*ในส่วนของภาพประกอบให้เรียงอ่านจากซ้ายไปขวา



หมวดพระกิตติคุณ

(Gospel)

“ความเหมือนต่างมุมมอง”

 

_______________

 

หมวดพระกิตติคุณ:

 

หนังสือพระกิตติคุณ (Gospel) เป็นบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซู ซึ่งได้รับการบอกเล่าจากคนหลายคนผ่านมุมมองหลายแบบ ดังนั้นรายละเอียด แนวคิด และวัตถุประสงค์จึงแตกต่างกันไปตามแต่ผู้เล่า

 

มีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการที่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเจ้า, พันธกิจของยอห์นผู้ให้บัพติศมา, จุดเริ่มต้นที่กาลิลี, พันธกิจและฤทธิ์อำนาจของพระเยซู, การตายบนกางเขน, การอภัยโทษบาปสำหรับผู้ที่เชื่อในพระองค์, การฟื้นขึ้นจากความตาย และปรากฎกายแก่ผู้เชื่อ

 

หมวดพระกิตติคุณประกอบไปด้วยหนังสือ 4 เล่ม ได้แก่

  1. มัทธิว
  2. มาระโก
  3. ลูกา
  4. ยอห์น

 

จุดประสงค์:

 

เพื่อช่วยให้เรื่องราวของพระเยซูยังคงสามารถเผยแพร่ต่อไปได้ในยุคที่เหล่าสาวกเริ่มแก่และตายจาก และเพื่อถ่ายทอดคำบอกเล่าออกเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อป้องกันการสอนต่อแบบผิดๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดของลัทธิเทียมเท็จ

 

ผู้เขียน:

 

แม้ในวงวิชาการอาจมีแนวคิดต่างๆ มากมาย แต่ในท้ายที่สุดทุกแนวคิดล้วนเป็นการคาดเดา ผู้เขียนจึงขอยึดความเข้าใจตามประเพณีคริสตจักรเป็นหลักว่า ผู้เขียนของพระกิตติคุณแต่ละเล่มคือ มัทธิว, มาระโก, ลูกา และยอห์น ตามลำดับ

 

ช่วงปีที่ผลิต:

 

ตั้งแต่ ค.ศ. 40 – 70 (อยู่ที่ว่าจะอ้างอิงตามแนวคิดไหน)

 

เนื้อหา:

 

เป็นการบอกเล่าเรื่องเดียวกัน แต่แตกต่างด้วยประสบการณ์ มุมมอง และสไตล์การเขียน รวมถึงวัตถุประสงค์และกลุ่มผู้อ่าน จึงทำให้พระกิตติคุณแต่ละเล่มมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 

  • มัทธิว มีลักษณะการเล่าถึงภาพพระเยซูจากมุมมองของชาวยิว ซึ่งมีทั้งความเป็นอาจารย์ (rabbi), ผู้เผยพระวจนะ (prophet), กษัตริย์ (king) และพระผู้ช่วยให้รอด (Messiah) ซึ่งหลายเหตุการณ์มีลักษณะคล้ายกับการอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับโมเสส เช่น โยเซฟในอียิปต์, การเลี้ยงคน, การข้ามน้ำ เป็นต้น ทำให้คนทั่วไปอ่านแล้วอาจเข้าใจเพียงผิวเผิน แต่สำหรับชาวอิสราเอลแล้วมีถ้อยคำที่สะกิดใจมากมาย  

 

  • มาระโก มีลักษณะการเล่าแบบสั้นกระชับ ใช้ภาษาเรียบง่ายและค่อนข้างตรงไปตรงมา ประกอบด้วยอารมณ์โกรธ เศร้า ผิดหวัง มองเห็นพระเยซูในฐานะผู้รับใช้ที่ต้องทนทุกข์ (Suffering Christ) และการเป็นพระเจ้าของพระองค์นั้นเป็นความลับ (Secret Messiah) คาดเดาได้ว่ากลุ่มผู้อ่านเป็นชุมชนคริสเตียนเริ่มแรกในกาลิลี

 

  • ลูกา มีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติ (ที่ไม่ใช่ยิว) ใจความหลักที่ต้องการจะสื่อคือเรื่องราวของพระเยซูและความรอดที่มาทางพระองค์นั้นมีให้ทุกคน ทุกชนชาติ เพศ และสภาพร่างกาย ซึ่งลูกาให้ความสำคัญแก่ผู้หญิงและชาวต่างชาติอย่างชัดเจน รวมทั้งยังมีการอธิบายถึงความสำคัญที่จะต้องขยายพันธกิจไปยังคนต่างชาติในหนังสือภาคต่อ “พระธรรมกิจการ” อีกด้วย

 

  • ยอห์น มีลักษณะค่อนข้างแตกต่างจากเล่มอื่นๆ มากที่สุด  โดยพระกิตติคุณเล่มอื่นจะบอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์เป็นฉากๆ ตามเวลาก่อนหลังอย่างชัดเจน แต่ยอห์นกลับเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ตามความหมายมากกว่าเวลา รวมทั้งใช้ภาษาที่สูงเข้าใจยาก จึงเป็นหนังสือที่ต้องค่อยๆ อ่าน ซึมซับอย่างช้าๆ เชื่อกันว่าพระกิตติคุณเล่มนี้เขียนขึ้นสำหรับชุมชนคริสเตียนที่ย้ายออกมาตั้งรกรากนอกกรุงเยรูซาเล็มจึงมีหลักศาสนศาสตร์หรือความเชื่อที่แยกออกจากศาสนายิวชัดเจน

อ้างอิง:

 

Carson, D. A., & Moo, D. J. (2008). An introduction to the New Testament. Apollos.

Elwell, W. A., & Yarbrough, R. W. (2005). Encountering the New Testament: A historical and theological survey. Baker Academic.

เบนแวร์, พอล (2008) สำรวจพระคัมภีร์ใหม่. สถาบันคริสเตียนและพัฒนาคริสตจักร


Previous Next

  • Author:
  • ชายอบอุ่นที่มีหลากหลายมิติ มีทั้งมิติแห่งการเป็นผู้รับใช้ มิติของคุณครูภาษาอังกฤษ แถมด้วยมิติของการเป็นนักดูหนังตัวยง ชูใจจึงจีบมาเขียนรีวิวหนัง และบทความความรู้พระคัมภีร์ซะเลย
  • Illustrator:
  • Jostar
  • พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
  • Editor:
  • Emma C.
  • เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน