่เว้นแม้เวลา กินข้าว อาบน้ำ นั่งส้วม หรือตอนครูสอน

 

“เดี๋ยวนี้ประกาศเรื่องพระเจ้าในมหาลัยยากขึ้นครับ  บางทีน้องๆ ทำเหมือนฟังแต่ไม่ได้ฟัง  เค้าไม่จดจ่อที่เรา จะหลุดไปกับมือถือตลอด ” – ประธานชมรมคริสเตียนในมหาลัย

 

“เค้าถูกดึงดูดง่ายขึ้น ตัวอยู่ที่นึงใจอยู่ที่อื่น”  ด้วยความที่เจน Z นั้นมีมือถือติดตัวตลอดเวลา พวกเขาแทบจะไม่มีเวลาหยุดว่างจริงๆ แม้ซักนาที และการเล่นมือถือก็เป็นวิธีป้องกันตัวเองจากคนแปลกหน้าที่ดีซะด้วย  การที่เราจะเข้าไปพูดคุยกับเขาในขณะที่เขามีสิ่งอื่นที่ให้ความสนใจนั้น ยากเย็นกว่าสมัยก่อนแน่นอน  แต่ความจริงการอยู่เฉยๆ แล้วนั่งตาลอยแบบคนสมัยก่อนนั้นก็ไม่ได้เลวร้ายไปกว่าการเล่นมือถือซักเท่าไหร่  สำคัญกว่าว่าเราจะดึงความสนใจยังไงมากกว่า

 

เรียกร้องความสนใจยังไงดีล่ะ? : เด็กเจน Z มีความสนใจเฉพาะด้าน และถูกดึงดูด้วยคนที่มีความสนใจคล้ายกัน เพราะเติบโตมาให้ยุคที่ทุกคนเลือกสิ่งที่ตัวเองชอบ  คืออยากทำอะไรก็เลือก สนใจอะไรก็เสพ (Program On Demand ) พวกเขาไม่ได้ดูทีวีช่องเดียวกัน  ฟังเพลงค่ายเดียวกัน  อีกต่อไป เพราะพวกเขาไม่ตลาดๆ(Mass) แต่เป็นพวกเฉพาะกลุ่ม (Niche)  เราอาจทำพันธกิจหรือ เข้าหาเขาด้วยกิจกรรมตามความสนใจให้มากขึ้น เราต้องยอมรับว่า เขาจะสนใจเฉพาะในสิ่งที่เขาสนใจก่อนเท่านั้น และจะเลือกฟังกับคนที่เขาอยากฟัง  และเมื่อเขาอยากรู้เรื่องของคริสเตียนเมื่อไหร่ คริสเตียนก็ควรมีพื้นที่เปิดที่รองรับเขา ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ที่เปิดรับอย่างเป็นมิตร หรือ ข้อมูลที่พร้อมในโลกออนไลน์

 

“คนเจนก่อนอาจประทับใจเมื่อรู้ว่าคนนี้เป็นคริสเตียน และค่อยรู้ว่าเขาทำอะไรสำเร็จบ้าง
แต่เด็กเจน Z ชอบที่จะรู้ว่าพวกเขาทำอะไรสำเร็จบ้าง แล้วค่อยรู้ว่าเขาเป็นคริสเตียนที่น่าประทับใจ”

 

by Kelly Sikkema

 

1.3 ไม่ค่อยสื่อสาร ความสามารถในการเผชิญหน้าลดลง

 

ในบรรดาผู้ให้สัมภาษณ์ทั้ง 7 คนอันประกอบด้วย อาจารย์สอนศาสนา เจ้าหน้าที่ในสถาบันพระคัมภีร์ ครู ผู้รับใช้ กรรมการอนุชน และ ประธานชมรมคริสเตียน ต่างลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า วัยรุ่นเจน Z ใช้การสื่อสารในชีวิตจริงกับคนนอกกลุ่ม น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ประธานชมรมคริสเตียน เล่าในชูใจทีมฟังอีกว่า เวลามอบหมายงานให้ ส่วนใหญ่เจน Z เค้าจะไม่ค่อยถามว่าต้องทำยังไง จะเก็บไว้ในหัว พอมาทำจริงก็เลยอาจจะทำไม่ได้ตามนั้น รุ่นพี่ต้องเข้าไปโค้ชมากขึ้น  พอเค้ารับงานมาเค้าจะเก็บเอาไปคิด และทำเอง ดังนั้นเราต้องเข้าไปถามไถ่”

 

“สมัยเราต้องคุยกับคนตรงหน้า คนที่ชอบเก็บตัวก็จะปลีกตัวไปทำกิจกรรมอื่นเลย แต่เดี๋ยวนี้คนชอบสังคม (Extrovert) ก็คุยกับเราไปด้วยคุยกับคนในมือถือไปด้วย ส่วนคนเก็บตัว (Introvert) ก็มีโลกส่วนตัวอยู่กับมือถือไปเลย” –  ประธานอนุชน

 

“มีปัญหาไม่ค่อยเข้าหาครับ ปัญหาเลยเรื้อรัง การสื่อสารด้วยการพูดน้อยลง เปอร์เซ็นต์การเผชิญหน้าน้อยลง แต่เอาไประบายลงเฟสลงทวิตเตอร์ เวลาติดต่อประสานงาน online เกินไปครับเรื่องด่วนไม่โทร ถ้าโทรก็จะโทรไลน์  โทรเฟส มันก็ไม่เสถียรไม่เป็นทางการ เราก็ไม่รู้ว่ามันเร่งด่วนแค่ไหน”  – อาจารย์พระคริสตธรรม

 

“อย่างเวลาเค้าติดต่อบุคคลภายนอกไปทางเฟสบุ๊ค  แล้วเค้ามีคำถามกลับเรียงรายละเอียดมาเด็กตกใจครับ นึกว่าเค้าโกรธเพราะเด็กก็อ่านแต่ตัวอักษรแล้วไม่เข้าใจอารมณ์คนพิมพ์  หรือเวลาเค้าไม่ตอบทันที เด็กก็เครียดครับ แต่ก็ไม่ทำอะไรนะ รออย่างเดียวบางทีงานก็เลยไม่เคลื่อน”  – ผู้ดูแลนักศึกษา

 

จะต้องสื่อสารกับเจน Z ยังไง : เรื่องการสื่อสารหน้าต่อหน้าที่ลดลงนั้นเพราะเจน Z เติบโตในยุคที่สมาร์ทโฟนเฟื่องฟู ประกอบกับ พอแม่มีเวลาน้อยลง และมีลูกน้อยคน ทั้งครอบครัวก็ได้พร้อมหน้าพร้อมตาเท่าแต่ก่อน การที่อยู่กับเทคโนโลยีมากขึ้นทั้งที่บ้านและโรงเรียน ก็ทำให้ความสามารถในการสื่อสารในโลกแห่งความเป็นจริงน้อยลงอีกด้วย  สิ่งที่จะช่วยคนเจน Z ได้ก็คือ ต้องช่วยเขาในการแนะนำแต่ไม่ใช่สอน และพยายามถามไถ่เขา ทำให้เขารู้ว่าสามารถเปิดใจพูดคุยกับเราได้ และเราเข้าใจเขา บางครั้งก็ต้องสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้เขากล้าที่จะปรึกษา หรือเผชิญหน้ากับเรามากขึ้น

 

by Karol Dach

คำถามที่ 2 : แล้วเราจะมีวิธีการรับใช้กับน้องๆ เจน Z ยังไงให้แฮปปี้ทุกฝ่าย?

                 

2.1 ใช้ความเข้าใจ และให้พื้นที่ในการแสดงออก

 

“เราว่าต้องใจเย็นนะเป็นหลักเลย แล้วก็ฟังเค้าเยอะๆ ถ้าเค้ามีความคิดบางอย่างต้องลองถามความคิดเห็นเข้าไปลึกๆ อยู่กับเค้าให้เป็น แม้เค้าจะไม่พูดเค้าอาจจะกำลังคิดในใจ ต้องดิลด้วยการเข้าหาเค้าให้เค้าเห็นเราเป็นพวกเดียวกัน เราว่าการจะดิลกับเจน Z ต้องใช้จิตวิทยาพอสมควรเลย” – อาจารย์พระคริสตธรรม

 

“ถ้าจะทำงานกับเค้าได้ ให้พื้นที่เค้า ให้เค้ารู้ว่าเค้าควบคุมอะไรได้บ้าง เจอกันคนละครึ่งทาง แค่แนะนำ ถ้าเค้าไม่รู้เค้าถึงจะถาม ทุกอย่างเด็กทำเองได้ คิดเองได้ ให้พื้นที่เค้าในการตัดสินใจน่าจะดีนะเค้าจะโอกับการมี Space (พื้นที่) ของตัวเอง ทั้งเรื่องไอเดีย และวิธีการแสดงออก  ผมคิดว่านัยนึงแล้ว น้องๆ มีความเข้มแข็งนะ ถ้าได้รับการดูแล เท่าที่ผมเป็นประธานมา 2 ปี  น้องเหมือนไม่ต้องการเราแล้ว ฮ่าๆ เราเหมือนเป็นทางผ่าน เค้าทำงานกันเองได้ แต่ก็ยังขาดความลึกล้ำ เราก็ต้องแนะนำในส่วนนี้” – ประธานชมรมคริสเตียน

 

2.2 ถ้าไม่หนักหนาเกินไปก็ลองศึกษาโลกของพวกเขาบ้าง

 

ประธานชมรมคริสเตียน เล่าให้ชูใจทีมฟังว่า … เค้าพยายามเข้าไปตีสนิทกับเด็กๆ เจน Z ที่โบสถ์ด้วยการเล่นเกมมือถือชื่อ  ROV ซึ่งเป็นเกมที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตอนนี้

“เค้า Rank สูงกว่าเรา(เพราะเค้าเล่นตลอด) เค้าก็จะไม่ค่อยชวนเราเล่นหรอกครับ พอเค้าคิดว่าเราไม่เก่งก็จะพาลไปคิดว่าเราไม่น่าเชื่อถือไปหมด แต่ความจริงเราแค่ไม่ว่างเล่นเท่านั้นเอง เราเนี่ยแหละต้องลงไปชวนเค้าเล่น ก็จะมีพี่ๆ วัยใกล้เคียงกันที่เข้ากับเค้าได้บ้าง เราก็เข้ากับพี่ๆ ของเค้าอีกที เล่นพอให้รู้ให้เราเป็นพวกเดียวกัน ส่วนเด็กผู้หญิงผมเข้าไม่ถึงจริงๆ ครับ น้องเค้าไม่ได้เล่นแบบโดดหนัง หรือหมากเก็บ เค้าจะคุยกันเรื่อง EXO (นักร้องเกาหลี) สะสมของเกาหลี แต่เราก็พยามเท่าที่ทำได้นะ” – ผู้นำอนุชน

 

2.3 มองในส่วนดีของคนเจน Z อยู่เสมอ

 

“ข้อดีของเค้าก็คือว่าเรียนรู้เร็วนะ เราคิดว่าเป็นคนที่ไม่ค่อยเชื่ออะไรง่ายๆ ต้องตั้งคำถาม เป็นรุ่นที่ตั้งคำถามเยอะ ก็เอ่อ…เค้าจะเรียนรู้การใช้งาน Social Media ได้ดี สื่อสารระหว่างกันเร็ว กระจายข่าวสารได้เร็ว” – อาจารย์พระคริสตธรรม

 

“พวกเค้ารอบรู้ขึ้นอันเนี่ยชอบมาก  เค้าเก่งเทคโนโลยีและเรียนรู้เร็วกว่าเราอีก  เด็ก ม.ต้น เรียน Photoshop เรียน Illustrator  ตัดรูปได้แล้ว แถมมีความคิดสร้างสรรค์” – ผู้นำอนุชน

 

ในทุกการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้มีเพียงแต่ผลกระทบด้านลบ แต่ยังมีผลกระทบด้านบวกด้วย เด็กเจน Z นั้นเป็นรุ่นที่เรียกได้ว่ามีความสามารถรอบด้านและเรียนรู้ได้เร็ว เพียงแต่พวกเขายังต้องการประสบการณ์และการฝึกฝน ในโลกที่ข้อมูลเยอะมากมายพวกเขาถูกฝึกให้จัดการกับข้อมูลและมีวิจารณญาณด้านการรับสารมากขึ้น และ ระมัดระวังเรื่องผลกระทบของโลกออนไลน์ได้ดีกว่าผู้ใหญ่ เพราะพวกเขาใช้มันได้คล่องกว่า

 

 

คำถามสุดท้าย : พี่ๆ เจน Y อยากบอกอะไรกับน้องๆ เจน Z บ้างครับ?

 

อาจารย์พระคริสตธรรม : “อยากฝากบอกน้องๆ ว่า เวลาออกไปทำงานจริง เจออะไรอย่าพึ่งท้อ อดทนซักระยะนึงก่อน อย่าพึ่งเจอปัญหาแล้ววิ่งหนีอย่าเลือกล้มอะไรง่ายๆ ถ้าตั้งใจแล้วเอาให้สุดไปเลยนะ สู้ๆ”

 

ประธานชมรมคริเตียน : “อยากให้น้องเค้ารู้ว่าเค้ามีของดีในตัวเยอะครับ ถ้านำมันออกมาได้ มันจะเป็นประโยชน์ต่องานของพระเจ้ามากๆ เลย ผมชื่นชมน้องๆ ที่ผมเคยทำงานด้วยนะ เพราะว่าพวกเค้าสามารถทำงานรับใช้ โดยไม่ต้องรอเรา เค้าไปข้างหน้าได้เลย แล้วก็ทำได้ดีซะด้วย มันเป็นพลังของคนรุ่นใหม่ ”

 

คุณครูภาษาอังกฤษ : “อยากให้เชื่อมั่นในตัวเองต่อไป แล้วก็ลองเปิดใจฟังคนที่มีประสบการณ์มากขึ้นครับ”

 

ครูฝึกสอน : “ถ้าตอนเรียนไม่หลับก็จะดีมากครับ”

 

พี่ชูใจ : “ถ้ามีปัญหาอะไร อย่าเก็บไว้คนเดียว ลองปรึกษาพี่ๆ ที่ไว้ใจได้ หรือไม่ก็ลอง Inbox มาคุยกับพี่ชูใจดูจร้า”

 

 

#ด้วยรักและชูใจ

 


 

พูดคุยถึงแต่ละเจนกันไปจนครบถ้วน ในตอนหน้า Church & Gen “คนละรุ่นเดียวกัน” จะมาพูดถึงการอยู่ร่วมกันอย่างเข้มข้นมากขึ้น รอติดตามด้วยการกด See first บนหน้าเพจชูใจนะและสำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านตอนแรก  สามารถอ่านตอนอื่นๆในซีรีส์นี้ ได้ทาง >>> https://www.choojaiproject.org/category/articles/featured/churchgen/


Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
  • Illustrator:
  • Jostar
  • พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ