จะโกหกกันไปถึงไหน? อะไรเกิดขึ้นในสมองเมื่อเราเริ่มโกหก

จะโกหกกันไปถึงไหน? อะไรเกิดขึ้นในสมองเมื่อเราเริ่มโกหก


บทความนี้ใช้เวลาในการอ่านประมาณ  4 นาที
วันที่เผยแพร่  :1 เมษายน 2021 (April’s fool day)


 

 

 


ยิ่งโกหกบ่อยครั้งเท่าไหร่
ครั้งต่อไปก็จะง่ายมากขึ้นเท่านั้น

 

ในปี 2016 ทีมวิจัยทางด้านประสาทวิทยาจาก มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) และ มหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) ได้ทำการทดลองร่วมกัน โดยศึกษาปฏิกริยาทางสมองของคนที่พูดโกหก ผ่านการวิเคราะห์ภาพวินิจฉัย (FMRI: functional magnetic resonance imaging)   ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสมองหากคนเราพูดเรื่องโกหก และหากเราเริ่มโกหกไปนานๆ เข้า ความไม่ซื่อสัตย์ของเราจะก่อให้เกิดผลกระทบอะไรต่อการตัดสินใจโกหกในครั้งต่อๆ ไปหรือไม่

 

” ทายซิว่าในขวดแก้วมีเงินอยู่ประมาณเท่าไหร่? “

 

เพื่อบรรลุเป้าหมายในการวิจัย ในการวิจัยครั้งนั้นทีมวิจัยได้วางรูปแบบการทดลองโดยใช้เงินเป็นสิ่งจูงใจให้กับอาสาสมัครในการทดลอง โดยในเบื้องต้นทีมวิจัยจะให้อาสาสมัครดูรูปขวดแก้วที่บรรจุเงินระหว่าง 1500 – 3500 เพนนี จำนวน 30 รูป และส่งข้อมูลคำใบ้หรือข้อมูลการประมาณเหรียญเพนนีที่เขาเห็นผ่านทางคอมพิวเตอร์ให้กับอาสาสมัครอีกคนซึ่งเป็นคู่ทดลองของตน โดนอาสาสมัครปลายทางคนนี้จะนำข้อมูลคำใบ้ที่ได้จากอาสาสมัครคนแรก มาประเมินและส่งคำตอบในชื่อของทั้งสอง

.

Background photo created by snowing – www.freepik.com

.

หลังจากนั้นทีมวิจัย ได้ให้ข้อมูลเรื่องการได้รับเงินตอบแทนจากการทายเหรียญในขวดแก้ว โดย อาสาสมัครคนแรก จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินส่วนต่างที่อาสาสมัครปลายทางทายจำนวนเหรียญในขวดแก้วทายเกินจากจำนวนที่แท้จริงไป ส่วนอาสาสมัครปลายทาง จะได้รับเงินหากทายได้ใกล้เคียงจำนวนเงินที่มีอยู่ในขวดแก้ว  ผลที่เกิดขึ้นในการทดลองนี้ก็คือ อาสาสมัครที่เห็นภาพขวดแก้วต้องพบการการทดลองทางด้านศิลธรรมในใจของเขา ในที่สุดก็เริ่มโกหกโดยส่งข้อมูลที่ทำให้ปลายทางทายจำนวนเหรียญเกินกว่าความเป็นจริง โดยเริ่มจากเล็กน้อยและเพิ่มการโกหกมากขึ้นๆ  จนในการทดลองรอบหลังๆ บางคู่ทายเหรียญเกินกว่าจำนวนที่ควรจะเป็นไปถึง 2 เท่า

 

นั่นก็คือ “เชื้อของการโกหกเพียงเล็กน้อยในตอนแรก ได้แพร่ขยายขึ้นจนเป็นการโกหกอันมโหฬารได้เมื่อเวลาผ่านไป “

 

สำหรับชาวคริสต์แล้ว อาจคุ้นกันดีสำหรับพระคัมภีร์ที่พูดถึง การซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กน้อยว่าสำคัญยังไง และผลร้ายของการไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กๆ ก่อให้เกิดผลเสียในอนาคตมากมายแค่ไหน  “คนที่ซื่อสัตย์ในของเล็กน้อยจะซื่อสัตย์ในของมากด้วย และคนที่ไม่ซื่อสัตย์ในของเล็กน้อย จะไม่ซื่อสัตย์ในของมากเช่นกัน” – (ลูกา 16:10)

______________________

 

 

ในทุกครั้งของการโกหก สมองจะมีปฏิกริยาบางอย่างเกิดขึ้น
และมันจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเราโกหกบ่อยขึ้นไปเรื่อยๆ

 

การโกหก สมองอมิกดาลาที่มาของภาพ : www.memorylossonline.com

 

ผลการศึกษาด้วยภาพวินิจฉัยทางสมองพบว่า  ทุกครั้งที่เราโกหกสมองจะส่งสัญญาเตือน ในระหว่างการทดลองพบว่าสมองส่วนอะมิกดาลา (amygdala) ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ของมนุษย์จะมีการส่องแสง แสดงให้เห็นว่าสมองส่วนดังกล่าวมีการตื่นตัวหรือตื่นเต้น   เมื่ออาสาสมัครผู้ทดลองเริ่ม “โกหกเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง”  ในครั้งแรกจะมีการตื่นตัวของอะมิกดาลาสูงมากกว่าครั้งต่อๆ มา  กระบวนการนี้เป็นการทำงานของสมองที่พยายามสร้างความรู้สึกด้านลบ ให้เจ้าตัวรู้สึกผิด เพื่อควบคุม ไม่ให้เกิดโกหกอีก แต่เมื่อยังมีการโกหกซ้ำต่อไปเรื่อยๆ ปฏิกิริยาตอบสนองของสมองส่วนอะมิกดาลาต่อการโกหกจะค่อยๆ ลดลง ขณะที่การโกหกกลับเพิ่มมากขึ้น

 

นักวิจัยสรุปว่า การตอบสนองของอะมิกดาลาที่ลดลงอย่างมากนี้ สามารถทำนายได้ว่าการโกหกจะง่ายขึ้น และบ่อยขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งสิ่งนี้อันตรายมาก เพราะการไม่ซื่อสัตย์ต่อเรื่องเล็กน้อย จะนำไปสู่การโกหกที่บานปลายร้ายแรงได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

ในมิติเชิงศาสนานั้น การที่สมองส่งสัญญาเตือน และแสดความเป็นปฏิปักษ์กับ การโกหก หลอกลวงเพื่อผลประโยชน์นั้น อาจกล่าวได้ว่า เป็นการทำงานของมโนธรรม ซึ่ง หากเราปฏิเสธมโนสำนึกของเราและยืนยันในการทำสิ่งที่ขัดแย้งกับมโนธรรมต่อไปนั้น ก็ส่งผลให้จิตใจหรือมโนสำนึกของเราด้านชา หรือ ชาชิน กับการกระทำเหล่านั้นไปทีละน้อยๆ นั่นเอง

 

 

 

 

การโกหกแต่ละครั้ง มันเหนื่อย

 

การสร้างเรื่องโกหกแต่ละครั้ง สมองต้องปั้นแต่งเรื่องราวด้วยจินตนาการซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานสูงมาก

 

คุณ สินธุเสน เขจรบุตร นักจิตวิทยาอิสระ กล่าวว่า โดยทั่วไปเราจะสามารถสื่อสารข้อเท็จจริงที่บันทึกไว้ออกมาได้ทันที เพียงแค่ดึงเอาข้อมูลออกมาจากสมองส่วนที่ใช้บันทึกความทรงจำที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ในทางตรงกันข้าม เมื่อพูดโกหก เราต้องใช้สมองส่วนจินตนาการที่เรียกว่า สมองส่วนหน้า (frontal lobe) ในการสร้างเรื่องใหม่มาช่วยด้วย เมื่อโกหก สมองทั้งสองส่วนนี้จะถูกใช้งานพร้อมกัน เพื่อแยกแยะว่า ข้อมูลไหนเป็นความจริงที่ต้องการปกปิด ข้อมูลไหนเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นมา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานสูงมาก ดังนั้น ผู้ที่สมองส่วนหน้าได้รับความเสียหายก็จะไม่สามารถโกหกได้

 

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่า การโกหกก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพด้วย โดยในช่วงแรกที่โกหก สมองจะรับรู้ว่า นี่คือภาวะที่ไม่ปกติ ร่างกายจะปรับตัวให้ พร้อมสู้หรือป้องกันตัวด้วยการหลั่งสารคอร์ติซอล (cortisol) และสารอะดรีนาลีน (adrenaline) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดออกมาทันที

 

ในทางตรงกันข้าม การนำเนินชีวิตโดยปราศจากการโกหกนั้น กลับส่งผลดีต่อสุขภาพ  แอนนิต้า เคลลี และลีเจียง หวาง แห่งมหาวิทยาลัยนอทร์ดัม (Notre Dame) ได้ศึกษาผลกระทบของการ โกหกต่อลักษณะทางพยาธิวิทยา เรื่อง “ชีวิตที่ปราศจากการโกหก: การใช้ชีวิตอย่างซื่อสัตย์สามารถส่งผลต่อสุขภาพได้อย่างไร” กับอาสาสมัคร 110 คน อายุ 18-71 ปี เป็นเวลา 10 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ถูกขอให้โกหกน้อยลง สามารถโกหกน้อยลงได้ และส่งผลให้เขาเหล่านั้นมีความวิตกกังวลน้อยลง ร้อยละ 54 มีอาการเจ็บป่วยทางร่างกายน้อยลงร้อยละ 56  (อ้างใน นฤมล ปื่นโต 2020)

______________________

พระคัมภีร์สนับสนุนให้พูดความจริง
และพูดชัดเจนว่า คนที่อยู่กับความซื่อสัตย์จะดำเนินชีวิตอย่างผาสุกกว่า

มีข้อพระคัมภีร์มากมายที่พูดถึง การโกหกและการหลอกลวงว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี และก่อผลเสียตามมามากมายเกินคณานับ และพระคัมภีร์เองก็สนันสนุนให้ผู้คนที่จะดำเนินชีวิตในความซื่อสัตย์ และพูดในสิ่งที่เสริมสร้างสังคมและไม่ทำร้ายจิตใจผู้อื่น

” บรรดาคนที่เหลืออยู่ในอิสราเอล
จะไม่ทำความผิดบาป
และจะไม่กล่าวคำโกหก
และในปากของพวกเขานั้น
จะไม่พบลิ้นที่หลอกลวง
เพราะเขาทั้งหลายจะหากินและนอนลง
และไม่มีใครทำให้เขาหวาดหวั่น” – (เศฟันยาห์ 3 : 13)

จะเห็นว่าในการโกหกนั้นไม่เพียงเป็นศัตรูทางศิลธรรมกับตัวเราเท่านั้น เมื่อเราเริ่มต้นโกหกนั้นมันยังส่งผลต่อร่างกายโดยตรงด้วย ทั้งก่อให้เกิดความเครียด และหากต้องโกหกตลอดเวลา โกหกตลอดชีวิต ยังทำให้ไม่มีความสุขและส่งผลเสียต่อสุขภาพ

 

ชูใจ

“ความหลอกลวงอยู่ในใจของคนที่คิดการชั่ว แต่คนที่แนะให้มีสันติภาพก็มีความยินดี” – (สุภาษิต 12 : 20 THSV11)

 


 

ข้อมูลอ้างอิง :

  • ดินแดนของการโกหก: มีทั้งหลุมเล็กๆ และส่วนที่ลาดลึก  : นฤมล ปิ่นโต , คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , วารสารศาสตร์  ปีที่ 13 ฉบับที่ 3 (2020) : กันยายน – ธันวาคม ฉบับ: “รักก็คือรัก หลงก็คือหลง ถ้าถามประชาสังคม…ก็คงไม่เข้าใจ”  , ออนไลน์ https://so06.tci-thaijo.org  , สืบค้น เมื่อ 25 มีนาคม 2021
  • What Dishonesty Does to Your Brain : Brett Beasley and Christopher Adkins ,  The Notre Dame Deloitte Center for Ethical Leadership  , https://ethicalleadership.nd.edu  , สืบค้น เมื่อ 25 มีนาคม 2021

Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)