[ชูใจหน้าคูหา จับตาการเลือกตั้งปี 62] ตอนที่ 2 การเมืองข้นของคนต่าง Gen


มีคนบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเรื่องการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่รุ่นเก่า บรรดาคนรุ่นพ่อแม่ออกมาโอดครวญว่า คุยเรื่องการเมืองกับลูกกับหลานไม่รู้เรื่อง กลัวลูกหลานไปเลือกคนผิด ส่วนคนรุ่นใหม่ก็อยากเปลี่ยน เพราะตัวเลือกที่แตกต่างมีไม่มาก ในเมื่อมีคนกล้าต่างมาให้เลือกก็อยากจะลองดูเผื่อมันจะดีขึ้น

 

ทีมพี่ชูใจเขียนบทความนี้ขึ้นมาไม่ใช่เพื่อต่อว่าฝ่ายไหน แต่อยากให้มองเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีคนต่างวัยอยู่ด้วยกันเสียมากกว่า เพราะยังไงๆ หลังเลือกตั้งเราก็ยังต้องอยู่ด้วยกันอยู่ดี

 

อย่าเรียกมันว่าสงคราม GEN

ถ้าเรามองมันเป็นการต่อสู้มันก็จะกลายเป็นการต่อสู้ ถ้าเรามองเป็นสงคราม มันจะกลายเป็นสงคราม ถ้าเราอยู่ที่บ้านถึงเราจะทะเลาะกับพ่อแม่ เราจะเรียกว่าการไม่เข้าใจกัน เราจะไม่เรียกว่ามันเป็นสงคราม ถึงบางครั้งเราอยากจะใช้คำนั้นเพื่อแสดงความรู้สึกก็เถอะ

 

การใช้วลีนี้รุนแรงเกินจริงและสร้างขึ้นเพื่อใช้แบ่งข้างมากกว่า (เหมือนที่กล่าวมาจากตอนที่แล้ว) ยังไงเราก็ต้องอยู่ร่วมกันในบ้านหลังเดียวกัน บ้านที่มีคนหลายวัย

 

ไดโนเสาร์กับเด็กไม่มีความคิดและอีกหลายอย่าง ผมเห็นวลีนี้บ่อยๆ ในช่วงนี้ที่ฟังแล้วชวนขำเพราะเรายังมีไดโนเสาร์ที่มีชีวิต และ ลูกไดโนเสาร์มองตัวเองต่างจากบรรพบุรุษ

 

แม้จะไม่ได้โยงกันทางสายเลือดแต่เราก็ล้วนอยู่ในเรือลำเดียวกัน ห้วงเวลาที่ผ่านมาต่างหากที่หล่อหลอมวิธีคิดและตัดสินใจ การไม่ทำความเข้าใจบริบทที่มาของกันมักทำให้การตีความผิดเพี้ยน ดังนั้นเพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน เราควรจะย้อนไปดูด้วยว่าคนรุ่นใหม่ในวันนั้นผ่านอะไรกันมาบ้าง

_______________

ว่าด้วย Gen ฉบับรวบรัด

1. เด็กยุคเงียบ กับ มรดกทางการเมืองและอิทธิพลเรื่องความเป็นชาติ

ตอนนี้จะมีอายุราวๆ 75 – 94 ปี
วลีแห่งยุค : เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย
สถานการณ์สำคัญ : การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ โฆษณาชวนเชื่อให้รักชาติ ยุคจอมพล .

 

ยุคนี้อยู่ในช่วงสงครามโลก เต็มไปด้วยความวุ่นวาย สงครามเวียดนาม สงครามเกาหลี สงครามริมชายแดน สงครามต่อต้ามลัทธิคอมมิวนิสต์ความเป็นชาติเลยค่อนข้างเข้มข้น ทุกคนจะค่อนข้างห่วงใยคนอื่น และมีความภักดีต่อองค์กรสูง การสื่อสารยังทันได้ใช้โทรเลข มีโทรศัพท์บ้านแป้นกลมที่ต้องหมุนเลข

 

ถ้าอยู่ในยุคนี้จะผ่านรัฐประหารแล้วราวๆ 13 ครั้ง เหตุรุนแรงทางการเมือง 4 ช่วงใหญ่ๆ

 

2. เด็กเจนเบบี้บูมเมอร์ กับ ความสามัคคีและความปรองดอง

ตอนนี้จะมีอายุราวๆ 55 – 74 ปี
วลีแห่งยุค : ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ
สถานการณ์สำคัญ14 ตุลา,  6 ตุลา

หลังสงครามโลกจบ ประชากรโลกลดลงมาก โลกต้องการแรงงานในการฟื้นฟู ช่วงนี้เลยถูกเรียกว่า ช่วงผลิตเด็ก ถูกสอนให้ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดออม ได้เห็นทีวีขาวดำ ได้เห็นการยิงจรวดไปดวงจันทร์ ถ้าปัจจุบันเป็นวัยส่งภาพสวัสดีวันจันทร์ทาง Line

 

ถ้าอยู่ในยุคนี้จะผ่านรัฐประหารแล้วราวๆ 9-12 ครั้ง เหตุรุนแรงทางการเมือง 4 ช่วง ช่วงอายุ 20 – 30  เขาเหล่านี้จะอยู่ในช่วง 14 ตุลา และ  6 ตุลา

 

3. เจนเอ๊กซ์ กับ นโยบายเป้าหมายที่วัดผลได้

ตอนนี้จะมีอายุราวๆ 40 – 54 ปี
วลีแห่งยุค : อย่าถามว่าประเทศให้อะไรกับคุณจงถามว่าคุณให้อะไรกับประเทศ  มีผลงานจับต้องได้แม้บางเรื่องไม่ขาวสะอาดก็ยังดี
สถานการณ์สำคัญ : วิกฤติต้มยำกุ้ง ยุคทักษิณ เสื้อเหลืองแดง

GenX โตมาพร้อมกับพื้นฐานะทางบ้านที่คนยุคก่อนสร้างขึ้นมาทั้งที่ดี และ พังลงในวิกฤติปี 40 และการแข่งขันที่สูง อยู่ในยุคเกิดและดับของเพจเจอร์ และได้เริ่มใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หน้าตาคล้ายกระติกน้ำ และพัฒนาการที่ทำให้มันเล็กลงเรื่อยๆ ยังทันได้ดูทีวีขาวดำ

 

ในช่วงวัยรุ่นเขาจะเจอกับเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬปี 35 และวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ช่วงอายุ 30 – 45 เขาจะอยู่ในยุคกีฬาสีแบบเต็มตัว

 

4. เจนวาย กับ คำถามและความเบื่อหน่ายทางการเมือง

ตอนนี้จะมีอายุราวๆ 22 – 39 ปี
วลีแห่งยุค :
โตไปไม่โกง ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน และไทยแลนด์ 4.0
สถานการณ์สำคัญ : วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ยุคทักษิณ เสื้อเหลืองแดง และม๊อบนกหวีด

GenY เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ และตั้งคำถามกับกฏเกณฑ์เก่าๆ เป็น Gen ที่เกิดมาทันทุกยุค ตั้งแต่โทรศัพท์บ้าน เพจเจอร์ มือถือโนเกียจนถึงสมาร์ทโฟน โตมาในยุคที่เทคโนโลยีเฟื่องฟู และการมาถึงของอินเตอร์เน็ต Facebook Youtube Twitter

 

เจนวายอาจเกิดไม่ทันเห็นยุคเศรษฐกิจรุ่งเรือง เพราะช่วงวัยรุ่น ผู้ใหญ่ในยุคเขากำลังลำบากเพราะพิษเศรษฐกิจปี 40 ต่อมาเขาจะได้เห็นผู้ใหญ่ง่วนกับกีฬาสีจนเอือม GenY บางคนในวัย 20-28 ก็โตพอที่จะเริ่มซึมซับและมีส่วนกับบรรยากาศทางการเมืองด้วย

 

5. เจนแซด New Voter และประชาธิปไตยที่ยังไม่เคยเห็น

ตอนนี้จะมีอายุราวๆ 18 – 21 ปี
วลีแห่งยุค :
ประเทศกูมี
สถานการณ์สำคัญ : เราจะทำตามสัญญา

 

GenZ ไม่เข้าใจคำว่าความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ เพราะโตมาประเทศก็เรื่อยๆ แบบนี้อยู่แล้ว ที่วุ่นมีอย่างเดียวคือความวุ่นวายทางการเมืองอย่างต่อเนื่องและจบด้วยการรัฐประหาร โตมากับมือถือและสมาร์ทโฟนจนเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ช่ำชองโลกโซเชียล มีเฟสบุ๊คไว้ส่อง มีไอจีไว้อัพรูป มีทวิตเตอร์ไว้บ่น และมีครูคู่กายคือกูเกิ้ล ไม่ชอบปู่ย่าตายายที่ส่งข้อความสวัสดีวันจันทร์มาให้

 

หากเรามองกว้างๆแล้ว เจะเห็นได้ว่า คนแก่ในยุคก่อนเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทั้งเทคโนโลยี ความเปลี่ยนแปลงในโลก และการเมืองมาโดยตลอด ในบางช่วงเขาเห็นความเจริญ ตกต่ำ ความวุ่นวาย บางครั้งเกิดความสูญเสีย ในอดีตเขาเหล่านี้แหละที่แอคทีฟและมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ และ อาจต้องสูญเสียคนที่เขารู้จักหรือรักไป บางคนอาจส่งต่อความรู้สึกเสียใจ และขมขื่นนั้นต่อ บางคนอาจเจ็บปวดและไม่อยากให้เกิดเรื่องราวซ้ำๆ อีก อย่าแปลกใจถ้าเราจะได้ยินคำว่าอยากอยู่อย่างสงบ

 

ส่วนคนที่มองตัวเองว่าเป็นคนรุ่นใหม่ ที่เติบโตมาท่ามกลางความวุ่นวายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เขาเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามกับความคิดหรือความเชื่อเดิมๆ ตามแนวทางโลกที่เปลี่ยนแปลง และเมื่อเขาเริ่มโตพอที่จะเปลี่ยนอะไรได้บ้าง จึงทำให้เขาออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างที่คนรุ่นก่อนไม่เคยได้ยินเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เด็กรุ่นใหม่ถึง 7 ล้านคนได้เลือกตั้งครั้งแรก ความกระหายอยากเปลี่ยนแปลงของเด็กสมัยนี้ก็ไม่แตกต่างกับคนสมัยก่อนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น อย่าแปลกใจถ้าเขาจะนิยมชมชอบคนที่ดูไม่เกี่ยวกับความวุ่นวาย หรือ คนที่พูดภาษาเดียวกับเขา

 

_______________

คนรุ่นใหม่ล้วนเป็นมรดกของคนรุ่นก่อนๆ ที่ส่งต่อมา ผู้ใหญ่บางคนอาจโกรธการตัดสินใจของคนรุ่นใหม่ว่าทำไมคิดไม่ได้ หลงเชื่อคนอื่น ทั้งๆ ที่จริงแล้ว เขาคือผลของการที่ผู้ใหญ่สร้างสังคมและส่งต่อเรื่องราวทางการเมืองไทยต่อมา สิ่งที่ควรทำคือ การให้เขาได้ลองเลือกและรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมา คนรุ่นใหม่ทุกยุคต่างต้องการการเปลี่ยนแปลง และนั่นทำให้เขามีความหวังที่จะอยู่ในประเทศนี้ต่อไป

 

ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ควรทำความเข้าใจคนรุ่นก่อนๆ กับสิ่งที่เขาต้องเผชิญ เคารพและให้เกียรติเขาด้วยการให้เขาได้แชร์ประสบการณ์ที่เขาเคยผ่านมา แทนที่จะเอาชนะกันทางข้อมูลหรือความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย คนรุ่นก่อนต้องการให้เราเห็นประสบการณ์ของเขามีค่า ถึงความคิดเห็นบางอย่างไม่ตรงกันแต่ก็ไม่จำเป็นต้องเถียงให้ชนะ เพราะความสะใจเพียงชั่วครู่ไม่คุ้มที่จะแลกกับความสัมพันธ์ระยะยาว

————————

ทุกคนในแต่ละยุคล้วนมีเหตุผลที่จะตัดสินใจ ซึ่งเกิดจากบริบททางสังคมในแต่ละช่วงวัยที่ไม่เหมือนกัน เหมือนพ่อแม่ที่ต้องเผชิญความจริงกับลูกที่เติบโตและเริ่มมีความคิดเห็นของตัวเอง นี่เป็นก้าวสำคัญที่พ่อแม่จะเปิดใจให้กว้างที่จะรับฟัง สอนด้วยการกระทำมากกว่าการสั่ง และเรียนรู้ที่จะปล่อยวางเพื่อให้ลูกเรียนรู้และเติบโต

 

ส่วนสิ่งที่ลูกๆ ควรจะแสดงออกก็ไม่ใช่ความก้าวร้าวที่จะยืนยันในความคิดเห็นของตัวเอง แต่เป็นการแสดงความมั่นใจที่จะรับผิดชอบต่อผลการตัดสินใจนั้น 

 

ขอให้เรามีสติปัญญาในการเลือกผู้ที่จะมามีอำนาจปกครองบ้านเมือง และมองผู้อื่นอย่างที่พระเยซูคริสต์ได้มองเรา

 

ฝ่ายผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้าต้องไม่เป็นคนที่ชอบการทะเลาะวิวาท แต่ต้องมีใจเมตตาต่อทุกคน เป็นครูที่เหมาะสมและมีความอดทน ชี้แจงให้ฝ่ายตรงกันข้ามเข้าใจด้วยความสุภาพ” 2 ทิโมธี 2:24-25

 

ด้วยรักและชูใจคนทุกเจน


Previous Next

  • Author:
  • เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก
  • Illustrator:
  • Jostar
  • พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
  • Editor:
  • Jick
  • บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง