*ในส่วนของภาพประกอบให้เรียงอ่านจากซ้ายไปขวา


 

หมวดจดหมายฝาก อ.เปาโล

(The Pauline Epistles)

 

“ข้อความจากใจอาจารย์เปาโล”

 

_______________

 


 

จดหมายฝาก อ.เปาโล:

 

จากพระธรรมทั้งหมด 27 เล่มในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ มี 21 เล่มเป็นจดหมายฝาก และจากจดหมายฝากทั้งหมด 21 เล่มนั้น มี 13 เล่มที่เป็นของอาจารย์เปาโล

 

หากอาจารย์เปาโลมีชีวิตอยู่ในโลกยุคปัจจุบัน หรือหากคริสตจักรในความดูแลมีปัญหาในระหว่างที่ท่านกำลังเดินทางไปต่างประเทศ ท่านก็คงใช้ Official account ไลฟ์สดมาเทศนาสั่งสอนเหล่าบรรดาลูกโบสถ์ แต่ในความเป็นจริงในสมัยของท่านการสื่อสารที่เร็วและเป็นที่นิยมที่สุดก็คือการส่งจดหมาย

 

โดยอาจารย์เปาโลเขียนจดหมายฝากไปยังคริสตจักรในเมืองต่าง ๆ ระหว่างที่ท่านเดินทาง ดังนี้

 

  1. กาลาเทีย: เขียนขึ้นหลังกลับจากเดินทางรอบแรกไปเมืองกาลาเทียร่วมกับบารนาบัส (ค.ศ. 47-49)

 

  1. 1 และ 2 เธสะโลนิกา: อาจารย์เปาโลเขียนจดหมายขึ้นในช่วงการเดินทางออกประกาศรอบที่สองร่วมกับสิลาสและทิโมธีที่ยาวนานประมาณสามปี (ค.ศ. 50-53) ซึ่งเกิดผลเป็นคริสจักรในฟิลิปปี ซีเรีย และเธสะโลนิกา

 

  1. 1 โครินธ์, 2 โครินธ์, โรม, เอเฟซัส, ฟิลิปปี, โคโลสี, ฟิเลโมน, 1 และ 2 ทิโมธี และทิตัส: เป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของอาจารย์เปาโล (ค.ศ. 53-57) ซึ่งอาจารย์เปาโลพักอาศัยอยู่ที่เมืองเอเฟซัสเป็นเวลานาน ณ ที่นั้นท่านได้เขียนจดหมาย 1 โครินธ์ และช่วงเดินทางข้ามมาซีโดเนียก็เขียน 2 โครินธ์ จากนั้นระหว่างไปเยี่ยมเยียนและพักเพื่อเตรียมตัวไปกรุงเยรูซาเล็มก็เขียนจดหมายโรม จนเมื่อไปถึงเยรูซาเล็มก็โดนจับคุมขังเป็นเวลาสองปี ซึ่งเป็นช่วงที่เขาได้เขียนของจดหมายฝากไปยัง เอเฟซัส, ฟิลิปปี, โคโลสี, ฟิเลโมน, 1 และ 2 ทิโมธี และทิตัส

 

หลายคนอาจจะงงว่าทำไมลำดับจดหมายจึงเรียงไม่เหมือนในพระคัมภีร์ นั่นเป็นเพราะว่าพระคัมภีร์เรียงจดหมายตามความยาว ไม่ได้เรียงลำดับตามเวลาและเหตุการณ์

 

จุดประสงค์:

 

  1. เพื่อการสื่อสารที่รวดเร็วและง่าย: แม้เทียบกับสมัยนี้จะถือว่านานมากก็เถอะ แต่ง่ายกว่าการที่จะให้อัครสาวกเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ด้วยตัวเอง ยิ่งในตอนนั้นพวกอัครสาวกก็อายุเยอะแล้ว การเดินทางไปกลับจึงค่อนข้างลำบาก

 

  1. เพื่อเป็นตัวแทนของอัครสาวก: ทำหน้าที่ประหนึ่งอีเมล์ เพราะในสมัยนั้นยังไม่มี Official account หรือวิธีการใดๆ ที่จะพิสูจน์ว่าข้อความหรือจดหมายนั้นถูกส่งมาจากเจ้าตัว (อย่างว่าแต่สมัยโน้นเลย สมัยนี้สื่อออนไลน์ก็สามารถปลอมแปลงได้เช่นกัน) นี่จึงเป็นจุดที่นักวิชาการสงสัยว่าจดหมายใดบ้างที่เป็นของอาจารย์เปาโลจริงๆ

 

ผู้เขียน:

 

ตามประเพณีของคริสตจักรถือว่าอาจารย์เปาโลเป็นผู้เขียนจดหมายทั้งหมดที่กล่าวไว้ แต่อย่างที่ทิ้งท้ายไว้ในวัตถุประสงค์ข้อที่สองว่ามีจดหมายบางฉบับที่นักวิชาการไม่ฟันธงว่าเป็นจดหมายของอาจารย์เปาโล ซึ่งจะขออธิบายอย่างละเอียดอีกทีเมื่อเข้าสู่แต่ละเล่ม

 

 

เนื้อหา:

 

มีวิธีการแบ่งกลุ่มจดหมายของอาจารย์เปาโลอยู่หลายแบบ แต่ในที่นี้ผู้เขียนจะขอยึดวิธีการแบ่งของ Elwell และ Yarbrough ซึ่งแบ่งเนื้อหาจดหมายฝากของอาจารย์เปาโลได้เป็น 4 กลุ่มคร่าวๆ ดังนี้

 

  1. เรื่องของพื้นฐานความเชื่อ: ในพระธรรมโรม แม้จะเป็นจดหมายที่เขียนขึ้นเพื่อขอการสนับสนุนในการเดินทางไปสเปนจากคริสตจักรในโรม แต่เนื้อหาในจดหมายดังกล่าวสะท้อนความเชื่อ วิถีการดำเนินชีวิตคริสเตียน และหลักศาสนศาสตร์ไว้อย่างเต็มล้น ซึ่งมีอิทธิผลอย่างมากต่อการปฏิรูปคริสต์ศาสนาในยุคต่อมาไม่ว่าจะเป็น ออกัสติน, มาร์ติน ลูเธอร์ และเวสลีย์

 

  1. เรื่องของการแนะนำคริสตจักรที่สับสน: อาจารย์เปาโลเขียนจดหมาย1 และ 2 โครินธ์ และกาลาเทีย ขึ้นเพื่อช่วยขจัดความสับสนของคริสตจักรที่เกิดใหม่ในโครินธ์และกาลาเจนทียที่กำลังประสบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่ขัดกับหลักการดำเนินชีวิตคริสเตียน หรือหลักข้อเชื่อที่ผิดเพี้ยน

 

  1. เรื่องของจดหมายจากเรือนจำ: เอเฟซัส ฟิลิปปี โคโลสี และ ฟิเลโมน เหมือนกับกลุ่มด้านบนที่อาจารย์เปาโลเขียนแนะนำ และตักเตือนคริสตจักรต่างๆ เพียงแต่กลุ่มนี้ถูกเขียนจากในคุก

 

  1. เรื่องของจดหมายอภิบาล (สืบทอด): 1 และ 2 เธสะโลนิกา, 1 และ 2 ทิโมธี และ ทิตัส เป็นกลุ่มจดหมายที่เน้นเรื่องการอภิบาล หรือความห่วงใยในเรื่องต่างๆ ของคริสตจักรในมุมมองของศิษยาภิบาล

 

อ้างอิง:

 

Carson, D. A., & Moo, D. J. (2008). An introduction to the New Testament. Apollos.

Elwell, W. A., & Yarbrough, R. W. (2005). Encountering the New Testament: A historical and theological survey. Baker Academic.

เบนแวร์, พอล (2008) สำรวจพระคัมภีร์ใหม่. สถาบันคริสเตียนและพัฒนาคริสตจักร


Previous Next

  • Author:
  • ชายอบอุ่นที่มีหลากหลายมิติ มีทั้งมิติแห่งการเป็นผู้รับใช้ มิติของคุณครูภาษาอังกฤษ แถมด้วยมิติของการเป็นนักดูหนังตัวยง ชูใจจึงจีบมาเขียนรีวิวหนัง และบทความความรู้พระคัมภีร์ซะเลย
  • Illustrator:
  • Jostar
  • พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
  • Editor:
  • Emma C.
  • เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน