วันไหว้ครู กับ คริสเตียน

EP. 59

วันไหว้ครู กับ คริสเตียน


 

คนไทยเราเน้นเรื่องความกตัญญูรู้คุณมาก ซึ่งในหลายโอกาสมักแสดงผ่านพิธีกรรมในวันสำคัญ เช่น วันไหว้ครู ชาวชูใจหลายคนก็คงสงสัยว่าคริสเตียนเข้าร่วมพิธีไหว้ครูแล้วต้องทำตัวยังไง ที่ทำๆ อยู่นั้นถูกต้องหรือไม่ คนที่อยู่ในโรงเรียนคริสเตียนก็คงปรับตัวไม่ยากเท่าไหร่ แต่ถ้าอยู่ในโรงเรียนทั่วไปล่ะ?

 

เรามาทำความเข้าใจกันดีกว่า

 

 

1. ความเป็นมาของการไหว้ครูและการประยุกต์ให้เข้ากับบริบทความเชื่อ

 

พิธีไหว้ครู เป็นประเพณีไทยที่มีมาอย่างยาวนาน การที่จะศึกษาหรือเรียนรู้วิชาอะไรก็ตามในสมัยก่อน จะต้องเริ่มด้วยการฝากตัวเป็นศิษย์ของครูโดยตรง เพราะเชื่อกันว่าคนที่ให้ความเคารพต่อครูบาอาจารย์นั้นจะส่งผลให้การศึกษานั้นๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี การฝากตัวเป็นศิษย์โดยตรงที่ว่านี้ไม่ใช่การกรอกใบสมัครหรือจ่ายค่าเทอม แต่โดยการผ่านพิธีกรรม นั่นก็คือจะต้องมีการขึ้นครูหรือมีการไหว้ครู

 

พิธีไหว้ครูในสถาบันการศึกษาสมัยใหม่แบบเป็นทางการ

เพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2500 เท่านั้นเอง โดยก่อนหน้านั้น 1 ปีในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ในขณะนั้น ได้เสนอให้มีวันสำหรับเทิดทูนครู เพราะต้องการให้ความสำคัญกับคุณครูในฐานะผู้เสียสละตนในการสร้างเยาวชนของชาติ ต่อมา กระทรวงศึกษาธิการจึงจัดให้มี ‘วันครู’ ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 โดยอนุญาตให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้

เนื่องจากโรงเรียนมีการหยุดการเรียนการสอนใน “วันครู” โรงเรียนต่างๆ จึงจัดให้มี “วันไหว้ครู” ขึ้นในช่วงการเปิดภาคการศึกษาเพื่อให้นักเรียนมีโอกาสได้แสดงความกตัญญู[1]

 

_______________

 

แต่เดิมการไหว้ครูมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาเทพ เมื่อกลายเป็นพิธีไหว้ครูในโรงเรียน ก็ถูกผสมผสานเข้ากันกับรูปแบบการประกอบพิธีของศาสนาพุทธที่เป็นศาสนาหลักของประเทศ เช่น มีการตั้งโต๊ะหมู่บูชา มีการบูชาพระรัตนไตร

 

พระสุรัสวดี
เทวีแห่งศิลปวิทยาการทุกสาขา รวมทั้งทุกสิ่งที่เป็นความรู้ของมนุษย์และเทพเจ้า (รางวัลตุ๊กตาทองคือเทพีองค์นี้นี่เอง)
(Wellcome Library, London. Wellcome Images images@wellcome.ac.uk. Chromolithograph by R. Varma)

 

ส่วนการกำหนดให้มีการไหว้ครูในวันพฤหัสบดีนั้นเป็นผลมาจากในทางโหราศาสตร์ไทย ที่เชื่อกันว่า พระพฤหัสบดี เป็นเทพที่มีอิทธิพลด้านการศึกษา ส่วนความเชื่อทางพราหมณ์-ฮินดูอันเป็นมูลรากเกี่ยวกับการไหว้ครูนั้น เป็นการสักการะบูชาเทพแห่งความรู้และศิลปะวิทยาการ คือ พระสุรัสวดี (เทวีที่เป็นสัญลักษณ์ของรางวัลตุ๊กตาทอง) และ พระพิฆเนศ (หรือเทพองค์อื่นแล้วแต่คติ [2])

ทั้งนี้ การไหว้ครูในโรงเรียนทั่วไปในปัจจุบันที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้มีนัยยะในการกราบไหว้บูชาเทพอีกต่อไป แต่มุ่งเน้นไปที่การแสดงความเคารพขอบคุณแก่บุคคลที่เป็นผู้สอนวิชาความรู้ และไม่มีการบังคับด้านความเชื่อ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ โรงเรียนต่างๆ จึงมีการปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติและอนุโลมตามความเหมาะสม

 

สำหรับโรงเรียนคริสเตียน ก็ได้มีการปรับปรุงให้อยู่ในรูปแบบที่คริสเตียนทำได้ ไม่ขัดกับความเชื่อ เช่น เปลี่ยนพานไหว้ครูที่มีสองพานคือพานดอกไม้ และพานธูปเทียน เป็นพานดอกไม้สองพานแทน กล่าวคือเป็นพานประเภทสร้างสรรค์และสวยงาม หรือเปลี่ยนช่วงพิธีกรรมทางศาสนาพุทธเป็นการอธิษฐานนมัสการแทน เป็นต้น

ส่วนในเรื่องของ “วัน” สำหรับคริสเตียนไม่ได้เป็นปัญหา เพราะเรารู้กันอยู่แล้วว่าไม่ว่าจะเป็นวันไหนในสัปดาห์ หรือเป็นวันที่เท่าไหร่ ทุกวันก็เป็นวันของพระเจ้า คริสเตียนจึงไม่ถือฤกษ์ถือยาม ดังนั้นการไหว้ครูในโรงเรียนคริสเตียนก็มักจะจัดขึ้นตามธรรมเนียมสะดวกเท่านั้น

 

(สำหรับโรงเรียนที่เป็นการเรียนรู้เฉพาะทางด้านศิลปะ และอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม หรือโรงเรียนทางทหารที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหมจะมีรายละเอียดต่างไปจากนี้ (โดยเฉพาะในพิธีบูชาเทพศิลปศาสตร์ และการครอบครูการแสดงซึ่งเป็นประเพณีโบราณ) เราที่เป็นคริสเตียนไม่ควรเข้าร่วม เนื่องจากมีพิธีกรรมที่ขัดแย้งกับความเชื่อ หรือหากจำเป็นต้องเข้าร่วมก็ควรอยู่ในท่าทีสำรวมโดยละการปฏิบัติทางพิธี หากชาวชูใจมีคำถามลองปรึกษาอาจารย์ที่คริสตจักรหรือ Inbox มาถามพี่ชูใจเพิ่มเติมได้)

 

2. ปาเจรา… แท้จริงคืออะไร คริสเตียนพูดได้หรือไม่?

แม้โดยความเข้าใจภาษาบาลี-สันสกฤต จะเป็นเหมือนภาษาศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพุทธ  บทไหว้ครูที่เป็นภาษาบาลีเวลาท่องอาจดูขลังๆ แต่ตัวภาษาไม่ใช่ปัญหา ปัญหาน่าจะอยู่ที่ความหมาย เพราะถ้าเราท่องโดยไม่รู้ว่าพูดอะไรออกไปมันก็คงไม่ดีแน่ๆ

 

ปาเจราจริยาโหนติ คุณุตตรานุสาสกา
แปลว่า ครูบาอาจารย์เป็นผู้มีคุณยิ่ง เป็นผู้พร่ำสอนศิลปวิทยา

ปัญญาวุฒิกเร เต เต ทินโนวาเท นมามิหัง
แปลว่า  ข้าพเจ้าขอนอบน้อมครูบาอาจารย์ผู้ให้โอวาทเหล่านั้น

 

รู้ความหมายอย่างนี้แล้วชาวชูใจก็สบายใจได้ ว่าไม่ได้พูดอะไรออกไปที่ผิดต่อความเชื่อของตัวเอง คริสเตียนจึงสามารถกล่าวบทไหว้ครู ปาเจรา ได้เหมือนพูด Thank  you teacher!

 

3. ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของดอกไม้ต่างๆ ที่นิยมใช้ในการไหว้ครู

แน่นอนว่าพิธีกรรมทุกพิธีบนโลกมักจะมีการนำสิ่งใกล้ตัวมาใส่ความหมายเชิงสัญลักษณ์เข้าไป โดยเนื้อแท้ของเหล่านั้นก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร (เพราะทุกอย่างเป็นฝีพระหัตถ์ของพระเจ้า) แต่เมื่อมีการใส่ความหมายลงไป ความหมายใหม่นั้นก็เป็นเรื่องที่คริสเตียนต้องระวัง เพราะการให้คุณค่ากับความหมายนั้น อาจเป็นการสร้างรูปเคารพในใจหรือทำให้มโนธรรมของเรายึดติดกับความหมายนั้นได้ เรามาดูความหมายของสิ่งต่างๆ ที่ใช้ในการไหว้ครูกัน แล้วจะเห็นว่าคุณลักษณะเหล่านี้ไม่ได้ขัดกับสิ่งที่สอนในไบเบิ้ลเลยนะ

 

1.หญ้าแพรก เป็นสัญลักษณ์ของความอดทน ทนแดดทนฝน ทนเหยียบย่ำ

 

“และพี่น้องทั้งหลาย เราขอวิงวอนพวกท่านให้ตักเตือนคนที่เกียจคร้าน
หนุนน้ำใจผู้ที่ท้อใจ ชูกำลังคนที่อ่อนกำลัง และมีใจ
อดเอาเบาสู้ต่อคนทั้งปวง”
(1 เธสะโลนิกา 5:14)

 

หญ้าแพรก

 

 

2.ดอกเข็ม เป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญาที่เฉียบแหลมเหมือนเข็ม ตามชื่อของมัน

 

“มนุษย์ผู้ประสบปัญญาและผู้ได้ความเข้าใจเป็นสุขจริงหนอ”
(สุภาษิต 3:13)

“… คนโง่ย่อมดูหมิ่นปัญญา และคำสั่งสอน”
(สุภาษิต 1:7)

 

ดอกเข็ม

 

 

3.ดอกมะเขือ ดอกมะเขือมีธรรมชาติในการโน้มดอกลงไปทางพื้นดิน จึงถูกนำมาแทนความสุภาพอ่อนน้อม และ ความบริสุทธิ์ งดงามในจิตใจ

 

“อย่าใฝ่สูง แต่จงถ่อมใจลงยอมทำการต่ำ อย่าถือว่าตัวฉลาด”

(โรม 12:16)

 

เพราะความรู้อาจทำให้คนเราหยิ่งทนงลำพองตัว และไม่เปิดใจรับฟังคำสั่งสอน พระคัมภีร์จึงให้คุณค่ากับจิตใจที่สุภาพอ่อนโยน ว่าเป็นสิ่งล้ำค่าในสายพระเนตรพระเจ้า (1 เปโตร 3:4) และยังตักเตือนคนฉลาดหรือเก่ง ด้วยว่าถ้าไม่มีความถ่อมใจก็เป็นคนที่ใช้การไม่ได้เลยอีกด้วย

 

 

ดอกมะเขือ

 

 

4.ข้าวตอก ข้าวตอกเกิดจากเมล็ดที่ถูกนำมาคั่วด้วยความร้อนที่สม่ำเสมอความร้อนก็เหมือนการอบรมของครู เมื่อถูกอบรมจนได้ที่ ข้าวตอกก็แตกขยายออกมาเป็นดอกสีขาวๆ แสดงถึง ความมีระเบียบวินัย ที่ถูกขัดเกลาจนเจริญงอกงาม

 

“ผู้ใดที่รักวินัยก็รักความรู้แต่บุคคลที่เกลียดการตักเตือนก็เป็นคนโฉด”
(สุภาษิต 12:1)

 

ข้าวตอก

 

5. ธูปเทียน* ความหมายคือการบูชา กราบไหว้ ซึ่งมีความหมายไปถึงการบูชาวิญญาณด้วย คริสเตียนจึงไม่ควรใส่ธูปเทียนในกรวยดอกไม้

 

ดังนั้นความหมายในดอกไม้ต่างๆ นั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ขัดกับความเชื่อของคริสเตียน อีกทั้งคุณลักษณะทั้ง 4 อย่าง ได้แก่ ความอดทน สติปัญญา ความถ่อม และระเบียบวินัย ก็เป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่สอดคล้องกับพระคำของพระเจ้าอีกด้วย

 

4. คริสเตียนสามารถแสดงความเคารพรักต่อคุณครูได้ด้วยวิธีต่างๆ อีกมากมาย

นอกจากพ่อแม่ซึ่งเราควรให้เกียรติแล้ว พระคัมภีร์บอกว่าให้เราเคารพผู้อาวุโส (เลวีนิติ 19:32)  และให้เกียรติแก่ทุกคน (1 เปโตร 2:17)  และยังสนับสนุนให้มีความสุภาพอ่อนน้อม และ สนับสนุนให้รู้จักแสวงหาความรู้และสติปัญญา เชื่อฟังคำตักเตือนและคำสอน (สุภาษิต 15: 5ข) 

ไม่เพียงแต่ในพิธีไหว้ครูที่เป็นทางการเท่านั้น คริสเตียนยังสามารถแสดงความเคารพ กตัญญู ด้วยการแสดงออกอื่นๆ ได้ ทั้งทางตรง อย่างเช่น การไหว้สวัสดีอย่างนอบน้อม ก้มหัวขณะเดินผ่านคุณครู การพูดจาด้วยความเคารพ การนำของไปฝาก เชื่อฟัง และทางอ้อม เช่น การตั้งใจเรียน และเป็นคนดีของสังคม สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน ซึ่งดีกว่าเพียงเคารพเป็นพิธี หรือการมอบพานดอกไม้สวยๆ อย่างเดียวแน่นอน

 

_______________

 

สรุป :

  • คริสเตียนสามารถเข้าร่วมพิธีไหว้ครูที่โรงเรียนจัดขึ้นได้ หากเป็นโรงเรียนคริสเตียนก็จะมีการปรับปรุงระเบียบพิธีอยู่แล้ว ส่วนโรงเรียนทั่วไปก็สามารถเข้าร่วมได้ โดยนั่งสำรวมในช่วงพิธีเกี่ยวกับการบูชาทางศาสนา และแสดงความเคารพต่อครูผู้เป็นผู้สอนในฐานะของบุคคลผู้มีพระคุณ
  • คริสเตียนสามารถกล่าวบทไหว้ครูได้ บทไหว้ครูนั้นไม่ได้ขัดต่อความเชื่อเพราะเป็นการพูดถึงคุณความดีของครูเท่านั้น
  • สามารถมอบพาน และกรวยดอกไม้แก่คุณครูได้ เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่ขัดต่อความเชื่อ แต่ไม่ควรใส่ธูปเทียนที่มีความหมายเกี่ยวกับการบูชาสักการะวิญญาณ สามารถเป็นตัวแทนถือพานดอกไม้ได้ ควรหลีกเลี่ยงการถือพานธูปเทียน (เพราะอาจทำให้มีคนสะดุด)
  • คริสเตียนยังสามารถแสดงความเคารพแก่ครู ทางตรง ด้วยการแสดงความเคารพ และทางอ้อม เช่น การตั้งใจเรียน การทำความดี และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าการแสดงออกแต่เพียงพิธีเท่านั้น

 


[1] กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้มีการไหว้ครูในทุกโรงเรียน  ในวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมิถุนายน ส่วนโรงเรียนประถมศึกษานั้น  สำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดวันไหว้ครูของนักเรียนในชั้นประถมศึกษา  ในวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม เพราะเป็นช่วงวันเปิดเรียนภาคแรกของปีการศึกษา (วันและเวลาขึ้นอยู่กับการเปิดเทอมเป็นสำคัญ)

ความเป็นมาของพิธีไหว้ครู
[2] https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_5821 (นิตยาสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤศจิกายน 2554)

ข้อมูลวันไหว้ครูจากกระทรวงศึกษาธิการ
http://www.moe.go.th/PSD/Page%20Design/03_Teacher_Day/teather%20day/

 

 


Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
  • Illustrator:
  • Chevy Ezra
  • เด็กหนุ่มผู้รักการขีดๆ เขียนๆ เรียนๆ เล่นๆ เป็นชีวิต จิตใจ เป็นเด็กใต้ ที่พระเจ้านำมาอยู่เหนือ แต่พูดกลาง งงเล้ยยย พี่ชูใจเห็นใสๆ ใจดี แบบนี้เลยชวนมาวาดภาพประกอบให้ชูใจ
  • Editor:
  • Emma C.
  • เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน