วิจัยชี้เล่นโซเชียลฯ กับอ่านพระคัมภีร์ ส่งผลต่อความสุขในทางกลับกัน

วิจัยชี้เล่นโซเชียลฯ กับอ่านพระคัมภีร์ ส่งผลต่อความสุขในทางกลับกัน


บทความนี้ใช้เวลาในการอ่านประมาณ  5 นาที
วันที่เผยแพร่  : 24 มีนาคม 2021


ความสุขเป็นสิ่งที่เราต่างไขว่คว้า คงต้องยอมรับกันว่าพฤติกรรมและการกระทำหลายๆ อย่างในแต่ละวันของคนเรา ก็มีเป้าหมายเพื่อความสุขและความสบายใจเป็นสำคัญ

 

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามยิ่งคนเราใช้เวลากับอะไรมากสิ่งนั้นก็ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเรามาก แต่ที่น่าแปลกก็คือ … บางครั้งสิ่งที่เราทำเพราะได้รับความพึงพอใจนั้น ในระยะยาวอาจไม่ได้สร้างความสุขให้กับเราก็เป็นได้

ยกตัวอย่างเช่น พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย (Social Media)  นั่นก็เพราะเราพอใจและมีความสุขที่ได้เล่น แต่ผลวิจัยชี้ว่ายิ่งใช้เวลาโลกโซเซียลมากค่าเฉลี่ยความสุข (Happy Average Score) ยิ่งน้อย ในขณะที่บางกิจกรรมอาจทำแล้วไม่ค่อยสนุก เช่น การ อธิษฐานอ่านพระคัมภีร์  แต่ก็มีผลสำรวจชี้ว่า ยิ่งทำแล้วกลับยิ่งมีคุณภาพชีวิตที่ดี

***งานวิจัยที่จะกล่าวถึงในบทความนี้จัดทำขึ้นด้วยเป้าหมายในการวิจัยแตกต่างกัน ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันทางสถิติ กลุ่มตัวอย่างเป็นคนละกลุ่มกัน และใช้มาตรวัดต่างกัน ในที่นี้เพียงแต่นำเสนอผลวิจัยเพื่อเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นเท่านั้น ***

 

_______________________________

  1. ท่องโซเชียลยิ่งมาก ความสุขยิ่งน้อย

     

    ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาสังคมและธรุกิจ (SAB) ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและกระทบจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ของคนวัยทำงานที่มีอายุอยู่ในช่วงเจนเจอเรชั่น X และ Y ในกรุงเทพและปริมณฑลจำนวน 853 คน ในปี 2015  โดยเน้นสำรวจเจาะลึกผลกระทบ ด้าน สุขภาวะ และความสุข ได้ผลที่น่าสนใจหลายอย่างดังนี้

    พบว่า คนใจเจนเนอเรชั่น X และ Y ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย อยู่ในระดับค่อนข้างสูง คือ 89.7% และ 98.5% ตามลำดับ โดย เจน X ใช้เวลาเฉลี่ยในการท่องโซเชียลเฉลี่ยวันละ 3.44 ชั่วโมง ในขณะที่เจนรุ่นน้องอย่าง เจน Y ใช้เวลาออนไลน์ถึง 4.33 ชั่วโมง/วัน หรือ คิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของเวลาทั้งหมดที่คนเรามีในหนึ่งวัน

     

    ปริมาณเวลาที่ใช้ในการออนไลน์นี้ ส่งผลกระทบ ต่อสุขภาพของกลุ่มตัวอย่าง ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น

    – ทำให้เกิดอาการปวดตาและปวดตามร่างกาย
    – ทำให้ชั่วโมงการนอนน้อยลง
    – เบียดเบียนเวลาออกกำลังกาย
    – ส่งผลให้บางคนรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา
    – ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น สะดุดล้ม ตกบันได เดินชนของ

    และยังส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่งเกี่ยวข้อกับสุขภาวะในด้านสุขภาพจิตและสามารถในการเข้าสังคม

    – เวลาคุณภาพกับคนรอบข้างที่ลดลง
    – การพูดคุยกับคนรอบข้างลดลง
    – สมาธิในการทำกิจกรรมต่างๆ และทำงาน สั้นลง
    – ความรู้สึกนึกถึงเพื่อน หรือคนรัก น้อยลง
    – ก่อให้เกิดอารมณ์ด้านลบ เช่น หึงหวง การทะเลาะเบาะแว้งกับคนรัก

    โดย ผู้ที่เล่นโซเชียล 1-2 ชั่วโมง/วัน ยอมรับว่ามีปัญหาด้านสายตาและปวดเมื่อตามร่างกาย 57.3% ในขณะ ที่ผู้ที่ใช้เวลา มากกว่า 4 ชั่วโมง/วัน ได้รับผลกระทบทางสายตามแต่ปวดเมื่อยร่างกาย ถึง 72.7% กลุ่มตัวอย่างที่เล่นโซเชียลมีเดีย 1-2 ชั่วโมง ครึ่งนึงยอมรับว่าการท่องโลกโซเชียลส่งผลให้ตนเองตื่นสายและพักผ่อนน้อยลง ในขณะที่ผู้ที่เล่น โซเชียลมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ถึง 69.4% ประสบปัญหาเรื่องการพักผ่อนละการตื่นนอน

    ข้อสังเกต ก็คือ ผลกระทบจากการใช้เวลาในโซเชียลมีเดียมากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อสมดุลชีวิตด้านอื่น และอาจเป็นสาเหตุให้เรามีความสุขกับชีวิตโดยรวมน้อยลง

     

    จากผลการวิจัยของศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาสังคมและธรุกิจ (SAB) พบว่า กลุ่มตัวอย่างรู้สึกมีความสุขและพึงพอใจกับชีวิตน้อยลงอย่างมีนัยนะสำคัญ โดย ยิ่งใช้เวลาในการออนไลน์มากความสุขเฉลี่ยยิ่งน้อยลงอย่างสัมพันธ์กัน กล่าวคือ ผู้ที่ใช้เวลาออนไลน์ 1-2 ชั่วโมง/วัน มีค่าเฉลี่ยความสุข 7.10 (มาตรวัดเต็ม 10) สูงกว่าผู้ที่ใช้เวลาออนไลน์ 3-4 ชั่วโมง/วัน ที่มีค่าเฉลี่ยความสุข 6.84 และ กลุ่มที่ใช้เวลาออนไลน์มากกว่า 4 ชั่วโมง/วัน มีค่าเฉลี่ยความสุขน้อยที่สุด เพียง 6.73 เท่านั้น

    สรุปง่ายๆ 1 :  วิจัยฉบับนี้ชี้ว่า เล่นโซเชียลมีเดียยิ่งมาก ความสุขเฉลี่ยยิ่งน้อยนะ

     

    _______________________________

     

  2. ยิ่งใกล้พระเจ้าความสุขยิ่งเยอะ

 

ในการประชุมนำเสนอผลงานทางวิชาการด้านศาสนศาสตร์แห่งประเทศไทย ปี 2018 (TTAC 2018) คุณ มาริสา เจริญตามบัญญัติ ได้นำเสนอรายงานการวิจัยเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการอธิษฐานส่วนตัวกับความสุขในชีวิตของนักศึกษาคริสเตียน” โดยทำการสำรวจกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษาคริสเตียนของสมาคมนักศึกษาคริสเตียนไทย (นคท.) จำนวน 147 คน ในรูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey research) ได้ผลการศึกษาที่น่าสนใจ ดังนี้

 

กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการอธิษฐานส่วนตัวอยู่ในระดับมาก (มีการอธิษฐานเป็นประจำ) และพฤติกรรมการอธิษฐานมีความความสัมพันธ์ในเชิงสถิติกับความสุขของนักศึกษาในชีวิตประจำวัน โดยความสุขในชีวิต 3 ทั้งด้าน อยู่ในระดับที่ดี (คืออยู่ในระดับระหว่าง 3-3.99 ในมาตรวัดเต็ม 5) ได้แก่

1. ความสุขด้านชีวิตส่วนตัว 3.90
2. ความสุขด้านการเรียน 3.39
3. ความสุขด้านการเข้าสังคม 3.72

ซึ่งผลการวิจัยพบว่าพฤติกรรมการอธิษฐานส่วนตัวกับความสุขในชีวิตของนักศึกษาคริสเตียนมีความสัมพันธ์ในเชิงบวกทุกด้าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (อ่านเพิ่มเติมได้จากอ้างอิง) อีกทั้งการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี

ผลการศึกษาสรุปได้ว่า นักศึกษาคริสเตียนมีสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่ดี และจะนำไปสู่การเห็นคุณค่าของชีวิต การมีเป้าหมาย การมีสัมพันธภาพระหว่างตนเองกับผู้อื่นมากขึ้น นอกจากนี้ยังแสดงออกมาเป็นความรัก ความศรัทธา และเกิดเป็นความหวังในชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัย ที่ผู้วิจัยได้ทบทวนวรรณกรรมเอาไว้ (a study among secondary school students in Australia) ซึ่งได้สรุปว่าผลของการอธิษฐานนำไปสู่อารมณ์ทางบวกมากกว่าผู้ที่ไม่ได้อธิษฐาน

สรุปง่ายๆ 2 : วิจัยฉบับนี้ชี้ว่า ใช้เวลากับพระเจ้ายิ่งมาก ความสุขเฉลี่ยยิ่งสูงนะ

_______________________________

 

 

จากข้อมูลข้างบน บางคนอาจสรุปได้ว่า …ท่องโซเชียลยิ่งน้อย ความสุขยิ่งมาก และ ความสัมพันธ์กับพระเจ้ายิ่งดี ความสุขยิ่งมีเยอะ  แต่อ่านกันมาถึงตรงนี้ ไม่ว่าผลวิจัยจะเป็นอย่างไร คงไม่มีใครตอบได้ดีไปกว่าเรา ว่าเล่นโซเชียลเยอะๆ หรืออ่านพระคัมภีร์มากๆ จะดีกว่ากัน อาจจะต้องลองกันดูซักหน่อยแล้วล่ะ ชูใจขอเป็นกำลังใจให้ผู้อ่านทุกคนที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิต จัดวางสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้อย่างสมดุลลงตัว และไใ่ลืมที่จะใช้เวลาส่วนตัวกับพระเจ้าของเรา
ชูใจ

“เชิญชิมดูแล้วจะเห็นว่า พระยาห์เวห์ประเสริฐ คนที่ลี้ภัยอยู่ในพระองค์ก็เป็นสุข” – (สดุดี 34:8 THSV11)


 

ข้อมูลอ้างอิง :

  • ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการอธิษฐานส่วนตัวกับความสุขในชีวิตของนักศึกษาคริสเตียน : มาริสา เจริญตามบัญญัติ , กรุงเทพฯ  คณะคริสตศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน 2560 (เวอร์ชั่นออนไลน์ อ่านได้ทาง สารานุกรมคริสเตียน Ichurch)
  • การสำรวจพฤติกรรมและกระทบจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ : ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาสังคมและธรุกิจ (SAB)  , www.sabcentre.com  สืบค้น เมื่อ 20 มีนาคม 2021

Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)