Infinity War Review - Cover

EP. 9

ทานอส โหดเหี้ยมหรือเปี่ยมเมตตา (Avengers : Infinity War) [ชูโรง]


ชื่อหนัง : Marvel : Infinity War มหาสงครามล้างจักรวาล (2018)
ประเภท : แอ๊คชั่น
บทความนี้ใช้เวลาอ่านประมาณ 7 นาที  และมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน


 

เราไม่มีวันเป็นผู้ร้ายในเรื่องราวของตนเอง ทุกคนล้วนเป็นพระเอกในมุมมองของตน
– จอร์จ อาร์ อาร์ มาร์ติน

 

หากเรามองจอมวายร้ายในเรื่อง Avenger: Infinity Wars อย่าง ทานอส (Thanos) ในสายตาของนักจริยศาสตร์แล้ว ทานอส คือตัวอย่างชั้นเยี่ยมของคนที่ยึดมั่นในแนวคิดประโยชน์นิยม (utilitarianism) ซึ่งมีแนวคิดว่า การกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุดเป็นการกระทำที่ดีและถูกต้อง หรือถ้าจะพูดเป็นภาษาง่าย ๆ ก็คือพวกเขาเชื่อว่า ต้องเสียสละเพื่อประโยชน์แก่คนส่วนรวม (แม้จะต้องแลกด้วยชีวิตบางชีวิต) วันนี้ลุงหมีสักหลาดอยากจะชวนน้องๆ คุยเกี่ยวกับหนังฮีโร่

 

ทานอส

 

ทำไมทานอสถึงเป็นคนแบบนี้?

 

ทานอสมีชีวิตที่แสนเศร้า เพราะดาวไททันบ้านเกิดของตนเคยเผชิญกับสถานการณ์ขาดแคลนทรัพยากรอย่างหนัก ประชาชนอยู่อย่างอดอยาก ทานอสเองในฐานะผู้นำคนหนึ่งเคยเสนอทางออกโดยให้ลดจำนวนประชากร โดยสุ่มคนที่จะได้อยู่ต่อหรือจากไปโดยไม่แบ่งเพศ อายุ ชนชั้น ฐานะ แต่ข้อเสนอของทานอสโดนปฏิเสธและไม่ได้ถูกนำไปใช้ สุดท้ายดาวและเผ่าพันธุ์ของเขาก็เสื่อมสลายไปเหลือรอดเพียงเขาคนเดียว เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เขาตั้งปณิธานกับตนเองว่าจะไม่ยอมให้เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในดาวดวงอื่น ๆ เลยตะลุยเข้าไปช่วยลดประชากรของดาวอื่นให้เหลือครึ่งหนึ่งโดยไม่ต้องรอทำประชามติ และ หนึ่งในดาวผู้เคราะห์ร้ายก็คือดาวของ กาโมร่า (Kamora) ซึ่งทานอสได้ทำลายประชากรในดาวรวมทั้งพ่อแม่ของเธอ ก่อนจะรับชุบเลี้ยงเธอในฐานะลูกเลี้ยงคนโปรดแล้วสร้างให้เธอกลายเป็นผู้หญิงที่โหดสุดในจักรวาลนั่นเอง

 

กาโมร่า

 

วายร้ายหรือพ่อนักบุญ ?

 

แน่นอนในสายตาของเหล่าอเวนเจอร์การกระทำของทานอสเป็นมหาสงครามล้างจักรวาลที่โหดเหี้ยม ไร้จริยธรรม แต่ทานอสถือว่าตนเป็นผู้เปี่ยมเมตตาธรรมค้ำจุนจักรวาลที่จะช่วยยกมาตรฐานทุกชีวิตให้ดีขึ้น

 

การจะเดินทางไปควบคุมจำนวนประชากรในดาวแต่ละดวงนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประชากรของแต่ละดาวย่อมทำสงครามต่อต้าน  กว่าจะรบชนะก็คงเกิดเสียความหาย เสียเวลาและเกิดความเสียหายแก่ทั้งสองฝ่ายไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ทานอสจึงทำทุกวิถีทาง ที่จะครอบครองอินฟินิตี้สโตน (Infinity Stone) ให้ครบหกเม็ด เพื่อที่จะใช้พลังของมันสุ่มลบประชากรอย่างยุติธรรม เปี่ยมด้วยเมตตา ไม่เจ็บปวด แบบคลิกเดียวไม่เสียเวลา ง่ายยิ่งกว่าการสั่งของออนไลน์ซะอีก แม้จะต้องยอมเสียสละลูกสาวอย่างกาโมร่า หรือต้องปะทะนองเลือดกับเหล่าพันธมิตรฮีโร่  ไม่ว่าจะต้องจ่ายด้วยอะไรเพื่อแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมาทานอสก็จะทำ

นักวิจารณ์หลาย ๆ คนกล่าวว่า Avengers : infinity war นี่เป็นหนังของทานอสชัดๆ  ลุงหมีเองก็เชื่อว่าผู้กำกับตั้งใจให้เราได้เห็นเหตุการณ์ผ่านสายตาของ “ผู้ร้าย” บ้าง ซึ่งเป็นมุมมองที่น่าสนใจ เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะคิดเข้าข้างตนเอง แต่ในโลกของความเป็นจริงทุกการตัดสินใจมีผลกระทบและตัวหนังได้แสดงให้เห็นผลกระทบจากการตัดสินใจหลายชุดทีเดียว เพราะตัวละครแต่ละตัวจะต้องเลือกว่า จะสละบางสิ่งเพื่อ รักษาบางสิ่งเอาไว้หรือไม่อยู่ตลอดเรื่อง

 

แบล็กแพนเธอร์

 

หากเราเป็นฝ่าบาท แบล็กแพนเธอร์ เราจะยอมให้กองทัพชาววากันด้าออกรบและล้มตายไปจำนวนมาก เพื่อหุ่นยนต์อย่าง วิชชั่น ตัวเดียวที่ฝ่าบาทแทบไม่รู้จักหรือไม่ เพราะ หากประวิงเวลาออกไป โอกาสในการแพ้และล้มตายก็จะมากขึ้น สุดท้ายแม้ได้ฉากต่อสู่มันส์ ๆ แต่บทสรุปของมันก็เลวร้าย หรือถ้าหากเราเป็นทานอสเราจะมุ่งมั่นเห็นแก่คุณภาพชีวิตของคนครึ่งจักรวาลที่ไม่เคยแม้แต่เห็นหน้า จนยอมสังเวยกาโมร่าผู้เป็นลูกที่รักหรือไม่  ด้านโทนี่สตาร์กก็ต้องเลือกระหว่างอนาคตของตัวเองกับอนาคตของจักรวาล หรือ ทอร์ ที่ยอมเสี่ยงชีวิตตัวเองแลกกับโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะสร้างอาวุธเทพได้สำเร็จ หรือ แม้แต่สไปเดอร์แมนเองก็มีช่วงเล็กๆ ที่เขานึกเสียดายว่าทำไมไม่เลือกที่จะอยู่ในรถโรงเรียนต่อไปแทนที่จะมาเสี่ยงชีวิตในอวกาศ ทุกการตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นเหตุผลเท่ๆ หรือข้ออ้างสวยหรู แต่ละคนก็เลือกและต้องยอมรับผลของมันในที่สุด

 

สไปเดอร์แมน รถโรงเรียน

 

เรื่องแบบนี้ไม่ได้มีแค่ในหนังในพระคัมภีร์ก็มี

 

ทุกคนย่อมมีเหตุผลเบื้องหลังการกระทำและการตัดสินใจของตนเอง หากย้อนมองดูในพระคัมภีร์ โดยเฉพาะในพระกิตติคุณ กลุ่มคนที่มักจะถูกมองว่าเป็น “ผู้ร้าย” คือเหล่าฟารีสีและพวกผู้นำทางศาสนาที่ตัดสินใจจับพระเยซูไปตรึงบนกางเขน หรือการกระทำบางอย่างของ “ฝ่ายดี” อย่างเหล่าลูกศิษย์ของพระเยซูเอง เช่น เปโตรที่เป็นห่วงพระเยซูไม่อยากให้พระเยซูโดนจับขอให้พระเยซูเปลี่ยนแผน จนโดนว่าเป็น “อ้ายซาตาน” (มัทธิว 16:23) หรือ ยากอบและยอห์นขอที่นั่งซ้ายขวาเมื่อพระเยซูปฏิวัติสำเร็จ (มาระโก 10:35-45) เราอาจจะมองว่าคนทั้งสองกลุ่มมีความเห็นแก่ตัวหรือแสวงหาความมั่นคงในชีวิต แต่ก็เหมือนกับการมองทานอส หรือตัวละครอื่นๆ เราต้องพยายามเข้าใจว่าพวกเขาผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้างและมีมุมมองต่อโลกอย่างไร

 

 

“ทางของคนทุกทางก็ถูกต้องในสายตาของตน แต่พระเจ้าทรงชั่งใจ”
– สุภาษิต 21:12

 

 

N.T. Wright ได้สรุปไว้ในหนังสือ The New Testament and The People of God ว่าโลกทัศน์ที่มีพื้นฐานของศาสนศาสตร์ของชาวยิวในยุคสมัยของพระเยซูนั้นมี 3 ข้อหลัก ๆ ดังนี้ 1. มีพระเจ้าเดียว (Monotheism) 2. พระเจ้าได้ทรงเลือกชาวยิวให้เป็นประชากรของพระองค์ โดยประทานธรรมบัญญัติและแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ (Election) และ 3. ในอนาคตพระองค์จะพิพากษาโลกนี้และตั้งอาณาจักรของพระองค์ผ่านทางคนยิว (Eschatology)

 

สำหรับเหล่าสาวกของพระเยซูนั้นพวกเขามุ่งมั่นไปที่ข้อ 3 เขาเชื่อว่าพระองค์จะเป็นผู้ที่จะนำการพิพากษาและโลกใหม่มาให้พวกเขา พระองค์จะกู้คืนอิสราเอลจากการปกครองของอาณาจักรโรมัน หากพวกเขาติดตามพระองค์ไปย่อมได้สุขสบายในยุคสมัยที่กำลังจะมาถึง ส่วนเหล่าฟารีสีติดสินพระเยซูจาก ข้อ 1 เพราะพระเจ้ามีองค์เดียวในสวรรค์จะมาเดินเท้าเปล่านำหน้าฝูงชนอยู่บนโลกนี้ได้อย่างไร ฟารีสีไม่เชื่อว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า และพยายามหาช่องทางกำจัดพระองค์ซึ่งเป็นเหมือนอาจารย์ศาสนานอกรีตที่พยายามบ่อนทำลายความสงบสุขของสังคมยิว

 

 

เราไม่อาจล่วงรู้เหตุหรือผลได้ เพราะเรามีมุมมองที่จำกัด

 

สิ่งที่ลุงหมีอยากฝากเราไว้ก็คือ แต่ละคนล้วนมีจุดยืนของตัวเอง เราไม่มีวันรู้ว่าผลของการตัดสินใจของเราจะนำไปสู่สิ่งที่ดีที่สุดหรือไม่ เราทำได้แค่นำปัจจัยหลาย ๆ อย่างเช่น ประสบการณ์ ความจำกัดหรือผลที่คาดว่าจะได้รับมาประกอบการตัดสินใจ ในทางกลับกันเราเองก็ไม่มีทางรู้เหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจแย่ ๆ (ในสายตาเรา) ของพ่อแม่ พี่น้อง แฟน เพื่อน ผู้ร่วมงาน หรือเจ้านายได้

 

เช่นเดียวกัน หากภาพยนตร์ไม่ได้เล่าเรื่องในมุมมองของวายร้ายอย่างทานอส เราก็อาจจะไม่ได้เห็นความซับซ้อนในจิตใจ หรือความปรารถนาอันแรงกล้าในการทำในสิ่งที่ทานอสเองเชื่อ หรือแม้กระทั่งน้ำตาของเขาในตอนที่เขาต้องเสียสละบางอย่างไป และ หนังเรื่องนี้ก็อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราเกลียดตัวร้ายเหมือนหนังฮีโร่ทั่วๆ ไปที่เราเคยๆ ดู

 

ในชีวิตจริงของเราบางครั้งที่เรารู้สึกว่าถูกคนรอบข้างทำร้ายด้วยการตัดสินหรือขีดกรอบให้ชีวิตของเราและบ่อยครั้งก็เป็นเราเองที่เผลอทำเช่นนั้นกับผู้อื่น โดยเมื่อเกิดความขัดแย้ง ในฐานะคริสเตียนเราต้องตอบสนองตามอย่างพระเยซู นั่นก็คือ การไม่ตัดสินผู้อื่น พระองค์บอกให้เอาซุงทั้งท่อนในตาของเราออกก่อนพระองค์บอกว่าใครที่ไม่เคยทำบาปเลยถึงจะมีสิทธิตัดสินผู้อื่น (มัทธิว 7: 3-4) และพยายามเข้าใจและให้อภัยดังคำอธิษฐานของพระองค์ที่ว่า “โอพระบิดาเจ้า ขอโปรดอภัยโทษเขาเพราะว่า เขาไม่รู้ว่า เขาทำอะไร” (ลูกา.23:34)

 

 

 

ด้วยรักและชูโรง
ลุงหมีสักหลาด

 

 


ติดตาม ชูโรง จากคอลัมน์ Featured กับการถอดหนังสไตล์คริสเตียนได้กับลุงหมีสักหลาด และผองเพื่อนคริสเตียนรักหนังได้ในครั้งหน้า ทางเว็บไซด์ www.choojaiproject.org


Previous Next

  • Author:
  • ชายอบอุ่นที่มีหลากหลายมิติ มีทั้งมิติแห่งการเป็นผู้รับใช้ มิติของคุณครูภาษาอังกฤษ แถมด้วยมิติของการเป็นนักดูหนังตัวยง ชูใจจึงจีบมาเขียนรีวิวหนัง และบทความความรู้พระคัมภีร์ซะเลย
  • Illustrator:
  • Jostar
  • พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
  • Editor:
  • Perapat T.
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)