EP. 61

ความหวังนอกถ้ำ กับ 5 รูปแบบการตอบสนองต่อเหตุการณ์ไม่คาดฝัน


 

ช่วงเย็นวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สะเทือนใจเกิดขึ้น เมื่อเด็กๆ ทีมนักฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่และโค้ช หายตัวไปในถ้ำหลวง เขตวนอุทยานขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ในขณะที่ฝนตกหนักจนน้ำเอ่อล้นปิดปากทางเข้าถ้ำทำให้ไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้นั้นยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย และหน่วยซีล (SEAL) ต้องระดมทีมค้นหาอย่างเร่งด่วนเพราะปริมาณน้ำยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การค้นหาดำเนินไปอย่างทุลักทุเลอยู่หลายวัน แต่ก็ยังไม่พบเด็กๆ ทั้ง 12 คนและโค้ชผู้หายสาบสูญ นานเข้าผู้คนก็เริ่มมีความรู้สึกร่วมกินไม่ได้นอนไม่หลับตามกันไปทีเดียว

 

เด็ก 13 คน

โฉมหน้าของน้องๆ ทีมฟุตบอลก่อนที่จะหายไปในถ้ำหลวง

 

ยิ่งเวลาผ่านไปความหวังของครอบครัวก็ยิ่งเลือนลาง ข่าวลือ และข่าวเล่าก็เกิดขึ้นเป็นระยะ ผู้ปกครองของเด็กๆ ได้มีการทำพิธีทางความเชื่อเพื่อหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้กระทั่งร่างทรงก็ปรากฎตัวขึ้น และนานเข้าเมื่อเป็นที่สนใจในวงกว้างมากขึ้น ก็เกิดทั้งกระแสความเห็นใจและกระแสข่าวลวงมากมายโดยเฉพาะใน Twitter

 

 

ร่างทรง ถ้ำหลวง

การปรากฏตัวของร่างทรงปู่พิฆเนศ ที่ได้มาพบกับญาติของผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำ ขณะประกอบพิธีทางศาสนา เธออ้างว่ารับรู้ได้ว่า “เด็กคนหนึ่งกำลังทรมาน อยากกลับบ้าน ข้างในมืด กำลังจะหมดลมหายใจ” การพูดเช่นนั้นทำให้บรรดาผู้ปกครองตื่นตระหนกและร้องไห้ออกมาหนักกว่าเดิม จนบางคนถึงกับวิ่งไปตะโกนหาลูกที่ปากถ้ำทั้งน้ำตา

 

________________________________________

 

วันนี้ Featured จะพามาทำความเข้าใจ “หัวอกของคนรอกันดีกว่า ไม่ใช่เพียงญาติมิตรเท่านั้น หากสังเกตุให้ดีเราก็จะเห็นว่า หลายคนก็มีความรู้สึกร่วมไปด้วยมากๆ การติดตามข่าวนั้นหากเราเข้าใจทฤษฏี The 5 Stages of Grief  หรือ 5 รูปแบบการปรับตัวเมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์ร้าย เราก็จะสามารถรับมือหรือเผชิญข่าวต่างๆ ได้อย่างมีสติ และไม่ตัดสินผู้อื่นอย่างผิดๆ ทฤษฏีนี้เกี่ยวอะไร แล้วทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้ได้ยังไงนั้นมาเริ่มกัน!

 

 ดร. Elizabeth Kubler-Ross จิตแพทย์ชาวสวิส ได้อธิบายการรับมือกับความสูญเสียหรือเรื่องสะเทือนใจไว้ในทฤษฏี The 5 Stages of Grief (1969) ว่า เมื่อคนเราเผชิญความผิดหวัง เผชิญข่าวร้าย ตกอยู่ในความโศกเศร้า เราจะมีกระบวนการการปรับตัวต่อข่าวร้ายเหล่านั้น การที่เราจะยอมรับสิ่งต่างๆ ได้นั้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการจิตใจของแต่ละคนสั้นยาวไม่เท่ากัน โดยช่วงเวลา 5 ช่วง มีดังนี้

 

5 รูปแบบการตอบสนองต่อเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

 

  1. ปฏิเสธความจริง (Denial Stage)

ในระยะดังกล่าว คนเราจะไม่เชื่อสิ่งที่ตัวเองได้ยินกับหู หรือได้เห็นกับตา หรือแม้กระทั่งปฏิเสธความจริงจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพราะไม่อยากเจ็บปวดเสียใจกับความจริงนั้น เช่น เมื่อเห็นรองเท้าของเด็กก็อาจจะบอกว่าเด็กอาจจะแค่ถอดรองเท้าไว้แต่เด็กไม่ได้เข้าไป หรือ มั่นใจว่าเด็กๆ เคยเข้าไปในถ้ำมาแล้ว ครั้งนี้จะต้องไม่เป็นไร ประโยคที่เรามักจะได้ยินคุ้นหู ในผู้ที่ปฏิเสธความจริง ก็คือ “ไม่จริง” “เรื่องโกหก” “ข่าวไม่มีมูล” “กำลังเล่นมุกใช่ไหม” ผู้ที่ปฏิเสธความจริงจะพยายามหาเหตุผล มาสนับสนุนตัวเองเพื่อจะไม่ต้องยอมรับความจริงเหล่านั้น เช่น  “เขาแข็งแรงจะตายเขาไม่เป็นไรหรอก” เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงกับความเครียด ที่จะเกิดขึ้นหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

 

รองเท้าของเด็กที่หายไปในภ้ำหลวง รองเท้าของเด็กและกระเป๋าที่ถูกพบในถ้ำ

 

  1. ระยะโกรธ (Anger Stage)

เมื่อเริ่มรู้ตัวว่า ข่าวร้ายอาจจะเป็นจริง และเราเริ่ม “อิน” สิ่งที่คนเราอาจทำก็คือ โยนความผิด หรือ โทษสิ่งต่างๆ ไปทั่ว ซึ่งระยะนี้อันตรายมากเพราะอาจเกิดการกระทำความรุนแรงทั้งทางกาย หรือทางใจต่อคนที่ตกเป็นเหยื่อของการกล่าวโทษ เพื่อป้องกันจิตใจแตกสลายคนเราสามารถกล่าวโทษได้ทุกสิ่งเป็นการระบายความอัดอั้นตันใจออกไป เช่น โทษโค้ชว่าพาเด็กเข้าไปทำไม โทษร่างทรงว่าไม่ช่วยเอาอะไรต่อมิอะไรมาราน้ำ  โทษนักข่าวทำไมเสนอข่าวงี้ โทษคนทวีตข้อความ โทษพ่อค้าแม่ค้าที่ไปขายของหน้าถ้ำ บางคนโทษไปได้ถึงพระเจ้า หรือเลยเถิดไปถึงฟ้าฝนพระพิรุณ บลาๆ ยังดีที่กรณีนี้เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เต็มที่ไม่ถูกโทษ แต่เราอาจจะเคยเห็นบางข่าวที่แม้กระทั่งผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ กลับถูกโทษ หรือสังคมรุมจวกประนาม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงทุกคนต่างก็พยายามอย่างดีที่สุดในหนทางที่ตัวเองทำได้แล้ว

 

 

  1. ระยะต่อรอง (Bargaining Stage)

พอตั้งสติได้บ้าง คนเราก็มักจะเริ่มต่อรอง ทั้งต่อรองกับตัวเอง ต่อรองกับผู้เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งต่อรองกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พูดง่ายๆ ก็คือพยายามหาทางออกให้กับจิตใจนั่นเอง การต่อรองในลักษณะนี้ไม่ใช่การหาทางออกจริงๆ แต่เป็นการพูดว่า ถ้า” บางกรณีเป็นการต่อรองกับตัวเองในอดีต เช่น “ถ้าวันนั้นฉันห้ามเค้า เค้าคงปลอดภัย” “ถ้าฉันถามเค้าว่าจะไปไหนต่อหลังจากซ้อมคงไม่เป็นแบบนี้” หรือ แม้กระทั่ง “ถ้าสิ่งศักดิ์สิทธ์มีจริง” เหล่านี้ล้วนเป็นการต่อรองทั้งสิ้น หรือ การต่อรองที่ออกมาในรูปของการกระทำเช่น ไปยืนตะโกนอยู่หน้าถ้ำ การสวดอ้อนวอนอธิษฐาน การส่ง line ไปหาคนที่หายไปให้รีบกลับออกมาไวๆ แม้แต่การที่ญาติของเด็กๆ นิมนต์พระมาทำพิธีหรือพาร่างทรงประจำหมู่บ้านมาช่วยทำพิธีก็ตาม (คนละคนกับปู่พิฆเนศ) แน่นอนว่าการที่ญาติพาร่างทรงมานี้ไม่ใช่ว่าเพราะเขาไม่เชื่อฝีมือทีมค้นหา แต่เขาพยายามทำทุกวิถีทางในรูปแบบของเขา

 

แชทหาเด็กที่หายไปในถ้ำ
แชทที่พี่สาวของน้องบิว 1 ในเด็กที่ติดอยู่ในถ้ำส่งข้อความหา

 

  1. ระยะจมอยู่กับความเศร้า (Depression Stage)

เมื่อพบความจริงว่าเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อมาก็คือความเศร้าเสียใจ คนที่อยู่ในขั้นนี้จะมีอาการซึมเศร้า หมดแรง กินไม่ได้นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ อาจถึงขั้นอยากตายไปให้พ้นๆ อย่างไรก็ตาม ระยะเศร้านี้ไม่ได้หมายความว่าคนนั้นจะเป็นโรคซึมเศร้า เป็นเพียงอาการเศร้าซึ่งเป็นกระบวนการปกติที่จะเกิดขึ้นในการเยียวยารักษาจิตใจของมนุษย์ ในระยะนี้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อผ่านพ้นความเศร้าเสียใจไปได้ เราก็จะยอมรับความจริงได้มากขึ้น

 

  1. ระยะยอมรับความจริง (Acceptance Stage)

ระยะนี้เป็นระยะที่คนเราสามารถยอมรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้บ้างแล้ว และมีแนวโน้มที่จะเริ่มเผชิญสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ตามระยะนี้ไม่ได้หมายความเราจะ “โอเค” กับสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่รู้สึกเจ็บปวดเสียใจแล้ว เพียงแต่พร้อมและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นและพร้อมที่จะก้าวต่อไป

 

จักรยานของเด็กที่หายไปในถ้ำหลวง

 

โดยปกติสุดท้ายเราก็จะสามารถลงเอยด้วยการยอมรับความจริงได้เสมอ ทั้งนี้ ปฏิกิริยาทั้ง 5 แบบนี้ ไม่จำเป็นต้องเกิดแบบเรียงลำดับ ระยะไหนเกิดก่อนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องเกิดครบทุกขั้นตอน อาจมีการสลับไปสลับมา แต่หากเราไม่สามารถผ่านขั้นตอนต่างๆ นี้ไปจนถึงขั้นสุดท้ายได้แล้วละก็ ชีวิตก็จะไม่มีความสุข เช่น ตกอยู่ในความเกลียดชัง หรือโทษตัวเอง หรือซึมเศร้า หากเป็นเช่นนั้นกำลังใจและความเข้าใจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เราปรับตัวได้เร็วยิ่งขึ้น

 

ที่พูดถึง The 5 Stages of Grief  นี้เพื่อให้เราได้สามารถเข้าใจการกระทำของผู้คนที่ต้องเผชิญกับข่าวร้ายๆ หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันว่า ไม่มีการกระทำไหนที่ไร้สาระ หรือผิดถูกไปซะทีเดียว เพราะทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “ความพยายามของจิตใจในการก้าวผ่านความเจ็บปวดครั้งนั้นๆ ไปให้ได้” สิ่งที่เราควรทำมากกว่าการแสดงความคิดเห็นนั้นอาจเป็นแสดงความเห็นใจ

 

 

“จงชื่นชมยินดีกับผู้ที่มีความชื่นชมยินดี จงร้องไห้กับผู้ที่ร้องไห้” – (โรม 12:15)

 

 

หากเรามองในพระคัมภีร์เอง เราก็จะเข้าใจว่ากระบวนการนี้ก็เกิดขึ้นกับ โยบ” ด้วยที่เขาต้องเผชิญกับเรื่องร้ายๆ เขา เริ่มต้นด้วยการปฏิเสธความจริง การกล่าวโทษพระเจ้า ต่อรองต่อสู้คดีกับพระเจ้า จมอยู่กับความเศร้า และ สุดท้ายเมื่อพระเจ้าตรัสกับเขา เขาก็สามารถยอมรับความจริงและมีชีวิตต่อไป การที่เพื่อนโยบแสดงความคิดเห็นนั้น ไม่ได้ช่วยอะไรเท่ากับการพร้อมรับฟังอย่างเข้าใจและไม่ตัดสิน

 

การมีความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์ต่างๆ นั้นไม่ผิด และเป็นเรื่องที่ควรด้วยที่เราจะเข้าใจหรือเห็นใจผู้ที่กำลังมีความทุกข์และยื่นมือเข้าช่วยเหลือเท่าที่สามารถ แต่มากกว่าอะไรทั้งหมดนั้น “คือความเข้าใจและไม่ตัดสิน” เพราะในทุกปัญหาก็มีปัญหามากมายอยู่แล้วจริงไหม

 

________________________________________

 

ก่อนจบพี่ชูใจอยากให้ลองอ่านข้อพระคัมภีร์นี้ก่อน

 

“…สมมุติว่าหญิงคนหนึ่งมีเหรียญเงินสิบเหรียญ และหายไปเหรียญหนึ่ง
หญิงนั้นจะไม่จุดตะเกียงกวาดเรือนและค้นหาอย่างถี่ถ้วนจนกว่าจะพบหรือ?
และเมื่อพบแล้ว นางก็เรียกมิตรสหายและเพื่อนบ้านมาพร้อมหน้ากันและกล่าวว่า
‘มาร่วมยินดีกับเราเถิด เราได้พบเหรียญที่หายไปนั้นแล้ว’” – (ลูกา 15:8-9)

 

 

พี่ชูใจเชื่อว่าตอนนี้คนไทยทั้งประเทศกำลังรออย่างใจจดใจจ่อที่จะ ‘ร่วมยินดี’ ไปกับครอบครัวน้องๆ ทีมฟุตบอล ซึ่งนี่คงเป็นความรู้สึกเดียวกับที่พระเจ้าต้องการให้เราออกไปหาคนที่หลงหายให้ได้กลับมาพบกับพระเจ้าอีกครั้ง ถ้าความรู้สึกหิวกระหายของการออกไปประกาศในตัวเราหดหายไปละก็ ขอให้เหตุการณ์นี้เตือนใจเราอีกครั้งว่า การได้พบเจอสิ่งที่หายไปนั้นมันช่างล้ำค่ามากขนาดไหนนนนนๆๆๆ

 

ชูใจ

หวังว่าเจ้าหน้าที่จะพบน้องๆ ทั้ง 12 และโค้ชโดยเร็ว
ด้วยรักและชูใจ

 


อ้างอิง :

Elisabeth Kubler-Ross model  :

อ้างใน บทความการแจ้งข่าวร้าย โดย นายแพทย์อานุภาพ เลขะกุล รองศาสตราจารย์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หน้า 3-4
http://med-ed.psu.ac.th/web/meu/BadNews_Arnuparp.pdf

นื้อหาข่าวรวบรวมจาก :

  • เปิดแช็ตคุยน้องบิว หนึ่งในเด็กที่ติดถ้ำหลวง อ่านแล้วใจจะขาด รู้ถึงหัวอกและความหวัง : https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1263468
  • ด่วน! หน่วยซีลพบรอยฝ่ามือตามผนังถ้ำ-ฝนตกทำระดับน้ำในถ้ำหลวงเพิ่มสูงขึ้นอีก : https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_1260146

Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
  • Illustrator:
  • Kawin B.
  • "วินวิน" เด็กสาวเจน Z ที่ออกจาก comfort zone มาลองฝึกงานกับพี่ๆ ทีมชูใจไกลถึงเชียงใหม่ เธอผู้ไม่เคยใช้ชีวิตนอกกรุงเทพมหานครมาก่อน กำลังจะได้เผชิญโลกกว้าง และ explore การรับใฃ้ในรูปแบบอื่นๆ ที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน เป็นกำลังใจให้วินวินผ่านแคมเปญนี้ไปให้ได้ด้วยนะคะ!
  • Editor:
  • Jick
  • บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง