EP. 52

คริสเตียนจะปรับตัวยังไงในเทศกาลตรุษจีน?


บทความนี้ใช้เวลาในการอ่านประมาณ 10 นาที


 

ไหว้ล่ะ…คริสเตียนกินของไหว้วันตรุษจีนได้ไหม?

ตรุษจีนนี้… ทำไงดีไม่ให้ป๊ากับม๊าไม่เสียหน้าถ้าเราไม่ไหว้?

ไหว้เจ้าพอเลี่ยงได้… แต่เวลาไหว้บรรพบุรุษนี่สิ ทำยังไงดี?

 

ตรุษจีน คือ เทศกาลขึ้นปีใหม่ของชาวจีนซึ่งนับตามปฏิทินสุริยคติ เป็นช่วงเวลาพร้อมหน้าพร้อมตาที่คนในครอบครัวจะได้กลับมาพบปะและอวยพรซึ่งกันและกัน  ชาวไทยเชื้อสายจีนทุกคนจึงให้ความสำคัญกับวันตรุษจีนเป็นอย่างมาก ไม่ต่างกับสงกรานต์ของชาวไทย และคริสต์มาสของฝรั่ง แต่ว่า… ในฐานะลูกหลานชาวจีนที่เป็นคริสเตียน การเฉลิมฉลองเทศกาลนี้กลับสร้างความอึดอัดใจให้ได้ไม่น้อยเลยเนื่องจากพิธีกรรมและความเชื่อที่ทำไม่ได้ แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธเพราะเป็นวันสำคัญของครอบครัว

 

แน่นอนว่าทุกประเพณีนั้นมีแก่นอันเป็นเรื่องของความเชื่อผสมปนเปอยู่  ทั้งอาหาร  เสื้อผ้า และพิธีกรรมต่างๆ ในเทศกาลตรุษจีนนั้นล้วนถูกผูกไว้กับความเชื่อเรื่องโชคลาภ  สิริมงคล และการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณ แม้จะเป็นสิ่งดีงามที่แสดงถึงความกตัญญูทั้งต่อฟ้าดินและบรรพชน  แต่คริสเตียนในฐานะที่เป็นผู้เชื่อในพระเจ้าก็อาจไม่สามารถทำตามวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องกับการไหว้เทพเจ้าหรือเกี่ยวข้องกับวิญญาณได้  สำหรับบ้านที่เปลี่ยนมาเป็นคริสเตียนแล้วนั้นก็มีการปรับรูปแบบพิธีกรรมหลายอย่างให้ไม่ขัดกับหลักการในพระคัมภีร์  แต่สำหรับคนที่เป็นคริสเตียนคนเดียวในบ้าน หรือเป็นคนจำนวนน้อยก็ต้องปรับตัวเพื่อรักษาทั้งความเชื่อและความสัมพันธ์เอาไว้  แล้วคริสเตียนควรปรับตัวยังไงดีล่ะ?

 

แต่ก่อนจะไปที่เรื่องทำอะไรได้-ไม่ได้ ต้องมาดูว่าพระคัมภีร์ให้เรามีจุดยืนยังไงก่อนดีไหมครับ ^^

 

  • คริสเตียนมีจุดยืนเรื่องการไม่นมัสการพระอื่น และสิ่งซึ่งไม่ใช่พระเจ้า

“แต่ก่อนนี้ เมื่อท่านทั้งหลายยังไม่รู้จักพระเจ้า พวกท่านเป็นทาสของสิ่งซึ่งโดยสภาพแล้วไม่ใช่เทพเจ้าเลย แต่บัดนี้ เมื่อพวกท่านรู้จักพระเจ้าแล้ว หรือที่ถูกก็คือ พระเจ้าทรงรู้จักพวกท่านแล้ว ทำไมท่านทั้งหลายจึงกลับไปหาภูตผีที่ครอบงำของจักรวาลซึ่งอ่อนแอและอเนจอนาถ และอยากจะเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นอีก? ท่านทั้งหลายถือวัน เดือน ฤดู และปี ข้าพเจ้าเกรงว่าการที่ข้าพเจ้าได้ตรากตรำเพื่อพวกท่านนั้นจะไร้ประโยชน์” (กาลาเทีย 4:8-11)

 

  • พระคัมภีร์สอนให้ เคารพและกตัญญูต่อพ่อแม่

“ฝ่ายบุตรจงนบนอบเชื่อฟังบิดามารดาของตนในองค์พระผู้เป็นเจ้าเพราะกระทำอย่างนั้นเป็นการถูก จงให้เกียรติแก่บิดามารดาของเจ้านี่เป็นพระบัญญัติข้อแรกที่มีพระสัญญาไว้ด้วย เพื่อเจ้าจะไปดีมาดีและมีอายุยืนนานที่แผ่นดินโลก” (เอเฟซัส 6:1-3)

 

  • รักพระเจ้า แล้วก็ต้องรักคนในบ้านด้วย

“ถ้าแม้ผู้ใดไม่เลี้ยงดูวงศ์ญาติของตนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในบ้านเรือนของตนผู้นั้นก็ได้ปฏิเสธพระศาสนาเสียแล้วและชั่วยิ่งกว่าคนที่ไม่ได้เชื่อเสียอีก” (1 ทิโมธี 5:8)

 

__________________________ 

 

ภาพโดย Paul Gilmore

แล้วคริสเตียนจะอยู่อย่างไรในเทศกาลตรุษจีน?

 

1.เลี่ยงให้เนียนด้วยการอาสาช่วยงานครัว จ่ายตลาด หรือ ทำความสะอาดบ้าน

การทำความสะอาดบ้านก่อนวันปีใหม่ของชาวจีน มาจากความเชื่อว่าจะปัดกวาดสิ่งอัปมงคลและความเลวร้ายออกไป เพื่อให้บ้านเปิดกว้างรับสิ่งดีๆ ในวันปีใหม่ที่จะมาถึง ส่วนคริสเตียนเชื่อว่าพระเจ้าทรงเป็นเจ้าของชีวิตและอวยพรเราอยู่แล้ว เราจึงสามารถทำความสะอาดบ้านได้ไม่ว่าจะวันไหน  อีกทั้งยังเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของคนในบ้านในการจัดเตรียมงานต่างๆ ซึ่งเป็นการแสดงความรักได้อีกทางหนึ่ง

 

2.แสดงความรักและห่วงใยก่อน

นอกจากเตรียมตัวไปรับอั่งเปา ถ้าพอมีเงินก็น่าจะมีของกินติดไม้ติดมือไปฝากด้วยก็จะยิ่งน่ารัก เพราะอาหารบนโต๊ะแทบทั้งหมดผ่านพิธีกรรมการไหว้อยู่แล้ว การที่เราซื้อของไปฝากนั้นนอกจากจะแสดงความห่วงใย แล้วก็ยังเป็นอาหารที่เราสามารถกินได้ร่วมโต๊ะกับญาติพี่น้องโดยไม่ต้องกังวลเรื่องจิตสำนึกฟ้องผิดในเรื่องอาหารที่ผ่านการไหว้อีกด้วย

 

3.หาโอกาสบอกผู้ใหญ่ตามตรงว่าเราเป็นคริสเตียน

สมัยนี้ผู้ใหญ่เค้าเริ่มเปิดใจยอมรับความหลากหลายทางความเชื่อกันบ้างแล้ว ลองเริ่มจากคนที่เข้าใจเราก่อน เพราะญาติใกล้ชิดคือคนที่จะรู้ถึงความเชื่อของเราและการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราได้ดีที่สุด หากเรามีชีวิตที่สำแดงความรักของพระเจ้า ผู้ใหญ่เหล่านี้ย่อมเห็นความแตกต่างและท่านเหล่านี้นี่เองที่จะเป็นคนช่วยพูดกับญาติคนอื่นๆ ให้เราอีกแรงด้วย

 

4.แสดงให้ผู้ใหญ่เห็นว่าเราให้ความสำคัญกับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ และระลึกถึงคุณความดีของผู้จากไปแล้ว

“ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่ญาติผู้ใหญ่มักกังวลนั้น ไม่ใช่การที่ลูกหลานเอาพระเอาเจ้า แต่กลัวว่าลูกหลานจะไม่กตัญญูหรือไม่รักครอบครัว” การรับผิดชอบตรงส่วนนี้ให้ดีจึงเป็นการช่วยลดความกดดันจากความไม่เข้าใจ คือการแสดงออกถึงความจริงใจ และความใส่ใจในครอบครัว

หมั่นไปเยี่ยมผู้ใหญ่ไม่เพียงเฉพาะวันตรุษจีน หรือแม้กระทั่งทักไลน์ไปหา “สุขสันต์วันตรุษจีน ขอพระเจ้าอวยพรให้อาอี๋แข็งแรง” เพราะความรักความเข้าใจยังคงเป็นสายสัมพันธ์ที่ตัดไม่ขาด ถ้าผู้ใหญ่เอ็นดูเราและเห็นความรักของพระเจ้าที่มีอยู่ในชีวิตเราและแสดงออกไปถึงท่านเหล่านั้นได้ ความรักความเข้าใจก็จะเกิดขึ้น

 

5.หลีกเลี่ยงช่วงไหว้

การไหว้ทั้งสามช่วงเวลา คือช่วงเช้าไหว้เทพเจ้า ช่วงสายไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ  ช่วงบ่ายไหว้วิญญาณผู้ไร้ญาติ การไหว้นั้นแสดงให้เห็นถึงความกตัญญูของชาวจีนที่มีต่อสิ่งที่ทรงอำนาจ ผู้เป็นที่รัก และความเผื่อแผ่ถึงผู้ไร้ญาติมิตร แสดงให้เห็นจิตใจอันโอบอ้อมอารี และเปี่ยมไปด้วยความรัก ถึงแม้คริสเตียนจะปฏิเสธการเข้าร่วมพิธีกรรม แต่ก็ควรชดเชยด้วยการแสดงความรักกตัญญูกับผู้ที่ยังอยู่ สำหรับบรรพบุรุษนั้น เราอาจแสดงความเคารพโดยการยืนสงบนิ่ง หรือคุกเข่าระลึกถึงคุณความดีหน้ารูปก็ได้ เพียงแต่ไม่จุดธูป เพราะเป็นการให้เกียรติผู้จากไปและให้เกียรติแก่ผู้ยังมีชีวิตอยู่ด้วย

 

สำหรับครอบครัวที่มีแรงต้านเยอะ สิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่ต้องการก็คือ การแสดงออกถึงความเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ถึงแม้พิธีกรรมบางอย่างจะทำให้เขารู้สึกว่าเราไม่เหมือนเดิมหรือไม่เป็นส่วนหนึ่ง แต่การที่เราอาสาช่วยงานอย่างแข็งขัน ไม่หลบลี้หนีหน้า ยิ้มแย้มทักทายญาติผู้ใหญ่แถมมีส้มไปให้ นั่นจะช่วยให้เขารู้ว่าเราเห็นความสำคัญของครอบครัว ไม่ได้ต่างจากเขาเลย

 

มาถึงเรื่องของไหว้ ปัญหาสุดคลาสสิกที่ไม่รู้ว่า ตกลงกินได้-หรือกินไม่ได้กันแน่น้อ !

 

_____________________________

 

ภาพโดย snapwire

 

เรื่องการกินของไหว้ มี 2 แนวคิด

 

แนวคิดแรก เชื่อว่ากินไม่ได้ เพราะถือเป็นการเข้าส่วนกับรูปเคารพ

“เหตุฉะนั้นตามความเห็นของข้าพเจ้า อย่าให้เราวางเครื่องขัดขวางกีดกันคนต่างชาติ ซึ่งกลับมาหาพระเจ้า แต่เราจงเขียนหนังสือฝากไปถึงเขาว่า ให้งดเว้นเสียจากสิ่งที่มลทินเนื่องด้วยรูปเคารพ” กิจการ 15:19-20

ปัญหาคาใจนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในยุคนี้เท่านั้น แต่การที่คนต่างชาติอย่างชาวกรีกได้เปลี่ยนมาเป็นคริสเตียนนั้นก็ทำให้เกิดคำถามมากมาย นอกจากการกินของที่มีมลทินตามหลักของชาวยิวแล้วก็ยังมีปัญหาเรื่องของไหว้ด้วย ถ้าคนที่เชื่อตามแนวคิดนี้ก็หลีกเลี่ยงที่จะกินของไหว้ แต่ก็ควรมีความเข้าใจว่า ในพระคัมภีร์ก็มี Space ไว้ให้ในแนวคิดที่สองด้วยครับ

 

 

แนวคิดที่สอง เชื่อว่ากินได้ถ้ากินด้วยใจขอบพระคุณ และอาหารไม่ใช่สิ่งที่ตัดสินความเชื่อหรือเพื่อกล่าวโทษกัน แต่หากเห็นแก่ผู้เชื่อคนอื่นว่าจะสะดุด ก็ไม่กินเพื่อเห็นแก่ความเชื่อของคนอื่น หรือถ้าหากจิตสำนึกเราฟ้องว่าไม่ควรกิน ก็ไม่ต้องกิน เอาที่สบายใจจ้า

“… ด้วยว่าสิ่งสารพัดซึ่งพระเจ้าได้ทรงสร้างไว้นั้นเป็นของดี ถ้าแม้บริโภคด้วยขอบพระคุณ ก็ไม่ห้ามเลยสักสิ่งเดียว เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นของที่ชำระไว้แล้ว โดยพระวจนะของพระเจ้าและคำอธิษฐาน” 1 ทิโมธี 4:3

 

“ส่วนคนที่ยังมีความเชื่อน้อยอยู่นั้น จงรับเขาไว้ แต่มิใช่เพื่อให้โต้เถียงกันในเรื่องความเชื่อที่แตกต่างกันนั้น คนหนึ่งถือว่าจะกินอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่คนที่มีความเชื่อน้อยก็กินแต่ผักเท่านั้น อย่าให้คนที่กินนั้นดูหมิ่นคนที่ไม่ได้กิน และอย่าให้คนที่มิได้กินกล่าวโทษคนที่ได้กิน เพราะว่าพระเจ้าได้ทรงโปรดรับเขาไว้แล้ว” โรม 14:1-3

 

“ดังนั้นเราอย่ากล่าวโทษกันและกันอีกเลย แต่จงตัดสินใจเสียดีกว่า ว่าจะไม่วางสิ่งซึ่งทำให้สะดุด หรือสิ่งกีดขวางทางของพี่น้อง… ถ้าพี่น้องของท่านไม่สบายใจเพราะอาหารที่ท่านกิน ท่านก็ไม่ได้ประพฤติตามทางแห่งความรักเสียแล้ว พระคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อผู้ใด ก็อย่าให้ผู้นั้นพินาศ เพราะอาหารที่ท่านกินเลย ฉะนั้นอย่าให้สิ่งที่ดีสำหรับท่าน เป็นข้อตำหนิติเตียนของผู้อื่นได้เลย เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้านั้นไม่ใช่การกินและการดื่ม แต่เป็นความชอบธรรมและสันติสุข และความชื่นชมยินดีในพระวิญญาณบริสุทธิ์” โรม 14:13-17

 

“เรื่องการกินอาหารที่เขาบูชาแก่รูปเคารพนั้น เรารู้อยู่แล้วว่า “รูปนั้นไร้สาระ” และ “มีพระเจ้าแท้แต่องค์เดียว”… มิใช่ว่าทุกคนมีความรู้อย่างนี้ เพราะมีบางคนที่เคยนับถือรูปเคารพมาก่อน เมื่อได้กินอาหารนั้นก็ถือว่าเป็นของบูชาแก่รูปเคารพจริงๆ และจิตสำนึกผิดชอบของเขายังอ่อนอยู่ จึงเป็นมลทิน อาหารไม่เป็นเครื่องที่ทำให้พระเจ้าทรงโปรดปรานเรา”  ถ้าเราไม่กิน เราก็ไม่ขาดอะไร ถ้าเรากิน เราก็ไม่ได้อะไรเป็นพิเศษ “แต่จงระวังอย่าให้เสรีภาพของท่านนั้น ทำให้คนที่มีความเชื่อน้อยหลงผิดไป” (1 โครินธ์ 8:7-9)

 

“ถ้าคนที่ไม่มีความเชื่อ จะเชิญท่านไปในงานเลี้ยงและท่านเต็มใจไป สิ่งที่เขาตั้งให้รับประทาน ก็รับประทานได้ ไม่ต้องถามอะไรโดยเห็นแก่ใจสำนึกผิดชอบ แต่ถ้ามีใครมาบอกท่านว่า “ของนี้เขาถวายแก่รูปเคารพแล้ว” ท่านอย่ารับประทานเพราะเห็นแก่คนที่บอกนั้น และเพราะเห็นแก่ใจสำนึกผิดชอบด้วย (ข้าพเจ้ามิได้หมายถึงใจสำนึกผิดชอบของท่าน แต่หมายถึงใจสำนึกผิดชอบของคนที่บอกนั้น) ทำไมใจสำนึกผิดชอบของผู้อื่นจะต้องมาขัดขวางเสรีภาพของข้าพเจ้าเล่า ถ้าข้าพเจ้ารับประทานด้วยขอบพระคุณ ทำไมเขาติเตียนข้าพเจ้า เพราะสิ่งที่ข้าพเจ้าได้ขอบพระคุณแล้ว เหตุฉะนั้นเมื่อท่านจะรับประทานจะดื่ม หรือจะทำอะไรก็ตาม จงกระทำเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า” 1 โครินธ์ 10:27-31

 

สรุปตามแนวคิดนี้คือ : แท้จริงอาหารก็เป็นเพียงอาหารไม่ใช่สิ่งที่เอามาตัดสินความเชื่อได้ แต่การกินหรือไม่กินนั้น ให้ถือแก่จิตสำนึกของตัวเองว่ารู้สึกผิดไหม และเห็นแก่ผู้เชื่อคนอื่นว่าเขาจะตั้งคำถามกับความเชื่อของเราไหม สุดท้ายคือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ควรตอบตัวเองให้ได้ว่า สิ่งที่เราจะทำหรือจะกิน ถวายเกียรติแด่พระเจ้าโดยออกมาจากใจข้างในหรือไม่ นั่นต่างหากที่สำคัญ

…..

สุดท้ายละครับ การร่วมตรุษจีนเพื่อมีส่วนร่วมกับครอบครัวและสร้างความสัมพันธ์ในบ้านนั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ครอบครัวมีความสุขหรือพอใจเท่านั้น แต่เพื่อเป็นแสงสว่างให้ครอบครัวมีโอกาสได้รู้จักพระเจ้าด้วยนะ!

 

 

“ข้าพ‌เจ้าเองได้พยา‌ยามกระ‌ทำทุกสิ่งเพื่อให้เป็นที่พอใจของคนทั้ง‍ปวง
มิ‍ได้เห็นแก่ประ‌โยชน์ส่วน‍ตัว แต่เห็นแก่ประ‌โยชน์ของคนทั้ง‍หลาย เพื่อให้เขารอดได้”
(1 โครินธ์ 10:32)

 


 

อ้างอิงเรื่องการกินของไหว้จาก อ.เจริญ ยธิกุล พันธกิจแม่น้ำ
http://river-ministry.blogspot.com/2010/02/blog-post.html


Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
  • Illustrator:
  • Jostar
  • พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
  • Editor:
  • Jick
  • บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง